ศิลปะสร้างอาชีพ
หนังสือเล่มเล็ก
ศิลปะชวนชม
ศิลปะคอมพิวเตอร์
บันทึกการเดินทาง

เปเปอร์มาเช่จากเยื่อกระดาษ

ประติมากรรมกระดาษ (paper sculpture)

หมายถึงการงานขึ้นรูปที่สร้างขึ้นจากวัสดุประเภทกระดาษ โดยวิธีการเปลี่ยนรูปจากวัสดุ 2 มิติ ให้เป็น 3 มิติ  ประติมากรรมกระดาษมีหลายรูปแบบที่รู้จักกันดีคือเปเปอร์มาเช่เป็นการนำเศษ กระดาษมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ทากาวปิดทับกันเป็นชั้นๆหรือการนำกระดาษมาบดละเอียดแล้ว ผสมกาว ปั้นขึ้นรูป

เปเปอร์มาเช่จากเยื้อกระดาษ

1. นำกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษพิมพ์ดีดที่ไม่ใช้แล้วมาฉีกเป็นแผ่นเล็กๆ แช่น้ำทิ้งข้ามคืน(ใส่น้ำยาฟอกขาว 1 ช้อน ถ้าต้องการกัดสีให้ขาว)
2. เติมน้ำ 2 ลิตร ต้มให้ใยกระดาษแยกจากกัน นำไปบดให้ละเอียดด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ใช้ มือบีบคั้นเอาน้ำออกให้หมาดๆ
3. ใส่อ่างผสมกาวลาเท็กซ์ 2 ช้อนโต๊ะ น้ำมันลินสีด 1 ช้อนโต๊ะ นวดให้เข้ากัน โรยด้วยแป้ง มัน 2 ช้อนโต๊ะ นวด ขยำ ใหเป็นเนื้อเดียวกัน จึงนำไปใช้งาน

การปั้นขึ้นรูป

เหมือนกับการปั้นด้วยดินเหนียว แต่จะยากกว่าเพราะมีเนื้อหยาบ เหนียวติดมือ และต้องค่อยๆ ปั้นพอกทีละน้อย ทิ้งให้แห้งแล้วจึงพอกทับเป็นชั้นๆ แต่เมื่อแห้งแล้วจะแข็งแรง มีน้ำหนักเบา ทนทานไม่เปราะแตกหักง่ายอย่างดินเหนียว

การแต่งผิว และทาสี

ชิ้นงานที่ปั้นและแห้งแล้ว สามารถนำมาตัดแต่งด้วยคัทเตอร์และขัดให้เรียบด้วยกระดาษทรายเพื่อให้ผิวเรียบ ก่อนนำไปทาสีพลาสติกรองพื้น ตากให้แห้ง แล้วจึงทาสีทับด้วยสีน้ำมันหรือสีอะคริลิกให้มีสีสัน สดใส สวยงาม ถ้าใช้สีพลาสติกต้องทิ้งให้แห้งสนิทจึงเคลือบเงาด้วยยูเรเทน 

การระดับตบแต่งด้วยวัสดุอื่นๆ

ชิ้นงานที่แห้งสนิทแล้ว สามารถนำมาเขียนลวดลาย หรือตบแต่งด้วยกระดาษสี เศษผ้า เมล็ดพืช ลูกปัด เชือกหรือไหมสีต่างๆ ให้สวยงาม เป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างกันออกไป 

โครงเสริมด้านใน

งานปั้นขึ้นรูปที่ต้องการความแข็งแรง ต้องใช้โครงเสริมด้านใน ส่วนมากจะใช้กระดาษแข็ง แกนกระดาษ กล่องกระดาษและขวดพลาสติก ที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นแกน การใช้วัสดุรีไซเคิลมาเป็นโครงเสริมด้านใน เป็นแนวคิดเชิงอนุรักษ์ ช่วยลดขยะและเพิ่มคุณ ค่าของที่ไม่ได้ใช้แล้ว กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์

โครงกระดาษ

คือการนำกระดาษหนังสือพิมพ์ทั้งแผ่นมาขยำบิดเป็นเกลียว นำมามัดรวมกันด้วยเชือก หรือ ลวดขนาดเล็ก ให้เป็นรูปร่างใกล้เคียงกับแบบที่ต้องการปั้น แล้วจึงปิดทับด้วยเศษกระดาษ ทากาว หรือปั้นพอกด้วยเยื้อกระดาษกาว

โครงลวด

คือการนำลวดขนาดกลางที่มีความแข็งแรงมาดัดเป็นโครง ให้มีรูปร่างใกล้เคียงกับชิ้นงาน ที่ต้องการ เช่นเดียวกับโครงลวดที่ใช้กับต้นตะโก หรือต้นข่อยดัดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ หรือใช้ ลวดตาข่าย ตัดม้วนเป็นโครง พันด้วยลวด นำมาปิดทับด้วยกระดาษทากาวจนรอบก่อนนำ ไปปั้นพอกด้วยเยื้อกระดาษกาว 

การปั้นต้นแบบด้วยดินน้ำมัน

การปั้นต้นแบบถ้าเป็นงานชิ้นเล็กจะใช้ปั้นด้วยดินน้ำมันถ้าเป็นชิ้นใหญ่จะปั้นด้วยดิน เหนียว ตามตัวอย่างจะเป็นการปั้นขึ้นรูปด้วยดินน้ำมันเป็นที่ใส่กระดาษทิชชูจึงนำเอากล่องพลาสติก มาเป็นโครงเสริมด้านในทำให้ได้ขนาดและประหยัดดินน้ำมัน

ดินที่ทำขายในท้องตลาดจะมีหลายสีเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆ เมื่อจะนำทำงานปั้นแบบ ควรนำมาผสมและนวดให้เข้ากันจนเป็นสีน้ำตาลเทา คล้ายสีของดินเหนียว เพื่อลดแสงสะท้อนที่ไม่เท่ากันของแสงเงา ทำให้ปั้นง่ายขึ้น

ขั้นตอนการปั้น

1. หุ้มพลาสติกคลุมกล่องทิชชู เวลาถอดแบบจะทำให้ง่ายขึ้น
2. พอกดินน้ำมันหุ้มให้รอบอย่าให้หนามาก
3. ใช้มีดปาดดินน้ำมันออกให้มีความหนาเสมอกัน
4. ปั้นพอกเสริมทีละน้อย เน้นจุดเด่น เช่น ตา จมูก และปาก
5. ปั้นขา และขนบนหัวที่ละด้าน เพื่อให้เท่ากัน
6. แต่งผิวให้เรียบเสมอ ก่อนแต่งลวดลายและขน
7. นำไปหล่อแบบทำพิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์

งานประติมากรรมกระดาษ ส่วนใหญ่จะเป็นงานขึ้นรูปจากแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ ซึ่งมีลักษณะผ่าซีกสองชิ้น ซ้ายขวา  เวลาทำจะปิดเศษกระดาษทีละซีก ทิ้งให้แห้ง แล้วจึงนำมาปะกบเข้าด้วยกัน ก่อนใช้กระดาษขาว หุ้มทับเป็นชั้นสุดท้าย

ในปัจจุบันงานเปเปอร์มาเช่ได้พัฒนามากขึ้น เป็นงานที่มีความหลากหลาย เน้นรายละเอียดรูปทรงที่ ใกล้เคียงกับงานปั้นอย่างเช่นงานล้อบุคคลที่มีชื่อเสียง และงานสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่ดูแล้วให้ความรู้สึก และมี คุณค่ามากกว่ากระปุกหมูสีแดงอย่างแต่ก่อน

งานเหล่านั้นเกิดจากการผสมผสานงานปิดกระดาษแบบเดิมกับการนำกระดาษที่บดละเอียดผสมกาวเสริมในรายละเอียด และปิดทับด้วยกระดาษสาที่มีลักษณะอ่อนนุ่มแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันกับแบบก่อนนำไป ตกแต่งด้วยสีและวัสดุอื่นๆ ให้สมจริง

แม่พิมพ์ที่ใช้ในงานประติมากรรมจากเยื่อกระดาษ

1. แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ จะต่างกับแบบพิมพ์ที่ทำเปเปอร์มาเช่ ทั่วไปคือจะเป็นแบบเน้นลายละเอียดด้าน นอก จึงต้องการความคมชัด ทำให้มีปัญหาเรื่องการถอดแบบเพราะต้องรอให้อยู่ตัวและแห้งก่อน จึงทำงานได้ช้า 

2. แม่พิพม์ยางพารา จะให้รายละเอียดที่คมชัดกว่า ถอดแบบได้ง่ายกว่า และไม่ต้องรอให้แห้งเหมือนแบบปูน จึงทำงานได้เร็วกว่า 

3. ผลงานที่ออกมาเกือบสมบูรณ์ เพราะสามารถแต่งสีและลวดลายผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับเยื่อกระดาษ ก่อนกดแบบไม่ต้องทำสีและเขียนลวดลายเหมือนแบบเดิม แต่ถ้าต้องการเพิ่มคุณค่าให้ชิ้นงาน ก็สามารถนำมาปิดทอง แต่งสีและเพิ่มรายละเอียดให้เหมือนจริง

งานเปเปอร์มาเช่ แม้จะสร้างจากเศษกระดาษที่ไร้ค่าให้เป็นของเล่นสำหรับเด็กหรือของใช้ใกล้ตัวอย่างกล่อง กระดาษทิชชู และกระจกส่องหน้าแล้ว บนความพอเพียงของเศรษฐกิจสมัยนี้ หากเรานำเอาเยื่อกระดาษมาสร้างงานศิลปะให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ใช้ทดแทนการใช้ วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับงานหัตถกรรมแบบไทยๆ

ข้อมูล : ประติมากรรมกระดาษ ของ มะลิฉัตร เอื้ออานันทร์
           
ภาพประกอบ : สถาบันเด็ก / กลุ่มต่อยอดหัตถศิลป

บทความที่เกี่ยวข้องใน Geocities.com/idea4thai
-  ทำดินไทยใช้เอง
-  เปเปอร์มาเช่จากเยื่อกระดาษ
-  ภาพนูนสูงหน้าพระ
-  หล่อแบบปูนปลาสเตอร์
- แม่พิมพ์ยางพารา

 

 
Geocities.com / Idea4thai 2005