การปรับปรุงตนเอง

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เตละปัตตัง ยะถา ปะริหะเรยยะ เอวัง สะจิตตะมะนุรักเข
พึงรักษาจิตของตน เหมือนคนประคองบาตรเต็มด้วยน้ำมัน

พุทธภาษิตดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความสำคัญของคนเราอันสูงสุดนั้น อยู่ที่จิตของเราเป็นสำคัญยิ่ง ซึ่งคำยืน
ยันนี้ มีพุทธพจน์ ได้กล่าวไว้ว่า " ธรรมทั้งหลายย่อมมีใจเป็นหัวหน้า " นั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมก็ดี
หรือกุศลธรรมก็ดี ใจของเราตัวเดียวเท่านั้นเป็นใหญ่ที่สุด ถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะแล้วว่าใจของเราเป็นประการใด
เราก็เปรียบเหมือนผู้ที่มีการประคองบาตร อันเต็มไปด้วยน้ำมัน เพราะว่าบาตรที่เต็มไปด้วยน้ำมันนั้น ถ้าประคองไม่ดี
น้ำมันก็อาจจะกระฉอกออกจากบาตร เปรอะเปื้อนได้ เช่นเดียวกันกับการรักษาจิต เพราะจิตของเรานั้น เต็มไปด้วย
อกุศลจิต เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราประคองไม่ดีด้วยสติแล้ว อกุศลจิตนั้นก็จะปรากฏขึ้น ทำให้เราต้องทำกรรมไม่มีสิ้นสุด

เจตนาที่พูดในวันนี้ เนื่องจากวันนี้เป็นวันสิ้นปี เหตุที่นำมาพูดกันในวันนี้ ก็อยากจะให้พวกเราทุกคน ได้ตระหนักว่า
ระยะเวลาที่ผ่านมา ๓๖๕ วันนั้น เราได้ทำความดี หรือความชั่วอะไรบ้างในชีวิต ในเรื่องนี้ ถ้าจะพูดตามภาษาของ
ธรรมะ ซึ่งพวกเราทุกคนย่อมรู้จักกันดีว่า ความจำได้นั้นเรียกว่า สัญญาเจตสิก หรือถ้าจะพูดตามภาษาของขันธ์ ๕
เราก็เรียกว่า สัญญาขันธ์ จากสัญญาตัวนี้แหละ เราลองพยายามใช้สัญญา นึก ตรึกย้อนหลังไป ตั้งแต่ขณะนี้ย้อนไป
๓๖๕ วันที่ผ่านมา เราได้ทำความดีอะไรไว้บ้าง และทำไม่ดีอะไรบ้าง เราจงให้ความเป็นธรรมกับตัวของเราเอง เราอย่า
เข้าข้างตัวของเราเอง ทำไมถึงได้พูดเช่นนั้น ขอให้พวกเรามีใจเป็นกลาง อย่าไปเข้าข้างตัวเราเอง อย่าไปชมเชยตัว
ของเราเอง หรืออย่าไปตำหนิติเตียนตัวของเราเอง เราให้ความเป็นกลาง แล้วเราก็หวนระลึกนึกถึง ตั้งแต่วันนี้ ย้อนไป
ถึง ตั้งแต่วันนี้ ย้อนไปถึง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒0 ดูทิ ว่าเราทำ ความดีหรือความชั่ว อะไรบ้าง

ความดี หรือ ความชั่ว ในที่นี้ ผมหมายถึง

ความดี หรือ ความชั่ว ทางกาย

ความดี หรือ ความชั่ว ทางวาจา

ความดี หรือ ความชั่ว ทางใจ

สิ่งเหล่านี้ไม่มีบุคคลภายนอกคนใด ที่จะล่วงรู้ความจริงของเราได้ นอกจากตัวของเราคนเดียวเท่านั้น เมื่อเราหวน
ระลึกย้อนไปถึง ๓๖๕ วันเช่นนี้แล้ว สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นความดีโดยถูกต้องเราก็เก็บรักษาไว้ แล้วก็เพียรพยายามทำต่อไป
สิ่งใดเห็นว่าไม่เป็นความดี เราก็พยายามละทิ้งเสีย เราก็ให้สัจจะแก่ตัวของเราเองว่า เราจะไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไป
แต่เพื่อเป็นเครื่องชี้ให้พวกเราทั้งหลาย ได้ระลึกรู้ว่า อะไรบ้างเป็น ความชั่ว อะไรบ้างเป็นความดี ผมก็อยากจะสรุป
เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ของพวกเราทุกคน ดังนี้

ในด้านของ ความไม่ดี นั้น ประการแรก ก็ได้แก่ ทุจริต ๓ คำว่า ทุจริต ๓ นี้ พวกเราบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า
มีความหมายว่าอย่างไร ทุจริต ๓ นี้ หมายถึง

กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ และ มโนทุจริต ๑

กายทุจริตได้แก่

๑. การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คือตัวปาณาติบาต นั่นเอง

๒. การลักทรัพย์

๓. การผิดประเวณี

วจีทุจริต ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ ประการ คือ

๑. การกล่าวเท็จ หรือพูดเท็จ ซึ่งเราเรียกว่า มุสา นั่น

๒. คือ การพูดคำหยาบ

๔. เรียกว่า การพูดเพ้อเจ้อ

มโนทุจริต หรือ การทุจริตทางใจ ได้แก่

๑. ความละโมบ อยากได้ของเขา ซึ่งเราไม่มีสิทธิในของสิ่งนั้นๆ

๒. การผูกโกรธ หรือพยาบาท ซึ่งพวกเราทุกคน อาจจะได้ประสบกันมาแล้ว

๓. ความเห็นผิด ซึ่งเรียกกันว่า มิจฉาทิฏฐิ ตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญยิ่ง

บางคนไม่รู้หรอก ว่าตัวนี้ได้ทำทุจริตลงไปแล้ว การทุจริตในทางธรรมะไม่เหมือนทางโลก ทางโลกนั้น ถ้าไม่เกิดความ
เสียหาย ตามหลักของกฏหมายแล้ว ก็ไม่เป็นความผิด แต่เรื่องทุจริตในทางธรรมแล้ว ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำ
ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เมื่อครบแล้ว แม้แต่ใจเรานึกอยู่ในใจเท่านั้น ก็เป็นความผิด นี่เรียกว่า ทุจริต ๓

ทุจริต ๓ นี่มีไหมใน ๓๖๕ วัน ถ้าเราไม่เข้าข้างตัวของเราเองแล้ว ทุกคนมี แต่จะมีมากหรือน้อยนั้น ว่ากันไปอีก
เรื่องหนึ่ง

นอกจากทุจริต ๓ แล้ว ก็มีอีกตัวหนึ่ง คือ อคติธรรม ๔ ประการ นี่เป็นความชั่ว ไม่ดีเหมือนกัน เราย้อนนึกไปทิว่า

๑. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเนื่องจากการรักใคร่ มีไหม ?

๒. โทสาคติ ความลำเอียงเนื่องจากการไม่ชอบกัน มีไหม ?

๓. โมหาคติ ความลำเอียงเนื่องจากความเขลา หรือไม่รู้เท่าทัน มีไหม ?

๔. เรียกว่า ภยาคติ ความลำเอียงเนื่องจากความกลัว มีไหม ?

ความลำเอียง ๔ ประการนี้ เราเรียกว่า อคติธรรม ๔ เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งเป็นตัวที่ไม่ดี ในฐานะที่พวกเราทุกคน เรา
ยังอยู่ในสังคม ทุกคนย่อมต้องมีความลำเอียงเนื่องจากความรักใคร่ ความไม่ชอบกัน ความเขลา หรือความกลัว ทั้งนี้
เพราะอะไร ที่เกิดอคติขึ้นนี่ก็เนื่องจากว่า พวกเราขาดสติ เราไม่ได้ฝึกสติให้มีความระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา อคติจึงเกิดขึ้นได้
ฉะนั้นถ้าเรามีมาในอดีตแล้ว เรามาพิจารณาปรับปรุงตัวของเราเองในขณะนี้ แล้วเราก็ตัดมันทิ้งไป ระวังอย่าให้มันเกิด
ขึ้นอีก

นอกจาก ๑. ทุจริต ๓ และ ๒. อคติ ๔ แล้ว ยังมีเหตุอีกเหตุหนึ่ง คือ ๓. ธรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อม ธรรม
ตัวนี้ ถ้ามีอยู่ในชีวิตจิตใจของเราแล้ว ก็จะเป็นตัวเหตุทำให้เรานี่เกิดความเสื่อม เสื่อมอย่างไร คือเสื่อมทั้งในทางโลก
และทางธรรม

๓.๑ ธรรมที่ทำให้เกิดแต่ความเสื่อม ประการแรก ก็คือ การคบคนผิด การคบคนผิดนี่ ถ้าเราจะได้พิจารณาดู
ในมงคลสูตรแล้วท่านตรัสไว้ว่า " อย่าคบคนพาล ให้คบแต่บัณฑิต " ฉะนั้นการคบคนผิดนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ประการหนึ่ง ถ้าเราสังเกต มีความจดจำได้ดีแล้ว คนที่เสียคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกผู้ใหญ่ที่เสียคนนั่น เพราะเหตุ
อะไร เสียคนเพราะคบคนผิด ทำไมเขาถึงได้คบคนผิด เพราะเขาขาดสติ ทำไมเขาถึงได้ขาดสติเช่นนั้น เพราะว่าเขา
ลืมตัว สนใจอยู่แต่การประจบประแจงความสอพลอ การยกยอปอปั้น ฉะนั้น พวกเราแต่ละคน ถ้าพยายามทำให้ความ
เป็นตัวเป็นตนของเรานี่สูญไป เสื่อมไป คลายไป เรื่องการคบคนผิดนั้น ก็เกิดขึ้นได้โดยยาก แต่สิ่งใดก็แล้วแต่ที่ผ่านมาแล้ว
เราเรียกคืนมาไม่ได้ ทีนี้ชีวิตในอนาคตสิ่งใดไม่ดี เราก็ตัดมันเสียให้หมด

๓.๒ นอกจากการคบคนผิดแล้ว ก็เป็นการฟังหรือรับความรู้มาผิดๆ จากบุคคลที่เราคบเหล่านั้น อันนี้ก็เป็น
ทางแห่งความเสื่อมได้ด้วย เช่นเดียวกัน

๓.๓ คือ การนึกคิดหรือตริตรองผิด อันเป็นผลเนื่องจากเราคบคนผิดเช่นนั้น ถ้าเราคบพวกมิจฉาทิฏฐิ เราก็ได้
ฟังคำสนทนาวิสาสะซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเรามีการฟังหรือการสนทนาซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็มีความตรึกนึกคิดเป็น
มิจฉาทิฏฐิเช่นเดียวกัน จากการคบคนก็ดี การฟังก็ดี การตรึกนึกคิดก็ดี

มาตัวที่ ๓.๔ ก็คือ มีการประพฤติผิดปฏิบัติผิด ฉะนั้นสิ่งที่เราตักเตือนกันอยู่เสมอก็ว่า ในเรื่องการประพฤติ
ธรรมปฏิบัติธรรมนั้น ก็คือ การประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรมนั่นเอง

นี่เป็นความที่ไม่ดีทั้ง ๓ ตัว ที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นสิ่งที่ผมเชื่อว่า พวกเราทุกคนได้ทำความไม่ดีให้เกิดขึ้น
อีกอย่างหนึ่ง แต่เขาทำความไม่ดีโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ

๔. ทำอกุศลวิบากกรรมที่เขาได้รับนั้น แปลงให้เป็นอกุศลกรรมเกิดขึ้น ทำไมผมถึงได้พูดอย่างนี้ เพราะว่า
อกุศลวิบากกรรมนั้น เกิดขึ้นได้ทางทวาร ๖ นั่นคือ

วิบากทางตา ได้แก่ ที่ตาเราเห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เมื่อตาเราเห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามเช่นนั้นแล้ว เราก็เกิดความไม่พอใจ
คือ การทำกรรมทางใจเกิดขึ้นก่อน ถ้าเราเห็นศัตรูหมู่ร้าย นอกจากความไม่พอใจแล้ว ยังเกิดความคิดเคียดแค้นขึ้นอีก
นั่นคือ การทำมโนกรรม ซึ่งเรียกว่า ความผูกโกรธ หรือพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เป็นอกุศลกรรม

นอกจากตาแล้ว หู เหมือนกัน ที่เราได้ยินเสียงที่ไม่น่ายินดี เสียงที่นินทาว่าร้าย เสียงที่กล่าวติเตียน ถ้าเราอดโทสะ
ไม่ได้ อย่างเลวเราก็มีความโกรธขึ้นในใจ ถัดจากขั้นความโกรธในใจแล้ว ก็ออกมาทางวาจา ถ้ารุนแรงยิ่งกว่านั้นอีก
ก็ออกมาทางกาย ซึ่งเราจะเห็นได้สมัยปัจจุบันนี้ จะมีเรื่องการฆ่ากัน การทำร้ายกันเกิดขึ้น ความจริงนี่ มันเรื่องเกิด
ขึ้นจากอกุศลวิบากกรรม ซึ่งเกิดขึ้นทางทวาร ๖ นี่ทั้งสิ้น แต่ทำไมเขาถึงได้ทำเช่นนั้น เพราะว่าเขาขาดสติระลึกรู้
เช่นนั้น

นอกจากนี้แล้ว วิบากกรรมที่เกิดทาง จมูก เราอาจจะได้กลิ่นที่ไม่ดี กลิ่นที่เหม็น กลิ่นที่ไม่น่าชื่นชม

นอกจากทางจมูกแล้ว ทางลิ้น เราก็เกิดขึ้นได้

ทางกาย เราก็เกิดขึ้นได้

และทางใจ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ล่อแหลม ที่ผมพูดว่าล่อแหลมอย่างไร ล่อแหลมในการกระทำอกุศลกรรมให้เกิดขึ้นได้โดยง่ายดาย
ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมโนกรรมซึ่งส่วนใหญ่คนทำแล้วโดยไม่รู้ว่า ตัวได้กระทำกรรมเอาไว้เช่นนี้ สิ่งเหล่านี้เราจะมีทาง
แก้ได้ทางเดียวเท่านั้น คือ การมีสติให้ระลึกรู้อยู่เสมอ

เมื่อผมได้นำหลักการใหญ่ๆ คือการทุจริต ๓ ก็ดี อคติธรรม ๔ ก็ดี เหตุแห่งความเสื่อมก็ดี และ การแปลงอกุศล
วิบากให้เป็นอกุศลกรรมนั้น เรารู้ชัดมาอย่างนี้แล้ว เราพิจารณาตัวเราเองทิ เมื่อ ๓๖๕ วันก่อนนั้น เราได้ทำอะไรไว้บ้าง
ถ้าผู้ใดไม่ได้ทำ สิ่งที่ชั่วช้าอย่างนี้ก็เป็นบุญกุศลของเราอย่างยิ่ง ที่เราผ่านแก่งหรือสิ่งขรุขระในชีวิตของเรามาได้ตลอด
รอดฝั่ง แต่ถ้าเราทำลงไปแล้ว เราก็ควรจะได้มีสติระลึกรู้ได้อบรมสั่งสอนตัวเราเองว่า สิ่งที่เราได้ทำไปในอดีตนั้น เป็น
ความไม่ดี เราก็ต้องใช้ความเพียรที่จะทำลายมันให้หมด อย่าไปเก็บรักษามันเอาไว้ และในปี ๒๕๒๑ นี้ เราก็เริ่มชีวิต
ใหม่ของเรา โดยเราทำความเพียรตัวต้น คือป้องกันมิให้อกุศลกรรมทั้งหลายเข้ามาในชีวิตจิตใจของเราด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เราก็พิจารณาถึง ความดี ที่เราจะทำกันต่อไปว่า เราจะทำอะไรกันบ้าง เท่าที่ผมนึกได้ในขณะนี้
ก็ได้แก่

๑. บุญกิริยาวัตถุ ๑0 ทำเอาไว้เถอะ เพราะว่าตัวนี้เป็นกามาวจรกุศล เป็นกุศลที่ให้ผลตอบสนองในวัฏฏะที่เรายัง
ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ให้เรามีความอุดมสมบูรณ์ในชีวิตจิตใจซึ่งได้แก่

ทาน ๑

ศีล ๑

ภาวนา ๑

การประพฤติถ่อมตน ๑

การขวนขวายในกิจที่ชอบ ๑

การให้ส่วนบุญ ๑

การอนุโมทนาบุญ ๑

การฟังธรรมะ ๑

การแสดงธรรมะ ๑ และ

การทำความเห็นให้ตรง อีก ๑

สิ่งทั้ง ๑0 นี้ทำเถอะ แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า พวกเราส่วนใหญ่ทุกคนได้ทำกัน แต่บางคนก็กระทำไปโดยไม่รู้สึกตัว ว่า
ตนได้ทำความดีเอาไว้แล้วเพราะว่า เข้าใจว่า เราอยากทำ เราอยากเอื้อเฟื้อ เราก็ทำไป แต่พวกเราทั้งหลายไม่รู้หรอกว่า
อันนั้นเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑0 หรือ กามาวจรกุศลประเภทหนึ่งเหมือนกัน

นอกจากการที่เราจะลงมือกระทำ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑0 อันเป็นสิ่งที่เราจะมีผลตอบแทนในอนาคตแล้ว ต่อไป สิ่งที่
เราควรจะมีการตรึกระลึกรู้อยู่เสมอ นั่นก็คือ

๒. อนุสติ ๑0 อนุสติ ๑0 ที่ผมแนะนำนี้ มันก็เป็นเรื่องที่กล่อมเกลาจิตใจของเรา ให้มีความสะอาดมีความบริสุทธิ์
เป็นบุญเป็นกุศลขึ้น ไม่มีทางเสียแต่ประการใด อนุสติ ๑0 นี่ก็ได้แก่

พุทธานุสติ ๑

ธัมมานุสติ ๑

สังฆานุสติ ๑

สีลานุสติ ๑

จาคานุสติ ๑

เทวตานุสติ ๑

มรณสติ ๑

กายคตาสติ ๑

อานาปานสติ ๑

อุปสมานุสติ ๑

สิ่งเหล่านี้ เราระลึกรู้อยู่เสมอๆ ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็ใช้อนสุติ
นี้แหละ เป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของเรา ถ้าเรามีอนุสติ ๑0 อยู่เป็นประจำแล้ว ก็แสดงว่าเราได้มีกำไรแล้วในชีวิต
ในปี ๒๕๒๑ นี้เราก็สร้างมันขึ้น เราไม่จำเป็นที่จะไปขอศีลขอพร ให้ใครเขาอวยชัยให้พรกับเราที่ไหน ซึ่งจะพูดกันใน
เรื่องมงคลต่างๆ

๓. นอกจากนั้นแล้ว ประการที่ ๓ เราควรจะมี อธิษฐานธรรม ๔ คือธรรมที่มีความตั้งไว้ในใจ ๔ ประการ

ตัวที่ ๑ ได้แก่ ปัญญา หรือ ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ควรจะเข้าใจ

ตัวที่ ๒ นั่นคือ สัจจะ ได้แก่ ความจริงใจ ที่เราประพฤติปฏิบัติสิ่งใด ก็ให้มีความจริงความจังในเรื่องนั้น ไม่ใช่
แบบที่โบราณเขาว่า " ปากปราศรัย น้ำใจแเชือดคอ " อย่าทำเช่นนั้นมันผิดศีลผิดธรรม ซึ่งไม่ใช่เรียกว่าอธิษฐานธรรม
นอกจากนั้น

ตัวที่ ๓ ก็คือ จาคะ หมายถึง การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจไปเสีย เท่าที่เราจะทำได้ ในฐานะที่เรายังเป็น
ปุถุชนอยู่

ตัวที่ ๔ ก็คือ อุปสมะ คือ ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ ในเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าคนที่ได้สมาธิแล้ว
จะเข้าใจความหมายในตัวนี้กันเป็นอย่างดี

๔. นอกจากหลักการใหญ่ๆ ที่ผมได้พูดมาในเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑0 ก็ดี อนุสติ ๑0 ก็ดี อธิษฐานธรรม ๔ ก็ดี
ยังมีธรรมะอีกตัวหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่าเป็น ธรรมที่ปฏิบัติแล้วไม่มีผิดเลย ต้องถูกวันยังค่ำ
นั่นได้แก่อะไร

ประเภทที่ ๑ ) ได้แก่ อินทรียสังวร อินทรียสังวรนี้ หมายถึง การสำรวจอินทรีย์ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
สำรวมอย่างไร สำรวมไม่ให้ โลภะ โทสะ หรือโมหะ เข้ามาในชีวิตจิตใจของเราได้ เช่น

เมื่อเราเห็นรูป เราก็เฉยๆ ด้วยการแลเห็น

เราได้ยินเสียง เราก็ฟังเฉยๆ ด้วยการได้ยิน

เราไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ หรือไม่มีความหลงในเรื่องนั้นๆ คนเราทุกวันนี้ ซึ่งมีความยุ่งยากทั้งหลายนั้น
ก็เพราะว่าเราขาดอินทรียสังวรนี่เอง ถ้าพวกเราทุกคนสามารถที่จะมีอินทรียสังวรให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็เท่ากับเรามีกำไร
ชีวิต ที่ผมว่ามีกำไรชีวิตนั่น หมายความว่าอะไร ถ้าเรามีศีลเพิ่มขึ้น บวกอินทรียสังวรขึ้น เราก็ใกล้กับวิสุทธิศีลขึ้นไปแล้ว
ถ้าเพียงแต่เราทำปาฏิโมกสังวรและปัจจัยสังวรให้เกิดขึ้น กำไรแห่งชีวิต เราก็ได้อย่างมหาศาล

ประเภทที่ ๒ ) นอกจากอินทรียสังวรแล้ว ก็ยังมีอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่ปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ นั่นเรียกว่า
โภชเนมัตตัญญุตา ได้แก่ การรู้จักประมาณในอาหารการกิน หมายถึงว่า เรากินอาหารให้มันเป็นอาหาร ไม่ใช่เรากิน
อาหารให้เป็นกิเลส

ประการที่ ๓ ) นอกจากโภชเนมัตตัญญุตาแล้ว ยังมี ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรเพื่อชำระใจ
คำว่า " ประกอบความเพียรเพื่อชำระใจ " ในที่นี้ พวกเราทุกคนได้รู้แล้วว่า อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกุศล การประกอบ
ความเพียรเพื่อชำระในใจที่นี้ หมายถึง เรามีความเพียรที่จะประกอบกุศลกรรมให้เกิดขึ้น และมีความเพียรที่จะละ
อกุศลกรรมนั้น

นี่เป็นการปฏิบัติที่ไม่ผิด ๓ ประการ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงรับรองไว้

๕. นอกจากนี้แล้ว ในชีวิตแห่งการงาน พวกเราทุกคน ต่างก็มีอาชีพ มีตำแหน่ง มีหน้าที่แล้ว เราก็ควรจะได้มีคุณ
ธรรมแห่งความสำเร็จอีกตัวหนึ่ง เรียกว่า องค์แห่งความสำเร็จซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวไว้ว่า องค์แห่ง
ความสำเร็จในการกระทำต่างๆ นั้น เรียกว่า อิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ นั้นมีอะไรบ้าง

ตัวที่ ๑ เรียกว่า ฉันทะ หมายถึง ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้นๆ ไม่ว่ากิจการงาน หรือหน้าที่การงาน หรือภาระอะไร
ต่างๆ สิ่งใดที่เรามีความพอใจแล้ว ทำลงไปเถอะ เพราะเมื่อเรามีความพอใจในสิ่งนั้นแล้ว แสดงว่าเราได้มีองค์แห่งความ
สำเร็จเข้าไปตัวหนึ่งแล้ว

ตัวที่ ๒ คือ วิริยะ หมายถึง ความเพียรที่จะประกอบสิ่งนั้นต่อไป ถ้าเราเพียรในทางโลกไม่ได้ เราก็เอาเพียรตาม
ความหมายแห่งธรรมะเข้ามาประกอบในทางโลก หมายถึง เพียร ๔ ประการ คือ

เพียรที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งที่ผิดๆ เข้ามา

เพียรที่จะละความผิดๆ นั้นทิ้งเสีย และ

เพียรที่จะสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้น และ

เพียรที่รักษาความถูกต้องอันนั้นไว้

ถ้าเรารู้จักนำวิริยะตัวนี้มาใช้ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม การดำเนินชีวิตของเราก็ย่อมจะราบรื่น

ตัวที่ ๓ องค์แห่งความสำเร็จตัวที่ ๓ เรียกว่า จิตตะ หมายถึงการเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระเสีย เราจะเห็น
ว่าคนบางคนที่มีชีวิตการงานเจริญก้าวหน้า ส่วนใหญ่เขามีอิทธิบาท ๔ แต่เขาไม่รู้ตัวของเขาว่า อิทธิบาท ๔ ของ
เขาได้มีอยู่แล้ว เนื่องจากเขาไม่ได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องธรรมะ เขาก็ไม่รู้ตัวว่า ตัวหลักการต่างๆ ที่เขานำมาใช้นั้น
ความจริงมันเป็นธรรมะ แต่เขาไม่รู้หรอกว่า สิ่งนั้นเป็นธรรมะ นอกจากนั้นแล้ว

องค์แห่งความสำเร็จตัวที่ ๔ ก็ได้แก่ วิมังสา คือหมายถึง การหมั่นตรึกตรอง พิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ

ถ้าเรามีฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสาแล้ว เราก็เท่ากับเรามีคาถาแห่งความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วในตัวของเรา

๖. นอกจากนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะต้องมี ความไม่ประมาท ๔ ประการเป็นคุณสมับติในปีใหม่ ที่เราจะได้ดำเนิน
ชีวิตของเราต่อไป ความไม่ประมาท ๔ ประการนี้ ก็คือ ได้แก่

ตัวที่ ๑ ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดนั้น อันนี้ ถ้าเราครองใจ เรามีการ
ระวังใจของเราแล้ว ความเสื่อมเสียศีลธรรม ความสกปรก ความยุ่งเหยิงวุ่นวายต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้นตามที่เป็นข่าว
ในหนังสือพิมพ์ก็ดี ในวิทยุที่ออกข่าวมาก็ดี เพราะเหตุไร เพราะว่า เขาไม่ได้รักษา หรือมีคุณธรรมอันนี้เอาไว้

ตัวที่ ๒ ได้แก่ ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง นี่ เราจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้
มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีการฆ่ากัน มีการทำร้ายกัน เกิดจากตัวนี้ เพราะว่าเราไม่ได้ระวังใจตัวนี้ ขอให้พวกเรา
ทุกคน จงมีความไม่ประมาททั้ง

ตัวที่ ๓ คือ ระวังไม่ให้หลงในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความหลง โดยเฉพาะความหลงหรือโมหะนี่ ผมรับรอง
ได้ว่า ในสังคมของเราปัจจุบันนี้ ไม่ว่าผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีในเรื่องโมหะด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะมากหรือน้อยกว่ากัน
เท่าไหร่นั้น ก็แล้วแต่สติที่เขาได้ฝึกหัดอบรมมา จะระลึกรู้ ถ้าเราไม่มีการฝึกสติ ไม่หัดสติ ไม่ฝึกฝนอบรมจิตใจของเราแล้ว
สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นโดยง่าย และเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีโอกาสจะรู้ตัว ไม่เหมือนโทสะ เพราะว่าหลงนี่ มันกินแนบเนียน
เหลือเกิน ปัญญาตัวเดียวเท่านั้นที่จะรู้ได้

ตัวที่ ๔ ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ส่วนใหญ่คนเรานี้อยู่ในความมัวเมา
มัวเมายังไง มัวเมาในความสุข มัวเมาในความเพลิดเพลินหลงใหลต่างๆ ไม่ว่าทางตา ทางหู เหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า
กิจการที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในปัจจุบันหรือที่เก่ามาแล้วก็ตามที่กอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋าได้มากๆ นั้น ส่วนใหญ่เกิดจาก
พวกที่ไม่ระวังใจในการมัวเมาในอารมณ์ที่เป็นต้นเหตุแห่งการมัวเมาด้วยกันทั้งสิ้น มิฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ คือความผิดศีลธรรม
เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้

๗. นอกจากเราจะมีความไม่ประมาทในทางนี้แล้ว ต่อไปเราก็ควรจะมีคุณธรรมอีกอันหนึ่ง คือ ธรรมเป็นครื่อง
แห่งความเจริญ ๔
ประการ ไหนๆ เราก็จะหาความเจริญ ความเป็นสิริแล้ว เราก็เอาเข้าไป นั่นคือ

ตัวที่ ๑ ได้แก่ สัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การคบกับสัตบุรุษ คือ หมายถึง ผู้ประพฤติชอบด้วยกาย ด้วยวาจา
และใจ

ตัวที่ ๒ ได้แก่ สัทธัมมัสสวนะ คือ การฟังธรรมของสัตบุรุษ หรือ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยความจดจำ ความเคารพ ความตั้งอกตั้งใจ ทำความเข้าใจในธรรมนั้นๆ ให้กระจ่างแจ้ง เพื่อเราจะได้นำมาเป็น
เครื่องปรุงแต่งชีวิตจิตใจ ในปีใหม่ของเราให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

ตัวที่ ๓ ซึ่งพวกเราทุกคน จำเป็นจะต้องมีอยู่ นั่นคือ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการตรึกตรอง หรือการตริตรอง
ให้รู้จักสิ่งดีสิ่งชั่ว ที่จะนำมาโดยอุบายโดยชอบ ที่ผมพูดอย่างนี้อาจจะทำความเข้าใจให้แก่พวกเราไขว้เขวไปได้
คำว่าโยนิโสมนสิการนี่ หมายถึง การทำใจให้แยบคายในทางความดี ไม่ใช่ความชั่ว หรืออกุศล

ตัวที่ ๔ ได้แก่ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือหมายถึง การประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรม ซึ่งพวกเราทุกคน เข้า
ใจแล้วว่า

ถ้าเราจะประพฤติในกามาวจรกุศล เราจะต้องทำจิตใจของเราให้เป็นอย่างไร

หรือ ถ้าเราจะทำ ในเรื่องรูปาวจรกุศล ในเรื่องการทำความสงบให้เกิดแก่จิต เราจะต้องทำอย่างไร เราถึงจะเกิด
มีความสงบขึ้นแก่จิต

และ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ ในโลกุตตรกุศล เราจะต้องทำอย่างไร คืออย่างน้อยเราก็จะต้องฝึกสติ ให้มีการระลึกรู้
ในสิ่งทั้งหลายที่มันเกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้แหละ ที่เราเรียกว่า การปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม ไม่ใช่ว่าเรามา ทำความพียร เจริญสติปัฏฐาน
เพื่อจะให้บังเกิดเป็นผู้วิเศษ หรือมาทำความสงบ จะทำให้เป็นผู้ที่มีทิพยจักษุ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นโน่นเห็นนี่ ซึ่งไม่ใช่
วัตถุประสงค์ของธัมมปฏิบัติ ตามที่กล่าวมาแล้ว เราจะต้องรู้ว่า ธัมมปฏิบัติที่กล่าวมานั้น

กามาวจรกุศล หมายถึง กุศลที่เราจะไปตอบสนองเรา ที่เราจะต้องรับผลมันต่อไป ในวัฏฏะที่เรายังเวียนว่ายตาย
เกิดอยู่

รูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศลนั้น เป้าหมายก็คือความสงบ และ

โลกุตตรกุศลนั้น เป้าหมายก็คือ ปัญญาในทางที่เราจะทำความหลุดพ้นได้อย่างไรนั่นเอง

๘. จากหลักการใหญ่ๆ นั้น ก็มีอีกตัวหนึ่ง เรียกว่า อารักขกัมมัฏฐาน ๔ หมายความว่า

๘.๑ ความระลึกในคุณพระพุทธเจ้า อันหนึ่ง

๘.๒ เมตตา คือ การแผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงมีความสุข โดยทั่วหน้ากัน เราไม่คิดที่จะเบียดเบียนกัน
เราจะไม่คิดที่จะทำร้ายกัน เราแผ่ไปซึ่งความเมตตา แม้แต่ศัตรูหมู่ร้ายที่เขาจองล้างจองผลาญ เราเมื่อเราแผ่ไปเช่นนี้
แล้ว ความผูกโกรธก็ไม่มี เมื่อความผูกโกรธไม่มี ความผูกเวรก็ไม่มี

๘.๓ อีกตัวหนึ่งก็คือ อสุภะ คือ การพิจารณาร่างกายของเราเองหรือของคนอื่นให้เห็นความไม่งาม ความเป็น
ปฏิกูล ทำไมให้เรามีความระลึกเช่นนี้ เพื่ออะไร เพื่อให้เราคลายความยึดมั่นถือมั่นในความสวยความงามของเรา
บางคนยอมตายถ้าความงามมันลดหย่อนลง แต่เขาไม่รู้หรอกว่า ความงามทั้งหลายนั้น มันเป็นอนิจจัง มันเสื่อมได้
เปลี่ยนแปลงได้ เขาไม่รู้ เขาก็ไปยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น พวกเราทุกคน เมื่อมาพบกันแล้ว เราอย่าเดินไปในทางที่ผิด
เราเดินไปในทางที่ถูก ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้เช่นนั้น

๘.๔ อีกตัวหนึ่งก็คือ มรณสติ หมายถึง นึกถึงความตายของตนอยู่เสมอ ทำไมถึงให้นึกเช่นนั้น นึกเพื่อทำลาย
ความชั่วที่มันจะเกิดขึ้นในจิตใจของเราได้ ถ้าเรานึกถึงความตายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่สามารถที่จะนำไปใส่ข้างโลงของ
เราเอาไปได้ เช่นนี้แล้ว มันก็จะคลาย สิ่งที่ชั่วช้า เป็นกิเลสของมนุษย์ ที่พอกพูนมาในชีวิตจิตใจของเราให้ลดน้อยลง
นี่ เป็นอารักขกัมมัฏฐาน ๔ ที่เราจะต้องมี

๙. นอกจากนี้แล้ว ก็มีอีกตัวหนึ่ง เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม คือได้แก่

๙.๑ ศรัทธา คือ ความเชื่อในสิ่งที่ควรจะเชื่อ หมายถึง การเชื่อด้วยเหตุด้วยผล นี่ เป็นการเชื่อในทางพุทธศาสนา
เพราะพุทธศาสนานั้นสอนให้มีความเชื่อ แต่ต้องเชื่อด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่เชื่อด้วยความงมงาย

๙.๒ ได้แก่ ศีล หมายถึง การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่เป็นที่เบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนผู้อื่น

๙.๓ เรียกว่า พาหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้ศึกษามากฟังมากนั่นเอง ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า " เป็นผู้ศึกษา
มากและฟังมาก " ในที่นี้ หมายถึง ศึกษามากและฟังมากในทางที่ชอบที่ควร ซึ่งได้แก่ธรรมะ หรือที่เป็นความรู้ที่ถูกทาง
ไม่ใช่เป็นทางเบียดเบียนกัน นอกจากนี้แล้ว ก็มี

๙.๔ วิริยารัมภะ คือ ความปรารภความเพียร ความปรารภความเพียรนั้น ในที่นี้ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔ คือ
ความเพียร ๔ นั่นเอง หมายถึง

ความเพียรที่จะป้องกันความชั่ว

ความเพียรที่จะละความชั่ว

ความเพียรที่จะสร้างความดี

ความเพียรที่จะรักษาความดี และ

๙.๕ ได้แก่ ปัญญา คือ ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้ ถ้าในทางธรรมก็สิ่งใดที่เราจะทำให้วัฏฏะของเราย่นย่อ
ลงไปได้ สิ่งใดที่จะทำให้จิตใจของเรามีความบริสุทธิ์ได้ สิ่งใดที่เราจะทำให้เราละความชั่วลงไปได้ นี่เป็นเรื่องของปัญญา

๑0. นอกจากนั้นแล้ว ก็ขอให้พวกเราได้มี นาถกรณธรรม ๑0 คือ ธรรมอันเป็นที่พึ่ง ๑0 ประการ ธรรมเป็นที่พึ่ง
๑0 ประการนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า

๑0.๑ ศีล

๑0.๒ พาหุสัจจะ

๑0.๓ กัลยาณมิตตตา คือ ความเป็นผู้มีเพื่อนที่ดีงาม ในเรื่องความเป็นผู้มีเพื่อนที่ดีงามนี้ ผมคิดว่า พวกเราทุกคน
ก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว น่าจะได้รู้จักว่า อะไรเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เขาจะจูงใจเราไปทางไหน ชักนำเราไปทางไหน เราโตแล้ว
แค่นี้แล้ว เราได้ศึกษา ได้รู้แล้วซึ่งธรรมะ เราก็เอามาปรับรวมกันเข้า ในการพิจารณา เราก็สามารถพิจารณาได้ว่า คนๆ
นั้นควรจะเป็นเพื่อนที่ดี หรือเป็นเพื่อนที่เลวประการใด เราก็เลือกดูของเรา

๑0.๔ โสวจัสสตา คือ ความเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย คำว่า " เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย " ในที่นี้ หมายถึง การเป็นผู้ว่า
นอนสอนง่ายในธัมมปฏิบัติ ที่เราได้พิจารณาเห็นแล้วว่าเป็นธรรมะโดยชอบ เราก็เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ไม่ใช่เหมือนคน
บางคน พยายามที่จะหาเหตุหาผล ที่จะมาลบล้างพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นนี้ จึง
ไม่เป็นการสมควร จึงไม่เรียกว่า เป็นธรรมะอันเป็นที่พึ่ง

๑0.๕ ก็ได้แก่ กิงกรณีเยสุ ทักขตา ได้แก่ การช่วยในกิจที่ชอบ นอกจากเป็นธรรมะ ที่เป็นที่พึ่งของตัวแล้ว
ยังเข้าไปอยู่ในกุศล ในบุญกิริยาวัตถุ ๑0 ซึ่งเป็นขั้นกามาวจรกุศลอีกด้วย

๑0.๖ เรียกว่า ธัมมกามตา ได้แก่ ความใคร่ในธรรมที่ชอบ ความใคร่ในธรรมที่ชอบ ในที่นี้ หมายความถึงว่า
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เราพิจารณา เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีหลายขั้นตอน นับตั้งแต่ธรรมะสำหรับการเวียนว่ายตายเกิด ธรรมะที่จะแสวงหาความสุขความสงบ ธรรมะที่จะทำลาย
การเกิดให้ลดน้อยถอยลง ฉะนั้นเมื่อเราเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เราก็จงพอใจ มีความพอใจในสิ่งนั้น เมื่อมีความพอใจใน
สิ่งนั้นแล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นการฝืนใจ ไม่ใช่เป็นการที่ใครเขาบังคับให้เราประพฤติปฏิบัติ ธรรมะขององค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการบังคับ ฉะนั้นคำว่า " ศรัทธา " จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งนอกจากนี้แล้ว

๑0.๗ เรียกว่า วิริยะ ซึ่งได้แก่ ความเพียรที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

๑0.๘ ได้แก่ ความสันโดษ ซึ่งหมายถึง ความยินดีในสิ่งที่เรามีอยู่ หรือพอที่จะหาได้ ฉะนั้นในปัญหาเรื่องความ
สันโดษในที่นี้ ผมรู้สึกว่า มีหลายคนที่เข้าใจผิด เข้าใจว่า สันโดษ นี่ ห้ามไม่ให้ทำอะไรเสียเลย ไม่ใช่เช่นนั้น ให้ทำ แต่ทำ
ด้วยคุณธรรม คือ ทำด้วยอิทธิบาท ๔ ไม่ใช่ทำเหมือนอย่างบางคนเขาทำกันอยู่ขณะนี้ ถ้าใครเป็นผู้ขัดขวาง หรือทำมา
หากินอะไรไม่ได้ ทันความต้องการแล้ว ก็ไปเข่นฆ่าเขาบ้าง ไปทำให้เขาล้มลุกคลุกคลานบ้าง อันนี้ไม่ใช่สันโดษ นี่
เป็นเรื่องของความละโมบ หรือความเป็นพาล นอกจากนี้แล้ว

๑0.๙ ได้แก่ สติ ซึ่งเราได้ทำการปลุกกันอยู่เสมอ ทุกๆ อาทิตย์ มาหลายอาทิตย์มาแล้ว คือความระลึกรู้ในคุณงาม
ความดี เพื่อจะก่อกุศลกรรมนั่นเอง

๑0.๑0 ได้แก่ ปัญญา คือ ความรอบรู้ในความจริง ตามที่เป็นหลักทางปรมัตธรรม

นี่เป็นนาถกรณธรรม คือ ธรรมเป็นที่พึ่ง ๑0 อย่าง ที่พวกเราควรจะมีในปีต่อไป

๑๑. อีกประการหนึ่ง ธรรมของพวกเราที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ เราจำเป็นจะต้องหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง นั่นก็คือ
สัปปุริสธรรม ๗ ได้แก่

การเป็นผู้รู้จักเหตุ ๑

การเป็นผู้รู้จักผล ๑

การเป็นผู้รู้จักตนของตนเอง ๑

การเป็นผู้รู้จักประมาณ ๑

การเป็นผู้รู้จักกาละ ๑

การเป็นผู้รู้จักสังคม ๑

การเป็นผู้เลือกรู้จักคบคน อีก ๑

ซึ่งเป็นธรรมะประจำใจของพวกเราทุกคน ที่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ และ

๑๒. ประการสุดท้าย พวกเราทุกคนต่างก็มี ความเพียร ก็ขอให้มีความเพียรครบองค์ ๔ ซึ่งได้แก่

เพียรป้องกันมิให้ความชั่วเข้ามากล้ำกราย

เพียรละความชั่วที่มีอยู่แล้ว

เพียรสร้างความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และ

เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่

ตามที่ผมได้กล่าวมานี้ ทั้ง ๑๒ หัวข้อ ผมต้องการให้พวกเรานำไปใช้ในชีวิตในปี ๒๕๒๑ เพื่อเป็นคุณงามความดี
ของเรา ในการที่เราจะปรับปรุงตัวของเราเอง แทนที่เราจะไปวุ่นวาย ไปหาศีลหาพร ไปทำพิธีรีตอง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สอนเช่นนั้น แม้แต่ในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ ก็ไม่ได้สอนเช่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง
ขึ้นอยู่ในตัวของเราเองทั้งสิ้น ไม่มีอะไรซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกตัวของเรา จะยังความเป็นสิริมงคลความเจริญรุ่งเรืองมา
ให้แก่เรา ไม่มี เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระองค์สอนให้เชื่อ กรรม

ใครทำความดี ความดีก็ย่อมตอบสนอง

ใครทำความชั่ว ความชั่วก็ย่อมตอบสนอง

นั่น คือหลักของกรรม ไม่มีอื่นใดยิ่งไปกว่านี้ ฉะนั้นขอให้พวกเราทุกๆ คนเมื่อได้ฟังกัน ในการพบปะเจอะเจอกัน
ในวันสิ้นปีนี้ ก็ขอให้เราได้ระลึกรู้ถึงความดีและความชั่ว ใน ๓๖๕ วันที่เราได้ผ่านมา แล้วเราก็ปรับปรุงตัวของเรา
โดยละเสียสิ่งใดที่เป็นความชั่ว และสิ่งใดที่เป็นความดี เราก็เตรียมพร้อมที่เราจะเก็บมาใส่ไว้ในจิตใจของเรา เพื่อประพฤติ
ปฏิบัติต่อไป