การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๔
----------------------------------------------------------------------------------

สติ โลกสฺมิ ชาคโร ( สติ โลกัสสมิ ชาคะโร ) 
สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก

นี่เป็นพุทธภาษิตซึ่งแสดงให้เห็นคุณค่าของสติ เรื่องสตินั้นเราได้พูดกันมาแล้ว ๓ อาทิตย์ เกี่ยวกับเรื่องความสำคัญ
ของสติมีอย่างไร และลักษณะของสติเบื้องต้นมีอย่างไร และการฝึกสติตอนที่ ๑ เราก็พูดกันไปแล้ว เรื่องการฝึกสติจากลม
หายใจเข้าออก และการฝึกสติจากอิริยาบถ ๔
ในวันนี้เราได้พูดกันต่อไปถึงเรื่อง การฝึกสติให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมจากสัมปชัญญะ คำว่า สัมปชัญญะ ในที่นี้
หมายถึง การรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าเราจะมีอิริยาบถอะไร จะทำอะไรต่างๆ เราย่อมมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ ปัญหาเรื่อง
นี้อาจจะมีผู้ข้องใจสงสัยก็ได้ว่า การที่ทำอะไรต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะกิน จะพูด จะเหยียด จะคู้ อะไรต่างๆ ถ้าไม่มีสติ
แล้ว จะกินเข้าไปได้อย่างไร จะพูดรู้เรื่องกันได้อย่างไร เหล่านี้ ข้อนี้ขอให้จำไว้ว่าการพูดก็ดี การเหยียด การคู้ การกิน
ของปกติของคนเรานั้น เราไม่ได้กินกันด้วยสติ ไม่ได้มีอิริยาบถเคลื่อนไหวกันด้วยสติ แต่เรากินกันด้วยกิเลส มีอากัปกิริยา
เคลื่อนไหวกันด้วยกิเลสทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะอะไร อย่างเวลาเรากินนั้น ยืนยันได้หรือเปล่าว่าเราไม่ได้กินเพราะอยาก
ไม่ได้กินเพราะความอร่อย มีใครไหมที่พิจารณาว่าเรากินอาหารเพื่อให้มีชีวิตอยู่ ตามปกตินั้นเมื่อถึงเวลาอาหาร
มันก็มีความหิว เมื่อเกิดความหิวแล้วส่วนใหญ่สิ่งที่ตามมาคือ ความอยาก ความต้องการ ซึ่งหมายถึงโลภะ นี่เรากินกัน
ด้วยโลภะประการแรก เมื่ออาหารนั้นรสอร่อย เราก็ชอบใจ กินได้มาก อะไรล่ะ ความอยากความต้องการเช่นนั้น มันก็เข้า
โลภมูลจิตอีก ในทางตรงกันข้าม ถ้าอาหารนั้นมีรสไม่ถูกปาก เราก็ไม่กิน อะไรเกิดขึ้น นั่นคือโทสมูลจิตได้เกิดขึ้นแล้ว หรือ
บางที กินกินกินเข้าไปเช่นนั้น พอให้มันอิ่มๆ นั่นอะไรมันเกิดขึ้น โมหมูลจิต คือความหลงมันเกิดขึ้น ไหนล่ะ สติไม่ได้เกี่ยว
ข้องใดๆ เลย นี่เพียงแต่การกินเท่านั้น
แล้วก็เรื่องอื่นๆ อีกล่ะ อย่างเรานั่งพับเพียบข้างหนึ่ง แล้วสักครู่เราก็กลับไปอีกข้างหนึ่ง เราบอกว่าเรามีสติ ถ้า
ไม่มีสติก็กลับไม่ได้จริงหรือ การที่เรากลับข้างจากการนั่งนั้น หรือเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งนั้น พิจารณาดูให้ดี
เราเปลี่ยนเพราะอะไร เพราะความเมื่อยขบเราก็เปลี่ยนมัน เปลี่ยนทำไม ต้องการหาความสบายจากการนั่งนั้นต่อไป
นั่นหรือสติ อะไรล่ะ ความต้องการความอยากสบายนั้นอะไร ตัณหาหรือโลภะใช่หรือไม่ เหตุนี้แหละ สมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าจึงสั่งสอนให้มีสติเป็นที่ระลึกรู้ ดังนั้นข้อเท็จจริงในชีวิตประจำวันของบุคคลแต่ละคนนั้น มีสติจริงหรือไม่
ขอให้คิดดูเอาเอง ดังอุทาหรณ์ที่ได้พูดให้ฟังมานี้
นอกจากนั้นแล้ว เราคิดดูสิว่าทุกอย่างเรามีสติ อย่างในขณะการพูดนั้น เราก็เข้าใจว่าเรามีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ
เราก็คงพูดไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นเรื่องกันแต่ประการใด แต่ความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะอะไร ลองพิจารณาดู การที่ว่า
ขณะพูดขาดสตินั้น เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า สตินั้นคือการระลึกรู้ตามความเป็นจริง คำว่าเป็นจริงน่ะ
ในที่นี้ไม่ใช่หมายความถึง fact ตามความหมายในทางโลก ความเป็นจริงในที่นี้ หมายถึงความเป็นจริงที่ไม่มีการ
เปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น
ความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้นมีอยู่เพียง ๔ ประการเท่านั้น ซึ่งความจริงอันนี้
เป็นความจริงซึ่งปรากฏหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริง ๔ ประการ
นั้น เราเรียกตามภาษาธรรมะว่า ปรมัตถธรรม อันได้แก่ความจริง ๔ ประการ
๑. จิต ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง
๒. เจตสิก ๕๒ ดวง
๓. รูป ๒๘ รูป และ
๔. ความจริงซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น นั่นคือนิพพาน เท่านั้นเอง
มีหรือ ว่าสติ ที่เราบอกว่าเรามีสตินี่ เราเคยระลึกรู้หรือว่า ความจริงเช่นนั้นมันปรากฏขึ้น เรารู้ไหม ไม่ว่าเราพูด
ไม่ว่าเรากิน ไม่ว่าเราเหยียด ไม่ว่าเราคู้ ต่างๆ นั้น เราทราบบ้างหรือเปล่าว่าอะไรมันเป็นรูปอะไรมันเป็นนาม เพราะ
ความจริงทั้งหมด ๔ ประการนั้น เมื่อย่อลงมาแล้วมันก็คงเหลือรูป ๑ นาม ๑ เท่านั้นเอง นี่เป็นความหมายถึงการระลึก
รู้ของสติ มันจึงเป็นเรื่องที่ยาก ผมใช้คำว่าเป็นเรื่องที่ยากนี่เพราะเหตุไร เพราะในวัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ของคนเรานับชาติไม่ถ้วนนั้น มันพอกพูนไปด้วยกิเลสและตัณหาสารพัด เราไม่เคยฝึกหัดอบรมจิตใจให้รู้ธรรมะอัน
แท้จริง นั่นคือ หลักของปรมัตถธรรมที่ผมได้พูดมานี้ แม้แต่เราจะได้เข้าไปในพุทธศาสนา ไม่ว่าในการปฏิบัติหรือ
กระทำกิจในเรื่องกามาวจรกุศลก็ดี ซึ่งได้แก่บุญกิริยาวัตถุ ๑0 หรือเราจะทำจิตสงบซึ่งเรียกว่าสมาธิ
ไม่ว่าในขั้นรูปาวจรกุศลหรืออรูปาวจรกุศล มันก็ยังเป็นเรื่องของบัญญัติธรรม หาใช่ปรมัตถธรรมไม่
เราจะก้าวเข้าไปสู่ปรมัตถธรรม คือความจริง ๔ ประการนั้นก็ต่อเมื่อเราได้เจริญโลกุตตรธรรม อันเรียกว่าวิปัสสนา
ปัญญาเท่านั้น จากเหตุผลที่ผมพูดมานี้ เราจะเห็นได้ว่าการเจริญโลกุตตรธรรมนั้น ถ้าเราขาดสติระลึกรู้เสียแล้ว เราไม่
มีโอกาสที่จะเจริญกุศลในขั้นโลกุตตรธรรมได้ ไม่ว่าขั้นต่ำหรือขั้นสูง ทั้งนี้เพราะเหตุใด ความจริงมีอยู่ว่า
หลักการของโลกุตตรธรรมนั้น ความสำคัญมีอยู่อันเดียว นั่นคือสติระลึกรู้ให้เป็นปัจจุบันธรรม
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเพียงเท่านี้ สอนเพียงว่า ทำให้สติระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม แต่การที่เราจะทำอย่างไร
ให้สติระลึกรู้ได้เป็นปัจจุบันธรรมนั้น มันแล้วแต่ชนแต่ละชั้น ผู้ประพฤติปฏิบัติจะหาเทคนิคหรือวิธีการสั่งสอนสติให้มันเกิด
ขึ้นให้มันเป็นปัจจุบันธรรมได้แล้ว เราถึงจะนำสติตัวนั้นมาใช้ในการเจริญโลกุตตรธรรมได้ ด้วยเหตุนี้แหละ เราจงสังเกต
ดูให้ดี การเจริญโลกุตตรธรรม หรือเรียกว่าวิปัสสนานั้น ส่วนใหญ่มันไม่ใช่วิปัสสนาปัญญา มันเป็นเรื่องของวิปัสสนึก
เพราะนึกเป็นเช่นนั้น เข้าใจเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องของสติ ผู้ใดที่ทำการฝึกสติให้ระลึกรู้ได้เป็นปัจจุบันธรรมแล้ว
จะรู้เองว่าสติระลึกรู้กับที่เรานึกให้มันรู้นั้น มันมีความผิดแผกแตกต่างกันประการใด ในเรื่องนี้ หวังว่าพวกเราทุกคนที่ทำ
การเจริญสติ หรือเรียกว่าฝึกสติให้ระลึกรู้นั้น มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างแสนสาหัส
ผมได้พูดมาแล้วตั้งแต่ตอนต้นว่าการฝึกสติให้ระลึกรู้นั้น เราสามารถที่จะฝึกให้ระลึกรู้ได้มากมายหลายทาง โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งจากหลักการของมหาสติปัฏฐานสูตร เราฝึกให้ระลึกรู้ทางลมหายใจเข้าออก ซึ่งเรื่องนี้เราได้พูดกันไปแล้ว ตอนที่๑
และการฝึกสติให้ระลึกรู้ทางอิริยาบถ ๔ เราก็ได้พูดกันไปแล้ว ดังนั้น เรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้ก็คือ ฝึกสติให้ระลึกรู้
เป็นปัจจุบันธรรมทางสัมปชัญญะ
ดังนั้น ในการฝึกสติให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมอันเกี่ยวกับสัมปชัญญะ นั้นเราจะทำได้ดังต่อไปนี้คือ
เมื่อมีการเหลียวซ้ายแลขวา เราก็จะต้องกำหนดให้มีสติระลึกรู้ ในที่นี้ผมหมายความว่ามันเป็นการฝึกสติอย่าง
หนึ่ง เพราะว่าในชีวิตของเรานั้นยังไม่เคยฝึกสติมาเลย ถ้าเราจะทำให้สติระลึกรู้โดยทันทีโดยไม่มีการฝึกนั้น มันก็กลาย
เป็นวิปัสสนึกไป ดังนั้นในการเหลียวซ้ายแลขวา ถ้าเป็นการเหลียวซ้าย เราก็กำหนดบทบริกรรมว่า เหลียวซ้ายหนอ
เหลียวซ้ายหนอ เหลียวซ้ายหนอ เหลียวซ้ายหนอ
เราทำเช่นนี้ สติให้มันเคยชิน ให้มันระลึกรู้ได้ จนกว่า
มันจะระลึกรู้ได้ เราถึงจะเลิกฝึกมัน เราทำการฝึกเช่นเดียวกันกับเมื่อเราเป็นเด็กๆ เราฝึกอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ
อย่างไร สติก็เหมือนกัน เราต้องทำมันเช่นนั้น และในทำนองเดียวกัน เมื่อเหลียวขวา เราก็ทำบทบริกรรมว่า เหลียวขวา
หนอ เหลียวขวาหนอ เหลียวขวาหนอ เหลียวขวาหนอ
เช่นนี้ เราทำใหัมันเป็นนิจสิน ความเพียรมีที่ไหน
ความสำเร็จก็มีอยู่ที่นั่น เราไม่ต้องกลัว ใครเขาตำหนติเตียนเราอย่างไร ว่าเราปฏิบัติผิดอย่างไร ช่างมัน ทำไมถึงได้
เป็นเช่นนั้น ถ้าเราไม่ฝึกเช่นนี้ เราไม่หัดเช่นนี้ เราไม่มีโอกาสที่จะทำสติให้ระลึกรู้ได้ ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าอินทรีย์
แต่ละคนนั้นแก่กล้าไม่เหมือนกัน ถ้าเรามีอินทรีย์ที่แก่กล้า เราได้สะสมมาในอดีตชาติมากมายก่ายกองแล้ว เราก็ระลึก
รู้ได้โดยทันที แต่เรายังเป็นปุถุชนมีกิเลสหนาๆ เราก็ต้องฝึกกันอย่างนี้ จนกว่าสติมันจะระลึกรู้ตามความเป็นจริงของมันได้
เองเป็นปัจจุบันธรรม เราจึงจะเลิกฝึกเช่นนี้ คือบทบริกรรม ให้มันระลึกรู้ได้ด้วยสติเอง ก็นับว่าใช้ได้
หรือการที่จะมองไปข้างหน้า เราก็ต้องสร้างบทบริกรรมให้มันรู้เป็นปัจจุบันธรรม การมองไปข้างหน้านั้นหมายถึง
เราลืมตา เมื่อมองไปเราก็ต้องแลเห็น เราก็ใช้บทบริกรรมว่า เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ
เห็นเช่นนี้ หมายความว่าจักษุปสาทรูปได้สัมผัสกับรูปารมณ์ซึ่งเป็นรูปภายนอก มันก็เกิดจักษุวิญญาณขึ้น ฉะนั้นเรา
ก็ทำสติให้มันระลึกรู้ว่า ได้แลเห็น คือเห็นหนอนั่นเอง เราฝึกเช่นนี้ จนกว่าสติมันจะระลึกได้เป็นปัจจุบันธรรม เช่นนี้
ทุกครั้งที่มองไปข้างหน้า จนกว่าสติมันจะเกิดระลึกรู้ขึ้นเอง นี่เป็นเรื่องของสัมปชัญญะ
ทีนี้นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการคู้อวัยวะเข้า และการเหยียดอวัยวะออก เราก็ต้องกำหนดให้สติระลึกรู้ คือสั่งสอน
สตินั่นเองว่า อ้ายอย่างนี้ต้องระลึกรู้อย่างนี้ นะ นี่ ฉะนั้นในการคู้อวัยวะเข้า เราก็บริกรรมว่า หดเข้าหนอ หดเข้าหนอ
หดเข้าหนอ อ้ายหดอะไร หดแขนหดขา หดเข้ามานั่นเอง เราหมายถึงอย่างนั้น ซึ่งเรื่องนี้เราจะต้องรู้ด้วยตัวของเรา
เอง เรากำหนดอย่างไร มีความหมายอย่างไร เราต้องรู้ ไม่จำเป็นจะต้องไปทำตามผมทุกอย่าง จะบริกรรมอย่างไรก็ได้
แต่ให้มันรู้เท่าทันให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมว่าขณะนั้นมันมีการคู้อวัยวะเข้า ฉะนั้น เราถึงใช้คำว่า หดเข้าหนอ หดเข้า
หนอ หดเข้าหนอ
หรือเมื่อเรามีการเหยียดแข้งเหยียดขา หรือเหยียดแขนออก เราก็ใช้บทบริกรรมว่า
เหยียดออกหนอ เหยียดออกหนอ เหยียดออกหนอ ทำเช่นนี้ โดยกำหนดสติ คือการสั่งสอนสตินั่นเองน่ะ
ให้มันระลึกรู้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริงทุกครั้งที่คู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก จนกว่าสติจะมีการระลึกรู้เกิดขึ้นเอง
นี่ ถ้าเราทำได้เช่นนั้นแล้ว กำไรในการที่จะเจริญโลกุตตรธรรมนั้น เราก็พอจะมีหวัง เพราะว่าหลักการใหญ่ของการเจริญ
โลกุตตรธรรมนั้น มีทางเดียวเท่านั้น สติตัวเดียวเท่านั้นที่เป็นปัญหา ทั้งในระหว่างที่พระพุทธกาลและในปัจจุบันนี้
นอกจากนี้แล้วในเรื่องสัมปชัญญะ แม้แต่เราจะแต่งเนื้อแต่งตัว เราก็ต้องมีสติระลึกรู้ เราจะทำอย่างไรถึงจะมีสติ
ระลึกรู้ มีทางเดียวเท่านั้นคือบทบริกรรม เราอาจจะบริกรรมว่า แต่งตัวหนอ แต่งตัวหนอ แต่งตัวหนอ เช่นนี้
โดยกำหนดให้สติระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ตามความเป็นจริงทุกครั้งที่มีการแต่งกาย จนกว่าสติจะมีความระลึกรู้ขึ้นเอง
เราถึงจะเลิกการกระทำเช่นนั้น
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีการกินและการดื่ม การกินและการดื่มอันนี้ ในขั้นการฝึกสติ เรายังไม่ต้องการรู้รส เพราะว่าเรา
ยังไม่ถึงการที่จะทำให้สติรู้จักอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เราฝึกสติในขั้นนี้ เราฝึกเพียงแต่ให้มันระลึก
รู้เป็นปัจจุบันธรรม ตามความเข้าใจในบัญญัติธรรมเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงปรมัตถธรรม
ฉะนั้นใน
การกิน เราก็มีสติระลึกรู้ สั่งสอนให้มันรู้ว่า กินหนอ กินหนอ กินหนอ หรือเวลาดื่ม เราก็ทำให้มันมีสติระลึกรู้ว่า
ดื่มหนอ ดื่มหนอ ดื่มหนอ อย่างนี้ เราฝึกเช่นนี้ในการกินในการดื่ม จนกว่าสติมันจะตื่นตัว มันจะระลึกรู้เช่นนั้น
เราถึงจะเลิกมัน เราทำเช่นนี้ทุกๆ สัมปชัญญะที่เกิดขึ้น
แม้แต่ในการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ เราก็บริกรรมมัน ถ่ายอุจจาระหนอ ถ่ายอุจจาระหนอ ถ่าย
อุจจาระหนอ
หรือ ถ่ายปัสสาวะหนอ ถ่ายปัสสาวะหนอ ถ่ายปัสสาวะหนอ เราทำเช่นนี้
ตลอดจนการหลับ ซึ่งถ้าเราจะพิจารณาจากสัมปชัญญะบรรพ ในมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว เราจะเห็นท่านพูดไว้เฉยๆ
ว่า การถ่าย การกิน การดื่ม ต้องมีสติระลึกรู้ แต่ท่านไม่ได้บอกว่าให้เราทำอย่างไร ฉะนั้นเมื่อท่านบอกเช่นนั้นแล้ว
เราก็ต้องหาทางที่จะสั่งสอนสตินั้นให้มันระลึกรู้ให้เป็นปัจจุบันธรรมจนได้ นอกจากนั้นแล้ว นอกจาก การกิน การถ่าย
การดื่มแล้ว ยังมีการหลับ ปกติคนเรานั้น ไม่ใช่หัวถึงหมอนปั๊บก็หลับได้ทันที เราหัดฝึกพอหัวถึงหมอน เราก็บริกรรม
ไปจนกว่าจะหลับ จะหลับละหนอ จะหลับละหนอ ทำเช่นนี้ จนความเคยชิน เมื่อเราเคยชินเกิดขึ้นแล้วนั้น
เวลาเราจะหลับเรารู้ตัวทันทีว่า ขณะนี้เราจะหลับ นี่ เป็นกำไรชีวิตอย่างมหาศาล
แม้แต่การตื่นก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรารู้สึกตัวตื่นขึ้น เราก็กำหนดให้มันระลึกรู้แม้แต่เรายังไม่ได้พลิกหรือขยับตัวว่า
ตื่นหนอ ตื่นหนอ ตื่นหนอ
หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังพูด เราก็ต้องให้มีสติระลึกรู้ว่า พูดหนอ พูดหนอ พูดหนอ เราทำเช่นนี้ จนกว่ามัน
จะมีความระลึกรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง เราต้องหัดประคองสติ มันคล้ายๆ กับเด็ก เมื่อมันตื่นขึ้นมาจากหลับแล้ว
เราต้องค่อยประคองให้มันเดินไป
แม้แต่เราจะเขียน อยู่ขณะนี้ เราก็ทำสติให้ระลึกรู้ว่าขณะนี้ เขียนหนอ เขียนหนอ เขียนหนอ ลักษณะ
อาการเช่นนี้ คือการเขียน
ส่วนใหญ่นั้นไม่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราจะต้องทำการเกี่ยวกับสัมปชัญญะ ที่ผมยกตัวอย่างมานี้มันเป็นเรื่องของสัมปชัญญะ
ไม่ว่าในการเขียน ไม่ว่าในการอ่านหนังสือ ไม่ว่าการฟัง เราอาจจะใช้คำว่า อ่านหนอ อ่านหนอ ได้ยินหนอ
ได้ยินหนอ
ก็ได้ในเรื่องของการฟัง
การฝึกสติให้เป็นปัจจุบันธรรมทางสัมปชัญญะนี้ หมายถึงการกระทำหรือการเคลื่อนไหวร่างกายหรือวาจา ทุกสิ่ง
ทุกอย่าง อันเป็นปกติธรรมดาของคนที่มีชีวิตจะต้องกำหนดสติให้ระลึกรู้ความจริงที่เกิดขึ้นให้เป็นปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่าง
จนกว่าสติจะมีกำลังแก่กล้า มันก็จะทำการระลึกรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง ตราบใดที่มันยังไม่มีความระลึกรู้ได้ด้วยตัวของ
มันเองแล้ว เรายังต้องใช้ความเพียรความพยายามฝึกฝนมันต่อไป เมื่อมันมีความระลึกรู้ในทางสัมปชัญญะก็ดี ในทาง
อิริยาบถ ๔ ก็ดี ในทางลมหายใจเข้าออกก็ดี ก็นับว่าเราได้มีกำไรชีวิตเกิดขึ้นอย่างมหาศาล
นอกจากนี้แล้ว มหาสติปัฏฐานสูตรยังได้แนะนำสั่งสอน ให้เราใช้สติ ฝึกสติให้ระลึกรู้ให้เป็นปัจจุบันธรรมใน
ทางปฏิกูล
ในทางปฏิกูลนั้น ผมหมายถึงอาการ ๓๒ อันได้แก่
เกศา ซึ่งหมายความว่า ผม เมื่อผมปรากฏขึ้นในความรู้สึกของเรา เราก็ต้องให้มีสติระลึกรู้ว่า ผมเป็นปฏิกูลหนอ
ผมเป็นปฏิกูลหนอ ผมเป็นปฏิกูลหนอ
เช่นนี้ ผลอย่างไร ๑. เราจะทำให้สติระลึกรู้ได้เป็นปัจจุบันธรรม หนึ่ง
ในชีวิตของเรา ๒. มันจะทำให้เราคลายความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้นลดลงไปอีก
นอกจากผมแล้ว ก็มี โลมา หรือ ขน เมื่อขนปรากฏขึ้นในความรู้สึก คือ สายตาของเรานั้น เราก็บริกรรมว่า
ขนเป็นปฏิกูลหนอ ขนเป็นปฏิกูลหนอ ขนเป็นปฏิกูลหนอ ทำเช่นนี้ แล้วผลมันก็จะบังเกิดขึ้นทั้ง ๒ ทาง คือ
ทาง ๑ ในทางสติระลึกรู้ได้โดยปัจจุบันธรรม และประการที่ ๒ ทำให้เราได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในอาการ
๓๒ ลงได้
ในเรื่องของปฏิกูลนั้น นอกจาก เกศา โลมา นขา ( เล็บ ) แล้ว ผมก็อยากให้ท่านทำความรู้จักอาการ ๓๒ หลายๆ
ตัว เพราะว่าพวกเราส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นสตรีเพศแล้ว ก็มีความหลงใหลใฝ่ฝันในเรื่องอาการ ๓๒ อยู่มิใช่
น้อย เช่นผม เราก็ต้องตบแต่งเสริมสวย หรือเล็บ เราก็ต้องทำการตบแต่งเสริมสวยนะ
ทีนี้มาถึง ทันตา หรือ ฟัน นั้น เมื่อมันปรากฏขึ้น เราก็ทำให้มันมีสติระลึกรู้ให้เป็นปัจจุบันธรรมว่า ฟันเป็น
ปฏิกูลหนอ ฟันเป็นปฏิกูลหนอ ฟันเป็นปฏิกูลหนอ
เราทำเช่นนี้ เราประพฤติเช่นนี้ปฏิบัติเช่นนี้ กำไรชีวิต
ที่จะเกิดขึ้นนั้นก็คือ ๑. สติมันก็จะตื่นตัวระลึกรู้เกิดขึ้น ประการที่ ๒. มันก็จะทำลายอุปาทาน ขันธ์ ๕ ให้ลดน้อย
ถอยลง
นอกจากนั้นแล้ว เราควรจะได้ทำความรู้จักอาการ ๓๒ ต่อไป คือ ตโจ หรือ หนัง พวกเราส่วนใหญ่ หนังนั้น
มันจะปรากฏที่ไหน ที่เราเห็นได้ชัดแจ้งก็คือหน้า เพราะอะไร เพราะเราส่องกระจกอยู่ทุกๆ วัน นอกจากนั้นก็ตามแขน
ตามมือ เราจะต้องทนุถนอมมันนะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นมัน ก็จะคงมีอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าหลักการ
ในพระพุทธศาสนาในขั้นโลกุตตรกุศลนั้น เราจำเป็นจะต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นให้หมด การทำลายความยึดมั่นถือมั่น
ที่ดีที่สุด เราเริ่มมาตั้งแต่การฝึกสติให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมว่า อะไรมันเป็นปฏิกูล แม้แต่ตโจหรือหนังนั้น เมื่อเรา
รู้สึกเช่นนั้นเราก็ใช้บทบริกรรมว่า หนังเป็นปฏิกูลหนอ หนังเป็นปฏิกูลหนอ หนังเป็นปฏิกูลหนอ เราทำ
เช่นนี้ เราไม่ต้องไปอายใคร เพราะไม่มีใครรู้เรื่องอะไรของเรา เรากำหนดของเราขึ้นในใจนั่นเอง ฉะนั้นเราทำเช่นนี้แล้ว
มันจะเกิดความเบื่อหน่าย เลิกการยึดมั่นถือมั่น แม้เราจะยังไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานให้แก่กล้ายิ่งขึ้นก็ดี เพียงแต่ฝึก
สติขั้นต้นเราหัดมาเช่นนี้แล้ว กำไรมันก็ย่อมจะเกิดขึ้น
จากอาการ ๓๒ ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนั้นแล้ว เราจะเอาสิ่งที่เราได้เห็นอยู่เสมอๆ นั่นก็คือ เสมหัง หรือ เสลด
เสมหังหรือเสลดนั้น ปกติคนเรา เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่นไอบ้าง เป็นหวัดบ้าง เราก็จะขากจะถ่มมันลงไป การที่เราขาก
เราถ่มเช่นนั้น เราไม่เคยระลึกรู้อาการ ๓๒ ประเภท เสมหังหรือเสลดเลยว่ามันเป็นปฏิกูล ฉะนั้นเมื่อปรากฏการณ์เช่นนี้เกิด
ขึ้นแก่เรา เราจะต้องทำการเตือนสติ สั่งสอนสติให้ระลึกรู้ว่า เสลดเป็นปฏิกูลหนอ เสลดเป็นปฏิกูลหนอ เช่นนี้
มันก็จะทำให้สติตื่นตัว มีการระลึกรู้ยิ่งๆ ขึ้น
นอกจากเสลดหรือเสมหังซึ่งเราจะพบปรากฏเสมอๆ แล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่ง คือ โลหิตัง หรือ เลือด โลหิตังหรือ
เลือดนี่ เกือบจะเป็นปกติธรรมดา บางทีพลาดๆ พลั้งๆ ไปทำมีดบาดมือบ้างอะไรบ้าง เราก็ต้องให้สติระลึกรู้ว่า เลือดเป็น
ปฏิกูลหนอ เลือดเป็นปฏิกูลหนอ
เช่นนั้น
นอกจากเลือดเป็นปฏิกูลแล้ว ส่วนใหญ่ที่เราจะเห็นได้ชัดแจ้งอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสโท หรือ เหงื่อ ที่เราทุกคนมี
เป็นประจำ เมื่อเราได้รับการอบอ้าวหรือความร้อนเกิดขึ้น เหงื่อมันก็จะออก เหงื่อเราออกนี่ ตามปกติพวกเราก็ใช้
ผ้าเช็ดหน้าซับ หรืออย่างดีก็ลูบเนื้อลูบตัวเสียหน่อยหนึ่ง ให้เหงื่อมันหายไป ผมคิดว่าไม่มีใครที่จะเตือนสติให้มันรู้จัก
นะ ว่าเหงื่อนี่ มันเป็นสิ่งปฏิกูล ฉะนั้นเรามาให้บทเรียนชีวิตของเราเสียใหม่ เมื่อเหงื่อมันออก เราปรากฏลูบติดเหงื่อ
เช่นนั้น เราก็ใช้บทบริกรรมว่า เหงื่อเป็นปฏิกูลหนอ เหงื่อเป็นปฏิกูลหนอ เหงื่อเป็นปฏิกูลหนอ เราทำ
เช่นนี้เพื่อสติจะได้เกิดขึ้นแล้วเราก็จะได้นำสตินั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในภายหลัง
นอกจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสุภาพสตรีทั้งหลายก็คือ อัสสุ หรือ น้ำตา พวกช่างบีบน้ำตา ดาราเจ้าน้ำตา
ทั้งหลาย เกิดคับแค้นใจสักนิดหนึ่งก็สะอึกสะอื้น ใช้ตัวนี้แหละให้มันเป็นประโยชน์ เมื่อน้ำตามันไหลออกมา เราก็เตือนสติ
มันนะว่า น้ำตาเป็นปฏิกูลหนอ น้ำตาเป็นปฏิกูลหนอ น้ำตาเป็นปฏิกูลหนอ เช่นนี้ มันก็จะได้รับ
ประโยชน์ นอกจากเราจะกระดากอายตัวเราเอง เราก็จะเห็นว่าน้ำตานั้น ที่ว่าเราว่ามันมีค่ามากมายหลายประการนั้น
ความจริงมันเป็นปฏิกูล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนให้เรารู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นปฏิกูล มันไม่ใช่ของดีใดๆ
ทั้งสิ้น
นอกจากน้ำตาแล้ว พวกเราส่วนใหญ่ที่ประสบพบมาทุกวันทุกขณะก็คือ เขฬะ หรือเรียกว่า น้ำลาย เราจะบ้วน
น้ำลายสักปริ๊ดหนึ่ง เราก็ให้มีสติระลึกรู้ว่า น้ำลายเป็นปฏิกูลหนอ น้ำลายเป็นปฏิกูลหนอ น้ำลายเป็น
ปฏิกูลหนอ
เราทำเช่นนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับ นั่นก็คือสติจะเกิดขึ้น แล้วเราจะได้นำสติตัวนี้ไปพิจารณาเจริญวิปัสสนา
กรรมฐาน เรียกว่าโลกุตตรธรรมต่อไปในภายหลัง เราเป็นปุถุชน เราไม่สามารถสะสมอินทรีย์ ๕ ให้แก่กล้าขึ้นได้
อินทรีย์ ๕ จะแก่กล้าหรือไม่ ไม่มีใครรู้ มีรู้อยู่ผู้เดียวคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะเหตุนี้เราจึง
อย่าตั้งอยู่ในความประมาท เราศึกษาหาความรู้ สั่งสอนสติให้มันรู้จักภาษามาตั้งแต่ต้น แล้วมันก็จะทำประโยชน์ให้
แก่เราอย่างมากมายในภายหลัง
นอกจากเขฬะหรือน้ำลายแล้ว มันก็มี สังฆาณิกา เรียกว่า น้ำมูก ที่พวกเราเป็นอยู่ขณะนี้น่ะ เคยสั่งกันบ่อยๆ
เราก็ควรจะได้รู้ว่าน้ำมูกมันเป็นปฏิกูล เราก็ใช้บทบริกรรมว่า น้ำมูกเป็นปฏิกูลหนอ น้ำมูกเป็นปฏิกูลหนอ
เท่าที่ผมกล่าวมานี้ เป็นเพียงบางส่วนของอาการ ๓๒ เพราะว่าอาการ ๓๒ นั้นมันมีอยู่มากมาย ขอให้พวกเราได้
สนใจ ได้ทำความเข้าใจในเรื่องหลักการ ไม่ว่าสัมปชัญญะต่างๆ เพราะว่าสัมปชัญญะต่างๆ ที่ผมยกขึ้นมานั้น ความจริง
มันยังมีมากกว่านั้นอีก แต่ที่ยกมาพูดนี้เป็นเพียงตัวอย่างทำความเข้าใจให้กับพวกเรา นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีสิ่งที่เป็นปฏิกูล
คือหลักการของธรรมะขั้นสูงสุดคือโลกุตตรกุศลนั้น มันไม่ได้เกี่ยวในทางอื่นเลย มันเกี่ยวเฉพาะในตัวของเราทั้งสิ้น นี่
เมื่อเราได้รู้การฝึกสติขั้นต้นต่างๆ มาแล้ว กล่าวคือ เรื่องลมหายใจ เรื่องอิริยาบถ ๔ เรื่องสัมปชัญญะ เรื่องปฏิกูล
แล้ว
ต่อไปนี้เราจะได้ทำความรู้จัก การฝึกสติอันเกิดขึ้นกับเวทนา บ้าง คำว่าเวทนานี้ ผมว่าอาจจะมีพวกเรา
บางคนไม่เข้าใจความหมาย เวทนานี้พูดตามภาษาธรรมะก็หมายความว่า การเสวยอารมณ์ว่า เป็นสุข หรือเป็นทุกข์
หรือไม่สุขไม่ทุกข์ คือเฉยๆ
นั่นเอง นั่นเป็นเรื่องที่เรียกว่าเวทนา อันเป็นขันธ์ๆ หนึ่ง เรียกว่าเวทนาขันธ์ อยู่ใน
ขันธ์ ๕ เราจำเป็นต้องมีความระลึกรู้ในเรื่องเวทนาให้มีความเข้าใจเช่นนั้น ซึ่งในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านแบ่งเวทนา
ซึ่งเราเข้าใจว่ามีอยู่ ๓ นั้น ท่านแบ่งออกไปถึง ๙ ประเภท ซึ่งเราเข้าใจว่ามีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ นั้น ความจริงแบ่งออกเป็น
ได้ ๙ ประเภท
ประเภทที่ ๑ เมื่อมีความสุขปรากฏขึ้น เราก็สั่งสอนสติว่าอ้ายอย่างนี้นี่แหละ เขาเรียกว่า สุขหนอ สุขหนอ
สุขหนอ สุขหนอ
เรากำหนดสติให้มันระลึกรู้เมื่อมีความสุขปรากฏขึ้น จนกว่าสติมันจะรู้ว่า อ๋อ อ้ายลักษณะอย่างนี้
เองนะเขาเรียกว่าสุข ถ้าเราระลึกรู้เช่นนี้ได้โดยไม่ได้สั่งสอน ไม่ได้ตักเตือนมันเช่นนั้นแล้ว นั่นแหละความพอใจในการ
ฝึกเราจึงจะเกิดขึ้น
นอกจากความสุขที่ปรากฏแล้ว เมื่อมีความทุกข์ ปรากฏขึ้น เราอย่าไปนั่งร้องไห้เช็ดน้ำตา นั่งหน้าบูดหน้าเบี้ยว
เท่านั้น เราฉวยโอกาสอันนี้ เอาความรู้สึกอันนี้มาฝึกสติให้มันระลึกรู้ว่า อ้ายลักษณะอย่างนี้หนา เจ้าสติเอ๋ยเขาเรียกว่า
ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ จำไว้ แล้วก็สติมันก็จะยอมรับรู้ พยักหน้ารับรู้ ในเมื่อมันพยักหน้ารับรู้หมายความ
ว่าอะไร เมื่อเรามีทุกข์เกิดขึ้น เราไม่ได้สั่งสอนมันเลย มันบอกเราเลยว่าทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว มันบอกเรา
แทนที่เราจะไปบอกว่าทุกข์หนอ ให้มันบอกเราเอง นี่ มันถึงจะใช้ได้
ทีนี้นอกจากสุขและทุกข์แล้ว มันก็ถึงขั้น ไม่ทุกข์ไม่สุข หรือที่เราเรียกกันทั่วๆ ไปว่าอุเบกขา นั่นเองน่ะ ลักษณะ
อุเบกขาที่สมบูรณ์ เราจะได้รู้จากที่เราอยู่ในขั้นฌานจิตขั้นปัญจมฌานในรูปฌาน หรืออรูปฌานขั้นต่างๆ เราก็จะได้รู้จัก
คำว่าอุเบกขามันมีลักษณะเป็นอย่างไร แต่ทีนี้ในลักษณะที่เราไม่ได้อยู่ในสมาธินั้น เราก็จะมีความไม่ทุกข์ไม่สุขปรากฏขึ้น
เหมือนกัน แต่อ้ายความไม่ทุกข์ไม่สุขที่ปรากฏนี่แหละ คนส่วนใหญ่ไม่มีสติระลึกรู้ เมื่อไม่มีสติระลึกรู้เช่นนั้น อะไรมันเกิด
ขึ้นล่ะ นั่นคือโมหเจตสิกมันเกิดขึ้นครอบงำเราไปแล้ว เมื่อโมหเจตสิกเกิดขึ้นครอบงำเราไปแล้วเช่นนี้ มันก็กลายเป็น
อกุศลเจตสิก เมื่ออกุศลเจตสิกเราได้รู้แล้วว่ามันเป็นเจตสิกฝ่ายดำหรือความมืดนั่นเอง เมื่อความมืดมันเกิดขึ้นแล้ว
ความสว่างคือสติมันจะเกิดขึ้นอย่างไร มันไม่ยอมเกิด เพราะความมืดกับความสว่างนั้น มันจะเกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีไม่ได้
เหตุนี้แหละเราจึงจำเป็นต้องปลุกสติให้มันเกิดขึ้นก่อน เมื่อเราไม่มีทุกข์ไม่มีสุขหรือเรียกว่าอุเบกขา เราสอนให้มันรู้ว่า
อุเบกขาหนอ อุเบกขาหนอ อุเบกขาหนอ เช่นนี้จนกว่าเจ้าสตินั้นจะพยักหน้ารับเรา แล้วก็เพลาอุเบกขาเกิด
ขึ้น มันก็จะสะกิดให้เรารู้ว่าอุเบกขาเกิดขึ้นแล้วนะ ที่สอนฉันไว้น่ะ ทีนี้ฉันเตือนให้รู้ล่ะ นี่ มันถึงจะใช้ได้ เราทำเช่นนี้
เมื่อเราทำได้ทั้ง ๓ ประการแล้ว ขั้นต่อไป เมื่อมี ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะกามคุณ ๕ อ้ายคำว่ากามคุณ ๕ นี่
พวกเราอาจจะไม่เข้าใจ กามคุณ ๕ นั้น ก็หมายถึง รูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ สัมผัส ๑ นั่นคือเรียกว่ากามคุณ ๕
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนี้ บางขณะที่ปรากฏขึ้นเราก็พอใจ บางขณะเราก็ไม่พอใจ บางขณะก็รู้สึกเฉยๆ นี่ เราเรียก
ว่าเวทนาซึ่งประกอบด้วยกามคุณเกิดขึ้นแล้ว เราเรียกภาษาธรรมะเรียกว่า เวทนาประกอบไปด้วยอามิส
ดังนั้นเมื่อมี ความสุขอันเกิดจากทางตา เราก็ให้สติระลึกรู้ว่า สุขเพราะเห็นหนอ สุขเพราะเห็นหนอ
สุขเพราะเห็นหนอ
ไม่ว่าเราจะดูทีวี ไม่ว่าเราจะผ่านใครจะแต่งตัวสวยๆ งามๆ ชุดสวยๆ งามๆ หรือจะเห็นภาพ
อะไรสวยๆ งามๆ ก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องความจริงที่รู้จากทางตาทั้งนั้น เราก็บอกให้มันรู้ว่า สุขเพราะเห็นหนอ ก็เราแล
เห็นนี่เราถึงได้สุข ถ้าเราไม่แลเห็นเราจะสุขหรือ นี่ ทางตามันรู้ได้เฉพาะสีเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องฝึกสติมันให้รู้ว่าสุขเพราะ
เห็นหนอ สุขเพราะเห็นหนอ เช่นนี้
ที่นี้เปลี่ยนมาจากทางตา เรามา ความสุขซึ่งเกิดจากทางได้ยินบ้าง สุขที่เกิดจากทางได้ยินนั้น คงจะเป็นสุขที่เกิด
จากที่เขายกยอปอปั้น ยกย่องชมเชย สรรเสริญ คงจะไม่ใช่เพราะการนินทาว่าร้าย แต่ประการใด เราถึงจะสุข ทั้งนี้เพราะ
เหตุไร เพราะคนทุกๆ คนนั้น มันต่างก็มีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นยังพอใจอยู่ในโลกธรรม ๘ อยู่ ดังนั้น เมื่อเราได้รับ
การได้ยินเสียงที่ไพเราะ เสียงที่ยกยอ เราก็มีความสุขเกิดขึ้น เมื่อมีความสุขเกิดขึ้นเช่นนี้ เราก็กำหนดบอกสติให้มันระลึก
รู้ว่า อ้ายอย่างนี้เขาเรียกว่า สุขเพราะได้ยินหนอ สุขเพราะได้ยินหนอ สุขเพราะได้ยินหนอ นี่
เป็นการฝึกให้สติรู้จากทางเวทนา
นอกจากสุขเพราะได้ยินหนอแล้ว เรายังได้มีโอกาสได้ดมกลิ่นเหม็นบ้าง หอมบ้าง ถ้าดมกลิ่นเหม็น ฉันก็ไม่พอใจ
เอ้าทีนี้เราสุข เรากำลังมีสุขกันนี่ ฉะนั้นเราก็ดมกลิ่นหอมๆ หอมจากกลิ่นดอกไม้บ้าง หอมจากกลิ่นเครื่องสำอางบ้าง เราก็
กำหนดให้สติระลึกรู้ว่า สุขเพราะได้กลิ่นหนอ สุขเพราะได้กลิ่นหนอ สุขเพราะได้กลิ่นหนอ เราทำ
เช่นนี้ แล้วสติมันก็จะพยักหน้าว่ารู้แล้ว อ้ายอย่างนี้ สุขเพราะได้กลิ่นหนอ ทีนี้พอได้กลิ่นมาอีกทีหลัง เจ้าสติมันก็จะสะกิด
เราว่าอ้ายนี่สุขเพราะได้กลิ่น รู้ไว้สิ สุขเพราะได้กลิ่น รู้ไว้สิ มันบอกเราเองแหละ ทีนี้ เราก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวของเรา
เองว่า เอ้อเรามีพี่เลี้ยงคอยบอกอยู่แล้วนะ นั่นคือเจ้าตัวสตินั่นเอง แต่ก่อนที่จะฝึกให้มันเป็นพี่เลี้ยง เราต้องฝึกให้มันรู้จัก
เสียก่อน ถ้าเราไม่ฝึกมันก็ไม่มีโอกาส
นอกจากกลิ่นแล้ว เรารู้ทางลิ้นอีก ทางลิ้นนั่นอะไร รสอร่อย อาจจะเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อะไรแล้วแต่เถอะ ที่เรา
พอใจน่ะ เมื่อเราได้รสอย่างนี้ เราก็บอกเจ้าสติมันว่า สติเอ๊ย อ้ายอย่างนี้เขาเรียกว่า สุขเพราะรู้รสหนอ สุขเพราะ
รู้รสหนอ สุขเพราะรู้รสหนอ
บอกมันไปเช่นนี้ จนกว่าสตินั้นมันจะรู้จักว่า อ้ายสุขเพราะได้รู้รสนั้น มันมีลักษณะ
เป็นอย่างไร เมื่อมันรู้จักและจดจำได้เช่นนี้แล้ว มันก็จะพยักหน้ารับเอา เมื่อพยักหน้ารับเอาแล้ว พอมันรู้รสทีหลัง มันก็
สะกิดเราบอกว่า สุขเพราะรู้รสมาแล้ว สุขเพราะรู้รสมาแล้ว มันเตือนให้เรารู้อีก เช่นนี้
นอกจาก การแลเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส ทำให้เกิดสุขแล้ว ยังมีผัสสะคือ ความสัมผัสทำให้เรามี
ความสุขเกิดขึ้นอีก
สัมผัสอันนี้มันจะรู้ได้จากทางกายเท่านั้น อย่างเวลาเรามีความร้อนอากาศอบอ้าว เราได้รับลมเย็น
หมายความว่าลมนั้นได้สัมผัสกับกายของเราแล้ว เราก็มีความสุขเกิดขึ้น เมื่อมีความสุขเกิดขึ้นเช่นนี้ เราก็บอกสติมันซะ
หน่อยสิว่า สติเจ้า ช่วยจำไว้ด้วย นะ อ้ายอย่างนี้มันเป็น สุขเพราะสัมผัสหนอ สุขเพราะสัมผัสหนอ
สุขเพราะสัมผัสหนอ
เช่นนี้ บอกให้มันรู้ไว้
นอกจากนี้แล้ว นอกจากความสุขแล้ว ยังมี ความสุขที่ปรากฏขึ้นโดยไม่มีกามคุณ ๕ เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมันเกิด
เช่นนี้แล้ว อันนี้พวกเราอย่าไปเข้าใจกันว่าสุขที่กล่าวมาตัวต้นนะ สุขที่กล่าวมาตัวต้น นั่นเป็นการฝึกอย่างหยาบๆ เพราะ
ว่าเรายังไม่พิจารณาว่ามันมีกามคุณ ๕ หรืออามิสเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ตอนนี้เราพิจารณา เราพิจารณาตอนต้น
หยาบๆ เราพิจารณาได้แล้ว เรามีสติระลึกรู้หยาบๆ ได้แล้ว ขั้นต่อไปสติมันก็ละเอียดขึ้นอีก ที่ว่าสุขเพราะเห็นน่ะ
อ้ายสุขเพราะมีอามิสน่ะ ทีนี้ขั้นต่อไป เมื่อมีความสุขเกิดขึ้นโดยไม่มีกามคุณเกี่ยวข้องแล้ว เราก็ต้องทำให้มันรู้ว่า บอกให้
สติมันรู้ว่า อ้ายที่สุขนี่เพราะว่า มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องนะ เราก็บอกว่า สุขโดยไม่มีอามิสหนอ สุขโดยไม่มีอามิส
หนอ สุขโดยไม่มีอามิสหนอ
อ้ายสุขโดยไม่มีอามิสนี่ หมายความว่าไม่มีกามคุณ ๕ เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือรูป รส
กลิ่น เสียง สัมผัส นั่นเอง เรามีความรู้สึกว่ามันสุข สุขตัวนี้อาจจะสุขซึ่งอยู่ในขั้นจตตุถฌานก็ได้ นี่ไม่มีอามิสแน่
นอกจากนี้แล้ว เราก็มาพิจารณาถึงความทุกข์กันบ้าง ความทุกข์นั้นเป็น ความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นจากกามคุณ ๕ ซึ่ง
เข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเรานี่แหละได้รับกันอยู่สม่ำเสมอ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัว เพราะว่ามัวแต่เป็นดาราเจ้าน้ำตาเสีย
หรือบางทีก็ไม่พอใจในสิ่งเหล่านั้น ความทุกข์เพราะมีกามคุณบังเกิดขึ้น มันก็บังเกิดขึ้นเช่นเดียวกับความสุข นั่นคือ
ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั่นเอง ทำไมเมื่อเราแลเห็น ในสิ่งที่เรา
ไม่พอใจ อาจะเป็นสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม หรือเราอาจจะเห็นคนไม่ชอบหน้ากัน มันก็ทำจิตใจเราไม่สบาย เมื่อเป็นลักษณะเช่นนี้
เราก็บอกสติให้รู้ไว้ว่า ทุกข์เพราะเห็นหนอ ทุกข์เพราะเห็นหนอ ทุกข์เพราะเห็นหนอ ทุกข์เพราะ
เห็นหนอ
บอกมันไว้ว่า อ้ายนี่ละมันทุกข์ที่เกิดจากการแลเห็น อ้ายสิ่งที่ไม่พอใจมันเกิดทุกข์ขึ้นแล้ว นี่ จนกว่าสติมัน
จะพยักหน้า รู้ละจ้ะ รู้ละจ้ะ ถ้ามีทุกข์เกิดขึ้นอีกละฉันจะบอก ทีนี้เมื่อเราเจออะไรทีหลัง อ้ายสติมันก็สะกิดสะเกาว่า
ทุกข์เพราะเห็นมาแล้ว ทุกข์เพราะเห็นมาแล้ว นี่ เมื่อมันเป็นเช่นนี้ มันก็จะทำให้จิตใจของเราค่อยคลี่คลายในการยึดมั่น
ถือมั่นในเรื่องความสุขหรือความทุกข์ลงไปได้อีก
นอกจากทุกข์เพราะการแลเห็นแล้ว เมื่อเราได้ยินได้ฟังใคร เขานินทาว่าร้าย ใครเขาด่าเขาทอเรา เรายังเป็น
ปุถุชนอยู่ กิเลสยังหนาๆ อยู่ เราก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เกิดความกลัดกลุ้ม เราอย่าไปปรึกษาใครเลย
จะไปร้องไห้ เดี๋ยวน้ำตามันออกมามันก็เป็นปฏิกูล เราจะไปบอกใครก็ขายขี้หน้าเขาเปล่าๆ เราปรึกษาบอกกับอ้ายตัวสติ
ดีกว่า เราก็บอกว่า เจ้าสติเอ๊ย อ้ายทุกข์นี่มันเพราะได้ยินนะ เราก็สอนมันว่า ทุกข์เพราะได้ยินหนอ ทุกข์เพราะ
ได้ยินหนอ ทุกข์เพราะได้ยินหนอ
เช่นนี้ จนเจ้าสติมันจำได้มันก็พยักหน้ารับเรา แล้วพอทีนี้มันได้ยินอะไร
มันจะทำให้เกิดทุกข์ มันก็บอกว่า อ้ายทุกข์เพราะได้ยินมาแล้ว ทุกข์เพราะได้ยินมาแล้ว มันบอกให้เราเตรียมตัวทีเดียว
นี่ มันเป็นอย่างนี้
นอกจากทุกข์เพราะการแลเห็น ทุกข์เพราะได้ยินแล้ว ต่อไปก็ ทุกข์เพราะการได้กลิ่น อันทุกข์ตัวนี้มันเกิดจากจมูก
เราจะไม่ยอมรับทุกข์ตัวนี้ไม่ได้ เราจะไปหาอะไรมาอุดจมูกเสีย เดี๋ยวตาย ไม่ได้ เพราะเรายังต้องหายใจเข้าหายใจออกอยู่
เราจึงต้องยอมรับมัน ไม่ว่ากลิ่นมันจะเหม็นยังไง เราก็ต้องยอมรับ เพราะว่า มันหนีไม่พ้น เมื่อเราไม่มีคู่ปรึกษาคู่
ปรับทุกข์กับเราเช่นนี้ เราก็ต้องไปหันบอกกับเจ้าสติว่า ทุกข์เพราะได้กลิ่นหนอ ทุกข์เพราะได้กลิ่นหนอ
ทุกข์เพราะได้กลิ่นหนอ
จนเจ้าสติมันจำได้ เราถึงจะเลิกบอกมัน แล้วเวลาได้กลิ่นขึ้นมาทีหลัง เจ้าสติมันก็จะบอกเรา
บอกว่าอ้ายทุกข์เพราะได้กลิ่นมาแล้ว ทุกข์เพราะได้กลิ่นมาแล้ว มันตะโกนบอกเราเลย เช่นนี้ เราจะได้เตรียมตัวหนีทุกข์นั้นได้
นอกจากทุกข์เพราะการแลเห็น ทุกข์เพราะได้ยิน ทุกข์เพราะได้กลิ่นแล้ว ยังมีการได้รับทุกข์เพราะรู้รสอีก เพราะ
บางคนกินเผ็ดไม่ได้ เราล่อเข้าไปเผ็ดจี๊ดเลย นี่ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะรู้รส รู้รสทางไหน รู้รสทางลิ้น
ช่างมันก่อน เอาแต่เพียงรสเผ็ดที่เราได้รับทุกข์นี่ก่อน เราก็บอกเจ้าสติว่า ทุกข์เพราะรู้รสหนอ ทุกข์เพราะรู้รส
หนอ ทุกข์เพราะรู้รสหนอ
เช่นนี้ เพื่อให้มันรู้ได้รู้จักลักษณะของทุกข์ซึ่งเกิดจากการรู้รสเอาไว้
นอกจากทุกข์เพราะรู้รสแล้ว มันก็ยังมีทุกข์โดยอามิสอยู่อีกตัวหนึ่งคือ ทุกข์เพราะสัมผัส เราอาจจะสัมผัสโดยความ
อ่อนนุ่มมันก็สบาย ถ้าลองโดนสัมผัสผลัวะผละเข้าสิ สัมผัสผลัวะผละตุ้บตั้บเข้า นี่ทุกข์แน่ ทุกข์เพราะสัมผัสหนอ บอกอ้ายสติ
เลย บอกว่า ทุกข์เพราะสัมผัสหนอ ทุกข์เพราะสัมผัสหนอ ทุกข์เพราะสัมผัสหนอ บอกให้มันรู้ จนกว่า
มันจะพยักหน้ารับรู้แล้ว แล้วเวลาทุกข์เช่นนี้ปรากฏขึ้นทีหลัง มันจะได้บอกเราถูกว่า ทุกข์เพราะสัมผัสมาแล้วจ้า เช่นนี้
มันก็จะได้รับประโยชน์
นอกจากทุกข์และสุขดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว ต่อไปนี้มันก็จะมี ความทุกข์โดยไม่มีกามคุณเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ
กามคุณ ๕ อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั่นเอง เช่นนี้ มันอาจจะมีการทุกข์เกิดขึ้นได้ เราก็บอกให้มันมีสติให้
ระลึกรู้อยู่เสมอว่า ทุกข์โดยไม่มีอามิสหนอ ทุกข์โดยไม่มีอามิสหนอ ทุกข์โดยไม่มีอามิสหนอ ทุกข์
เช่นนี้ พวกเราบางคนอาจจะสงสัย ก็ถ้าไม่มีกามคุณ ๕ มาให้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมันจะมีทุกข์ได้ยังไง
ท่านอย่าลืมว่าจิตใจของคนเรานั้น มันมีหน้าที่ทำการรับรู้และคิดนึกไปได้ต่างๆ นานา มันอาจจะคิดสุขก็ได้ คิดทุกข์ก็ได้
อ้ายทุกข์ตัวนี้ คือทุกข์ทางใจนั่นเอง

จบ การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๔