การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๗
----------------------------------------------------------------------------------

สติมา สุขเมติ ( สติมา สุขะเมติ ) คนมีสติ ย่อมได้รับความสุข เรื่องการฝึกสตินี้เราได้พูดกันมา ๔ อาทิตย์
แล้ว เมื่ออาทิตย์ก่อนนั้น ตอนสุดท้ายเราได้ฝึกสติให้มีการระลึกรู้ถึงมหากุศลจิตที่บังเกิดขึ้นแล้วดับไป ว่ามีลักษณะ
เป็นประการใด
วันนี้เราจะได้พูดกันต่อไป เมื่อ อยู่ในสมาธิ นั้น เราจะกำหนดอย่างไร เพื่อฝึกสติให้รู้ว่าจิตของเราในขณะนั้น
เป็นสมาธิ เมื่อเราเข้าสมาธิโดยทั่วๆ ไป เพื่อให้จิตรู้จักว่าจิตเป็นสมาธินั้นมีลักษณะอย่างไร รู้ได้ทางไหนแล้ว เราก็
กำหนดบทบริกรรมว่า จิตเป็นสมาธิรู้ทางใจหนอ จิตเป็นสมาธิรู้ทางใจหนอ จิตเป็นสมาธิรู้
ทางใจหนอ
เราทำเช่นนี้ ฝึกเช่นนี้ จนกว่าสติจะมีการะลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม โดยไม่ต้องมีการตักเตือนหรือกำหนด
แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะเหตุว่าตามปกตินั้นจิตของเราเป็นเพื่อนคู่กับสติ และตามปกตินั้นที่เราเกิดตายนับภพชาติไม่ถ้วน
นั้น มันยังไม่มีการฝึกการหัดสติเพื่อให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ซึ่งเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาที่สำคัญยิ่ง เพราะถ้าเรา
สามารถผ่าน ให้สติมีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็เป็นของง่าย สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องการปฏิบัติธรรมใน
ขั้นสูงนั้น สำคัญอยู่ที่สติตัวเดียวเท่านั้น ดังนั้นการฝึกสติให้ระลึกรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เราจำเป็นที่จะต้องสร้างสตินั้น
เอาไว้ให้มีความมั่นคง มีความระลึกรู้ได้โดยฉับไว เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือความจริงได้เกิดขึ้น
นอกจากการเป็นสมาธิของจิตแล้ว เมื่อ จิตออกจากสมาธิ แล้วเราก็ต้องฝึกให้สติมีการระลึกรู้อีกด้วยว่า จิตออก
จากสมาธิรู้ทางใจหนอ จิตออกจากสมาธิรู้ทางใจหนอ จิตออกจากสมาธิรู้ทางใจหนอ
ทำไมผม
ถึงได้บอกว่า จิตที่อยู่ในสมาธิก็ดี จิตที่ออกจากสมาธิก็ดี รู้ได้ทางใจเท่านั้น ท่านทั้งหลายพวกเราทุกคนฝึกกันแล้วซึ่ง
สมาธิทั้งระดับสูงและระดับต่ำ เราจะเห็นว่าความสำคัญของสมาธินั้นมันอยู่ที่เจตสิก ทำไมผมถึงได้พูดเช่นนั้น ตัวสมาธิ
นั้นคือตัวเอกัคคตาเจตสิก
และถ้าสมาธินั้นเข้าถึงฌานแล้ว มันก็จะมีองค์ประกอบของสมาธิตามขั้นตอน คือ วิตก
เจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุขเวทนาเจตสิก อุเบกขาเจตสิก และเอกัคคตาเจตสิก สิ่งเหล่านี้ที่สร้างขึ้นมาเป็นสมาธิ
นี่เป็นเรื่องของเจตสิก เหตุนี้แหละผมจึงได้บอกว่าสมาธินั้นรู้ได้ทางใจ เพราะจิตเป็นสมาธินั้น ย่อมประกอบด้วยองค์
ฌานซึ่งเป็นเจตสิก เจตสิกเราได้รู้กันมาแล้วว่ามันต้องเกิดพร้อมกับจิต จิตนั้นทำหน้าที่เพียงแต่รับรู้สิ่งทั้งหลาย ดังนั้น
เมื่อเจตสิกมาประชุมเป็นองค์ฌานพร้อมกันแล้ว จิตก็ต้องรู้เป็นของธรรมดา การที่เราจะฝึกสติซึ่งเป็นเจตสิกอีกตัวหนึ่ง
ให้มันรับรู้นั้น เราต้องฝึกมัน ทั้งเมื่อจิตเป็นสมาธิและจิตพ้นจากสมาธิแล้ว เมื่อจิตพ้นจากสมาธิเราก็ต้องกำหนดบทบริกรรม
ว่า จิตออกจากสมาธิรู้ทางใจหนอ จิตออกจากสมาธิรู้ทางใจหนอ จิตออกจากสมาธิรู้ทาง
ใจหนอ
ดังที่บอกไว้เมื่อกี้นี้ มันจะทำให้สติของเรามีความสมบูรณ์ในการระลึกรู้ยิ่งๆ ขึ้น
นอกจากนั้นแล้วที่พูดมาเมื่อกี้นี้ เราพูดกันในเรื่องการฝึกสติให้ระลึกรู้ทางทวารต่าง ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น และทางใจ ซึ่งเราได้พูดกันมาแล้ว ต่อไป เราจะฝึกสติให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมทางสมาธิ เราจะฝึกให้มันรู้ได้
อย่างไร พวกเราทุกคนเจริญมาแล้วซึ่งสมถกรรมฐาน เราลองพิจารณาดู เมื่อเช้าเราก็ได้พูดกันมาแล้วถึงเรื่องลักษณะ
ของสมาธิ อันประกอบด้วยองค์ฌานในขั้นต่างๆ ว่า การเป็นสมาธินั้นแต่ละขั้นแต่ละตอน เรารู้ได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่
การสงบเล็กน้อยจนถึงขั้นที่มีความสงบอย่างยิ่ง เราก็ต้องฝึกให้มันรู้ต่อไปอีก เพราะว่าเวลาเราเข้าสมาธิ เราจะได้
ฝึกสติเสร็จไปในตัว
ในประการแรก เมื่อจิตเราอยู่ในขั้น ขณิกสมาธิ ตามปกตินั้นเราเข้าสมาธิ เราไม่มีสติระลึกรู้ สติเราเพียงแต่กำหนด
ในการเข้าเท่านั้น เรายังไม่ได้ฝึกให้มีการะลึกรู้ ฉะนั้นในขั้นเริ่มเกี่ยวกับสมาธินี้ เราจำเป็นต้องฝึกให้สติมันรู้ขั้นตอน
ของการเป็นสมาธิทุกขั้นทุกตอน อย่าไปปิดอำพรางมันไว้ ที่ว่าเราต้องฝึกให้จิตรู้การเป็นสมาธิทุกขั้นตอนนั้นก็หมาย
ความว่า เราฝึกสติให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมทางสมาธินั่นเอง เมื่อจิตเราอยู่ในขั้นขณิกสมาธิ เราก็สอนสติให้ระลึกรู้ว่า
ความสงบเล็กน้อยชั่วขณะ เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบเล็กน้อยชั่วขณะ เป็นสมาธิ
รู้ได้ทางใจหนอ
เราฝึกสอนมันเช่นนี้ แม้แต่ตามปกติซึ่งเราไม่ได้เข้าสมาธิเลยก็ตาม เรามีความสงบชั่วขณะ
เกิดขึ้น มันก็เข้าลักษณะอันนี้ เรารู้ได้ทางใจแต่อย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อเราได้พูดกันมาถึงขั้นความสงบเล็กน้อยรู้ได้ทางใจแล้ว ต่อมาถ้าเราเข้าสมาธิถึงขั้น อุปจารสมาธิ เราก็ต้อง
แนะนำกำหนดให้สติมีการระลึกรู้ในลักษณะนั้นเช่นกัน โดยกำหนดว่า ความสงบยิ่งกว่าขณิกสมาธิ เป็น
สมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบยิ่งกว่าขณิกสมาธิ เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
ดังนี้ แม้แต่เข้ามาใน
ขั้นอุปจารสมาธิ เราก็กำหนดให้สติมันระลึกรู้ความเป็นจริงเช่นนั้น ประโยชน์ที่เราจะได้รับในการกำหนดสติเช่นนี้
ประการแรก ทำให้สติมีการตื่นตัว ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติธรรมในขั้นสูงต่อไปในภายหลัง
ประโยชน์อันที่ ๒ ทำให้เราสามารถเข้าสมาธิได้ทุกขั้นทุกตอน โดยเราไม่มีวิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัยแต่ประการใด
ทั้งนี้เพราะว่าเราได้ฝึกสติให้ระลึกรู้แต่ละขั้นแต่ละตอนมาแล้ว ดังนั้นจิตที่เราเป็นสมาธิแต่ละขั้นมันจึงไม่ผิดพลาด เพราะ
แต่ละขั้นแต่ละตอนนั้นมันย่อมมีลักษณะของการเป็นสมาธิแต่ละขั้นแต่ละตอน สติย่อมมีความระลึกรู้ได้ทันเหตุการณ์
กำหนดเสมอ
นอกจากจิตอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิแล้ว ทีนี้เมื่อจิตเราเลื่อนขึ้นถึง อัปปนาสมาธิ หรือ ปฐมฌาน เราก็ฝึกมันทำนอง
เดียวกัน ให้สตินั้นรู้ว่าจิตของเราอยู่ที่ตรงไหนในปัจจุบันนั้น เพราะการรู้เป็นปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องหลักสำคัญยิ่ง ดังนั้น
เมื่อจิตของเราอยู่ในขั้นปฐมฌาน ไม่ว่าจะเป็นสมาธิที่ทำโดยอนุสสติก็ดี สมาธิที่ทำจากกสิณ ๑0 ก็ดี หรือสมาธิที่ทำจาก
อสุภกรรมฐานก็ดี หรือสมาธิที่ทำจากพรหมวิหาร ๔ ก็ดี เหล่านี้มันสามารถที่จะรู้ได้ในขั้นปฐมฌาน เมื่อจิตของเราเข้า
ขั้นปฐมฌานแล้ว สมาธิที่ทำจากทางไหนก็แล้วแต่ ๔0 วิธี ทางสมถะนั้น สมาธิที่ทำจากประเภทอะไรก็แล้วแต่ อารมณ์
อะไรก็แล้วแต่ แต่ลักษณะของความเป็นสมาธินั้น มันมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง ไม่ต่างกันแต่ประการใด
เมื่อพูดมาเช่นนี้ พวกเราทั้งหลายอาจจะมีข้อสงสัยว่า เอ๊ะ ก็ถ้าเช่นนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสั่งสอนทำไม
ล่ะตั้ง ๔0 วิธี ของสมถกรรมฐานนั้น ก็อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้หรือ อันนี้อยากจะทำความเข้าใจให้พวกเราทั้งหลายสิ้น
ความสงสัย เพราะสมาธิที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แจกแจงไว้ถึง ๔0 วิธีนั้น ก็ด้วยความหวังของพระองค์ ที่หวัง
จะให้ผู้ที่ตั้งหน้าเข้าหาธรรมนั้นสามารถทำสมาธิได้กันหมดทุกคน ที่ว่าหมดทุกคนนี้ อย่าลืมว่าสมาธิอย่างหนึ่งคนอีก
ประเภทหนึ่งอาจจะทำไม่ได้ หรือประเภทอย่างนั้นคนนั้นทำได้ แต่คนนี้อาจจะทำไม่ได้ก็ได้ ทั้งนี้เพราะเหตุไร ทั้งนี้ย่อม
ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน เพราะว่าจริตของแต่ละคนนั้น มันไม่เหมือนกัน เราสังเกตดูว่าคนเราที่เกิดมานั้น แต่ละคนไม่
เหมือนกัน ดังนั้นในทางธรรมะถึงได้บอกว่าคนเหมือนกันแต่เป็นคนไม่เหมือนกัน เหตุที่ไม่เหมือนกัน อาจจะไม่เหมือนกัน
ทางจริต อาจจะไม่เหมือนกันในภาวะของจิต ที่ไม่เหมือนกันในทาง จริต นั้นมีอยู่ ๖ ประเภทด้วยกัน ถ้าผมจำไม่ผิด
เรียกว่า วิตกจริต ราคจริต โทสจริต โมหจริต พุทธจริต หรือ ปัญญาจริต แล้วก็สัทธาจริต จริตแต่ละประเภทนั้น
การที่เราจะเจริญสมาธิไม่เหมือนกัน พวกราคจริตนั้นต้องเจริญสมาธิประเภทที่อยู่ ตรงข้าม หรือประเภทที่เกี่ยวกับ
โทสจริตก็เช่นเดียวกัน เมื่อเจริญสมาธิเบื้องต้นได้แล้ว จึงจะสามารถนำเอาสมาธิอื่นมาปรับปรุงให้เจริญขึ้นได้ต่อเนื่องกัน
ดังนั้นการทำสมาธิเป็นบาทฐานเบื้องต้นในการแรกที่จะเข้าถึงนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ถ้าเราไม่เลือกหากรรมฐานที่
ถูกกับจริตเข้าไปให้ประพฤติปฏิบัติแล้ว ผลก็ไม่เกิด หรือถ้าจะเกิดผล ก็ต้องลงทุนลงแรงกันอย่างมากมายก่ายกอง การที่
พวกเราทุกคนทำสมาธิกันได้โดยง่ายดายนั้น สาเหตุก็เนื่องมาจากว่าเราเลือกกรรมฐานให้เหมาะสมกับจริตเข้ามาทำ
กันนั่นเอง เราจึงสามารถทำกันได้โดยรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ บางคนต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๑0 ปี ๑๕ ปี
ก็ยังทำไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเขาเหล่านั้นไม่เลือกกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริตเข้ามาประพฤติปฏิบัตินั่นเอง
เหตุนี้แหละจึงเป็นเรื่องที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แยกแยะสมถกรรมฐานไว้หลายสิบวิธี ก็ด้วยเหตุผลอย่างเรื่อง
จริตประการหนึ่ง
นอกจากนั้นแล้วสมถกรรมฐานแต่ละตัวนั้น ถ้าเราจะได้ศึกษาในขั้นสมถะในขั้นสูงๆ ต่อไปแล้ว ซึ่งเรียกกันโดยทั่วๆ
ไปว่า อภิญญาจิต นั้น สมาธิแต่ละอารมณ์และแต่ละตัวนั้น มันมีการนำมาใช้ผิดแผกแตกต่างกันอย่างเป็นอันมาก
อย่างเช่นใช้ในเรื่องจุตูปปาตญาณ ก็จะต้องใช้อโลกกสิณบ้าง อากาสกสิณบ้าง และกสิณสีขาวบ้าง เหล่านี้เป็นต้น
หรือการใช้เกี่ยวกับ ทิพพโสต เขาก็ต้องใช้วาโยกสิณเหล่านี้ ฉะนั้นในการทำสมาธิเบื้องต้น ไม่จำเป็น เราจะเลือกทำ
อย่างไหนก็ได้ เพราะสมาธินั้นเป้าหมายคือความสงบ ผลมันจะออกมาเหมือนกันทั้งหมด คือปฐมฌานองค์ฌานก็
ครบ ๕ และปัญจมฌานองค์ก็มี ๒ อย่างนี้เป็นต้น แต่ในขั้นสูงที่ผมบอกเมื่อกี้นี้นั้น มันเป็นเรื่องการแยกแยะและการใช้
ไม่เหมือนกัน เหตุที่ในการใช้ไม่เหมือนกันอย่างหนึ่ง เหตุเกี่ยวกับจริตอย่างหนึ่ง นี่แหละเป็นการแบ่งแยกสมถกรรมฐาน
ให้เกิดขึ้นมีมากมายหลายประการ
เมื่อเรารู้เหตุแล้ว เราก็หวนกลับมาในเรื่องการฝึกสติกันต่อไปว่า เวลานี้เรากำลังฝึกสติของเราให้รู้จักว่า ปฐมฌาน
นั้นมันรู้ได้อย่างไร เราก็กำหนดให้สติสั่งสอนโดยบทบริกรรมว่า ความสงบยิ่งกว่าอัปปนาสมาธิและประกอบ
ด้วยองค์ฌาน ๕ เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบยิ่งกว่าอัปปนาสมาธิและประกอบด้วย
องค์ฌาน ๕ เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
เรากำหนดให้สติรู้เช่นนี้ เมื่อเจตสิกมารวมกัน ๕ ตัวเช่นนี้ เขาเรียก
ว่าปฐมฌาน ซึ่งเป็นฌานจิตสูงกว่าอุปจารสมาธิ ในลักษณะเช่นนี้มันเป็นเรื่องที่รู้ได้ทางใจ ฉะนั้นเราจึงได้สั่งสอนสติให้มัน
ระลึกรู้ว่าเรื่องเช่นนี้รู้ได้ทางใจเท่านั้น เราทำเช่นนี้แล้วเราก็จะได้ผลที่เกิดขึ้นทั้งทางสมถะและทางสติ เราจะได้รู้ได้โดย
ทันทีว่าอะไรมันเกิดขึ้น อย่างไรประการใด
นอกจากเราจะได้รู้ถึงความแตกต่างกันระหว่างอุปจารสมาธิและปฐมฌานแล้ว เราจะเห็นประโยชน์ได้ว่า แม้แต่เรา
จะทำวสีก็ดีหรือเข้าอยู่ในสมาธิเฉยๆ อย่างที่เรายังไม่เคยฝึกสติก็ดี ถ้าเราฝึกสติเอามาปนเข้าไปด้วยแล้ว ประโยชน์มัน
ก็จะเกิดขึ้นทั้งรูปาวจรกุศลและในขณะเดียวกันโลกุตตรกุศลก็จะบังเกิดขึ้นด้วย นั่นคือสตินั่นเอง ดังนั้นเราจงเริ่มฝึกมัน
ให้มันรู้เป็นปัจจุบันธรรมเสียตั้งแต่ขณะนี้ เราเริ่มกันเถอะ เราอย่าไปกินข้าวต้มกระโจมกลาง เราค่อยๆ เป่าไปซดไปทีละ
เล็กทีละน้อย แล้วผลสุดท้ายเราก็กินข้าวต้มหมดชาม โดยไม่มีความร้อนหรือความร้อนลวกปากแต่ประการใดเลย
นอกจากจิตของเราอยู่ในขั้นปฐมฌานแล้ว เมื่อจิตของเราได้เลื่อนขึ้นไปสู่ทุติยฌาน แล้ว เราก็จะต้องฝึกสติให้มีความ
ระลึกรู้เช่นกันว่า การที่จิตของเราเป็นฌานที่ ๒ หรือเรียกว่าทุติยฌานนั้น เราจะบอกสติให้มันรู้อย่างไร มันถึงจะรู้จัก
รูปร่างหน้าตาว่า อ้ายอย่างนี้นะเขาเรียกว่าทุติยฌาน เราก็กำหนดบทบริกรรมมันขึ้นว่า ความสงบยิ่งกว่าปฐมฌาน
วิตกหายไป เหลือองค์ฌาน ๔ ตัว เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบยิ่งกว่าปฐมฌาน วิตก
หายไป เหลือองค์ฌาน ๔ ตัว เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
การที่เรากำหนดเช่นนี้ มันจะทำให้เราได้รู้ว่าใน
ขั้นทุติยฌานนั้นเหลือองค์ฌานกี่ตัว และอะไรได้หายไปบ้าง เราสั่งสอนสติให้มันรู้เสียเช่นนี้เป็นเบื้องแรก เมื่อเราทำสมถะ
โดยการเข้าฌานจิตนั้น ประโยชน์ที่เราจะได้รับมันก็ได้เกิดขึ้นเป็น ๒ ทางพร้อมกัน อย่างนี้มันก็เป็นกำไรชีวิตของเรา
ความสงบเราก็ได้รับ ปัญญาขั้นต้นในเรื่องการปลุกสติให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมเราก็ได้รับ เราอย่าไปนึกพะวงสงสัย
ว่า เอ๊ะ ทำไมวิปัสสนาถึงได้มาเพียงเท่าสติระลึกรู้เท่านี้ เขารู้กันมากกว่านี้ รู้ยังโง้น รู้ยังงี้ ขอเสียทีเถิด เราอย่ารู้มาก ถ้าเรา
รู้มาก ก็คือการไม่รู้อะไรเลย การที่เราทำสมาธิได้กันขั้นสูงๆ เช่นนี้ เราทำทีเดียวให้ถึงปัญจมฌานทีเดียวอย่างนั้นหรือ
หรือเราเริ่มตั้งแต่ฝึกกำหนดให้สติมีความระลึกรู้ก่อน นั่นคือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสตินั้น เราก็ได้ทำการฝึกสติ
ให้ระลึกรู้ว่าตรงไหนเป็นจุดลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก ที่เรียกว่าจุดลมกระทบนั้นแหละ แล้วเราก็ให้สติมันเฝ้าลมหายใจ
ที่มันเข้าออกตรงนั้น ไม่ให้มันหันเห ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลงไปทางไหน นั่นเป็นการฝึกสมาธิในเบื้องแรก เมื่อสติระลึกรู้บ่อย
เข้าๆ จนไม่ไปไหน จนอยู่คงที่แล้ว เมื่ออยู่คงที่แล้ว จิตเราก็อยู่ด้วย นั่นหมายความว่าเอกัคคตาจิตได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว
นั่นคือสมาธิ มาจากอะไร ไม่ใช่มาจากเราเริ่มฝึกสติเป็นเบื้องแรกดอกหรือ พวกเราบางคนอาจจะสงสัย ก็อ้ายนั่นมันอานา
ปานสตินี่ ก็เพราะมันมีตัวสติบอกอยู่แล้วนี่ มันก็ต้องใช้สติอยู่น่ะซิ เอาละ ถ้าเช่นนั้นเราไปทำกสิณบ้าง ถ้ากสิณถ้าเราไม่มีสติ
กำหนดอยู่ที่ดวงนิมิตนั้นแล้ว มันจะเป็นกสิณได้หรือไม่ มันก็เป็นไม่ได้อีก ผลสุดท้ายจะทำอย่างไรๆ มันก็หนีสติไม่พ้น
เอาละ เมื่อยอมแพ้กันแล้วในขั้นรูปาวจรกุศล ทีนี้กามาวจรกุศลล่ะ ไม่จำเป็นต้องใช้สติ ใครบอกล่ะ ถ้าเราไม่มีสติ
อย่างเราทำทาน เราทำโดยไม่มีสติให้ระลึกรู้เช่นนั้น เราจะทำให้ได้ผลของทานมัยให้ได้ผลสมบูรณ์ได้อย่างไร เพราะมันไม่
สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นเราจงยอมรับรู้เถอะว่า การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนเอาไว้
โดยมีพุทธพจน์อยู่มากมายหลายประการซึ่งเกี่ยวกับสตินั้น ถ้าสตินั้นไม่มีประโยชน์ในการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมแล้ว
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมไม่ตรัสในเรื่องสติไว้เช่นนั้น เหตุนี้แหละเราจงรู้ความสำคัญของสติเป็นเบื้องต้นยิ่งกว่า
อะไรทั้งหมด จนกว่าเราจะสามารถปลูกสติให้มันระลึกรู้ได้เป็นปัจจุบันธรรมแล้ว เราถึงจะนำสติที่เราปลุกให้มันตื่นนั้นไปใช้
ในกิจการอื่นต่อไป นั่นคือธรรมะในขั้นสูงนั่นเอง ในเรื่องนี้อาจจะมีพวกเราหลายคนเข้าใจผิดๆ คิดว่าการปฏิบัติธรรม
ในขั้นสูงนั้น รู้ว่าไง ปฏิบัติยังงั้นโดยไม่ต้องปลูกสติ อย่าลืมว่าธรรมะในขั้นสูงสติต้องเกิดก่อน เราไม่ต้องอะไรหรอก เพียง
แต่นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้นนี่ เรารู้ว่าอะไรมันมันเป็นรูปเป็นนาม รู้ยังไง รู้โดยการเรียนรู้
รู้โดยการท่องจำ รู้โดยสัญญา แต่ไม่ใช่รู้โดยสติและปัญญา ถ้าเราปลูกสติให้มันรู้แล้ว สติมันจะคอยเตือน เตือน
บ่อยๆ บ่อยเข้า ปัญญามันจะเกิด และเราจะรู้ล่ะว่า อ้ายความแตกต่างการรู้จักรูปนามในทางปัญญากับในทางสัญญานั้น
มันแตกต่างกันอย่างไร ในเรื่องนี้ผมว่าพวกเราบางคนรู้แล้วซึ่งความแตกต่างระหว่างสัญญาคือความจำกับปัญญานั้นมัน
แตกต่างกัน ฉะนั้นอย่าเพิ่งเร่งร้อน เราปลูกสติให้มันเกิดเสียก่อน
เมื่อเราพูดกันมาถึงนี่แล้ว เราก็พาสติให้มันรู้จักจิตเป็น ตติยฌาน ต่อไปว่า สตินั้นจะต้องรู้จักลักษณะการเป็นฌานใน
ขั้นที่ ๓ ต่อไปเรียกว่าตติยฌานนั้น เราก็ใช้บทบริกรรมว่า ความสงบยิ่งกว่าทุติยฌานวิจารหายไปอีก
๑ ตัว เหลือองค์ฌาน ๓ ตัว เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบยิ่งกว่าทุติยฌานวิจาร
หายไปอีก ๑ ตัว เหลือองค์ฌาน ๓ ตัว เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
เราต้องสอนมันอย่างนี้ ให้มันรู้ว่า
ฌานจิตนั้นแต่ละขั้นแต่ละตอนนั้น อะไรมันหายไป อะไรมันมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร เราต้องสั่งสอนให้มันรู้ รู้ไว้ทำไม
รู้ไว้เป็นเครื่องเตือนใจเราภายหลัง มันจะได้ระลึกรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความรู้ทั้งหลายจำไว้ว่าเราต้องมีการฝึกการฝน
ถ้าเราไม่มีการฝึก ไม่มีการหัด ไม่มีการฟัง ปัญญามันจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีการสร้าง
มันถึงจะเกิดขึ้น
เมื่อเรารู้มาเช่นนี้แล้ว เราก็ก้าวต่อไป เมื่อจิตถึงขั้น จตุตถฌาน นั้น มันมีลักษณะอย่างไร เราก็ต้องแนะนำให้สติมัน
ระลึกรู้ว่าลักษณะเช่นนั้นนะ มันเป็นอย่างไร เราก็ใช้บทบริกรรมว่า ความสงบยิ่งกว่าตติยฌาน ปีติหายไป
เหลือองค์ฌาน ๒ ตัว เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบยิ่งกว่าตติยฌาน ปีติหายไป
เหลือองค์ฌาน ๒ ตัว เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
เราฝึกมันเช่นนี้ในขั้นจตุตถฌาน
แม้ในขั้น ปัญจมฌาน ก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องฝึกสติให้มันรู้ว่า ความสงบยิ่งกว่าจตตุถฌาน ความสุข
หายไปเหลือแต่อุเบกขา เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ ความสงบยิ่งกว่าจตตุถฌาน ความสุขหาย
ไป เหลือแต่อุเบกขา เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
เราสอนมันเช่นนี้ สติมันก็จะรู้ว่าจากที่มีสุข สุขหายไปปลี่ยน
เป็นอุเบกขานั้น เขาเรียกว่าปัญจมฌาน จิตมันก็รู้
ทีนี้เมื่อเราได้รู้ในขั้นรูปฌานแล้ว ถ้าเรามีสมาธิที่สูงกว่าขั้นรูปฌาน เราก็ต้องฝึกให้มันรู้เช่นเดียวกัน ถ้าจิตอยู่ใน
อากาสานัญจายตนฌาน เราก็กำหนดบทบริกรรมว่า อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่าปัญจมฌาน เป็นสมาธิรู้ได้
ทางใจหนอ อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่าปัญจมฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ อุเบกขาละเอียด
ยิ่งกว่าปัญจมฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
จากนี้เราจะเห็นได้ว่าสติมันจะต้องมีความรู้ ทีแรกมันรู้เพียง
ว่าอุเบกขาเป็นปัญจมฌานในรูปฌาน แต่ถ้ามีอุเบกขาตัวเดียวกัน แต่อุเบกขานั้นมีความละเอียดยิ่งกว่าปัญจมฌานแล้ว
มันก็คือ อากาสานัญจายตนฌานนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น นี่ ที่เราพูดกันมานี้เป็นการฝึกให้มันรู้เท่านั้น
เรายังไม่ต้องการให้มันรู้อะไรอีกละ เพียงแต่ว่าความจริงที่ปรากฏแต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้น ให้มันรู้ว่าอะไรรู้ทางไหน
หรือ เมื่อจิตเป็น วิญญาณัญจายตนฌาน เราก็ต้องบอกสติให้มันรู้อีกว่า อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่า
อากาสานัญจายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่าอากาสานัญ
จายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
นี่เราสอนมันให้รู้เช่นนี้ รู้ยังไง รู้ได้ทางจิตเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะรู้
ทางอื่นได้เลย ในเรื่องของความเป็นสมาธิ แม้แต่ในขั้นวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว มันก็ยังไม่ถึงที่สุดในเรื่องขบวนของ
การเป็นสมาธินั้น เราจำเป็น ถ้าเรามีความรู้สูงยิ่งกว่านั้นอีก เราก็จำเป็นต้องฝึกให้สติได้ระลึกรู้แต่ละขั้นแต่ละตอน
เราอย่าไปปกปิดมันเอาไว้ มันไม่ใช่ความลับ สตินั้นจำเป็นต้องบอกให้มันรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อประโยชน์มันจะได้เป็นเครื่อง
เตือนเราในภายหลัง ถ้าเราไม่ให้มันรู้เสียแล้ว ในภายหลังมันไม่เกิดเตือนเราเข้า เราก็ไม่สามารถจะประพฤติธรรมปฏิบัติ
ธรรมอะไรได้ทั้งสิ้น
ทีนี้เมื่อจิตได้สูงกว่าวิญญาณัญจายตนะแล้ว ก็เข้ามาอยู่ใน อากิญจัญญายตนฌาน เช่นนี้ เราก็ต้องสอนให้สติมันรู้
อีกว่า อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่าวิญญาณัญจายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ทางใจหนอ อุเบกขาละเอียด
ยิ่งกว่าวิญญาณัญจายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ทางใจหนอ
เราสอนให้มันรู้ เพราะว่าในอรูปฌานั้น ลักษณะ
ขององค์ฌานนั้นมีเหมือนกันทั้ง ๔ ตัว เหมือนกันอย่างไร เหมือนกันมีอุเบกขากับเอกัคคตา เอกัคคตาเราตัดทิ้งได้
เพราะมันเป็นองค์ของความเป็นสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต มันเหมือนกันในลักษณะขององค์ฌานประกอบ นั่นคือ
อุเบกขา แต่อุเบกขาของแต่ละตัวนั้น มันก็มีความแตกต่างกันอีก มีความแตกต่างกันอย่างไร ในขั้นอากาสานัญจายตนฌาน
นั้น อุเบกขามันละเอียดอ่อนยิ่งกว่าปัญจมฌาน และในอุเบกขาในขั้นวิญญาณัญจายตนฌานนั้น มันเป็นอุเบกขาที่ละเอียด
อ่อนกว่าอากาสานัญจายตนฌาน และอุเบกขาในขั้นอากิญจัญญายตนฌานนั้นมันเป็นอุเบกขาที่ละเอียดอ่อนกว่า
วิญญาณัญจายตนฌาน ฉะนั้นเมื่อจิตของเราอากิญจัญญายตนฌานนั้น เราก็ต้องฝึกฝนสติให้มันรู้ว่า อุเบกขา
ละเอียดยิ่งกว่าวิญญาณัญจายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่า
วิญญาณัญจายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
นั่น สติก็จะรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นจิตของเราอยู่ในขั้น
อากิญจัญญายตนฌานอยู่แล้ว นี่เป็นการเตือนให้รู้ไว้
และในขั้นสูงสุด เมื่อจิตของเราอยู่ในขั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แล้ว เราต้องกำหนดสั่งสอนให้สติมันมี
ความระลึกรู้เช่นเดียวกัน นั่นคือกำหนดให้รู้ว่า อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่าอากิญจัญญายตนฌาน เป็นสมาธิ
รู้ได้ทางใจหนอ อุเบกขาละเอียดยิ่งกว่าอากิญจัญญายตนฌาน เป็นสมาธิรู้ได้ทางใจหนอ
โดยที่เราฝึกสติให้มันระลึกรู้เช่นนี้ ให้เป็นการสม่ำเสมอ
ฉะนั้นตามที่ผมได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เราได้มีการฝึกสติในขั้นต้น ตั้งแต่การฝึกจากลมหายใจเข้าออก การฝึกให้รู้
จากอิริยาบถ ๔ การฝึกให้รู้ทางสัมปชัญญะ การฝึกให้รู้ทางปฏิกูล การฝึกให้รู้ทางทวาร ๖ การฝึกให้รู้ทางจิต และการ
ฝึกให้รู้ในขณะที่เป็นสมาธิ
เราฝึกกันมาแล้วตั้ง ๘ ทาง ฉะนั้น รู้สึกว่าเราเพียงพอแล้ว ที่เราจะฝึกให้สติได้ระลึกรู้เป็นการขั้นต้น ตามที่ได้กล่าว
มานี้ มันเป็นเพียงการฝึกสติให้รู้เป็นปัจจุบันธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างขวางมากมายใหญ่โต ขอให้พวกเราทั้งหลายที่
สนใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมในขั้นสูง ได้เริ่มลงมือฝึกกันเสียตั้งแต่บัดนี้ อย่าประมาท เพราะว่าสตินั้นไม่ใช่ฝึก
ให้มันระลึกรู้ได้ง่ายๆ มันเป็นของยากลำบาก ถ้าเราผ่านขั้นตอนอันนี้ไปได้แล้ว เท่ากับเราได้เตรียมพร้อมแล้วซึ่งกองทัพ
ที่เราจะยกโจมตีกิเลสทั้งหลายต่อไปข้างหน้า ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะการฝึกสติให้ระลึกรู้นั้น ผมได้พิจารณาและผ่าน
อุปสรรคนี้มามากมายก่ายกองแล้ว เพราะว่าการที่สติไม่ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมนั้น มันเป็นอุปสรรคอย่างมหาศาล
แม้เราจะมีความรอบรู้อย่างไรก็ดี แต่สติมันไม่ย่อมเล่นด้วย เมื่อสติมันไม่ยอมเล่นด้วย มันก็ไม่ยอมระลึกรู้ เมื่อมันไม่ยอม
ระลึกรู้ ปัญญามันก็ไม่เกิด แทนที่มันจะกลายเป็นวิปัสสนาปัญญาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนเอาไว้
มันกลายเป็นวิปัสสนึก ซึ่งยังแต่ความโง่ให้กับเราไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นพวกเราที่หวังความก้าวหน้าในอนาคต จงพยายาม
ที่จะฝึกสติของเรา เตือนของเรา
หนึ่ง ทำสติให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ท่านบอกเท่านี้
ประการที่สองการระลึกรู้ของสติ เป็นการระลึกตามความจริง คือ ปรมัตถธรรม ซึ่งหมายความว่าให้สติ
ระลึกรู้ตามความเป็นจริงและเป็นปัจจุบันธรรมนั่นเอง
สิ่งที่ผมสอนท่านมา ๕ อาทิตย์แล้ว ก็เพียงแต่ปลุกสติให้มันระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมเท่านั้น ผมจะให้เวลาพวกเราได้
ฝึกได้ฝนสติแล้วเราก็จะได้คืบคลานรู้อย่างอื่นต่อไป นี่ เพราะว่าหลักการของวิปัสสนา ผมอยากจะบอกให้พวกเรารู้ไว้ที่นี้
๑. ฝึกสติให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม
๒. ระลึกรู้ให้เป็นปัจจุบันธรรมตามหลักของปรมัตถธรรม คือรูปนามนั่นเอง
๓. ทีนี้เมื่อระลึกรู้ตามความเป็นจริงตามปรมัตถธรรมแล้วขั้นต่อไปก็คือ เห็นความจริงที่ระลึกรู้นั้นว่าเป็นอนิจจัง
สิ่งเหล่านี้เราสอนกันได้ว่า อะไรมันเป็นรูป อะไรมันเป็นนาม อะไรมันเป็นอนิจจัง นี่เราสอนกันได้ แต่สตินี่ เราให้กัน
ไม่ได้ เราสอนกันไม่ได้ แต่เราแนะได้แต่เพียงว่าเราจะฝึกมันอย่างไร มันถึงจะเกิดตื่นตัวขึ้น ฉะนั้นพวกเราอย่าประมาท
ตราบใดที่ยังฝึกสติไม่ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม โปรดอย่ามาพูดกับผมในเรื่องโลกุตตรธรรมเลย มันไม่มีประโยขน์
๔. นอกจากพิจารณาความจริงเห็นเป็นอนิจจังแล้ว ในขั้นต่อไปก็คือ พิจารณาความเป็นจริงให้ระลึกรู้ต่อไปอีกว่า
มันเป็นสามัญลักษณะเป็นสมบัติ นี่
สรุปแล้ว หลักการของวิปัสสนามีเพียง ๔ ข้อนี้แค่นี้เท่านั้น มันไม่ยากอะไรเลย เด็กๆ มันก็รู้ว่า ๑. สติระลึกรู้เป็น
ปัจจุบันธรรม ๒. ระลึกรู้ของสติที่เป็นปัจจุบันธรรมนั้น ระลึกรู้เป็นปรมัตถธรรม ๓. ความจริงที่ระลึกรู้นั้นทุก
อย่างเป็นอนิจจัง ๔. พิจารณาให้เห็นความจริงต่อไปว่า ที่ระลึกรู้นั้นมันมีสามัญลักษณะ นั่นคือ อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
แค่นี้เท่านั้น ผมต้องการส่งคุณแค่นี้เท่านั้น ต่อจากนั้นคุณปฏิบัติแค่นี้ได้ ปัญญาของคุณจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น
ไปจนถึงขั้นโลกุตตรธรรม ซึ่งไม่มีใครจะสามารถหยิบยื่นให้ได้ นอกจากสติของคุณตัวเดียวเท่านั้น ฉะนั้น ผมจึงปฏิเสธ
ไม่ยอมสอนวิปัสสนาให้พวกคุณ แต่ผมแนะนำวิธีการปลูกสติ ให้มีการระลึกรู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะวิปัสสนาสรุปแล้วพูดไป
พูดมามันก็มีอ้าย ๔ ข้อนั้น พูดกันทำไม เด็กๆ มันก็รู้ ปัญหาสำคัญอันใหญ่ยิ่ง สติมันไม่ยอมรับรู้น่ะซี แก้ไขกันอย่างไร
นี่ ผมแก้อุปสรรคที่สำคัญให้พวกคุณ แต่พวกคุณจะเห็นความสำคัญหรือไม่ นั่นแล้วแต่คุณเอง ถ้าคุณเห็นความสำคัญ
คุณก็รีบปลุกให้มันตื่น อย่าให้มันหลับอีกต่อไป เมื่อมันตื่นแล้ว เราก็สั่งสอนมัน พอสั่งสอนมันรับรู้แล้ว เราก็นำเอามัน
มาใช้มันก็จบกัน
ทีนี้เราปฏิบัติต่อไป ต่อไป อะไรบังเกิด ปัญญามันเกิด เมื่อปัญญามันเกิด เราก็ไม่ต้องมาทบทวน ไม่ต้องมานั่งถามกันว่า
เมื่อนั่นจะไปนิพพานได้ยังไง เมื่อนี่จะไปนิพพานได้ไง ไม่ต้องมาเรียนกัน ไม่ต้องมาพูดกัน ทำมันไป แล้วมันถึงเอง ไม่ต้อง
กลัว มันถึงอย่างไร พวกเรานี่จำเอาไว้นะ เราพูดกันขณะนี้ เรามีความหนาเท่าไหร่ โลภะหนาเท่าไหร่ โทสะหนาเท่าไหร่
โมหะหนาเท่าไหร่ จำเอาไว้ แล้วพอเราฝึกสติให้ระลึกรู้แล้ว พอมันรู้เป็นปรมัตถธรรมแล้ว มันรู้ความเป็นอนิจจังแล้ว
ซักหน่อยนึง เอ๊ะ อ้ายนี่ฉันมันหายไปไหน อ้ายนั่นฉันหายไปไหน ถามเขาซิ หายไปเมื่อไหร่ไม่รู้ มันก็เหมือนมีดนั่นแหละ
มันสึกไป กิเลสก็เหมือนกัน มันหลุดไป มันไม่รู้หรอก นี่ เป็นหลักการของการปฏิบัติโลกุตตรธรรม แต่ที่ทั่วๆ ไปเขาปฏิบัติ
กันนั้น เขาแสดงให้เห็นมรรคมีอะไรบ้าง ผลมีอะไรบ้าง ว่ามันมีความสุขยังไง มันมีความสบายยังไง แต่เขาไม่เคยพูดถึง
เรื่องสติกัน ผมบอกให้คุณขึ้นรถไปเชียงใหม่ แต่ผมให้สตางค์คุณไปตีตั๋วรถ กับคนหนึ่งเขาบอกว่าคุณขึ้นรถไปเชียงใหม่
ซิ เชียงใหม่สวยอย่างนั้น สนุกอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แต่เขาไม่ให้สตางค์คุณ อันไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน คิดเอาเอง
ฉะนั้นจึงขอ

จบ การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๗

อันเป็นตอนสุดท้ายแห่งการฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้นเพียงแค่นี้