หนังสือสุขเป็นก็เป็นสุข เขียนโดย พระชยสาโร ภิกขุ

คำอนุโมทนา

สุขเป็นก็เป็นสุข

ไม่ทราบว่ามีใครเคยฉุกคิดบ้างไหมว่า โดยปกติเรามักจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับตนเองเท่าที่ควร ในจิตใจที่ขาด
การฝึกอบรม แรงผลักดันของกิเลสมีพลังมาก ความอยากได้ ความอยากมีอยากเป็น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ความประมาทเลินเล่อ ล้วนแต่ฉุดลากเราให้ไปในทางที่ผิดเป็นประจำ โดยที่เจ้าตัวยังมักเข้าข้างตนเองว่าทำอะไร
มีเหตุมีผลอยู่เสมอ เราจึงชอบสร้างปัญหาให้ตนเองต้องว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่บ่อยๆ เหมือนกับรักตนเองไม่จริงจัง
เป็นเพื่อนเทียมหรือถึงขั้นทรยศต่อตนเองไปก็มี

อาตมาเคยเห็นการ์ตูนรูปหนึ่ง เป็นภาพทหารเบาปัญญาอยู่ท่ามกลางสนามทุ่นระเบิด เขาถือเครื่องตรวจสอบ
ทุ่นระเบิด แต่กลับค่อยๆ เดินถอยหลัง คนจำนวนไม่น้อยก็พยายามดับเหตุให้เกิดทุกข์ทำนองนั้นเหมือนกัน
เครื่องอุปกรณ์คือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีพร้อมแต่ใช้ไม่ถูก

พันกว่าปีก่อนมีคำว่า " มีดโกนอาบน้ำผึ้ง " จะถูกใช้เรียกฝีปากนักการเมือง โบราณจารย์ท่านเคยใช้คำว่า
" น้ำผึ้งอาบมีดโกน " โดยหมายถึงความสุขทางเนื้อหนัง ใครหลงใหลความสุขประเภทนี้ท่านเปรียบเทียบเป็น
ผู้กำลังเลียน้ำผึ้งที่อาบมีดโกนอยู่ สมัยนี้คนลิ้นถูกบาดมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่คนเข็ดหลาบหายาก อะเมซิ่ง
เหมือนกัน

ทุกวันนี้เราชอบส่ายหัว บ่นกันถึงเรื่องสังคมปัจจุบันว่า ยุคนี้เป็นยุคที่คนเห็นแก่ตัวเหลือเกิน เอาแต่ใจตัวเอง
หรือหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวถ่ายเดียว คนแก่มักจะเติมว่าไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนคนไทยยังมีน้ำใจต่อกันดี
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เดี๋ยวนี้เอาแต่ตัวใครตัวมัน อาตมาไม่แก่เท่าไหร่ก็ยังชอบมองแบบนั้นบ้างเหมือนกัน แต่อาตมา
ได้สังเกตสิ่งที่น่าตลก ( ร้าย ) อย่างหนึ่ง นั่นคือทั้งๆ ที่การช่วงชิงแก่งแย่งกันในสังคมเพิ่มทวีขึ้นเหมือนกับความ
สุขมีจำกัด ใครไม่รีบคว้าเอาจะเสียเปรียบ แต่ขณะเดียวกันนั้น คนส่วนใหญ่กลับทำในสิ่งที่ไม่นำไปสู่ความสุข
ที่ตนต้องการและทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองอยู่เรื่อย เขาจึงยิ่งทุกข์มากกว่าคนในยุคสบายๆ ที่คนไทย
ยังเป็นฝ่ายบุญนิยมกันอยู่ เป็นเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่การประชดตนเอง ก็น่าจะต้องสรุปว่าพวกเราสุขไม่
ค่อยเป็น

ดูเหมือนกับว่าระบบการศึกษาของตะวันตก ซึ่งแพร่หลายถึงเมืองไทยมาหลายสิบปีแล้ว ได้สร้างคนรู้มาก
ไว้มาก สร้างคนเข้าใจมากไว้น้อย ในหมู่คนไทย ปัญญาในเรื่องคุณภาพชีวิต ความเข้าใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดของ
มนุษย์คือธรรมชาติของความสุขและความทุกข์น่ากลัวได้ลดน้อยถอยลง คนสมัยนี้สมองใสก็จริงแต่ตาถั่ว

มนุษย์เป็นสัตว์เจ้าปัญหาเพราะขาดเชาวน์ ด้อยปัญญาที่แท้จริง เกลียดทุกข์รักสุข ทะเยอทะยาน
ดิ้นรนแทบตายเพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าเป็นสุข แต่ไม่เคยใคร่ครวญว่าความสุขคืออะไรกันแน่
สิ่งที่เรา
ต้องการเดี๋ยวนี้หรือทุกวันนี้จะให้ความสุขแก่เราจริงอย่างที่คิดหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน จะมีผลกระทบต่อคนอื่น
และต่ออนาคตของเราอย่างไรบ้าง ความทุกข์ที่เราเกลียดและกลัวที่สุด นั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ทุกวันนี้
เราแก้ถูกวิธีหรือไม่ มนุษย์อยากสุขแต่ไม่รู้จักสุข อยากหนีทุกข์แต่ไม่รู้จักทุกข์ สุ่มสี่สุ่มห้าเดินคลำ
ไปคลำมาในความมืด เอาความหวังในความสุขข้างหน้าเป็นที่ปลอบใจ
บางคนอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ให้ช่วยเนรมิตรให้ความมืดกลายเป็นความสว่าง แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า โยม มันสว่างอยู่แล้ว ไม่ต้องไปบนบาน
ศาลกล่าวที่ไหนหรอก ลืมตาก็จะเห็นเอง

สิ่งแรกที่ผู้ต้องการมีชีวิตที่ดีงามควรกระทำคือ ฝึกให้หยุดจากการกระเสือกกระสนสักพักหนึ่ง
ลืมหูลืมตาขึ้นพิจารณาความเป็นมนุษย์ของเรา
ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่สูงสุดที่เราควรจะได้จากชีวิต
เราควรจะให้อะไรไว้กับโลกนี้ คำถามเหล่านี้สำคัญ แต่อย่าเชื่อคำตอบใครง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างมงายตาม
พวกวัตถุนิยมจะเสียคน จงหาคำตอบของตนเองด้วยสติปัญญาและความจริงใจ

ความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องในเป้าหมายของชีวิต และวิธีการที่จะเข้าถึงเป้าหมายนั้น พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า
สัมมาทิฏฐิ ผู้ที่มุ่งจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในสิ่งที่ดีงามจะขาดสัมมาทิฏฐิไม่ได้ เพราะคนเราถ้าคิดผิดแล้ว
การกระทำและการพูดทุกอย่างย่อมพลอยผิดไปด้วย จิตก็พาลพาไปหาผิดอยู่ร่ำไป

ในเบื้องต้น หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ถึงสุขที่แท้จริงนั้นเริ่มด้วยทิฏฐิระดับความเชื่อ ค่านิยม แนวความ
คิดซึ่ง หนึ่ง ไม่นำไปสู่การเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น เช่น กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน ถือการรักษาศีลห้าเป็นมาตรา
ฐานชีวิต และสอง ลงรอยกับความจริงของธรรมชาติ เช่น เรามีกรรมเป็นของๆ ตน การละกิเลสนำสุขมาให้
การพ้นทุกข์ไม่พ้นสมัย สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ท่านจึงเน้นในการปรับทิฏฐิให้สอดคล้องกับความดีและความจริง

ตรงนี้แหละที่น่าเป็นจุดอ่อนของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยทุกวันนี้ คือเราได้เน้นเรื่องของการทำทานมาก
เกินไปหรือเปล่า เน้นจนละเลยในการเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิ คือแนวการมองความหมายของชีวิตและโลก
ความเข้าใจในเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ ความหมายของ คำว่า ดี ชั่ว บุญ บาป ความเข้าใจว่าอะไรคือ
พฤติกรรมที่นักปราชญ์สรรเสริญ อะไรคือพฤติกรรมที่ผู้รู้ตำหนิ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้าใจในเรื่องความสุข
และความทุกข์ ในสมัยนี้ดูเหมือนว่า ความเข้าใจของคนทั่วไป ในสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างพร่ามัว คนไม่เข้าใจคำสอน
ของพระพุทธศาสนาก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาเท่าที่ควร แล้วอย่างนี้จะเป็นความผิดของ
พระศาสนาหรือ ใครอยู่ใกล้เกลือแล้วอยากกินด่างก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาต่างๆ มักจะเกิดขึ้นในสังคม
เมื่อผู้กินด่างหลงเชื่อกันว่าด่างคือเกลือ จึงมักบ่นว่าทุกวันนี้เกลือไม่เค็มจริง

เรามีวัดนับหมื่น มีพระภิกษุสามเณรนับแสนก็จริง แต่ถ้าหากว่าเราไม่เอาใจใส่ในแนวความคิดของชาวพุทธ
ไม่ชี้แจงและเผยแพร่คำสอนที่เกี่ยวกับเป้าหมายชีวิต ไม่อธิบายว่าความคิดอย่างไรเข้าได้และเข้าไม่ได้กับหลัก
พุทธธรรม ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าพระบวรพุทธศาสนาของเราจะกลายเป็นต้นโพธิที่ยืนต้นตายในอนาคตอัน
ไม่ไกล

ทุกวันนี้ปรากฏว่ามีชาวพุทธมากมายที่ถือว่าความร่ำรวย การมีอำนาจ ชื่อเสียง ยศฐาบรรดาศักดิ์ ความ
พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ คือยอดความสุขของฆราวาส ความคิดอย่างนี้ท่านเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะจะเป็นเหตุ
ของการประพฤติที่เป็นพิษเป็นภัยต่อตนเอง ต่อสังคมและต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว มันไม่เป็นความจริง ความสุขดัง
กล่าวเป็นแค่ความสุขระดับล่าง ย่อมมีทุกข์ไม่มากก็น้อย เจือปนอยู่เสมอ

สังคมใดที่เต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ นิยมการอวดฐานะ บ้ายี่ห้อ ให้เกียรติคนรวยโดยไม่สนใจว่า
รวยมาอย่างไร สังคมที่ถือว่าการเป็นเจ้าคนนายคน คือการประสบความสำเร็จในชีวิตเรียบร้อยแล้ว ( โดย
ไม่พิจารณาความประพฤติ ) หรือที่ถือว่าผู้เป็นใหญ่โตแล้วไม่ต้องปฏิบัติตามกฏของสังคมเหมือนคนธรรมดา
สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงอาการของสังคมที่วิปริตทางทิฏฐิ คือคิดผิดทั้งสิ้น

คนเรามองอะไรว่าเป็นความสุขก็ต้องแสวงหาสิ่งนั้น ถ้าเราต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนหรือตัวเรา
เองให้สร้างสรรค์กว่าที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องความสุขให้ชัดขึ้น ใครไม่เห็นว่า
ตนเองมีความทุกข์อะไรที่จะต้องดับก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทุกคนหาความสุขที่ดีกว่าก็นับว่ายังใช้ได้

ฉะนั้น ลองถามตนเองซิว่าความสุขคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในชีวิต เวลาเราสวดมนต์ว่า
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขๆ เถิดหรือ สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย
จงถึงความสุขๆ เถิด ความสุขที่เราหวังที่เราอยากได้นั้นคืออะไร ความสุขที่เราอยากให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย
คืออะไร มันน่าคิดนะ ถ้าคำตอบยังเป็นเรื่อง กิน กาม เกียรติ นับว่าเรายังไม่เป็นมิตรแท้ของตนเองและ
ของเพื่อนร่วมโลกเพราะความคิดยังต่ำไป

ทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่ต้องการความสุขเพราะอะไร เพราะทุกคนรู้สึกว่ายังได้ไม่พอ ที่เคยได้แล้วก็ดีอยู่แต่
ยังไม่ดีที่สุด ความสุขที่เคยได้ พอผ่านไปแล้วก็เหลือแต่ความทรงจำที่หวานชื่น ( กว่าของจริง ) จึงอยากได้
อีก ทรงพระเราบอกว่าจิตใจของผู้ที่ยังไม่ได้เข้าถึงธรรม มีความพร่องอยู่เป็นนิจ หิวอยู่ตลอดเวลา สังคม
เราไม่เห็นโทษของการฝากความหวังไว้กับความหวังไว้กับความสุขประเภทนี้ ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้เตือน
อยู่เสมอแต่ไหนแต่ไรมา จึงกลายเป็นสังคมปากอ้า เต็มไปด้วยมนุษย์ที่วิ่งตามล่าหาความรู้สึกชั่วแวบอยู่อุตลุด
นับถือพระพุทธศาสนาอยู่ บางทีก็ห้อยพระเต็มคอ แต่ในชีวิตจริงกลับนับเงินและถือสากันมากกว่า ยึดเอาอารมณ์
ยินดียินร้ายในทรัพย์สินและอัตตาเป็นหลักชีวิต ต่อไปพวกนี้อาจจะต้องขอพึ่งพระรัตนตรัยใหม่ที่ไม่เป็นศรี คือ

รักชัง สรณัง คัจฉามิ

สตางค์ สรณัง คัจฉามิ

โอหัง สรณัง คัจฉามิ

( ทุติยัมปิ ... ตติยัมปิ ... )

เมื่อเราไม่เข้าใจธรรมชาติของตนเอง ไม่เข้าใจธรรมชาติของโลก ตัณหาก็จะเป็นผู้สนตะพาย
โดยเราหลงหวังไปว่าโลกจะให้สิ่งที่จริงๆ แล้วโลกให้เราไม่ได้ คือความสุขที่ไม่รู้โรย ความสุขที่ยืนยง
คงกระพัน แต่สัจธรรมความจริงที่ปุถุชนไม่อยากรับรู้คือสิ่งที่เราจะได้ จากโลกมีแค่ความสุขแบบ
กระตุ้นประสาทหรือบำเรออัตตาเท่านั้น

กายและใจของเรามีความสุขกับการกระตุ้นประสาทมากไม่ได้ มันจะเหนื่อย อีกทั้งถ้ากระตุ้นบ่อยๆ ประสาทก็
เริ่มด้าน จึงต้องเพิ่มอัตราและความเข้มของการกระตุ้นอยู่เรื่อยๆ ความสุขทางเนื้อหนังจึงย่อมกระท่อนกระแท่น
เป็นธรรมดา พ้นการขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้น้อยคนเหลือเกินสนใจจะหยุดทบทวนหรือคิดพิจารณา ว่าความสุขที่
อยากได้คืออะไร ชีวิตของมนุษย์จึงหนีไม่พ้นความผิดหวัง ปัญหาในโลกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าปัญหาภายในจิตใจ
ของเรา ปัญหากับคนรอบข้างหรือปัญหาในสังคมทั่วไป เกิดจากการหวังความสุขที่ถาวรจากสิ่งที่ไม่ถาวร เมื่อไม่ได้
สมหวังก็ระทมขมขื่น สมหวังแล้วต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนยึดติดก็เศร้าโศกหรือกลัดกลุ้ม

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุขมีหลายอย่าง นอกจากความสุขสามัญแล้ว ทุกคนไม่ว่านักบวชหรือผู้ครองเรือน
ควรหาความสุขที่เกิดจากคุณงามความดี และความสุขอันประเสริฐที่เกิดจากการเป็นอิสระจากกิเลส จะได้มากน้อยแค่
ไหนก็ไม่ต้องกังวล เพียงแค่ความพยายามที่จะสร้างความสุขประเภทนี้ก็ทำให้ชีวิตมีคุณภาพอย่างน่าภาคภูมิใจแล้ว

ผู้ที่ได้รับความสุขประเภทที่สองและสามในระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น จึงจะมีโอกาสดับความหิวโหย หรือความ
อ้างว้างว้าเหว่ในใจได้ อาตมาเชื่อว่าลึกๆ แล้วทุกคนต้องการความสุขอันเยือกเย็นที่เกิดจากความดี ความสงบ
และปัญญา เพียงแต่ว่ายังไม่รู้ตัว การหวังความสุขที่มั่นคง เป็นที่พึ่งได้ ส่อให้เห็นถึงความต้องการเช่นนี้ ทำไมเรา
จึงต้องการความสุขที่ไม่เสื่อม? คำตอบน่าจะเป็นเพราะว่าในจิตใต้สำนึกแล้วเรารู้ว่าตนเองมีสิทธิ์และศักยภาพพอที่
จะได้ความสุขที่ถาวรพ้นความแตกสลาย

น่าเสียดายว่านิทาน นิยาย เพลง ละคร ฯลฯ พากันล้างสมองเราว่าสิ่งเดียวที่จะให้ความสุขอย่างนี้แก่เราได้
คือความรัก คนหนุ่มสาวจึงสัญญากันว่าจะรักจนดินฟ้าทลาย แต่ความจริงปรากฏว่าความรักอมตะของหลายๆ คู่
แต่งงานกันไม่กี่ปีหรือไม่ทันถึงปีก็ร่อแร่เต็มทีดินฟ้ายังคงเดิม อารมณ์ทลายไปก่อน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเข้าใจตนเอง พระองค์ชี้แจงเปิดเผยธรรมชาติของกายธรรมชาติ
ของใจ ธรรมชาติของความทุกข์และความสุข ถ้าจะให้พุทธธรรมเป็นศาสตร์ก็ต้องเป็นสุขทุกขศาสตร์ ศาสตร์
อื่นทั้งหมดเป็นแค่บริวารของศาสตร์นี้เท่านั้น หากขาดพุทธศาสตร์เป็นหลักเป็นฐานเสียแล้ว ศาสตร์ทางโลกย่อม
เป็นดาบสองคมทั้งสิ้น

พระพุทธองค์ทรงสอนวิธีดับทุกข์หาสุขที่ถูกต้องและได้ผล โดยปกติชีวิตของมนุษย์ไม่เป็นสุขเพราะหลง
ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา การฝึกให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความจริงถอดถอน
อุปาทาน จนจิตเป็นอิสระพ้นจากบีบคั้นของกิเลสคือการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง
ในสายตาของนักปราชญ์
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ความสุขอย่างอื่นก็เป็นเหมือนของเด็กเล่น

หลักการสำคัญจึงอยู่ที่การระงับกิเลสด้วยการควบคุมกาย วาจา ( ศีล ) การพัฒนาคุณธรรม เช่น ความ
อดทน ความขยัน ความเมตตากรุณา ความสงบ ( สมาธิ ) และการพิจารณาสิ่งที่มากระทบให้เห็นความไม่คงที่
ไม่คงตัว ไม่เป็นตัวหรือของตัว ( ปัญญา )

พระพุทธศาสนายอบรับความสุขที่เกิดจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ว่าเป็นของจริง แต่เตือนว่าอย่าสำคัญ
มั่นหมายจนเกินไป เพราะถึงแม้เผินๆ จะดูว่าดี แต่ความจริงมันไม่ดีอย่างที่คิด รูปอาจดูสวยแต่ไกล แต่พอเข้า
ไปสัมผัสจริงๆ แล้วก็จูบไม่หอม ฉะนั้น อย่าหลับหูหลับตาเก็บกดหรือพยายามหันหลังให้ข้อบกพร่องของมัน
มองเห็นแต่ด้านดีจนหลงใหลหมกมุ่นและถึงกับกล้าผิดศีล หรือผิดหลักธรรมเพื่อครอบครองสิ่งที่ตนอยากเหล่านั้น

เราต้องรู้เท่าทันความไม่แน่นอนของสังขารร่างกาย ความไม่แน่นอนของอารมณ์ ความไม่แน่อนของคน
รอบข้าง และของวัตถุที่เราอยู่อาศัย ความปลอดภัยไม่ได้เกิดจากการบังคับให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจหรือเป็นไป
ตามใจเรา หากเกิดจากการยอมรับความจริงของทุกสิ่ง และปฏิบัติต่อมันด้วยสติปัญญา ละสิ่งที่ควรละ บำเพ็ญ
สิ่งที่ควรบำเพ็ญตามความเหมาะสม

ที่จริงการพิจารณาให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิตไม่เหลือวิสัยของใคร แต่เราไม่ค่อยอยากทำ เพราะ
กลัวจะเสียความรู้สึก กลัวชีวิตจะจืดชืด จะแห้งแล้ง พูดง่ายๆ ว่าเสียดายกิเลส ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วสังเกตว่า
หัวเริ่มหด เกิดความลังเลไม่มั่นใจ ขอให้ระลึกว่าครูบาอาจารย์ผู้ที่ข้ามพ้นไปแล้ว ท่านยืนยันเป็นเสียงเดียว
กันว่าไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าละกิเลสได้แล้วชีวิตจะสดชื่นเบิกบาน

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเอหิปัสสิโก คือชวนมาดู ทนต่อการพิสูจน์ ท่านไม่ต้องการให้เราเชื่ออะไรง่ายๆ
ท่านต้องการให้เราเอาคำสอนไปดู เทียบเคียงกับชีวิตของเราว่าจริงไหม อย่างเช่น ท่านสอนว่าทุกวันนี้ เราเป็นทุกข์
เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความผูกพัน การหวังความสุขแต่จากสิ่งนอกตัว ยึดมั่นถือมั่นมากก็ทุกข์มาก ยึดมั่นถือมั่น
น้อยก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นเลยก็ไม่ทุกข์เลย คำสอนในลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่ทฤษฎีที่ผู้มีศรัทธาต้องเชื่อ
หากเป็นเรื่องประสบการณ์ของมนุษย์แท้ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าล้วนแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน
เกี่ยวกับความสุข เกี่ยวกับความทุกข์ของมนุษย์

สมัยนี้คนตกระกำลำบากกันมาก ทุกข์แล้วมีทางเลือกสองทางคือ โอดครวญให้จิตล่มจม หรือ ใคร่ครวญให้จิต
ที่ล้มได้ลุกขึ้น เราเป็นชาวพุทธอย่างไหนจะเหมาะกว่ากัน

ครูบาอาจารย์ท่านยอมรับว่าทุกคนต้องการความสุข แต่ท่านกลัวว่าเราจะผิดหวัง ท่านจึงขอให้เราพิจารณา
ให้ชัดเจนเสียก่อนว่าความสุขนั้นคืออะไร ไม่อย่างนั้นจะเหมือนกับการออกเดินทางไปเที่ยวประเทศใดประเทศหนึ่ง
โดยไม่รู่ว่าประเทศนั้นมันอยู่ที่ไหน ไปอย่างไร ได้ยินแต่ชื่อว่า สุขแลนด์ สุขแลนด์ แล้วคิดอยากไป " ฉันจะต้อง
ไปสุขแลนด์ให้ได้ " แต่พาสปอร์ตก็ยังไม่มี เงินที่จะใช้จ่ายในการเดินทางก็ไม่มี คิดแต่อยากไป ตั้งต้นเดินวกวนสัก
พักหนึ่ง แล้วน้อยใจว่าไปไม่ถึงสักที ระย่อท้อแท้แล้วกลับบ้าน

ผู้ที่อยู่ในโลกยังครองเรือนอยู่ ท่านไม่ให้ใช้ชีวิตเหมือนพระหรอก เพียงแต่ให้เปลี่ยนความคิดหรือปรับมุมมอง
ต่อความสุขในทางโลกว่ามันเป็นแค่ของเสริมเป็นเปลือก ไม่ใช่แก่นแท้ของชีวิตและไม่ควรจะเป็นเป้าหมายของชีวิต
นี่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิในทางพระพุทธศาสนา ผู้ที่ก้าวหน้าในธรรมท่านคิดอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้

ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายโภคทรัพย์ ความสุขการเสพวัตถุเป็นความสุขที่ยังหยาบอยู่ ยังไม่สงบเย็น
ความสุขที่สูงกว่านั้นมีอยู่ จะแสวงหาความสุขทางโลกก็แสวงหาเถอะ แต่ฝึกให้เอาแต่พอดีได้ไหม พอดีตามกาล
ตามเวลาอันสมควร ภายในขอบเขตของศีลธรรมของเรา โดยไม่ฝากความหวังไว้กับความสุขอย่างนี้มากเกินไป
เพราะเป็นความสุขที่ผันผวนชวนปั่นป่วน เป็นความสุขที่ไม่แน่นอน เชื่อไม่ได้ เป็นความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืนเลย
ถ้าเราขืนเอาจริงเอาจังกับสิ่งนอกตัวเราจนเกินไป เราจะทำให้ตนเองเป็นคนคิดมากบ้าง ฉุนเฉียวบ้าง อ่อนแอ
ไม่เป็นตัวของตัวเองบ้าง พร้อมที่จะตกในหลุมความตึงเครียด ความเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลาและที่สำคัญยิ่ง
คือทำให้เราหาความสุขสงบที่สูงกว่ายากยิ่งขึ้น

ขอให้เราเสพสิง่ทั้งหลายในโลกแบบกินปลา คือระมัดระวังก้างอย่าให้มันติดคอ ทำหน้าที่ของเราไปอย่างรอบคอบ
จะดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสสิ่ง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เป็นไร แต่ให้รู้จักรูปสักแต่ว่ารูป
เสียงสักแต่ว่าเสียง กลิ่นสักแต่ว่ากลิ่น ก็แล้วกัน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นธรรมดาของโลก ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้
เกี่ยวข้องด้วยสติปัญญา ถ้าเราทุกข์ใจและจะไปโทษมันก็ไม่ยุติธรรม เพราะโลกไม่เคยบังคับใครให้ทุกข์ จิตของเรา
ต่างหากที่ไปยุ่งกับมัน อย่างประมาทนอนใจ ชอบไปปรุงไปแต่งด้วยความพอใจและไม่พอใจ จนหลงเชื่อว่ามันจะให้
ความสุขที่เรากำลังใฝ่ฝัน มันไม่เคยรับปากกับเราเลยนะ เราคิดเอาเอง

คนที่ไม่เข้าวัดหรือไม่ปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มองว่าพวกเข้าวัดเป็นคนเต่าล้านปีบ้าง งมงายบ้าง มัวแต่หา
สิ่งเลื่อนลอยบ้าง ตนที่คิดอย่างนี้มักจะเชื่อว่าสิ่งที่วัดไม่ได้ นับไม่ได้ ไม่มียี่ห้อ อวดคนอื่นไม่ได้ เป็นของลมๆ แล้งๆ
ต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีราคาในตลาดจึงจะเป็นของจริง เงินทอง บ้านช่อง รถยนต์ เครื่องเพชร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้
แหละคือของจริงของเขา แต่ทำไมของจริงเหล่านั้นหายไปได้ ทำไมอยู่ดีๆ หนี้ต่างประเทศของนักธุรกิจสามารถ
เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในไม่กี่วัน ทำไมรถยนต์ที่เจ้าของรักและหวงแหนเหลือเกิน ธนาคารยึดได้ ทำไมคนดังของ
สังคมหยุดทำงานหรือหมดอำนาจ แล้วไม่นาน ใครเห็นก็แค่คลับคล้ายคลับคลา หรือตายไปไม่นานแทบจะ
ไม่มีใครเอ่ยถึง ทรัพย์สมบัติเงินทอง อำนาจ ชื่อเสียง ฯลฯ ต่างหากที่นักปราชญ์มองว่าเป็นของมายา
เหมือนความฝัน

ถึงแม้ว่าวัตถุจะฝืดเคือง ปัจจัยสี่ต้องดิ้นรนมากกว่าแต่ก่อน ผู้เจริญด้วยนามธรรมยังยิ้มได้ ( และยิ้มได้จากใจด้วย
ไม่ใช่แค่บริหารกล้ามเนื้อในใบหน้าเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ) เพราะแหล่งความสุขของเขาไม่ถูกทำลาย
เศรษฐกิจดีใจเขาไม่ฟู เศรษฐิจแย่ใจเขาไม่แฟบ จะมีปัญหาบ้างก็ทำใจได้ เพราะสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมทำมาตลอดคือ
ทำใจ ภาวนาก็คือการทำใจนั่นเอง ทำใจให้มีกำลังพอที่จะอยู่กับความจริง พุทธศาสนาสอนว่าความสงบเกิดจาก
การรู้เห็นความจริงในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักปฏิบัตพยายามสำรวมไม่ให้จิตวิ่งเตลิดตามสิ่งที่ปรารถนา
ไม่ให้มุทะลุผลักไสหรือปฏิเสธสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เพียงแต่ให้พยายามรู้เข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
รู้ความเกิดของมัน รู้ความดับของมัน รู้คุณ รู้โทษของมัน รู้วิธีที่จะไม่ตกเป็นทาสของมัน
อยู่กับความจริง
ปฏิบัติต่อความจริงของชีวิตทุกขณะ ไม่กลัวความจริง ไม่หันหลังให้ความจริง หรือพยายามกลบเกลื่อนความจริงด้วย
กามารมณ์

ในการภาวนาของเราให้พยายามฝึกตนเองให้อยู่ในปัจจุบันกับความจริงโดยไม่ให้จิตปรุงแต่งหมกมุ่นกับสิ่งที่
อาจจะ คงจะ น่าจะ ทั้งหลาย อย่าพึงวุ่นวายกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือผ่านไปแล้ว ให้จิตใจสันโดษเรียบง่าย
ในอารมณ์ปัจจุบัน ทำสิ่งที่ถูกต้องในปัจจุบัน แก้ไขสิ่งบกพร่องไปเรื่อยๆ เท่าที่จะแก้ได้ ถ้าเราปลุกตนเอง
ให้ตื่นอยู่กับความจริงอย่างนี้ อารมณ์จะขึ้นจะลงบ้างก็ไม่เป็นปัญหา
เพราะการขึ้นก็เป็นอาการของความจริง
การลงก็เป็นอาการของความจริง ความเจริญเป็นอาการของความจริง แม้ความถอยหลังความเสื่อมก็เป็นอาการของ
ความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏบนเวทีแห่งละครชีวิตก็ล้วนเป็นอาการของความจริงทั้งนั้น เห็นแล้วก็เย็นสบาย
แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น เศร้าก็ไม่ระทม สุขแล้วไม่เหลิง ก็ยังได้กำไร

เหมือนกับเราไปดูหนังผี ถ้าเรารับรู้ว่ารูปทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ก็ล้วนแต่เป็นอาการของแสง
พอเราจับได้ว่ามันก็แค่นั้นแหละ อารมณ์ที่ถูกเขย่าก็จะสงบลง เมื่อรู้ความเป็น " แค่นั้นแหละ " ของอารมณ์
มันก็หมดโอกาสที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ทันที ถ้าไม่รู้ว่ามันแค่นั้น จิตก็ต่อความยาวสาวความยึดอยู่เรื่อย เราจึงหลง
เราจึงทุกข์ หลวงพ่อชาสอนว่า ทุกข์เพราะคิดผิด ถ้าถามว่าคิดผิดเพราะอะไร คงจะต้องตอบว่า เพราะอยากคิดผิด
เหมือนคนดูหนังอยากเห็นแสงเป็นรูปต่างๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะไปทำอะไร

โลกียสุข ความสุขจากการกระตุ้นที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นมีจริง ถ้าไม่มีคงไม่มีใครติด แต่เราเกิดเป็น
มนุษย์แล้ว ก็ควรตั้งเป้าหมายในความสุขให้สูงกว่านั้น ชาวพุทธผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง
ที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง เป็นฆราวาสไม่ใช่จะ ให้เลิกสิ่งสนุกเลยเสียทีเดียว แต่ให้การแสวงหาความสุข
นั้นมีสติปัญญากำกับในขอบเขตที่เหมาะสม ให้เป็นส่วนประดับชีวิตที่ดีงาม ไม่เป็นทั้งชีวิตจิตใจเสีย
ทีเดียว

คนเรามีความสุขหลายๆ อย่าง ที่เรามักจะมองข้ามเพราะมันไม่ค่อยเด่น ไม่ฉูดฉาด มันเรียบๆ ธรรมดาๆ
ผู้เฝ้าสังเกตอารมณ์เท่านั้นที่จะซาบซึ้งในความงดงามของมัน ฉะนั้น ขอให้ดูตนเอง ให้เห็นการเสียสละสิ่งของ
ของเราเพื่อคนอื่นทำให้เรามีความสุข การเป็นเพื่อนที่ดี ของคนกำลังตกทุกข์ได้ยากก็ให้ความสุข ความภูมิใจ
ในการทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์สุจริต การได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง การตอบแทน
บุญคุณของพระผู้มีพระคุณต่อเรา การผ่านอุปสรรคในชีวิตประจำวัน การมองคนรอบข้างในแง่ดี การอนุโมทนา
ในความดีของคนอื่น การเห็นมุมขบขันในเหตุการณ์เคร่งเครียด สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชีวิตสดชื่นได้ทั้งนั้น

นักปฏิบัติมักบั่นทอนความสุขอันถูกต้องอย่างนี้ ด้วยการให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับข้อบกพร่องของ
ตนเองมากเกินไปและให้เกียรติหรือให้ความสำคัญกับความดีของตนเองน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะการถ่อมตนบ้าง
หรือเป็นเพราะความละอายต่อบาปบ้าง อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรพลาดโอกาสที่จะได้ความสุขจากความดีที่เรา
ได้ทำเอาไว้
ส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนเองอยู่ที่การฝึกอนุโมทนาในความดีของตนเองบ้าง เมื่อเราเห็น เราชม
ความสุขนั้นก็เพิ่มขึ้น เหมือนกับผู้ใหญ่ชมเชยผู้น้อย ผู้น้อยได้กำลังใจ

ขอยกตัวอย่างจากชีวิตของอาตมาเอง เมื่ออาตมาได้นึกถึงความบริสุทธิ์ของสิกขาบทใดที่เรารักษาไว้ด้วยดี
ตลอดชีวิตพรหมจรรย์ก็รู้สึกมีความสุข มีความสบาย เรามาอยู่ในวัดป่าตั้งยี่สิบปีแล้ว เท่าที่จำได้ไม่เคยฆ่ายุง
ด้วยเจตนาแม้แต่ครั้งเดียว นึกถึงความสำเร็จนี้ เมื่อไรก็ปลื้มใจ มีความสุข ไม่เคยคิดจะเอาของๆ คนอื่นเลย
แม้แต่ของเล็กของน้อย พิจารณาศีลของตนเองแล้วก็มีความสุข

การรักษาศีลไม่ใช่ของง่ายเลย ต้องอดทนพากเพียรอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท ผู้ที่รักษาศีลห้าได้ตลอดสิบปี
อาตมาว่าต้องฉลาดมากกว่าผู้ที่จบปริญญาเอกเสียอีก เพราะผู้ที่เชี่ยวชาญทางจริยธรรมประยุกต์ ต้องเข้าใจและ
บังคับอารมณ์ของตนได้ อาตมาเคยคิดเล่นๆว่า น่าจะให้คนที่รักษาศีลได้นาน ( รักษาจริงๆ ไม่ใช่โกหกแม้กระทั่ง
ตัวเองและคนอื่น ว่าฉันเป็นผู้มีศีล แต่แท้จริงแล้ว ทุศีลตลอดเวลา แต่เที่ยวอวดตัว ยกตนข่มท่าน โกหกว่าพวก
ตนเองมีศีล ได้อย่างไม่ละอายแก่ใจ ) มีสิทธิ์ได้รับปริญญบัตร เช่นให้พวกแม่ออกพ่อออกที่มั่นคงในศีลได้เป็นดอกเตอร์
กิตติมศักดิ์วิชาจริยธรรมประยุกต์บ้าง ดูเหมือนกับว่าตอนนี้สังคมเราอยากใช้ปริญญาบัตรเป็นเครื่องรับรอง
คุณภาพคน ถ้าเป็นอย่างนั้น อาตมาอยากให้คนมีคุณภาพจริงได้รับปริญญาบัตรด้วย เพื่อไม่ให้คนรุ่นใหม่
เข้าใจผิดว่าคุณภาพมนุษย์อยู่ที่สมองเพียงอย่างเดียว

ผู้ที่รักษาศีลของตนไว้ดี ถึงแม้ว่าจะไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องตลอด ถึงแม้ว่าอาจมีลืมตัวบ้างเป็นครั้งคราว ถ้า
เจตนาเดิมยังคงอยู่ ศีลของเขาก็ยังเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาและน่าภูมิใจได้ เราผิดพลาดแล้วตั้งต้นใหม่ นึกถึงแล้วก็ยัง
มีความสุขได้ หากไม่เคยทรยศต่อหลักการ เพียงแต่ว่านานๆ ทีประมาทบ้างตามประสาปุถุชน ฉะนั้น เรื่องเงิน
เรื่องทอง เรื่องานเรื่องการเป็นอย่างไรก็ตาม การระลึกและอนุโมทนาในศีลและความดีที่เราเคยทำไว้ สามารถนำ
ความสุขมาสู่ชีวิตเราได้เสมอ เป็นสมบัติอันประเสริฐที่ไม่มีใครแย่งชิงได้

ยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถเอาเรื่องความดีของเรามาใช้ในการภาวนาได้ เช่น เมื่อจิตใจกลัดกลุ้ม ซึมเศร้าลอง
ตัดกระแสความคิดที่เป็นอกุศลด้วยการระลึกในสิ่งที่ดีของตนเอง เริ่มแรกจดไว้ในสมุดก็ได้ ตั้งหัวข้อไว้ว่า สิ่งที่
ข้าพเจ้าภูมิใจที่สุดในชีวิตสิบข้อแล้วก็จดไว้ การช่วยเหลือคนอื่น การปิดทองหลังพระ การทำบุญ อะไรก็แล้วแต่
เสร็จแล้วลองคิดทบทวนข้อละสามนาที ก็ได้ ภาวนาสามสิบนาที จิตใจจะเกิดความปราโมทย์ ปิติและเป็นสมาธิได้

วิธีการทำสมาธิภาวนามีมากมาย ไม่ว่าเราเจริญอานาปานสติกรรมฐาน เมตตากรรมฐานก็ตาม
อารมณ์กรรมฐานหลายอย่าง ถ้าเราเจริญอย่างถูกต้อง จะเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบและปราโมทย์ เมื่อจิตเกิดปิติ
ปราโมทย์แล้วจะสงบระงับ เกิดความสุขความฉ่ำชื่น และความสุขนั้นแหละเป็นเหตุปัจจัยสำคัญของสมาธิ
สมาธิเมื่อเกิดแล้วเป็นเหตุให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ปิติปราโมทย์ก็เกิดขึ้นได้จากหลายๆ วิธีด้วยกัน โดยการตั้งใจ
ระลึกถึงความดีที่ตนเองเคยทำไว้เป็นวิธีที่ง่าย เป็นวิธีที่ดีสำหรับผู้ฝึกใหม่

ในเมื่อความสุขอันประณีตลึกซึ้งมีจริงและสัมผัสได้ เราน่าจะลองปฏิบัติธรรมดูบ้าง วิถีชีวิตเราจะได้สมบูรณ์
ที่ได้พบพระพุทธศาสนา ความสุขที่ได้จากการทำความดีในโลกที่ยังเสื่อมได้ง่าย อัตตาอาจแอบแฝงอยู่เสมอ
เช่นยุให้ต้องการสิ่งตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเราอาจจะวุ่นวายกับการทำความดีก็ได้จนเป็นที่รำคาญ
ของคนอื่น ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือตราบใดที่จิตใจยังเศร้าหมองด้วยความอยากได้ ความอยากมีอยากเป็น
ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เรายังอยู่ในเอื้อมมือของมาร ความสุขที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนามั่นคงกว่า

กิเลสอาจเปรียบเทียบได้กับเชื้อโรค สมมุติว่าเรารับประทานอาหารที่เต็มไปด้วยวิตามินและโปรตีนถูกต้อง
ตามหลักโภชนาทุกประการ รับประทานลงไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเกิดผลดีต่อร่างกายเสมอไป เพราะหากเรา
เป็นบิดอาหารที่มีคุณค่าอาจกลายเป็นมูกเลือดไปได้ ในทำนองเดียวกัน เราอาจจะประสบความสำเร็จทางโลก
ในหลายๆ ด้าน ปริญญาบัตร ตำแหน่ง ทัรพย์สมบัติเงินทองพร้อมหมด แต่ถ้าจิตยังมีเชื้อโรคแห่งกิเลสอยู่
สิ่งที่เราได้นั้นอาจจะกลายเป็นมูกเลือดได้เช่นเดียวกัน ท่านจึงให้เราเจริญสมาธิภาวนาเพื่อระงับเชื้อโรค
ที่กำลังเบียดเบียนชีวิตของเรา

กิเลสประเภทนิวรณ์คือสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เราสงบ ไม่ให้เราเห็นความจริง เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง
โดยสัญชาติญาณ ผู้ทีไม่เคยภาวนาจจะชินกับนิวรณ์เสียจนหลงว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิต ภาวนาแล้ว
จึงรู้ว่าเป็นของแปลกปลอม

ก่อนมาบวชอาตมาเคยไปประเทศอินเดีย ครั้งหนึ่งไปอยู่กับชาวเขาในหมู่บ้านเล็กๆ ในเทือกเขานิลคิรี
บ่ายวันแรกที่ไปอาตมาเดินไปอาบน้ำในลำธารห่างออกไปจากหมู่บ้านสักห้าร้อยเมตร เด็กชาวบ้านนึกสนุกก็เดิน
ตามเป็นแถว พอถึงตลิ่ง อาตมาเอาสบู่ออกจากกระเป๋า เด็กๆ ก็ทำท่างงงวยและตื่นเต้น " อะไร อะไร "
เขาถามกัน ยิ่งเห็นอาตมาถูสบู่ เขายิ่งตื่นเต้นใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้หญิง อาตมาจึงให้เขาลองถูบ้าง ปรากฏ
ว่าสีผิวเด็กเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด เขาร้องกรี๊ดกัน ไม่แน่ใจว่าชอบหรือชัง เขาอาจคิดว่าเป็นไสยศาสตร์
ฝรั่ง ชาวเขาเหล่านั้นไม่เคยรู้จักสบู่ เขาคิดว่าความสกปรกเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องยอมรับเหมือนดิน
ฟ้าอากาศ คนเราก็เหมือนกันอยู่กับความสกปรกของนิวรณ์ตั้งแต่เกิด เข้าใจว่าเป็นตนเป็นของตน เลยไม่
เห็นโทษไม่คิดจะเช็ดถู

จิตพ้นจากนิวรณ์ได้ เมื่อพ้นได้แล้วมีความสุข เหมือนคนที่เคยเป็นหนี้พ้นจากการเป็นหนี้ คนที่เคยเป็น
ไข้หายจากการเป็นไข้ คนที่เคยติดคุกพ้นจากคุก คนที่เคยเป็นทาสเขากลายเป็นอิสระ คนที่เคยหลงทางในที่อัตคัด
กันดารได้เจอทางกลับบ้าน จิตที่สงบจากกาม ความขัดเคือง สงบจากความคิดฟุ้งซ่าน วุ่นวายความลังเล
เป็นจิตที่สว่างไสวหนักแน่นและผ่องใสสะอาดเป็นจิตที่ควรแก่งาน
เหมือนกับลวดทองแดงที่เขาสามารถดัด
ใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการ จิตใจที่ยังไม่เป็นสมาธิก็ยังแข็งทื่อ จะโน้มไปทางไหนก็ไม่ค่อยอยากไป ไปก็ไป
แผล็บเดียวแล้วก็เล็ดลอดไปทิศอื่นๆ จิตใจที่เป็นสมาธิแล้วเชื่อฟัง สติปัญญาจะนำไปในเรื่องใดมันก็ยอม
นี่คือความสุข ผู้ที่ได้ความสุขจากสมาธิ บางทีไม่ต้องกินข้าวเลย อิ่มธรรมะ อิ่มด้วยความสงบ พระพุทธเจ้า
ตรัสว่าความสุขที่เกิดจากความสงบเป็น สิ่งที่ประเสริฐและเป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์
มันเป็นสิ่ง
ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าหากว่าสร้างเหตุสร้างปัจจัยของมัน คือการกระทำต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยไม่คาดหวังในผล
แต่ทำอยู่ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ ไม่ว่ารู้สึกขยันหรือขี้เกียจก็ตาม เมื่อสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรง
เราก็ควรจะทำ

ถ้าเราต้องการความสุข ก็ต้องปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวหน่อย สิ่งที่จะช่วยอุดหนุนการปฏิบัติอย่างดีคือการ
พิจารณาเนืองนิจในความไม่แนนอนของชีวิต เพื่อให้ตระหนักว่าเราไม่มีเวลาผลัดวันประกันพรุ่งเลย เพราะเราไม่รู้
ว่าเราจะอยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ไม่ใช่เฉพาะคนแก่เท่านั้นที่ตาย คนที่มีอายุถึง ๘0 ปีก็มีน้อย คนอายุ ๑ ขวบ
๒ ขวบ ก็ยังตายได้ ๕ ขวบก็ยังตายได้ ๑0 ขวบก็ยังตายได้ ๑๕ , ๒0 , ๓0 , ๔0 , ๕0 ตายทั้งนั้น ตายบน
เตียงนอนในบ้านตนเองก็มี ตายหน้าจอทีวีที่ห้องรับแขกก็มี ที่โรงพยาบาลก็มี ไปไม่ถึงโรงพยาบาลก็มี ตายที่
ที่ทำงานก็มี ที่สนามกีฬาก็มี ไม่มีที่ไหนในโลกที่ปลอดภัย เหมือนมีทุ่นระเบิดรอบตัวเราอยู่เสมอ ชีวิตของเรานี้พร้อม
ที่จะแตกสลายเมื่อไรก็ได้ เพราะมันเป็นของเปราะ บอบบาง เป็นของที่เราไว้ใจไม่ได้เลย

ร่างกายนี่มันเนรคุณเหลือเกิน เราเอาใจใส่มันมาก มันต้องการอะไรก็ให้ทุกอย่าง มันต้องการอาหารก็อุตส่าห์
ไปหาอาหารให้มันกิน มันเหนื่อยเราก็ให้มันพักผ่อน มันร้อน มันเย็นเราก็ปรนนิบัติเต็มที่ มันป่วยมันไม่สบาย
ก็หายามาให้มันกิน ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมันตอบแทนบุญคุณของเราอย่างไร เห็นมีแต่ตอบแทนเราด้วยความแก่
ด้วยความเจ็บ ด้วยความตาย เรียกได้ว่าเนรคุณ ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายจริงๆ แต่ยังไงๆ เรามีไว้ก็ต้องรักษา
ไว้ให้ดี เพราะเป็นพาหนะที่เราต้องใช้ในการแสวงหาสัจธรรม ถ้าหากว่าเราเบื่อที่จะต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างซ้ำๆ
ซากๆ เราต้องประพฤติ ปฏิบัติธรรม เราต้องใช้กายนี้ ใจนี้ เป็นที่ตั้งของการปฏิบัติ มันเป็นที่ตั้งของการศึกษา
ให้รู้ความจริงในการดับกิเลส ดังนั้น ความทุกข์ก็อยู่ที่นี่ ความสุขก็อยู่ที่นี่ เราก็ต้องปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไม่ได้

ในการปฏิบัติ ท่านให้มีหลักว่า " รีบช้า " รีบปฏิบัติแต่อย่าใจร้อน ปฏิบัติอย่างรีบๆ ก็ไม่ได้ ช้าๆ ก็ไม่ได้
ท่านจึงให้เรารีบช้าๆ รีบด้วยสติปัญญา ด้วยความสุขุมรอบคอบ หรืออย่างพร้อมที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ทุก
อย่าง สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ถ้าหากเรารู้ตัวตลอดเวลา ถือได้ว่าเรากำลังอยู่บนทางสายกลาง

สงบแล้วหลง หมายความว่า ได้เฉออกนอกทาง อย่างเช่นวันหนึ่งนั่งสมาธิ จิตสงบ นั่งนานเป็นชั่วโมงไม่ปวด
ไม่เมื่อยเลย วันหลังครุ่นคิด ทำยังไงหนอจิตจะได้สงบเหมือนครั้งก่อน อย่างนี้ถลำไปแล้ว สงบยาก อยากให้
เหมือนก็ไม่เหมือน ไม่สงบแล้วก็รำคาญตนเอง หงุดหงิด นั้นคือการไม่ยอบรับความจริงเป็นอย่างไรให้เราปฏิบัติ
ต่อภาวะอันนั้นด้วยสติปัญญา เมื่อเราไม่อยู่กับความจริง ความทุกข์จะเกิดขึ้น อยากได้นั่น อยากได้นี่ คือไม่ได้
อยู่กับความจริงในปัจจุบัน อยากหนีความจริงไปหาอะไรที่สนุกกว่านี้ ที่ดีกว่านี้ นั่นเป็นอาการของตัณหา ท่าน
จึงให้รีบช้าๆ ต้องรีบเพราะชีวิตของเรามันสั้นเหลือเกิน แต่ต้องช้าๆ หน่อย ไม่อย่างนั้นอาจจะพลาดพลั้งหรือหลงทาง
ตรอกซอยมีเยอะ โอกาสหลงทางมันมีมาก ต้องค่อยๆ ดู ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ ความสุขที่สูงสุด ความสุขที่แท้จริง
มันเป็นอย่างไรเราเจอหรือยัง

ไม่ต้องพูดเรื่องการดับทุกข์ก็ได้ สำหรับคนบางคนอาจจะไม่เหมาะ เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติจนได้ผลบ้าง
จิตใจสบาย เดี๋ยวก็จะไม่อยากปฏิบัติต่อ พอใจแค่นั้น ดับทุกข์แค่นี้พอใจแล้ว สบายแล้ว มันจะคิดอย่างนั้น ฉะนั้น
เรื่องดับทุกข์ไม่ต้องพูดดีกว่า เปลี่ยนเป็นว่าเราปฏิบัติเพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง เมื่อเราปฏิบัติแล้วจิตใจมีความ
สุขพอสมควรแล้วสบาย ต้องถามตนเองว่าถึงที่สุดหรือยัง ถึงที่สุดของความสุขหรือยังและความสุขนี้มันหนักแน่น
มั่นคง มากน้อยแค่ไหน เป็นความสุขที่ไว้ใจร้อยเปอร์เซนต์ได้หรือ

ความสุขที่เกิดจากสมาธิก็ยังไม่ใช่ ยังมีโอกาสที่จะเสื่อมเพราะยังอาศัยสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร ความสุขที่
แท้จริงเกิดจาปัญญา ที่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือกายและใจนี้ตามความเป็นจริงว่าเป็นกระแส
ธรรมชาติที่ไม่มีเจ้าของ ถ้ายึดติดแล้วอันตราย เมื่อเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งจนปล่อยวางความยึดติดได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายไม่มีอัตตา
พระนิพพานไม่เกิดไม่ตาย เป็นภาวะที่สันติสุขอย่างยิ่ง ว่างอย่างยิ่ง การสื่อสารก็ต้องใช้ภาษาอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว
ในขณะที่จิตใจของพระพุทธองค์เข้าถึงจุดนี้แล้ว ภาษาไม่ปรากฏเสียแล้ว เพราะพระองค์ได้บรรลุถึงธรรมซึ่งเหนือ
ภาษาไปแล้ว แต่ท่านเมตตาพวกเรา ต้องการให้เราทราบ ต้องการให้รู้ว่าท่านบรรลุอะไร ท่านจึงพยายามหา
ศัพท์ที่ใกล้ที่สุด ให้เป็นเหมือนลูกศร หรือในสำนวนกวีโบราณเหมือนนิ้วชี้พระจันทร์ พระองค์ตรัสว่า สังขารทั้งหลาย
เป็นอนิจจัง ทุกขัง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา พวกเราจะได้รู้แนวทาง จิตใจของเราจะได้ค่อยๆ เตรียมตัวสัมผัส
โดยตรง ได้พยายามโน้มจิตใจไปทางนี้อยู่เสมอ ให้สังเกตความไม่แน่นอนของสิ่งทั้งหลาย ทั้งนอกตัวและภายใน
ตัวเรา ไม่แน่นอนสักอย่างเลย ให้จิตคุ้นอยู่กับความจริงในระดับความคิดเสียก่อน เมื่อสุกงอมแล้วจึงจะได้เห็นความ
จริงที่อยู่เบื้องหลังคำพูดนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้สัมผัสไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้
แน่นอน เกิดขึ้นและดับไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นเอง เมื่อจิตใจสงบแล้วมันจะไวต่อความธรรมดาของธรรมชาติมาก
ถึงไม่ตั้งใจเจริญวิปัสสนา จิตใจมันพร้อมจะรับรู้ พร้อมที่จะดู และพร้อมที่จะพิจารณาเข้าไปถึงความจริง จิตที่เป็น
สมาธิได้สัมผัสความไม่เที่ยงนี้โดยตรงและยังประจักษ์ในเรื่องความทุกข์ด้วย สิ่งที่ไม่เที่ยงยอมขาดเสถียรภาพ
ไม่พ้นภัย นี่คือทุกขลักษณะ โดยทั่วไป สิ่งที่ไม่ถาวรไม่สามารถที่จะให้ความสุขที่ถาวรแก่เราได้ ยึดติดขณะใดก็
ทุกข์ในขณะนั้น นี่คือทุกข์ในความหมายของอริยสัจ มันก็ค่อยๆ ชัดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ไม่เที่ยงสิ่งที่ไม่มีเสถียรภาพไม่มั่นคงทั้งหลาย ไม่ควรจะถือว่าเป็นเรา เป็นของเราเลย เพราะมัน
ไม่ได้ อยู่ใต้การบังคับบัญชา จะสั่งห้ามกายนี้อย่าให้เจ็บ อย่าให้แก่ อย่าให้ตายเลย ก็ไม่ได้ มันดันทุรังดื้อรั้นจริงๆ
ขอร้องอ้อนวอนอย่างไรมันก็เฉยเมย ยังดำเนินไปตามธรรมดาของธรรมชาติมันอยู่อย่างนั้น ในการประพฤติปฏิบัติท่าน
จึงให้เราสร้างฐานหนักแน่นด้วยศีล บำเพ็ญคุณงามความดีไว้ให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เจริญสมาธิภาวนาจนแน่วแน่
จากนั้นใช้จิตที่มีกำลังนั้นทำลายเชื้อของความทุกข์ คือ อวิชชาและตัณหา ด้วยปัญญาให้ค่อยๆ หมดไป

ในชีวิตของอาตมาเอง เรื่องปัญญาและเรื่องความสุข รู้สึกว่าเกี่ยวเนื่องกันมานานแล้ว ตอนที่อาตมาเร่ร่อนหา
ประสบการณ์ชีวิตก่อนบวช ได้เดินทางไปหลายประเทศ อายุยังไม่ถึง ๒0 ปี ก็เที่ยว ๒0 กว่าประเทศแล้ว หาประสบ
การณ์ด้วยมีทิฐิคือความเข้าใจหรือความเชื่อว่า ความสุขคือปัญญาและปัญญาเกิดจากประสบการณ์

ที่จริงอาตมาเลื่อมใสในคำว่าปัญญาตั้งแต่ยังเด็ก มีความเชื่อเดิมเรื่องความสุขตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ ว่ามันเกิด
จากปัญญา เพียงแต่ว่าตอนนั้นยังไม่เจอคำสอนทางพระพุทธศาสนา ยังไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร นอกจากคิดว่าผู้มีปัญญา
เป็นผู้มีพลังสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ตอนเด็กอยากเป็นผู้มีปัญญามาก ชอบนิทานที่พระเอกชนะผู้ร้ายด้วยกลวิธี
หลักแหลม มากกว่านิทานที่พระเอกยิงเขาตาย ต่อมาอ่านหนังสือของนักคิดฝรั่ง ก็เกิดความเข้าใจว่าปัญญาเกิด
จากประสบการณ์อันโชกโชน จึงคิดว่าเราอยู่ที่บ้านในชนบท ประสบการณ์มันน้อยกลัวปัญญาจะไม่เกิด ต้องไปผจญภัย
ต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ยากลำบากและอันตรายมันถึงจะดี จึงจะเกิดมีปัญญาแล้วมีความสุข อาตมาจึงออกมาจาก
บ้านเที่ยวระเหเร่ร่อนไป ลองนั่นลองนี่ รู้สึกพอใจว่าได้กำไรทุกวัน

วันหนึ่งหลังจากไม่ได้อยู่บ้านเกือบสองปี อาตมานั่งอ่านหนังสือรวมพระสูตร อ่านแล้วสะดุ้ง ในพระสูตร
พระสูตรหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า พระตถาคตจะสอนเธอทั้งหลายถึงเรื่องทั้งหมด เรื่องทั้งหมดคืออะไร รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหล่านี้คือ ทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์ อาตมาได้ฉุกคิดทันที สำนึกตัวเลยว่าการหา
ประสบการณ์ชีวิตของเราเป็นแค่การสะสมสัญญาเท่านั้น ที่เราได้เห็นอะไรๆ แปลกประหลาดหลายอย่าง สิ่งที่
สวยงาม เช่น พระอาทิตย์ตกที่ทะเลอันดามัน สิ่งที่ทั้งน่าเกลียดและน่าสงสารอย่างเช่นกลุ่มคนพิการขอทานในเมือง
กัลกัตตา ฝูงหมาแย่งไส้ของซากเด็กริมแม่น้ำคงคา ฯลฯ ทั้งหมดที่ได้เห็นมาก็สักแต่ว่ารูปเท่านั้นเอง สิ่งทั้งหลาย
ทั้งปวงที่เราได้ยิน เช่น เสียงอิหม่ามเรียกชาวมุสลิมไปสุเหร่า ดนตรีอินเดียที่แสนละเอียดลึกซึ้ง เสียงนกยูง
ร้องหากันในยามพลบค่ำชานหมู่บ้านกลางทะเลทราย เสียงที่ประทับใจที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนมีเยอะ แต่ทั้งหมดนั้น
สักแต่ว่าเสียงเท่านั้นเอง กลิ่นหอมกระสอบเครื่องเทศในตลาด กลิ่นเหม็นควันโรงงานในเมืองอุตสาหกรรม
ก็สักแต่ว่ากลิ่นเท่านั้น รสอาหารอิหร่าน อาหารตุรกี อาหารอินเดียเหนือ อาหารอินเดียใต้ ก็เป็นแค่รสเท่านั้นเอง
ลมฤดูใบไม้ผลิในภูเขาแอลป์โชยลูบไล้ใบหน้า ความแน่นขนัดในรถไฟอินเดีย ฯลฯ ก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะคือความเย็น
ร้อน อ่อน แข็งเท่านั้น ความนึกคิดต่างๆ ความคิดดี คิดชั่ว ความตื่นเต้น ความเบื่อระอา ความกลัว ความกล้า
จินตนาการ ก็สักสักแต่ว่าธรรมารมณ์เท่านั้น

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่สัมผัสแล้ว เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหนกัน อาตมาถามตนเอง
ได้คำตอบว่าเหมือนความฝัน เหลือแแต่ความทรงจำคือสัญญา อาตมาประจักษ์อยู่กับใจว่าจะไปที่ไหน ต่อไปก็ไม่ได้
อะไรมากกว่านี้ เที่ยวประเทศไหน ก็คงเห็นแต่ของเก่าคือ รูป ได้ยินแต่ของเก่าคือ เสียง ได้ดมแต่ของเก่าคือกลิ่น
ไปรับประทานอาหารที่ไหน อาหารอินเดีย อาหารไทย อาหารเวียดนาม อาหารอะไรก็แล้วแต่ รับประทานอะไรลงไป
แล้วก็ได้แค่รส ไม่มีอาหารที่ใดในโลกที่พ้นจากความเป็นรสไปได้

อาตมาจึงรู้สึกว่าการท่องเที่ยวพอแล้ว ปัญญาที่จะได้จากการแสวงหาต่อไปคงยังผิวเผิน ความสุขที่จะได้ก็ยัง
กวัดแกว่ง ปัญญาและความสุขที่เราต้องการอยู่ภายในมากกว่า อาตมารู้สึกเหมือนกับคนที่อยู่ในประเทศที่กำลัง
จะจมน้ำ ซื้อเบนซ์หรือบีเอ็มเพื่อจะหนี รถวิ่งเร็วดี เป็นที่พอใจ แต่เมื่อทราบว่าไปที่ปลอดภัยต้องข้ามทะเล ก็รู้ทันที
ว่าพาหนะนี้ใช้ไม่ได้ ยังชมอยู่ว่าเป็นรถเก๋งที่ดี เพียงแต่ว่าไม่ตรงกับความต้องการของเราเท่านั้น เพราะอีกไม่นาน
น้ำก็จะท่วมถนน รถเก๋งไปไม่ถึง ในการหาความสุขที่แท้จริงอาตมาได้ข้อคิดว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ต้องหาเรือ
หรือแพข้ามทะเล

เมื่อเราเห็นว่าความสุขที่ได้จากประสบการณ์ คือ การสัมผัสกับรูป รส กลิ่น เสียง เหล่านี้ เป็นความสุขที่
คับแคบ มีขีดจำกัด มีช่วงอายุสั้นมากอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิและฉันทะที่จะหาความสุขที่ประณีตกว่านั้น ที่เลิศประเสริฐ
กว่านั้นจึงเกิดขึ้น การที่จะเลิกดิ้นรน เลิกกระสับกระส่าย กระวนกระวายกับโลกียสุขนั้นไม่ใช่ของยากจนเกินไป
แต่ผู้ที่ทำได้คือเห็นข้อบกพร่องของมัน จึงเกิดความต้องการความสุขที่สูงกว่า ประณีตกว่าและปราศจากโทษ

ที่อาตมาได้ยกเรื่องความสุข เรื่องปัญญามาคุยที่นี่ก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์และเพราะเสียดายว่า
ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนในเมืองไทยกำลังขาดความสุขที่ควรจะได้จากบุญที่เกิดเป็นมนุษย์ในเมืองพุทธ
ถึงจะมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นในสถาบันสงฆ์บ่อยๆ นั่นเป็นเรื่องของคนไม่ใช่เรื่องของธรรม อย่าพึงให้กิเลสอ้างความไม่ดี
ของคนอื่นสนับสนุนการไม่เอาไหนของตนเอง คนเราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ตาม อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีวัน
แปดเปื้อน กฏตายตัวของธรรมชาติยังมีอยู่เหมือนเดิมว่าการศึกษาและปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ และปัญญาเท่านั้น
ที่จะนำไปสู่ธรรมอันเกษม ถ้าเราขาดธรรมะแล้วชีวิตไม่มีทางพ้นการเผาลนของไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ
( และไฟแนนซ์ ? ) ได้เลย ขออย่าประมาท ลองนั่งจับการหายใจเข้าหายใจออกดูบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่านั่งจับเจ่า

อาตมาแต่งหนังสือเล่มนี้โดยหวังว่าผู้อ่านจะได้ทบทวนความเข้าใจในเรื่องความสุขอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อจะได้ไม่พลาดในสิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของตน สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกๆ คนฉลาดในการกำหนด
ความสุข ฉลาดในการแสวงหาความสุข ฉลาดในการรักษาความสุขที่ได้แล้ว และฉลาดในการสร้าง
ความสุขให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ