หน้า ๔๑

         สติปัฏฐานจึงเป็นทางสายเอก และเป็นทางสายเดียวที่ทำให้ผู้ดำเนินตาม ทางนี้ ถึงความบริสุทธิหมด
จดจนบรรลุพระนิพพาน ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุ มัคค ผล นิพพาน ต้องเริ่มต้นด้วยสติปัฏฐานนี้
         มหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า ภควา เอตทโวจ เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา
โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้ว ซึ่งพระพุทธวจนะดังนี้ ดูก่อน พระภิกษุทั้งหลาย อันว่าหน
ทางนี้เป็นหนทางเอก เพื่อความบริสุทธิหมดจดแห่งสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงเสียด้วยดี ซึ่ง ความโศกและ
ความร่ำไร เพื่อดับไปแห่ง เหล่าทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
สิ่งนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔
         ญายธรรม คือ ธรรมที่ควรรู้ มี ๕ ประการ ได้แก่
         ๑. สังขาร คือธรรมที่ปรุงแต่ง ได้แก่ อุปาทินนกสังขาร และอนุปาทินนก สังขาร
         ๒. วิการ คือธรรมที่ผันแปรเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความเปลี่ยนแปรของสัตว์ ที่เป็นไปในภูมิต่าง ๆ
         ๓. ลักษณะ คือธรรมที่เป็นเหตุให้รู้เห็น ได้แก่ ลักษณะของสภาวะ
         ๔. นิพพาน คือธรรมที่พ้นแล้วจากกิเลส ได้แก่ ความดับที่ไม่เกิดอีกเลย
         ๕. บัญญัติ คือธรรมที่เพียงแต่ใช้พูดจากล่าวขานกันเท่านั้น ได้แก่ อัตถ บัญญัติ สัททบัญญัติ


หน้า ๔๒

         สติปัฏฐาน มี ๔ ประการ คือ
         ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกาย คือ รูปขันธ์ หรือรูปธรรม มี ๑๔ ฐาน
หรือ ๑๔ บรรพ (บรรพ = ข้อ)
         ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งเวทนา คือ เวทนาขันธ์ มี ๙ ฐาน
หรือ ๙ บรรพ
         ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิต คือวิญญาณ ขันธ์ มี ๑๖ ฐาน
หรือ ๑๖ บรรพ
         ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งธรรม คือ รูปนามขันธ์ ๕ มี ๕ ฐาน
หรือ ๕ บรรพ
         รวมเป็น ๔๔ ฐาน หรือ ๔๔ บรรพ นี่เป็นการนับจำนวนโดยพิสดาร
         ถ้านับอย่างสังเขป ก็มีเพียง ๒๑ ฐาน หรือ ๒๑ บรรพ คือ นับกาย ๑๔ ตามเดิม เวทนานับเพียง ๑
จิตก็นับเพียง ๑ และธรรมคงนับ ๕

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

        กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งกาย คือ การกำหนด ให้เห็นรูปธรรมนั้น มี ๑๔ บรรพ
ได้แก่
        บรรพที่ ๑ อานาปานสติ ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
        บรรพที่ ๒ อิริยาบถ ๔ ได้แก่ เดิน ยืน นั่ง นอน ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า อิริยาบถใหญ่
        บรรพที่ ๓ สัมปชัญญะ ๗ ได้แก่
             (๑) ก้าวไปข้างหน้า และถอยไปข้างหลัง
             (๒) แลไปข้างหน้า เหลียวไปข้างซ้าย เหลียวไปข้างขวา
             (๓) คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก
             (๔) กิริยาที่นุ่งผ้า ห่มผ้า และใช้เครื่องใช้สอยอื่น ๆ
             (๕) การเคี้ยว การกิน การดื่ม
             (๖) การถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ
             (๗) อาการเดิน ยืน นั่ง นอน จะหลับ เวลาที่ตื่นขึ้น การพูด การนั่ง สัมปชัญญะ ๗ นี้ บางทีก็เรียกว่า
             อิริยาบถย่อย
         บรรพที่ ๔ ปฏิกูลสัญญา ได้แก่ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น
         บรรพที่ ๕ ธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
         บรรพที่ ๖ อสุภะ ที่ตายได้เพียง ๑, ๒, ๓ วัน
         บรรพที่ ๗ อสุภะ ที่สัตว์กำลังกัดกินอยู่


หน้า ๔๓

         บรรพที่ ๘ อสุภะ ที่เป็นกระดูก ยังมีเลือดเนื้อติดอยู่
         บรรพที่ ๙ อสุภะ ที่ปราศจากเนื้อ มีแต่เส้นเอ็นยึดให้คงรูปอยู่
         บรรพที่ ๑๐ อสุภะ ที่เหลือแต่โครงกระดูก ซึ่งยังคงเป็นรูปร่างอยู่
         บรรพที่ ๑๑ อสุภะ ที่กระดูกเป็นท่อน ๆ เช่น ท่อนแขน ท่อนขา กระจัด กระจายอยู่
         บรรพที่ ๑๒ อสุภะ ที่เก่ามาก จนกระดูกเป็นสีขาวเหมือนสังข์
         บรรพที่ ๑๓ อสุภะ ที่ตากลมตากฝนมาตั้ง ๓ ปีแล้ว เหลือแต่กระดูกเป็น ชิ้น ๆ กระจัดกระจาย
         บรรพที่ ๑๔ อสุภะ ที่กระดูกผุป่น ไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนเป็นผงแล้ว

         บรรพที่ ๑ อานาปานสติ นี้เจริญได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา กล่าวคือ
         ถ้ากำหนดพิจารณาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก โดยถือเอาบัญญัติ คือลม เป็นที่ตั้งแห่งการเพ่ง เพื่อให้ได้ฌาน ก็เป็นสมถภาวนา
         แต่ถ้ากำหนดพิจารณาความร้อนเย็นของลมหายใจที่กระทบริมฝีปากบน หรือ ที่ปลายจมูก เพื่อให้เห็นรูปธรรม ตลอดจนไตรลักษณ์ ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา
         บรรพที่ ๒ อิริยาบถ ๔ บรรพที่ ๓ สัมปชัญญะ ๗ และบรรพที่ ๕ ธาตุทั้ง ๔ รวม ๓ บรรพนี้ ใช้ในการ
เจริญวิปัสสนาภาวนาแต่อย่างเดียว จะเพ่งให้เกิด ฌานจิตไม่ได้
         บรรพที่ ๔ ปฏิกูลสัญญา และบรรพที่ ๖ ถึง ๑๔ อสุภะ รวม ๑๐ บรรพนี้ ใช้ในการเจริญสมถภาวนาแต่อย่างเดียวเท่านั้น
         อนึ่งบรรพที่ ๓ สัมปชัญญะ ๗ นั้น มีความหมายว่า ผู้บำเพ็ญเพียรภาวนา เดินไปข้างหน้า ถอยหลัง
เหลียวซ้าย แลขวา ตลอดจนการเคลื่อนไหวทำการใด ๆ จะต้องทำด้วยความมีสัมปชัญญะ คือรู้ตัวอยู่ทุกขณะที่
เคลื่อนไหวไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้พินิจพิเคราะห์
         อีกนัยหนึ่ง สัมปชัญญะคือการรู้ตัวนั้น ต้องมีสติและชอบด้วยเหตุผล ไม่ใช่ ทำไปตามอารมณ์หรือทำไป
ตามใจชอบ แต่ต้องมีทั้งสติและปัญญาด้วย จึงจะเรียกได้ว่ามี สติสัมปชัญญะ
         สัมปชัญญะ มี ๔ ประการ ใน สีลขันธอรรถกถา แสดงไว้ว่า
         อตฺถปริคฺคณฺหนํ สตฺถกสมฺปชญฺญํ นาม ฯ ธรรมชาติ(ปัญญา) ที่กำหนดรู้ แต่ในประโยชน์นั้น ได้นามว่า
สัตถกสัมปชัญญะ


หน้า ๔๔

         สปฺปาย ปริคฺคณฺหนํ สปฺปายสมฺปชญฺญํ นาม ฯ ธรรมชาติ(ปัญญา) ที่ กำหนด แต่การที่ควรนั้น ได้นามว่า สัปปายสัมปชัญญะ
         กมฺมฏฺฐานสฺส ปน อวิชหน เมว โคจรสมฺปชญฺญํ นาม ฯ การเจริญที่มิให้ พ้นจากอารมณ์กัมมัฏฐานนั้น
ได้นามว่า โคจรสัมปชัญญะ
         อภิกฺกมาทีสุ อสมฺมุยฺหนํ อสมฺโมหสมฺปชญฺญํ นาม ฯ ธรรมชาติ(ปัญญา) ที่รู้ในการเคลื่อนไหว โดยปราศจากการเคลือบแคลงนั้น ได้นามว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ
         ดังนี้ จึงแสดงความหมายแห่งสัมปชัญญะ ๔ นี้ โดยย่อ ๆ ว่า
         ๑. สัตถกสัมปชัญญะ พินิจประโยชน์ รู้แน่ว่ามีประโยชน์จึงทำ
         ๒. สัปปายสัมปชัญญะ พินิจถึงการควร รู้แน่ว่าควรทำจึงทำ
         ๓. โคจรสัมปชัญญะ พินิจในอารมณ์ ไม่ให้คลาดไปจากอารมณ์กัมมัฏฐาน นั้น ๆ
         ๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ พินิจถึงไตรลักษณ์ รู้การเคลื่อนไหวโดยปราศจาก การเคลือบแคลง
         การตั้งสติพินิจกาย ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นวิธีการเบื้องต้น ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้เห็นรูปธรรม
         อันว่า กาย คือ รูปกายหรือสังขารนี้ เป็นที่ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ คือ รูปธรรม ที่มีชื่อเรียกว่า กัมมชรูป ประการหนึ่ง จิต ที่มีชื่อเรียกว่า วิบากจิต ประการหนึ่ง และ เจตสิก ที่ประกอบกับจิตนั้น อีกประการหนึ่ง
         ในชั้นต้นนี้ ให้กำหนดดูเฉพาะรูปธรรมแต่อย่างเดียวก่อน เพราะรูปเป็นของ หยาบ เห็นได้ง่าย ยังไม่ต้องพินิจ
พิจารณาจิตและเจตสิก ซึ่งเห็นได้ยากกว่า
         การกำหนดดูรูป ก็เพื่อจะได้รู้เห็นว่า ตามที่ได้เคยยึดถือรูปกายนี้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลมีตัวตนเราเขานั้น แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมมาประชุมร่วมกันเป็น รูปกาย แม้การเคลื่อนไหวกาย เช่นการเดิน เป็นต้น ก็สักแต่ว่าที่
ประชุมแห่งรูป คือ รูปกายนี้ สังขารนี้ กัมมชรูปนี้ เคลื่อนไหวไปด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุ ซึ่งก็เป็นรูป อีกชนิดหนึ่งที่
เกิดจากจิต หาใช่ว่าเราเดินเขาเดินไม่ การรู้เช่นนี้ ชื่อว่าได้เกิดปัญญา รู้เห็นถูกต้องตรงตามสภาพแห่งความเป็นจริง
ส่วนหนึ่งแล้ว


หน้า ๔๕

         ที่ว่าการเคลื่อนไหวกายเช่น การเดิน เป็นต้น เคลื่อนไหวไปด้วยอำนาจแห่ง วาโยธาตุนั้น สติปัฏฐานอรรถกถา
แสดงว่า
         การเดิน จิตฺตกฺริยวาโยธาตุ วิปฺผาเรน สกลกายสฺส ปุรโต อภินิหาโร คมนนฺติ วุจฺจติ ฯ วาโยธาตุอัน
เกิดแต่จิต ที่ซ่านไปทั่วสกลกาย ยังให้เคลื่อนไหว นั้น เรียกว่า เดิน (คมนะ)
         โก คจฺฉติ ใครเดิน ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลไรๆ เดิน
         กสฺส คมนํ อาการเดินของใคร อาการของจิตตชวาโยธาตุ
         กึ กรณา คจฺฉติ เดินเพราะเหตุใด เพราะอำนาจของจิตตชวาโยธาตุ
         การยืน จิตฺตกฺริยวาโยธาตุ วิปฺผาเรน สกลกายสฺส โกฏิโต ปฏฺฐาย อุสฺสิต ภาโว ฐานนฺติ วุจฺจติ ฯ วาโยธาตุอันเกิดแต่จิต ที่ซ่านไปทั่วสกลกายยังให้เคร่งตึง นั้น เรียกว่า ยืน (ฐานะ)
         โก ติฏฺฐติ ใครยืน ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลไรๆ ยืน
         กสฺส ติฏฺฐนํ อาการยืนของใคร อาการของจิตตชวาโย
         กึ กรณา ติฏฺฐติ ยืนเพราะเหตุใด เพราะอำนาจของจิตตชวาโยธาตุ
         การนั่ง จิตฺตกฺริยวาโยธาตุ วิปฺผาเรน เหฏฺฐิมกายสฺส สมิญฺชนํ อุปริม กายสฺส อุสฺสิตภาโว นิสชฺชนาติ วุจฺจติ ฯ วาโยธาตุอันเกิดแต่จิต ที่ซ่านไปทั่ว สกลกาย ยังให้ส่วนล่างจด และส่วนบนตั้งตรงนั้น เรียกว่า นั่ง (นิสัชชะ)
         โก นิสีทติ ใครนั่ง ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลไรๆ นั่ง
         กสฺส นิสีทนํ อาการนั่งของใคร อาการของจิตตชวาโยธาตุ
         กึ กรณา นิสีทติ นั่งเพราะเหตุใด เพราะอำนาจของจิตตชวาโยธาตุ
         การนอน จิตฺตกฺริยวาโยธาตุ วิปฺผาเรน สกลสรีรสฺส ติริยโต นิสารณํ สยนนฺติ วุจฺจติฯ วาโยธาตุอัน
เกิดแต่จิต ที่ซ่านไปทั่วสกลกาย ยังให้ยาวเหยียด นั้น เรียกว่า นอน (สยนะ)
         โก สยติ ใครนอน ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลไรๆ นอน
         กสฺส สยนํ อาการนอนของใคร อาการของจิตตชวาโยธาตุ
         กึ กรณา สยติ นอนเพราะเหตุใด เพราะอำนาจของจิตตชวาโยธาตุ
         ที่แสดงเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้ตระหนักว่า การเดิน ยืน นั่ง นอน นั้นเป็นแต่ ความเคลื่อนไหวอันเกิดจากธาตุลมที่มี
อยู่ในร่างกาย โดยบัญชาของจิตสั่งให้เป็นไป ไม่มีตัวตน บุคคลสัตว์มาบงการให้เป็นไปแต่อย่างใด อุปมาเช่นเดียวกัน
กับที่เห็น รถยนต์แล่นไปมา ซึ่งความจริงที่รถแล่นไปมาได้นั้น ไม่ใช่ความสามารถของรถยนต์ หากแต่รถนั้นแล่นไปมา
ด้วยอำนาจของเครื่องจักรกลที่มีอยู่ในตัวรถ โดยมีผู้ขับคอย บังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการฉันใด สังขารร่าง
กายนี้ที่เคลื่อนไหวได้ ก็ อุปไมยฉันนั้น


หน้า ๔๖

         มหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งใน ทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก แสดงไว้ว่า
         อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา
โทมนสฺสํฯ
         แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณากาย ในกายอยู่ เป็นผู้มีความ
ขะมักเขม่น รู้ตัวอยู่ มีสติอยู่ ย่อมกำจัดซึ่ง อภิชฌาและ โทมนัส ในโลกเสียได้
         อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา
วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯลฯ
         แปลความว่า ภิกษุนั้น เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในอยู่ด้วย ประการดังนี้ก็ดี พิจารณาเห็น
กายในกายอันเป็นภายนอกอยู่ก็ดี พิจารณาเห็นกายใน กายทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกอยู่ก็ดี ฯลฯ
         คำว่า " กายในกาย " และคำว่า “กายในกายอันเป็นภายใน กายในกายอันเป็น ภายนอก” นี้ มีอธิบายกันเป็น
หลายนัย เป็นต้นว่า
         ๑. กาเย กายานุปัสสี เห็นกายในกาย คำว่า กาเย หมายถึง รูปกาย คือ กัมมชรูปนี้ สังขารนี้ ซึ่งมีทั้งจิต
เจตสิก และรูป ส่วนคำว่า กายานุปัสสี หมาย เพียงให้เห็นให้กำหนดดูแต่รูปธรรมเท่านั้น คือให้กำหนดดูเฉพาะรูป
อย่างเดียว ไม่ใช่ให้ดูจิต เจตสิก ที่มีอยู่ในสังขารร่างกายนี้ด้วย
         ๒. กายในกาย หมายตรง ๆ ว่า รูปในรูป ซึ่งกล่าวเฉพาะรูปธรรมที่มีใน สังขารร่างกาย คือ กัมมชรูปนี้ ก็มากมายหลายรูป แต่ก็ให้ดูเพียงรูปเดียวในหลาย ๆ รูปนั้น เช่นการพิจารณาลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ได้กำหนดดูวาโยธาตุแต่รูป เดียวหรือกำหนดความเย็นความร้อนของลมหายใจ คือเตโชธาตุ แต่รูปเดียวเท่านั้น


หน้า ๔๗

         ๓. ในทำนองเดียวกัน กับการพิจารณาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้า พิจารณาอิริยาบถเดิน คือการเคลื่อน
ไปแห่งสังขารร่างกายนี้ ก็ให้กำหนดดูวาโยธาตุ แต่รูปเดียว ซึ่งเป็นรูปที่สามารถทำให้กัมมชรูป คือสังขารร่างกายนี้
เคลื่อนไหวไปได้
         ๔. แม้ในอิริยาบถเดิน ซึ่งมีวาโยธาตุสามารถทำให้รูปกายเคลื่อนไปได้นั้น ก็ ยังมีรูปที่อุปการะให้สำเร็จในการ
เดินอีกหลายรูป คือ เวลายกเท้าขึ้นก็ยกด้วยอำนาจ แห่งเตโชธาตุ เวลาเคลื่อนเท้าก้าวสืบไป ก็ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุ เวลาที่หย่อน เท้าลงยังพื้น ก็ด้วยอำนาจแห่งอาโปธาตุ และเวลาที่เหยียบเท้าลงถึงพื้น ก็ด้วย อำนาจแห่งปฐวีธาตุ กล่าว
อย่างสั้น ๆ ให้จำได้ง่าย ๆ ก็ว่า ยกไฟ ไปลม จมน้ำ ย่ำดิน ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ให้กำหนดดู วาโยธาตุแต่
รูปเดียวในรูปทั้งหลาย ที่กล่าวแล้วนี้
         ๕. ส่วนคำว่า กายในกายอันเป็นภายใน และกายในกายอันเป็นภายนอกนั้น เช่นการพิจารณาลมหายใจเข้า
ลมหายใจออกที่เป็นไปในรูปกายนี้ ก็เป็นภายใน ลม หายใจเข้าลมหายใจออกที่เป็นไปในรูปกายอื่น ก็เป็นภายนอก
        ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็เป็นไปในสังขารนี้เป็นฉันใด ที่เป็นไปใน สังขารอื่นก็เป็นฉันนั้น ดังนี้เป็นต้น

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

         เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง
         เวทนา คือ เวทนา ขันธ์ อันมี ๙ บรรพ ได้แก่
         บรรพที่ ๑ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง สุขเวทนา
         บรรพที่ ๒ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง ทุกขเวทนา
         บรรพที่ ๓ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง อุเบกขาเวทนา
         บรรพที่ ๔ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง สุขเวทนาที่เจือด้วยอามิส (สามิสสสุข)
         บรรพที่ ๕ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง ทุกขเวทนาที่เจือด้วยอามิส (สามิสสทุกข)
         บรรพที่ ๖ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง อุเบกขาที่เจือด้วยอามิส (สามิสสอทุกขมสุข)
         บรรพที่ ๗ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง สุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (นิรามิสสสุข)
         บรรพที่ ๘ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง ทุกขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (นิราสมิสสทุกข)
         บรรพที่ ๙ พิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง อุเบกขาเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (นิรามิสสอทุกขมสุข)


หน้า ๔๘

         อามิส แปลว่า สิ่งของ เครื่องล่อใจ เหยื่อ แต่ในที่นี้หมายถึงกิเลส ดังนั้น ในที่บางแห่งจึงเรียกว่า สุขเวทนา
ที่เจือด้วยกิเลส ทุกขเวทนาที่เจือด้วยกิเลส ฯลฯ บ้างก็เรียกว่า สุขเวทนาที่เจือด้วยกามคุณ ทุกขเวทนาที่เจือด้วย
กามคุณ ฯลฯ เพราะ โดยส่วนมาก กามคุณย่อมเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
          สุขเวทนาที่เกิดขึ้นด้วยสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ดี ทุกขเวทนาที่เกิด ขึ้นจากสภาพแห่งสังขารก็ดี และอุเบกขาเวทนาซึ่งเกิดมีความสงบจากอารมณ์ของ สมถะหรือวิปัสสนาก็ดี จัดว่าเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขา
เวทนา ที่ไม่เจือ ด้วยอามิส
         เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้ง ๙ บรรพนี้ ใช้ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา แต่ อย่างเดียว จะเพ่งเวทนาโดย
ความเป็นอารมณ์ของสมถภาวนา เพื่อให้เกิดฌานจิตนั้น ไม่ได้
         การตามพิจารณาเวทนา ก็เพื่อให้รู้เห็นประจักษ์ชัดว่าทุกข์สุขที่กำลังเกิดอยู่นั้น เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งไม่มี
รูปร่างสัณฐานที่ให้เห็นได้ด้วยนัยตา เป็นธรรมชาติที่ ไม่ใช่รูป แต่เรียกว่า นาม คือ นามเจตสิก
         เวทนานี้ไม่ใช่เรา และเราก็ไม่ใช่เวทนา ต่อเมื่อมีเหตุ มีปัจจัย เวทนาก็เกิดขึ้น ก็ปรากฏขึ้น จะห้ามไม่ให้เกิด
ก็ห้ามไม่ได้ ครั้นหมดเหตุ หมดปัจจัยแล้ว เวทนา ก็ดับไปเอง ไม่ดำรงคงอยู่ตลอดไป
         ความรู้ในเวทนาดังกล่าวนี้แหละที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อัน เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา ซึ่งมีความสามารถประหารสักกายทิฏฐิได้
         ความจริงเวทนานี้ก็เกิดอยู่เสมอทุกขณะ ไม่มีว่างเว้นเลย ชนทั้งหลายก็รู้สึก ทุกข์หรือสุขอยู่ แต่ว่าไปยึดถือว่า
เราทุกข์เราสุข จึงไม่อาจที่จะละสักกายทิฏฐิได้เลย ดังนี้ไม่เรียกว่า เวทนานั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน หรือเป็น
อารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา
         เวทนา กล่าวตามนัยแห่งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จัดเป็น ๙ บรรพ ดังที่ ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น
         แต่เมื่อกล่าวโดยองค์ธรรม ก็ได้แก่ เจตสิกดวงเดียวที่ชื่อว่า เวทนาเจตสิก
         ดังนั้น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ว่ามี ๙ บรรพนั้น จึงนับว่ามีบรรพ เดียวก็ได้ โดยอาศัยนับตามนัยแห่ง
องค์ธรรม ซึ่งมีเพียง ๑


หน้า ๔๙

         อนึ่ง ในเรื่องเวทนาในเวทนาก็ดี เวทนาในเวทนาอันเป็นภายใน เวทนาใน เวทนาอันเป็นภายนอกก็ดี ก็มีนัยทำนองเดียวกับกายในกายที่กล่าวมาแล้ว คือ
         เมื่อกำหนดพิจารณาอยู่เนือง ๆ ย่อมทราบว่า ขณะที่เสวยทุกขเวทนาอยู่ ขณะ นั้นก็ไม่มีสุขและไม่ใช่อุเบกขา
         เวลาที่กำลังมีสุขเวทนาอยู่ เวลานั้นก็ไม่มีทุกข์ และไม่ใช่อุเบกขาด้วย
         ครั้นเมื่อใดเป็นอุเบกขาอยู่ เมื่อนั้นก็ไม่ทุกข์และไม่สุขด้วย
         ดังนี้ก็ปรากฏชัดว่า เวทนานี้เวลาเกิดขึ้นก็เกิดแต่อย่างเดียว เกิดทีละอย่างใน เวทนาที่มีหลายอย่าง นี่แหละเป็นการพิจารณาเวทนาหนึ่งซึ่งกำลังเกิดมีอยู่ อันเป็น เวทนาเดียวในเวทนาทั้งหลาย
         เวทนาที่เกิดแก่สังขารร่างกายนี้ ก็เป็นภายใน เวทนาที่เกิดแก่สังขารร่างกาย อื่น ก็เป็นภายนอก
         เวทนาเกิดแก่รูปกายนี้เป็นฉันใด เวทนาที่เกิดแก่รูปกายอื่น ก็เป็นฉันนั้น

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

         จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่ง จิต คือ วิญญาณ ขันธ์ อันมี ๑๖ บรรพ ได้แก่
         บรรพที่ ๑ สราค คือจิตที่ มีราคะ
         บรรพที่ ๒ วีตราค คือจิตที่ ไม่มีราคะ
         บรรพที่ ๓ สโทส คือจิตที่ มีโทสะ
         บรรพที่ ๔ วีตโทส คือจิตที่ ไม่มีโทสะ
         บรรพที่ ๕ สโมห คือจิตที่ มีโมหะ
         บรรพที่ ๖ วีตโมห คือจิตที่ ไม่มีโมหะ
         บรรพที่ ๗ สงฺขิตฺต คือจิตที่ มีถีนมิทธะ
         บรรพที่ ๘ วิกฺขิตฺต คือจิตที ฟุ้งซ่าน
         บรรพที่ ๙ มหคฺคต คือจิตที่ เป็นรูปาวจร อรูปาวจร
         บรรพที่ ๑๐ อมหคฺคต คือจิตที่ ไม่ใช่รูปาวจร อรูปาวจร (หมายถึง กามาวจร)


หน้า ๕0

         บรรพที่ ๑๑ สอุตฺตร คือจิตที่ เป็นกามาวจร
         บรรพที่ ๑๒ อนุตฺตร คือจิตที่ ไม่ใช่โลกุตตร (หมายถึง รูปาวจร และ อรูปาวจร)
         บรรพที่ ๑๓ สมาหิต คือจิตที่ เป็นสมาธิ
         บรรพที่ ๑๔ อสมาหิต คือจิตที่ ไม่เป็นสมาธิ
         บรรพที่ ๑๕ วิมุตฺติ คือจิตที่ ประหารกิเลส พ้นกิเลส
         บรรพที่ ๑๖ อวิมุตฺติ คือจิตที่ ไม่ได้ประหารกิเลส ไม่พ้นกิเลส
         จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้ง ๑๖ บรรพนี้ ไม่ได้กล่าวถึงโลกุตตรจิตด้วยเลย เพราะโลกุตตรจิตนั้นจะใช้เป็น
อารมณ์แห่งสติปัฏฐานไม่ได้ ด้วยเหตุว่าโลกุตตรจิต ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เหมือนจิตอื่น ๆ ซึ่งจิตอื่น ๆ นั้นเกิดขึ้นบ่อย ๆ เมื่อจิตใดกำลัง เกิดอยู่ ก็ใช้จิตนั้นเป็นอารมณ์ในการเจริญสติปัฏฐาน คือพิจารณาจิตนั้น อีกประการ หนึ่ง โลกุตตรจิต
ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ จึงใช้เป็นอารมณ์วิปัสสนาไม่ได้
         จิตทั้ง ๑๖ บรรพนี้ ใช้เป็นอารมณ์แห่งสติปัฏฐานในการเจริญวิปัสสนาภาวนา เว้นแต่
อากาสานัญจายตนกุสลจิต ๑ กิริยาจิต ๑ อากิญจัญญายตนกุสลจิต ๑ กิริยา จิต ๑ รวมมหัคคตจิต ๔ ดวงนี้เท่านั้น ที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถภาวนา ได้ด้วย
         ที่กำหนดพิจารณาจิตเหล่านี้ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็เพื่อให้รู้เท่าทันว่า จิตที่กำลังเกิดอยู่นั้นเป็นจิตโลภ
จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน หรือเป็นจิตชนิดใด เมื่อรู้ประจักษ์ชัดเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความรู้ต่อไปว่า ที่โลภ ที่โกรธ ที่
หลงนั้น เป็นอาการของจิต หาใช่ว่าเราโลภ เราโกรธ เราหลงไม่ เพราะจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา และ เราก็ไม่ใช่จิต จะห้าม
ไม่ให้จิตอย่างนั้นเกิด ให้เกิดแต่จิตอย่างนี้เถอะก็ไม่ได้เลย จิต ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่มาปรุงแต่ง เหตุปัจจัย
ที่มาปรุงแต่งจิตมีสภาพอย่าง ใด จิตก็มีอาการเป็นไปอย่างนั้น เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยจิตก็ดับไป
         จิตเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีรูปร่างตัวตน เห็นด้วยนัยน์ตาก็ไม่ได้ เป็น ธรรมชาติที่ไม่ใช่รูป แต่เป็น
ธรรมชาติที่เรียกว่า นาม คือ นามจิต
         ความรู้ในจิตดังกล่าวนี้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอันเป็น อารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา ซึ่งมีความสามารถที่จะละสักกายทิฏฐิ คือ ความยึดถือ ว่าเป็นจิตเราจิตเขานั้นเสียได้ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๖
บรรพนี้ นับว่ามี ๑ บรรพก็ได้ โดยอาศัยนับ ตามลักษณะของจิต ซึ่งมีสภาพที่รับรู้อารมณ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น
         ในเรื่องที่ว่า จิตในจิต จิตในจิตอันเป็นภายใน จิตในจิตอันเป็นภายนอก ก็มี นัยเป็นทำนองเดียวกันกับ
กายในกาย เวทนาในเวทนา ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น นั้น จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก