การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๕
----------------------------------------------------------------------------------

เมื่อวันอาทิตย์ก่อน เราได้พูดกันมาถึงเรื่อง การฝึกสติให้ระลึกรู้ในทางเวทนาเพื่อให้เป็นปัจจุบันธรรมยังค้างอยู่
วันนี้เราจะได้พูดทำความเข้าใจกันต่อไป เมื่ออาทิตย์ก่อนนั้นเราได้พูดถึงความทุกข์เพราะกามคุณบังเกิดขึ้นเป็นที่เข้าใจ
กันมาแล้ว
สำหรับวันนี้เราจะได้พูดกันถึง ความทุกขเวทนาโดยไม่มีกามคุณเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อปรากฏขึ้นแล้วเราจะต้อง
ทำอย่างไร สติจึงจะสามารถระลึกรู้ได้เป็นปัจจุบัน ในเรื่องนี้เราจะต้องฝึกสอนสติให้ระลึกรู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีอามิสนั้น
หมายถึงทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีกามคุณ ๕ เข้ามาเกี่ยวข้อง กามคุณ ๕ นั้นก็ได้แก่ รูป ๑ เสียง ๑ รส ๑ กลิ่น ๑ สัมผัส ๑
เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นโดยไม่มีกามคุณเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นนี้ เราจำเป็นจะต้องกำหนดบริกรรมให้สติได้รู้จักกับความทุกข์
เวทนาอย่างนั้นโดยทันที โดยเราจะกำหนดอย่างไรให้สติได้มีความระลึกรู้ให้ถูกต้องตามที่ทุกขเวทนาบังเกิดขึ้น ถ้าเรา
นึกไม่ออกว่าจะกำหนดอย่างไร เราอาจจะกำหนดว่า ทุกข์โดยไม่มีอามิสหนอ ทุกข์โดยไม่มีอามิสหนอ
ทุกข์โดยไม่มีอามิสหนอ
อย่างนี้ เราทำความเข้าใจกับสติให้รู้ว่า ทุกข์ในลักษณะนี้ไม่ได้ประกอบด้วยกามคุณ ๕
ซึ่งตามภาษาธรรมะเรียกว่าอามิส เราทำเช่นนี้จนกว่าสติจะสามารถระลึกรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง เราจึงจะเลิกกำหนด
เช่นนั้น
ตามที่ได้พูดมานี้ตั้งแต่ต้น เราจะเห็นได้ว่าเรื่องของทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก การเปลี่ยนอิริยาบถ
ทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้เราต้องหัดกำหนดให้สติได้มีความระลึกรู้ทุกสิ่งทุกอย่างไป ผลที่เราจะได้รับนั้นก็คือสติจะตื่นตัวขึ้น
เมื่อตื่นตัวขึ้นแล้ว มันก็จะระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม คำว่าสติระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมนี้ พวกเราหลายๆ คนอาจจะไม่เข้าใจ
ถึงความสำคัญของมัน อย่าลืมว่าการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงซึ่งเราเรียกว่าโลกุตตรธรรมนั้น ความสำคัญอันใหญ่ยิ่งอยู่ที่
สติตัวเดียวเท่านั้น ถ้าเราสามารถฝึกสติให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมได้แล้ว งานขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากลำบาก
แต่ประการใด เช่นเดียวกันกับเราทำฝึกจิตให้มีความสงบ ถ้าเรามีความรู้ที่จะกำหนดจิตของเราให้อยู่ที่ตรงไหนได้
ปัญหาเรื่องการทำสมาธิมันก็ไม่มีเกิดขึ้น ในการสร้างปัญญาเพื่อความหลุดพ้นก็เช่นเดียวกัน สติตัวนี้ตัวเดียวเท่านั้น
ที่เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ถ้าเราไม่สามารถที่จะสร้างสติให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมได้แล้ว โอกาสน้อยเหลือเกินที่เราจะผ่าน เพราะ
หลักการปฏิบัตินั้นมันไม่มีอะไรมากมายนัก ส่วนใหญ่เท่าที่ผ่านประสบการณ์มา เขาพูดกันแต่ถึงผลว่าได้มรรคอย่างนั้น
ได้ผลอย่างนี้ หลักการทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้พูดถึงความสำคัญของสติเลยว่า เราทำอย่างไรสติถึงจะมี
ความระลึกรู้ให้เป็นปัจจุบันธรรมได้ ฉะนั้นผมจึงได้พูดกับพวกคุณว่า วิปัสสนาเราไม่ต้องมาสอนกัน
ผู้ใดฝึกสติให้สามารถระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมในขั้นแรก
ขั้นต่อไปชี้แจงให้มันรู้จักว่าอะไรมันเป็นรูป อะไรมันเป็นนาม
ขั้นที่สามชี้ให้มันเห็นว่า รูปนามนั้นมันเป็นอนิจจังอย่างไร มันเกิดอย่างไร มันดับอย่างไร
การปฏิบัติที่ไม่ได้ผล หรือได้ผลครึ่งๆ กลางๆ หรือเข้าใจว่าจะได้ผลนั้น เขาไปหวังผล แต่เขาลืมตัวที่จะปลุกสติ
ให้มันลุกขึ้น ฉะนั้นในชีวิตของผู้ปฏิบัติขั้นสูงจึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะมันกลายเป็นวิปัสสนึกไปเป็นจำนวน ๙๙.๙๙
เปอร์เซนต์เช่นนี้ เพราะเขาลืมนึกถึงความสำคัญของสติตัวเดียวเท่านั้น
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านสอนเพียงแต่ว่า ลมหายใจเข้ายาว
ก็ให้รู้ ลมหายใจออกยาวก็ให้รู้ หายใจเขาสั้นก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้ ท่านพูดเพียงแค่นี้ ทำไมเราจึงไม่นึกเฉลียวใจ
เพราะคำดำรัสของพระองค์เพียงแค่นี้ เราสามารถจะนำมาใช้ปฏิบัติทั้งในทางหาความสงบซึ่งเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า
สมาธิ และในด้านปัญญาซึ่งเรียกกันทั่วๆ ไปว่าวิปัสสนา ทำไมเราถึงได้นำมาประพฤติปฏิบัติและเป็นผลได้เช่นนั้น
เพราะว่าเราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ อย่าลืมว่าคำสั่งสอนของพระองค์ในสมัยนั้นตรัสสั้นๆ แต่ใจความกว้าง
ขวางเหลือเกิน เหตุนี้แหละ เพราะเราเป็นคนโง่ๆ เป็นคนที่มีกิเลส เราจึงค่อยๆ เดิน เปรียบเหมือนคนจะขึ้นต้นไม้ใหญ่
ซึ่งมียอดอันสูง เราจำเป็นจะต้องขึ้นจากโคนต้น ตอกสลักตั้งแต่โคนต้น ค่อยๆ ตอกมันขึ้นไปจนกว่าจะถึงยอด เพราะเรา
ไม่มีบุญมีวาสนาเหมือนอย่างบุคคลบางคน ซึ่งเขาก้าวทีเดียวถึงยอดไม้เช่นนั้น เราทำไม่ได้ เราจึงต้องมาฝึกมาหัด
ให้สติปลุกให้มันตื่น ให้มันลุกขึ้นเช่นนี้ แต่เราก็เรียงลำดับตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือเริ่มจาก
ลมหายใจเข้าออกมาผ่านมายังอิริยาบถ ๔ ผ่านมายังสัมปชัญญะบรรพ ผ่านมายังปฏิกูล และเวทนา ซึ่งกำลังพูดกัน
อยู่นี้
นอกจากเวทนาในเรื่องทุกข์โดยไม่มีกามคุณเข้ามาเกี่ยวข้องปรากฏแล้ว เราก็มาถึงอีกตัวหนึ่งซึ่งเรียกว่า ไม่ทุกข์
ไม่สุขเพราะมีกามคุณปรากฏ
หรือเรียกกันว่าอุเบกขา แม้แต่จะมีกามคุณ ๕ นั่นคือ ตาเห็นรูป พอใจหรือไม่พอใจ
เราก็เฉยๆ หูได้ยินเสียง ไพเราะหรือไม่ไพเราะ เราก็เฉยๆ จมูกดมกลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น เราก็เฉยๆ ลิ้นได้ลิ้มรส
รสเผ็ดหรือหวานมัน เราก็เฉยๆ กายของเราได้สัมผัสถูกที่อ่อนนุ่มหรือแข็ง เราก็เฉยๆ ตัวนี้แหละเมื่อปรากฏขึ้น เราก็
เตือนสติให้มันระลึกรู้ว่าการเช่นนี้เรียกว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะกามคุณปรากฏ จำไว้ว่า คำว่ากามคุณหรืออามิสใน
ที่นี้คือกามคุณ ๕ นั่นเอง ทีนี้ในกรณีเช่นนี้เราจะทำอย่างไร เราจะสั่งสอนสติมันอย่างไร มันจะได้รู้จัก
สมมุติว่า กามคุณที่ปรากฏนั้น มันเป็นกามคุณเรื่อง ตาแลเห็นรูป เราก็กำหนดบทบริกรรมว่า เห็นแล้วเฉยหนอ
เห็นแล้วเฉยหนอ เห็นแล้วเฉยหนอ
หมายความว่า แม้แต่เราจะแลเห็นรูป เราก็ไม่มีความยินดียินร้ายในรูป
ที่ปรากฏนั้น เหตุนี้แหละ จิตเราจึงเป็นอุเบกขา แม้จะมีอามิสหรือกามคุณ ๕ ปรากฏ เป็นสิ่งที่ยั่วยวนนัยน์ตาเราก็ดี
หรือทำความไม่พอใจให้แก่นัยน์ตาก็ดี เราก็เฉยๆ เช่นนี้ เราจึงบอกว่าเห็นแล้วเฉยหนอ
นอกจากความปรากฏทางนัยน์ตาแล้ว ต่อไป เสียงที่เราได้ยินทางหูนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง หรือ
เสียงที่หยาบคายกระด้าง เราก็ไม่มีความยินดียินร้าย เราจึงกำหนดบทบริกรรมลงไปว่า ได้ยินแล้วเฉยหนอ
ได้ยินแล้วเฉยหนอ ได้ยินแล้วเฉยหนอ
เช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นได้ว่า พฤติการณ์ที่ปรากฏเช่นนั้น มิใช่มัน
จะทำให้เราต้องดิ้นรนขวนขวายแต่ประการใดก็หาไม่ เพราะเหตุนี้ จิตของเราจึงได้อยู่ในความสงบ เพราะเหตุนี้แหละ
เราจึงได้กำหนดบทบริกรรมว่า ได้ยินแล้วเฉยหนอ
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ปรากฏอีกประการหนึ่งก็คือ การได้กลิ่นทางจมูก เราอย่าลืมว่าความพอใจหรือไม่พอใจอะไร
ต่างๆ จากจมูกที่ได้กลิ่นนั้น ตามปกติคนเรา เมื่อได้กลิ่นที่หอมหวลชวนดม เราก็มีความพอใจ และเมื่อได้กลิ่นที่เหม็น
เราก็เกิดความไม่พอใจ แต่ในกรณีนี้เราได้บอกแล้วว่า เรามี การวางเฉยคือไม่ทุกข์ไม่สุข คือ การเป็นอุเบกขานั่นเอง
ดังนั้นเมื่อเราได้กลิ่นเช่นนี้ เราก็กำหนดบริกรรมเพื่อสร้างสติ สั่งสอนสติให้มันรู้ว่า กลิ่นเช่นนี้ ไม่ว่าดีหรือเลวประการใด
เราไม่มีความสนใจ เรามีความวางเฉย เราจึงได้กำหนดว่า ได้กลิ่นแล้วเฉยหนอ ได้กลิ่นแล้วเฉยหนอ
ได้กลิ่นแล้วเฉยหนอ
ดังนี้ เราทำเช่นนี้จนกว่าสติของเรานั้นจะตื่นขึ้น มีความเข้มแข็งพอจะรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง
เราจึงจะหยุดทำการฝึกสอนมัน เราทำเช่นนี้ให้เป็นการสม่ำเสมอ นั่นก็คือสติจะเกิดขึ้นจากการหลับมาหลายศตวรรษ
แล้ว
นอกจากตาแลเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นแล้ว ยังมีอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ลิ้นของเรานั้นมีไว้สำหรับรู้รส
รสนั้นมีหลายอย่างหลายประเภท บางทีก็มีรสที่ถูกปาก อาจจะเป็นรสหวาน รสมัน บางครั้งรสนั้นก็ไม่ถูกปาก อาจจะเป็น
รสขม รสฝาด รสเผ็ดจัดก็ได้ แต่ถ้าเรามีสติ ความรู้สึกของเราขณะนั้นเป็นประการใดแล้ว เราก็สั่งสอนให้มันได้ระลึกรู้ว่า
สิ่งนั้นเราพอใจหรือไม่ เราได้พูดกันมาแล้วในหัวข้อนี้ เรามีความเฉยๆ ดังนั้นเราจึงกำหนดลงไปว่า รู้รสแล้วเฉยหนอ
รู้รสแล้วเฉยหนอ รู้รสแล้วเฉยหนอ
อย่างนี้เป็นต้น จนกว่าสติจะมีความระลึกรู้เช่นนั้นได้ด้วยตัวของมันเอง
เราจึงจะเลิกกำหนดทำการสั่งสอนมัน
นอกจากนี้แล้วยังมี ทางกายของเราที่ได้รับความสัมผัส ไม่ว่าเย็น ไม่ว่าร้อน ไม่ว่าอ่อน ไม่ว่าแข็ง หรือเคร่ง ตึง
ไหว เป็นต้น ถ้าเรามีความเป็นอุเบกขาคือความไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดจากสิ่งที่ปรากฏทางกายนั้น เราก็กำหนดสติให้
มันได้รู้ว่า สัมผัสแล้วเฉยหนอ สัมผัสแล้วเฉยหนอ สัมผัสแล้วเฉยหนอ เช่นนี้ มันก็จะทำให้สติที่หลับ
มานานนั้นได้มีการตื่นตัวเกิดขึ้น
สิ่งเหล่านี้แหละ เราเรียกว่า เมื่อไม่ทุกข์ไม่สุขเกิดขึ้นเพราะมีกามคุณปรากฏ คำว่ากามคุณปรากฏท่านทั้งหลายอย่า
ลืมว่า ภาษาธรรมะว่าอามิส นั่น คือกามคุณ ๕ นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว เวทนาตัวที่ ๙ ที่เราจะต้องฝึกสติให้มันระลึกรู้ต่อไปนั้นก็คือ เมื่อไม่ทุกข์ไม่สุขเพราะไม่มีกามคุณ
ปรากฏ
เราก็ต้องฝึกสติให้มันรู้อีก ในลักษณะเช่นนี้คนส่วนมากไม่มีสติระลึกรู้ เพราะว่าเราไม่เคยฝึกสติกันมาเช่นนั้น
ที่กล่าวม่เมื่อกี้นี้เราวางเฉยโดยมีกามคุณ ๕ ปรากฏ แต่ตอนนี้เราวางเฉยโดยไม่มีกามคุณ ๕ เข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็
ต้องฝึกสติให้มันระลึกรู้อีก เราฝึกยังไง เราฝึกโดยใช้บทบริกรรมว่า อุเบกขาไม่มีอามิสหนอ อุเบกขาไม่มี
อามิสหนอ
อุเบกขาไม่มีอามิสหนอ
ตามที่ผมพูดมานี้ เป็นการฝึกสตินี้ ผมได้นำมาจากมหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งว่าด้วย การฝึกกาย เวทนา จิต และธรรม
นั่นเอง สำหรับกายนั้น มันมีเรื่องพูดกันมากมายหลายอย่าง ตามที่เราได้เคยพูดกันมาแล้วตั้งแต่ต้น ไม่ว่าลมหายใจ
เราก็นับเป็นกาย อิริยาบถ ๔ เราก็นับว่าเป็นกาย สัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว เราก็นับว่าเป็นกาย การเป็นปฏิกูลทั้งหลาย
เราก็นับว่าเป็นกายเช่นเดียวกัน ต่อจากกายเราก็มาถึงเวทนา ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ โดยทั่วๆ ไป
แล้วมันมี ๓ แต่ถ้าเราจะหัดฝึกสติแล้ว มันจะแยกได้ถึง ๙ ประเภท ทั้งนี้เพราะการที่สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์
ที่เราหัดมาตั้งแต่ต้นนั้น มันเป็นความหยาบ เราไม่ได้แยกว่ามันมีอามิสหรือไม่มีอามิส เราจะเห็นได้ว่าการฝึกสตินั้นก็
เหมือนเด็กเรียนหนังสือ เราต้องหัดเรียนตั้งแต่ ก ข มาประสมสระ ผสมวรรณยุกต์ เราถึงจะอ่านออกได้ เพราะพวก
เรานั้นไม่ใช่ผู้วิเศษมาจากไหน เราเป็นปุถุชนธรรมดาๆ เราจึงต้องก้าวไปทีละก้าว ทีละก้าว อย่าไปก้าวทีเดียวถึงยอดไม้
มันจะตกคอหักตาย ถ้ามันไม่ตกคอหักตาย มันก็กลายเป็นการสร้างวิมานในอากาศ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยใน
ชีวิตของเรา การฝึกสตินี้ถ้าเราสามารถจะทำได้ เราเริ่มกันมาแล้วหลายอาทิตย์ ผมไม่รู้ว่าพวกเราได้สติประเภทไหนไป
บ้างแล้ว มันตื่นขึ้นบ้างหรือยัง เราให้มันตื่นเสีย เมื่อสติมันตื่นแล้ว จำไว้ว่า กำไรเราเกิดขึ้นแล้ว ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น
ต่อไปในอนาคตชาติ เรายังฝึกไม่ได้ เราก็ฝึกมันต่อไปเช่นนี้อีก อย่าไปหวังมรรค อย่าไปหวังผล เฉยๆ ผลสุดท้ายปฏิเวธ
นั้นมันเกิดขึ้นจากปฏิบัติอันถูกต้อง ไม่ใช่การพร่ำบ่นหรือแสวงหาความรู้โดยไม่ปฏิบัติ จำไว้ ไม่มีใครจะดลบันดาลให้เราได้
จงจำเอาไว้ สติตัวนี้เป็นตัวที่มีค่ายิ่งในชีวิตที่เราจะก้าวต่อไปในธรรมะขั้นสูง ถ้าเราไม่เริ่มฝึกไม่เริ่มหัดให้มันตื่นตัว สอนให้
มันระลึกรู้เสียแต่บัดนี้ เมื่อไหร่เราจะมีโอกาส ความตายนั้นเป็นของไม่เที่ยง มันจะตายเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้ คนเราจะตาย
จะลงนรกหรือขึ้นสวรรค์อยู่ที่ตัวสติตัวเดียวเท่านั้น เวลาเข้าขั้นโคม่าแล้วไม่มีใครจะไปดึงดันเราได้ นอกจากสติตัวเดียว
ที่เราฝึกมันไว้ให้เป็นนิจสิน กำไรชีวิตอยู่ตรงนี้ และผมบอกพวกคุณทั้งหมดก็ได้ว่า สติตัวนี้ไม่มีใครสนใจว่ามันเป็นหัวใจของ
ธรรมะที่สูงสุด ทุกคนสนใจแต่มรรคแต่ผล เมื่อมันเข้าทางไม่ถูก ปฏิบัติไม่ถูก มรรคผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร สติเท่านั้นที่
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ ฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคนได้รู้จักคุณค่าของสติ จงเป็นคนอย่าเผลอสติ
จริงอยู่ ในการเจริญสมาธิเราก็ต้องใช้สติ แต่มันใช้ขั้นเล็กน้อย แต่ในขั้นนี้เราจะต้องใช้ขนาดหนัก เราจงเริ่มฝึกมันเสีย
นอกจากเรื่องที่ได้พูดกันมาแล้ว เกี่ยวกับการฝึกสติให้ระลึกรู้ทางเวทนานั้น ต่อไปเราจะได้ฝึกสติให้รู้อีกทางหนึ่ง
เรียกว่าทางทวาร ๖ ขอให้พวกเราได้ตระหนักให้ดีที่สุดว่า การฝึกสติให้ระลึกรู้ทางทวาร ๖ นี้ เป็นเรื่องของชีวิต
ประจำวันจริงๆ ถ้าสามารถฝึกได้ มันจะเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะว่าเราสามารถจะเจริญธรรมะ
ในขั้นสูงได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง เมื่อเรายังมีสติอยู่ ไม่ว่าเราจะทำกิจการงานใดๆ เราสามารถที่จะฝึกสติตัวนี้ขึ้นมา
ได้ทั้งสิ้น นั่นคืออะไร ตามภาษาธรรมะเราเรียกว่า อายตนะ ๖ แต่เราอย่าไปพูดกันเลยตามภาษาธรรมะนั้น เรามา
พูดกันตามภาษาง่ายๆ ว่า เราต้องฝึกสติให้รู้เป็นปัจจุบันจาก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
และทางใจ
ที่ผมนำมาพูดให้พวกเราฟังทุกแง่ทุกมุมนั้น ก็ต้องการปิดประตู ไม่ให้พวกเราทุกคนออกได้ว่า วันนี้ฉัน
หูตึงไปฝึกไม่ได้ วันนี้เนื้อตัวชาไม่รู้เวทนามันจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิด ฉะนั้นผมให้คุณหมดทุกอย่าง เพื่อป้องกันพวกคุณ
เบี้ยว เราฝึกกันทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ลมหายใจเข้าออกจนถึงจิตใจของเราฝึกให้หมด อย่าไปเว้นอะไรไว้ แม้แต่สติ
มันจะเกิดขึ้นบ้างแล้ว เราก็อย่าไปประมาท มันอาจจะเลิกเมื่อเห็นเราขี้เกียจก็ได้ เราต้องฝึกไป เมื่อคนใดฝึก มันตื่น
ตัวดีแล้ว เราถึงจะขึ้นบทเรียนกันต่อไป คือ การฝึกให้มันรู้จักรูป รู้จักนาม อุปสรรคที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เช่นนั้น เท่าที่
ผมประสบมา ฝึกปุ๊บให้รู้จักรูปนาม รู้จักการเกิดดับ รู้จักไตรลักษณ์ ผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น วิปัสสนึกมันก็เกิดขึ้น
แต่มันไม่ได้บังเกิดจากแรงของปัญญา ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในเรื่อง ศีลนั้นเป็นบาทของสมาธิ
สมาธินั้นเป็นบาทของปัญญา ปัญญานั้นเป็นตัวรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งมรรคผลในภายหลัง
ส่วนใหญ่ที่เขาพูดกัน
เขาสอนกันเฉพาะในเรื่องมรรคในเรื่องผล ในเรื่องญาณและปัญญาบังเกิดขึ้น แต่ผมบอกแล้วว่าผมไม่สอนพวกคุณในเรื่อง
ของวิปัสสนา ผมสอนสติให้คุณตัวเดียวเท่านั้น ทำไมเป็นเช่นนี้ เหมือนผมสอนสร้างรถไฟให้คุณ มีหัวรถจักรและรถพ่วง
ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ถ้าคุณขับไม่ให้มันตกราง มันก็ต้องถึงปลายทาง นี่หลักการที่ผมสอน แต่หลักการที่คนอื่นเขา
ทั่วไปสอน เขาบอกว่าสถานีชื่อนั้น สถานีต่อไปชื่อนั้น มีวิวอ้ายนั่น มีวิวอ้ายโน่น ปลายทางชื่ออย่างนั้น อ้ายนั่นน่ากิน
น่ารัก น่าเที่ยว แต่เขาไม่ได้บอกว่าตัวรถจักรอยู่ตรงไหน รางรถไฟน่ะอยู่ตรงไหน นี่ คุณจะเอายังไง เลือกเอาตามใจคุณ
พิจารณาด้วยสมองของเราว่า เราพรรณาความพลุ่งพล่าน รำพันความหยดย้อยของสถานีต่างๆ วิธีหนึ่ง กับอีกอันหนึ่ง
บอกว่านี่รางรถไฟ นี่เป็นตัวรถจักรรถพ่วง คุณแล่นไปตรงทางเปิดเครื่องให้มันเดินอย่างนี้ อย่างไหนมันจะถึงก่อนกัน
นี่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ผมถือว่าผมเป็นคนเก็บกากจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมก็ต้องบอก
เล่ากับคุณอย่างนี้ แต่คุณจะไปถึงปลายทางหรือไม่ถึง ไม่ใช่เรื่องของผม
ทีนี้เรามาพูดกันในเรื่อง การฝึกให้รู้ทางอายตนะ ๖ หรือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่อไป
ประเภทแรก อายตนะ ๖ ประเภทแรก ก็คือ ทางตา ความจริงนั้น นึกดู ทางตาเราใช้ยังไง ตาเราใช้ดมกลิ่นหรือ
หรือตาเราใช้ลิ้มรส ไม่ใช่ทั้งสิ้น ตานั่นสำหรับใช้ดูรูป ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าตาใช้ดูรูปแล้ว ทีนี้รูปนั้นถ้ามันใส เราแลเห็นไหม
นัยน์ตา ไม่แลเห็นอีก เราต้องใช้รูปอะไร รูปต้องมีสีด้วย ฉะนั้น ซ.ต.พ. ได้แล้ว ตานั้นเห็นอะไรแน่ ความจริงแลเห็น
สีเท่านั้น สีในที่นี้แหละที่เขาเรียกว่า รูปหรือวัณณรูป ฉะนั้นเราจะฝึกตาของเรา เราก็ฝึกด้วยบทบริกรรมว่า
สีรู้ได้ทางตาหนอ สีรู้ได้ทางตาหนอ สีรู้ได้ทางตาหนอ เราสอนสติมันเช่นนี้ ว่าทางตานั้นรู้ได้เฉพาะ
สีเท่านั้น ไม่รู้อย่างอื่นเลย ถ้าใครขืนรู้อย่างอื่น ในทางตา ใช้ไม่ได้ ไม่จริง เราทำเช่นนี้ พวกคุณอาจจะนั่งหัวร่อ
ผมก็ได้ว่า เอ๊ะ ตานั่นใครๆ ก็แลเห็นทั้งนั้นแหละ ใช่ ผมไม่ได้เถียง คุณแลเห็นด้วยตา แต่สติคุณไม่ระลึกรู้ เวลานี้
เรากำลังมาพูดกันเรื่องสติ ผมไม่ได้บอกว่าคุณตาใสหรือตาถั่ว ผมไม่ได้บอกอย่างนั้น เรามาพูดกันว่าขณะที่เราแลเห็น
นั้น สติเราระลึกรู้หรือเปล่า เราเอากันแค่นี้ก่อน เราไม่ต้องเอาอะไรกัน เราฝึกเราหัดเช่นนี้จนกว่าสตินั้นมันจะแก่กล้า
เกิดความรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง เราจึงจะเลิก
นอกจากนั้นเราก็มาถึง หู หูในที่นี้เราใช้สำหรับทำอะไร เราใช้สำหรับฟังเสียง เสียงดี เสียงเพราะ เสียงไม่เพราะ
เราก็ฟังได้ทางหูทั้งนั้น เช่นเดียวกับตา รูปสวย รูปไม่สวย เราก็ต้องใช้ดูมันด้วยตา ไม่ใช่ว่ารูปสวย ใช้ดูด้วยตา รูปไม่สวย
ใช้ดูด้วยอย่างอื่น ไม่ใช่ ยังไงๆ มันก็ต้องใช้กันด้วยตาทั้งนั้น เช่นเดียวกันในเรื่องหู เราใช้สำหรับฟังเสียง เสียงอะไร
เราอย่าไปนึกถึง เสียงอะไรก็ช่างมัน เราระลึกรู้อย่างเดียวว่า เสียงนั้นรู้ได้ทางหู เสียงรู้ได้ทางหูหนอ
เสียงรู้ได้ทางหูหนอ เสียงรู้ได้ทางหูหนอ เสียงรู้ได้ทางหูหนอ
เอาเท่านี้พอกินแล้ว ขอให้มันตื่นขึ้น
จริงๆ เถอะ เพียงแต่เราได้ยินอะไร สติก็บอกให้เรารู้ว่า เสียงรู้ทางหู เท่านี้ละพอใจแล้ว ส่วนใหญ่เราไม่ได้ทำเช่นนั้น
เมื่อนัยน์ตาแลเห็นรูป เราก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เมื่อเห็นรูปนั้นเป็นที่พอตาพอใจ ถ้ารูปนั้นไม่ดี เราก็หน้าบูดหน้าเบี้ยว สติไม่ได้
บอกเลยว่ารูปเห็นทางตา เราตรัสรู้เอาเอง เช่นเดียวกันกับหูเหมือนกัน เราฝึกไปเช่นนี้แหละ แล้วเราจะรู้ว่าผลมันบังเกิด
ขึ้นในภายหลังจากการฝึกแล้วนั้น มันมีค่ามหาศาล เราไม่สามารถที่จะซื้อเป็นเงินเป็นทองได้
นอกจากตาและหูแล้วยังมีอีกอย่างหนึ่ง จมูก ของเรา ซึ่งเราหายใจอยู่ทุกวันๆ นั้น เราหายใจตั้งแต่เล็กจนโต เราไม่
เคยนึกถึงลมหายใจที่เข้าออกทางจมูกเลย เมื่อโตมานี่ เรามาพบกัน มาเจอะเจอกัน เรามาบอกกัน บอกว่าอ้ายลมหายใจ
ของเธอนั่นยังไงล่ะจ้ะ มันทำให้จิตใจของเราสงบสบายได้ อ้ายทีแรกมันก็คงจะไม่เชื่อกันหรอก ผลสุดท้าย เออ อ๋อประโยชน์
ของเรามีอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จักใช้ประโยชน์ ไม่รู้จักนำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาทำให้มันเป็นประโยชน์เกิดขึ้น นี่เพียงลมหายใจ
เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ทีนี้ถึงจมูกล่ะ เรารู้แล้วว่าลมหายใจมันมีประโยชน์ ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจต่อจมูกของเรา วันนี้เรา
มาสนใจต่อจมูกของเราสักหน่อย ว่าจมูกนั้นมันทำหน้าที่ตรวจสอบกลิ่นทั้งหลาย กลิ่นดี กลิ่นเสีย ผมหมายถึงว่ากลิ่นหอม
หรือกลิ่นเหม็น ซึ่งเราจะต้องตรวจ และรู้ได้ทางจมูกทางเดียวเท่านั้น เราไม่มีโอกาสจะรู้ได้จากทางอื่นเลย เพราะเหตุนี้
เราจึงสั่งสอนสติตัวน้อยๆ ของเรา เมื่อเราได้กลิ่นต่างๆ ไม่ว่ากลิ่นดีหรือกลิ่นเสียก็ช่างมัน เราเพียงแต่บอกให้มันรู้ว่า
กลิ่นรู้ได้ทางจมูกหนอ กลิ่นรู้ได้ทางจมูกหนอ กลิ่นรู้ได้ทางจมูกหนอ เท่านี้พอกินแล้ว เพียงแต่สติ
มันลุกงัวเงียขึ้นมา มันบอกว่าฉันรู้แล้วจ้า ถ้าฉันได้กลิ่นฉันจะบอกนะจ๊ะ เอาเท่านี้ เหลือกิน ในชีวิตของคนเราแต่ละคน
ตั้งแต่ต้นจนอวสานของชีวิต ถ้าเราไม่ฝึกไม่หัดเสียแล้ว สิ่งที่มีอยู่ในร่างกายสามารถจะอำนายความสุขความสงบให้แก่
เราได้ เช่นลมหายใจเข้าออก เราก็ไม่รู้จักคุณค่าของมัน จนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบอกให้เรารู้ว่า อ้ายลมหายใจ
ที่เราหายใจเข้าหายใจออกนั้นแหละ มันทำให้สงบนะ แต่ส่วนมากพวกเราไม่เช่นนั้น พอไม่สงบซักหน่อยหนึ่งก็รดน้ำมนต์
น้ำพร บนเจ้าพ่อเจ้าแม่ สิ่งศักด์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยคุ้มครองป้องกัน ขอให้ความสงบได้เกิดแก่ลูกด้วยเถิด นี่ เขาเหล่านั้น
ไม่รู้หรอกว่าแม้แต่ตัวเจ้าพ่อเจ้าแม่ท่านก็ไม่สงบ แล้วเขาจะหาความสงบให้กับเราได้ยังไง เครื่องมือแห่งความสงบนั้น
มันมีอยู่ในตัวของเราแล้ว และเครื่องประกอบในการที่จะหลุดพ้น ทำการริดรอนกิเลสทั้งหลาย มันก็มีอยู่ในตัวของเรา
เราจงรู้จักนำมาใช้ นั่นคือสติตัวนี้แหละ เราจึงต้องหมั่นสั่งสอนหมั่นฝึกอย่าให้มันหลับ อย่าเอาเยี่ยงคนทั้งหลาย
ซึ่งอยู่ในความประมาท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ความประมาทคือความตาย สติตัวเดียวเท่านั้น
ที่จะทำให้เราไม่ต้องอยู่ในความประมาท
เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราถึงเวลาเรากิน กินนั้น ลิ้น เราทุกคน ผมตรวจดูแล้ว พวกเรายังมีลิ้นอยู่ ยังไม่ถูกตัดลิ้น
ฉะนั้นจงใช้ลิ้นของเราให้มีประโยชน์ จงรู้ไว้ว่า ลิ้นนั้นเป็นเครื่องระลึกรู้ถึงรสชาติต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่ารสหวาน รสจืด
รสเปรี้ยว รสเค็ม หรือรสขม เรารู้ได้จากลิ้นทางเดียว เราจงบอกสติให้มันรู้เอาไว้ เพราะมันเป็นเด็ก มันเป็นเด็กขี้เกียจ
มันเป็นเด็กที่ไม่อยากยุ่ง อยากเกี่ยวกับความวุ่นวายของเรา มันจึงหลบไปนอนเสีย เราไปปลุกมัน บอกว่าต่อไปนี้ฉันจะ
เป็นคนดีแล้วจ้า ช่วยฉันหน่อยนะจ้ะ บอกมันว่า รสรู้ทางลิ้นหนอ รสรู้ทางลิ้นหนอ รสรู้ทางลิ้นหนอ จากลิ้น
ของเรานี้ใช้ให้มีประโยชน์ ประเดี๋ยวเมื่อพูดจบแล้วพวกเราควรจะได้ไปกินอะไรบ้าง ดูซิ มีใครบ้างที่มีสติระลึกรู้ว่ารสรู้
ทางลิ้นสักคนหนึ่งมีบ้างไหม ถ้ามี มันก็คงจะทำให้ผมภาคภูมิใจว่า เราสั่งสอนกัน เรามาบอกกล่าวกัน ไม่เสียที ไม่เสีย
แรงที่เราได้ทำกันลงไป แล้วมันได้เกิดประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
นอกจากเราจะฝึกสติให้ระลึกรู้ในทางลิ้นแล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่ง ตัวที่สำคัญตัวเบ่อเร่อเท่อทีนี้ นั่นคือ กาย ของเรานั่น
เอง กายของเรานั้นมันจะมีความระลึกรู้ได้หลายอย่าง มากกว่า ตา หู จมูก ลิ้น รู้ยังไง กายของเรามีความรู้สึกเย็นก็ได้
ร้อนก็ได้ อ่อนก็ได้ แข็งก็ได้ เคร่งก็ได้ ตึงก็ได้ ไหวก็ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่เราจะรู้ได้จากทางกายเท่านั้น เราไม่มี
โอกาสที่จะรู้ความเย็นร้อนอ่อนแข็งเคร่งตึงไหว จากทางอื่นเลย ไม่มีทาง รู้ได้แต่จากทางกายเท่านั้น ฉะนั้นจงจำไว้ว่า
เราเกิดมาเป็นคน มีเนื้อมีตัวนี่ เรามีโอกาสดีกว่าพวกที่อยู่ในภูมิอื่นๆ อย่างเทวดาหรือพรหมเป็นต้น เพราะเหตุไร
เขาไม่รู้จักเมื่อย ไม่รู้จักขบ เขาไม่รู้จักเย็น ไม่รู้จักร้อน เขาสบายเรื่อย ฉะนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่กำไรมหาศาล
ไหนๆ เราเกิดมาแล้ว จงจำไว้ว่า ตกลงกันแล้วนี่ว่า เราเกิดมาแล้วจะไม่ยอมเสียชาติเกิด เมื่อเราไม่ยอมเสียชาติเกิด
เราต้องฝึกให้มันเกิดปัญญา อ้ายปัญญาปุบปับน่ะมันเกิดกันไม่ได้ เราจะต้องค่อยๆ ไต่ขึ้นไปทีละขั้นทีละตอน ขั้นแรก
นั้นคือสติ สติ อย่าลืม มันเป็นโสภณเจตสิก เมื่อเรามีสติอยู่ตลอดเวลาแล้ว รับประกันได้ว่าอกุศลเจตสิกจะไม่เข้ามากล้ำ
กรายตัวของเราเลย พวกเราบางคนแม้จะทำสมาธิได้ แต่เวลาเผลอสติก็สามารถนั่งร้องไห้พะอืดพะอมไปได้ อย่างนี้
มันเป็นเรื่องอะไร เขารู้ตัวของเขาหรือไม่ว่าเพราะเขาขาดสติ อย่างนี้ เราก็ไม่มีโอกาสที่เจริญธรรมถึงขั้นโลกุตตรกุศลได้
บอกมาแล้วว่ากายนั้นสามารถรู้ได้หลายทาง
ทีนี้เราเอา เรื่องเย็นเรื่องร้อน ก่อน เรื่องเย็นเรื่องร้อนนี่ที่ผมบอกนี่ หมายถึง เตโชธาตุ นั่นเอง ลักษณะของ
เตโชธาตุก็คือเย็นและร้อน จำเอาไว้ เพราะเราจะต้องประสบ ต่อไปเราจะต้องประสบอยู่บ่อยที่สุด เย็นร้อนรู้ได้ทางไหน
ทางกายเราจำไว้ เราก็บริกรรมมันขึ้นทีเดียว เราเป็นนักบริกรรมนี่ เย็นร้อนรู้ทางกายหนอ เย็นร้อนรู้ทาง
กายหนอ เย็นร้อนรู้ทางกายหนอ
แต่ตามข้อเท็จจริง ถ้าเย็นมันก็เย็นนะ ถ้าร้อนมันก็ร้อนนะ มันไม่เกิดทั้งเย็น
ทั้งร้อนทันทีละนะ ที่ผมพูดรวบกันนี่ หมายถึงว่าเราพูดกันในขั้นปัญญาชน ฉะนั้นถ้าจะพูดกันอย่างคนที่ไม่มีปัญญา
ก็บอกว่า เย็นรู้ทางกายหนอ เย็นรู้ทางกายหนอ ร้อนรู้ทางกายหนอ ร้อนรู้ทางกายหนอ ผมรวบ
พูดไปเช่นนั้น
ทีนี้เมื่อเรารู้ความร้อนความเย็นอันเป็นลักษณะของเตโชธาตุ หรือธาตุไฟ ซึ่งจะรู้ได้จากการสัมผัสทางกายเท่านั้นแล้ว
ต่อไปเราก็มารู้จักลักษณะของ ปฐวีธาตุ หรือธาตุดินที่สัมผัสทางกายอีก ดินนั้นมีลักษณะอ่อนก็ได้ แข็งก็ได้ ฉะนั้นที่
ร่างกายของเรา ที่เรานั่งกันอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าใครนั่งบนเบาะก็รู้ได้ว่า อ่อนหนอ ถ้าใครนั่งกับพื้นธรรมดาก็บอกได้เลยว่า แข็งหนอ
อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น อ่อน แข็งรู้ทางกายหนอ อ่อน แข็งรู้ทางกายหนอ อ่อน แข็งรู้ทางกายหนอ
เราทำอย่างนี้ เราแยกออกจากกัน เพราะว่ามันจะเกิดทั้งอ่อนทั้งแข็งขณะเดียวกันทำไม่ได้ อ่อนก็ให้รู้ว่ามันอ่อน
แข็งก็ให้รู้ว่ามันแข็ง เอากันเท่านี้
ทีนี้พูดถึงตัวที่ ๓ คือการ เคร่ง ตึง ไหว นั้น เป็นลักษณะของ วาโยธาตุ พวกเราจงจำไว้ การที่เราก้าวเดิน การ
เคลื่อนไหว เป็นอำนาจของวาโยธาตุ ซึ่งมันเป็นมหาภูตรูป ๔ ผสมอยู่ เราถึงได้มีการเคลื่อน การไหว การตึง การหย่อน
ฉะนั้น เคร่งก็ดี เวลาเราลองเบ่งกล้ามเนื้อสิมันจะมีการเคร่ง หรือเรายืนเกร็งตัวมันจะมีความเคร่งและเรายืนนานๆ
ตึงน่ะ พอเราขยับก้าวออกไป มันก็เกิดการไหว ฉะนั้นเราต้องระลึกรู้ว่า เคร่ง ตึง ไหว รู้ทางกายหนอ
เคร่ง ตึง ไหว รู้ทางกายหนอ เคร่ง ตึง ไหว รู้ทางกายหนอ
เราทำเช่นนี้ เราประพฤติเช่นนี้ เราปฏิบัติ
เช่นนี้ เราสั่งสอนมันตั้งแต่อ้อนตั้งแต่ออก แต่เพลาคุณจะสอนสติของคุณ คุณอย่าสอนอย่างที่ผมสอนคุณ คุณแยกเอา
ไปทีละตัว มันเคร่งก็บอกว่ามันเคร่งนะ มันตึงก็บอกว่ามันตึงนะ อย่าไปรวมกัน ประเดี๋ยวอ้ายสติโง่ๆ มันจะยุ่ง
นอกจากนี้แล้วเราก็มาถึงทวารที่ ๖ คือ ทวาร ใจ ทวารใจนั้น เราได้รู้กันแล้วว่า nature ของใจนั้น มันมีหน้าที่เป็น
ตัวรับรู้ ซึ่งเราเรียกว่า วิญญาณขันธ์ นั่นเอง นอกจากนั้นแล้วมันยังมีความคิดนึกปรากฏขึ้น เราใช้ร่างกายของเรามา
นึกคิด เราใช้ตาของเรามาคิดนึก เราใช้หูของเรามาคิดนึก เราใช้จมูกของเรามาคิดนึก อย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ ทวารทั้ง ๕
ทั้งหลายนั้นเป็นเครื่องต่อส่งไปยังใจ
เพื่อใจจะได้คิดนึก คิดนึกได้ทางเดียวเท่านั้น คือทางใจ ถ้าเรามีใจ แล้วไม่มี
ทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว เราก็ไม่ต้องมานั่งทุกข์ ไม่ต้องมานั่งร้อน เดี๋ยวสุขมั่ง เดี๋ยวทุกข์มั่ง อะไร มันเกิด
จากการคิดนึก นี่ อ้ายใจของเรานี่เองแหละ ธรรมชาติของใจนั้น พวกเราบางคนอาจจะไม่รู้ว่า มันไม่อยู่นิ่ง มันคิดโน่น
คิดนี่ รับรู้โน่นรับรู้นี่ ซัดส่ายเที่ยวไปโน่นไปนี่ อ้ายจรวดว่ามันเร็วหรือ ใจของเรามันเร็วยิ่งกว่าจรวดหลายร้อยเท่า
หลายพันเท่านัก แพล้บเดียวใจของเราอาจจะวิ่งรอบโลกกี่สิบรอบก็ไม่รู้ นี่ ฉะนั้นจำไว้ว่า ความคิดนึกรู้ได้ทางใจ
เราก็สร้างบทบริกรรมของเราขึ้นมาทีเดียว เพลามันมีความคิดนึกปรากฏขึ้น บริกรรมว่าไง คิดนึกรู้ได้ทางใจหนอ
คิดนึกรู้ได้ทางใจหนอ คิดนึกรู้ได้ทางใจหนอ
สั่งสอนสติ ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น เพราะอ้ายสตินี้มันเป็นเจตสิก
มันเป็นเพื่อนของใจ

การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๕ จบ