เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๓
--------------------------------------------------------------------

สติมโต สุเว เสยฺโย

คนมีสติ เป็นผู้ประเสริฐทุกวัน

พุทธภาษิตดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าคุณค่าของสตินั้นแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงตรัสยกย่อง
ไว้ว่า ผู้ที่มีสตินั้นเป็นผู้ที่ประเสริฐ คำว่าผู้ที่ประเสริฐในที่นี้ ก็หมายถึงเป็นบุคคลซึ่งมีความดีพิเศษไม่มีผู้ใดที่จะทัด
เทียมเขาได้เช่นคนปกติธรรมดา เพราะว่าการมีสตินั้นเบื้องต้นก็ทำให้เรามีความสุขความสงบ รู้เท่าทันในสิ่งต่างๆ
ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และเมื่อเราจะประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ก็ต้องอาศัยสติตัวนี้แหละเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ใน
การประพฤติปฏิบัติ หากว่าไม่มีสติเป็นปะจำแล้ว ก็เป็นการยากที่จะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุสมความมุ่งหมายได้
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าคุณค่าของสตินั้น แม้แต่การปฏิบัติธรรมในชั้นต้นอันได้แก่กามาวจรกุศล และในชั้นกลางอันได้แก่
รูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล และการปฏิบัติธรรมขั้นสูงสุดซึ่งได้แก่โลกุตตรกุศลอันจะเป็นตัวทำลายภพชาติที่เรา
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้นนี้ให้ลดน้อยถอยลงได้นั้น ก็ต้องอาศัยสติตัวนี้ตัวเดียวเท่านั้น เหตุนี้แหละสมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีสติอยู่นั้นเป็นผู้ประเสริฐ เพราะผลจากการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม
ตั้งแต่ขั้นกามาวจรกุศลก็คือการยังให้เขาสู่ความสุขความสบายในภพภูมิซึ่งอยู่ในกามมาวจรภูมิ ในขั้นรูปาวจรและ
อรูปาวจรนั้น ก็ยังความสงบให้เกิดขึ้นมากและน้อยตามฐานะที่เขาประพฤติและปฏิบัติ และในขั้นสูงสุดคือ
โลกุตตรกุศลนั้นก็ทำให้ถึงสิ้นสุดแห่งวัฏฏะลงไปได้ ฉะนั้นเราอย่ามองข้ามสติตัวนี้ไปเสีย
ปัญหาในเรื่องการรู้จักกับเจตสิกหรือนามธรรมนั้นเราได้ทำความรู้จักในหนนี้เป็นหนที่ ๓ แล้ว เมื่อหนก่อนนั้นเรา
ทำความรู้จักกันไปและประเภทวิตกเจตสิก ซึ่งอยู่ในประเภทปกิณณกเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำการประกอบเข้ากับจิต
บางดวง สำหรับวันนี้เราจะได้พูดถึงตัวต่อไปคือ วิจารเจตสิก วิจารเจตสิกตัวนี้ ถ้าเราจะพูดกันในเรื่องของขันธ์ ๕
มันก็เป็นสังขารขันธ์ตัวหนึ่ง ถ้าเราจะมาพูดกันในแง่ของสมถกัมมัฏฐาน มันก็เป็นตัวๆ หนึ่งซึ่งเราเรียกว่าองค์ฌาน
คือลักษณะประกอบความสงบ ในขั้นต้นซึ่งเราเรียกว่าปฐมฌานนั้นย่อมมีองค์ฌานปะปนกันอยู่ถึง ๕ ตัว คือ วิตก วิจาร
ปีติ สุข และเอกัคคตา สำหรับวิจารเจตสิกนี้เป็นลักษณะขององค์ฌานที่จะยังความชัดแจ้งยิ่งกว่าองค์ฌานตัวอื่นในขั้น
ทุติยฌาน เมื่อเราได้ละวิตกเจตสิกคือองค์ฌานในขั้นปฐมฌานไปแล้ว จิตของเราก็จะเลื่อนขึ้นสู่ทุติยฌาน โดยมี
วิจารเจตสิกเป็นตัวปรากฏชัด วิจารเจตสิกในที่นี้หมายถึง การประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์ คำว่าการประคองจิตให้
อยู่ในอารมณ์นี้เป็นภาษาของธรรมะ พวกเราบางคนอาจจะไม่เข้าใจภาษาธรรมะก็ได้ ฉะนั้นเราควรจะทำความ
เข้าใจตามภาษาสามัญธรรมดาทั่วๆ ไปว่า คำว่าการประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้นก็หมายถึง การคิดหรือ
พิจารณาบ่อยๆ คือการพิจารณาอารมณ์
นั่นเอง
เมื่อเรารู้มาเช่นนั้นแล้ว เราควรจะได้รู้รายละเอียดคุณสมบัติของมันต่อไปอีกว่ามันมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร วิจาร
เจตสิกนี้ มีการพิจารณาอารมณ์บ่อยๆ เป็นลักษณะ การพิจารณารูปนามในขั้นวิปัสสนาสูงๆ ขึ้นไปนั้น ความสำคัญ
ยิ่งไม่ว่าในเรื่องรูปก็ดีหรือนามก็ดี สิ่งสำคัญยิ่งนั่นก็คือลักษณะ เช่น รูปดิน เราก็จำลักษณะของมันได้ว่าความอ่อนหรือ
ความแข็ง ถ้าเป็นรูปไฟ เราก็จำลักษณะของมันได้ว่าความอุ่น ความเย็น หรือความร้อน เช่นเดียวกันกับนามธรรมตัว
ต่างๆ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำลักษณะของมันเอาไว้ ทำไมหรือเราจึงต้องจำเช่นนั้น เพราะการประพฤติธรรมหรือ
ปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราทำให้มันถูกต้อง ความจริงมันจะปรากฏชัดแจ้งขึ้น และความจริงในเรื่องทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน
นี้ เราไม่สามารถที่จะติดตามหรือคอยประคับประคองกันได้เหมือนทางด้านสมถกัมมัฏฐาน เพราะสมถกัมมัฏฐาน
นั้นเป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับความตั้งมั่นของจิต แต่วิปัสสนากัมมัฏฐานนันเป็นเรื่องของการเกิดแห่งปัญญา
ซึ่งเราจะรู้กันว่าความผิดถูกมีประการใดนั้น ก็จากการที่ผู้ประพฤติปฏิบัติทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง และถ้ามี
ความข้องใจสงสัยประการใด เราก็ต้องชี้แจงและซักไซ้ไล่เรียงทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เรื่องที่สำคัญที่สุดมันไม่
มีอะไร ความสำคัญยิ่งในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น มันอยู่ที่สติตัวเดียวเท่านั้น ถ้าเรามีสติเกิดขึ้นแล้ว ความรู้ต่างๆ
เราสามารถที่จะบอกเล่า สามารถที่จะค้นคว้าศึกษาเล่าเรียน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ แต่สตินั้นเป็นของที่หยิบยื่น
ให้กันไม่ได้จริงๆ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการประพฤติปฏิบัติระหว่างวิปัสสนาและสมถะนั้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในทาง
สมถะนั้น เราสามารถที่จะมีพี่เลี้ยงคอยชี้แจงคอยควมคุมในการก้าวไปของสภาวะจิตได้ แต่การเจริญวิปัสสนานั้นทำ
เช่นนั้นไม่ได้ เพราะแม้แต่ผลของปัญญาและสติที่เกิดขึ้นแต่ละราย เพราะวิปัสสนาไม่เกี่ยวกับสภาวะจิต มันเป็นเรื่องของ
ปัญญา หรือพูดทำไมมีล่ะ ก็คือเป็นเรื่องของอินทรีย์ ๕ ที่มันจะแก่กล้าหรือไม่ พอพูดมาถึงในเรื่องอินทรีย์ ๕ ถ้าพวกเรา
เข้าใจดีแล้วก็จะทราบเหตุผลว่า วิปัสสนานั้นสอบในเรื่องปัญญาสอบกันไม่ได้ ถ้าคนใดบอกว่าสอบในเรื่องปัญญาได้ เขา
ก็คือพระพุทธองค์ปัจจุบันนี้ เพราะการที่จะรู้อินทรีย์ ความอ่อนแก่ของอินทรีย์นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว
เท่านั้น เพราะเป็นญาณเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่พระอรหันต์ก็ไม่รู้เรื่องความแก่กล้าของอินทรีย์
ฉะนั้นผู้ใดบอกว่าฉันรู้อินทรีย์คนนั้นแก่กล้าอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น นั่นคือความโกหก ผมยืนยันเช่นนี้ เพราะว่าถ้าเรา
ได้ศึกษาในเรื่องญาณะต่างๆ ของอริยบุคคล หรือผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะเห็นได้ว่าญาณะของสมเด็จพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าตัวนี้อันหนึ่ง คือความรู้อินทรีย์แก่กล้า นี่เป็นญาณะสำหรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
อย่างนี้ อย่างที่พวกเราเจริญสมถะก็ดีหรืออะไรก็ดี ที่ว่าปฏิบัติกันได้รวดเร็ว ไม่รวดเร็วใช่ เป็นเรื่องความแก่กล้าของ
อินทรีย์ แต่คนไหนจะแก่กล้าเท่าไหร่บอกไม่ได้ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครบอกได้ เพราะเหตุไร เพราะเดากันมาจากผลของ
การปฏิบัติ ผมใช้คำว่าเดานะ เรารู้ว่าเขาแก่กล้า แต่แก่กล้าแค่ไหนไม่รู้ แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ เรื่องของปัญญา
ใครอย่าไปอวดแสดงเลย ฉะนั้นเมื่อมันเป็นเช่นนี้แล้ว มันก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องจ้ำจี้จ้ำไชกันให้เข้าใจกันเสียแต่ละ
ตัวๆ ที่มันจะบังเกิดขึ้น
นอกจากลักษณะแล้วต่อไปเราก็ควรจะได้รู้กิจหรือหน้าที่ของวิจารเจตสิกต่อไปว่า มันมีเป็นประการใด คือมีการ
ทำให้สหชาตธรรมประกอบในอารมณ์เป็นกิจ เห็นไหม มีการทำสหชาติธรรมประกอบในอารมณ์เป็นกิจ ผมพูดแค่นี้
ถ้าพวกเราที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็จะเข้าใจคำพูดของผม แต่ผู้ที่อินทรีย์ไม่แก่กล้า เราก็ควรจะทำความเข้าใจว่าในการทำ
ความสงบทางจิตนั้น สหชาตธรรมที่ประกอบความสงบในขั้นปฐมฌานมันมีอยู่ ๕ ตัว คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และ
เอกัคคตา วิจารนี่มันทำให้สหชาตธรรมประกอบรวบรวมกันเกิดขึ้น คำว่าสหชาตธรรมคือธรรมชาติที่เกิดพร้อมกันนี่
เราหมายถึงการที่ผมพูดนี่หมายถึงการเกิดเฉพาะในสมาธิและนอกจากสมาธิแล้วตามปกติมันก็เกิด แต่มันก็เกิดด้วย
จากอำนาจและหน้าที่ของวิจารเจตสิกตัวนี้
นอกนั้นแล้วก็มีการตกแต่งจิตให้อยู่ในอารมณ์เป็นผล เราจะเห็นได้ว่า ปกติการคิดนึกตามปกติของเรานั้น เรา
อาจจะคิดนึกในอารมณ์หนึ่ง เปลี่ยนไปในอารมณ์หนึ่งได้ แต่ถ้าเราทำกัมมัฏฐานในด้านสมถะ เราอาจจะทำกสิณต่างๆ
อันนี้หมายถึงอารมณ์ในกสิณ ๑0 นั้น เมื่อวิจารเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว มันจะประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง
สมมุติว่าเราใช้แสงสว่างเป็นอารมณ์ วิจารตัวนี้มันก็จะประคองจิตให้เราอยู่ในอารมณ์ของแสงสว่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็น
ความมืดหรือเป็นดินหรือเป็นน้ำ ไม่ใช่อย่างงั้น และที่ผมพูดว่าผลของมันนั้น ก็มีการตกแต่งจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น
คือพยายามประคองจิตนั้นไม่ให้ไปไหน ให้อยู่ในอารมณ์นั่นเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ถ้าเราได้ศึกษากันต่อไปแล้ว เรา
จะเห็นได้ว่าจิตนั้นมันมีหน้าที่รับรู้ แต่มันไม่หยุดอยู่นิ่ง มันชอบซัดส่ายไปนานาประการ แต่ถ้าวิจารเจตสิกตัวนี้เข้ามา
ตบแต่งจิตเข้าแล้ว จิตนั้นมันก็จะอยู่ในอารมณ์ตามที่วิจารกำหนดว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหน
นอกจากนั้นแล้วเราควรจะได้รู้ถึงสาเหตุใกล้ของวิจารเจตสิกด้วยว่า มีอะไรเป็นเหตุใกล้ นั่นก็คือมีนามขันธ์ทั้ง ๓
ที่เหลือเป็นเหตุใกล้ ของวิจารเจตสิกตัวนี้ นามขันธ์ทั้ง ๓ นั่นก็คือ หนึ่งเวทนาขันธ์ ซึ่งมันก็เป็นเจตสิกตัวหนึ่ง แต่เรา
แยกออกไปจากเจตสิก ๕๒ และสัญญาขันธ์มันก็เป็นเจตสิกอีกตัวหนึ่งเช่นเดียวกัน และวิญญาณขันธ์ เราจะเห็นได้ว่า
เวทนาขันธ์ก็ดี สัญญาขันธ์ก็ดี วิญญาณขันธ์ก็ดี นั่นเป็นนามธรรมทั้งสิ้น แต่สำหรับวิจารเจตสิกตัวนี้มันเป็นตัวสังขาร
ขันธ์ที่ผมได้บอกมาแล้วตั้งแต่ต้น ฉะนั้นความรู้สึกของเราทุกคนเราจะเห็นได้ว่ามันเกิดพร้อมกัน พร้อมยังไง พร้อมซึ่ง
ขันธ์ ๕ รูปขันธ์มันก็ทำหน้าที่ของมัน และนามขันธ์อันได้แก่ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
มันก็ทำหน้าที่ของมันโดยครบถ้วน เช่นนี้ แต่พวกเราทุกคนที่ยังแยกแยะไม่ออกนั้น เพราะว่าการเกิดการดับของรูปและ
นามนั้นมันรวมเร็วเหลือเกิน แต่ถ้าเราได้ประพฤติปฏิบัติต่อๆ กันไปแล้ว ปัญญาคือวิปัสสนาญาณมันจะเกิดขึ้น เมื่อ
วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละเราถึงจะรู้การเกิดการดับของรูปและนามนั้นมันมีกันอย่างไร ในระดับขั้นต้น
ที่เรารู้นั้น เรารู้ในขั้นปริยัติ ยังไม่รู้ในขั้นปฏิบัติ คือรู้อย่างไร รู้อย่างการฟัง รู้อย่างการพิจารณา แต่ยังไม่รู้ถึงขั้นภาวนา
ที่ผมพูดมาเช่นนี้นี่ พวกเราที่ยังไม่ได้เคยประพฤติปฏิบัตินี่ อาจจะสงสัยว่ามันก็รู้อันเดียวกันน่ะ ทำไมมันรู้แต่ละขั้นแต่ละ
ตอนเช่นนั้น อ้ายเรื่องนี้ผมเองผมก็จนปัญญาที่จะอธิบายความรู้สึกของความรู้ในขั้นการศึกษา ในขั้นปฏิบัติ และใน
ขั้นภาวนาหรือปัญญาที่มันเกิดจริงๆ นี่มันรู้ผิดกันครับ ผมไม่รู้จะพูดยังไงเหมือนกันน่ะ เพราะว่าถ้าจะพูดเป็นภาษา
คำพูดหรือตัวหนังสือ มันแยกกันไม่ออก ฉะนั้นมีคนหลายคนบอกว่ารู้อริยสัจจ์ ๔ ใช่ ทุกๆ คนอ่านหนังสือออก หูไม่หนวก
ใครๆ ก็ฟังรู้เรื่อง แต่ทีนี้ปัญญามันไม่รู้ ถ้าพวกเราเจริญไปให้ดีแล้ว มันจะรู้ออกมาเอง มันรู้แบบคอมพิวเตอร์ พูดออก
มาเอง ไม่ต้องไปนึกไปคิด ไม่ต้องไปตริตรอง มันออกมาเองแล้วออกมาโดยถูกต้อง ไปเปิดพระอภิธรรมดู ถูกต้องหมด
พวกเรานี่ที่ได้สมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสติแล้ว ลองผลความรู้อันนี้ก็ได้ ถ้าเราอยู่ในสมาธิของอานาปานสติสมาธิ
ในระดับการฟัง ทดลองจากการฟังก็ได้ เราลองอยู่ในอุปจารสมาธิแล้วก็ทำมนสิการให้ถูกต้อง ความรู้มันจะออกมาเองใน
ทางธรรมะนะ เราไม่จำเป็นต้องเข้าถึงปฐมฌานหรือไปเพ่งไปเล็ง สร้างอะไรมันหรอก คือได้เฉพาะการฟังเท่านี้
เราก็รู้ว่ามันแตกต่างกันยังไง
นอกจากวิจารเจตสิกแล้ว มีตัวต่อไปนี้ อธิโมกขเจตสิก อธิโมกข์ตัวนี้หมายถึง การตัดสินอารมณ์ อย่าลืมนะว่า
ตาเราเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้รับการสัมผัสนั้น มันมีอีกตัวหนึ่ง อธิโมกขเจตสิก
เป็นการตัดสินอารมณ์ ไม่ยังงั้นเราตัดสินใจไม่ได้ เรื่องนี้ผมเองก็ไม่อยากจะดึงพวกเราเข้ามาในอภิธรรมมากเกินไป
เพราะมันเกี่ยวกับวิถีจิตในการแลเห็นแป๊บนี่ ไม่ใช่ว่ามันทำกันได้ง่ายๆ นะ ถ้ามาดูพิจารณาถึงวิถีจิตนี่ มันเปลี่ยน
มันแปลงกันตั้ง ๑๓ ๑๔ วาระ แว้บเดียวเท่านั้นน่ะ นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่ง่ายๆ นะ และนอกจากนั้นแล้วเราจำเป็นต้องรู้ลักษณะ
ของมัน ลักษณะของมันก็มีการสันนิษฐานอารมณ์เป็นลักษณะ และมีการไม่โยกไม่คลอนเป็นกิจหรือหน้าที่ มีการตัดสิน
เป็นผล เห็นไหม ที่เราเรียกว่าตัดสินใจน่ะ ตัดสินใจน่ะ ตัวอธิโมกขเจตสิกตัวนี้ บางอย่างเราจะเห็นว่าเราตัดสินใจได้
ช้ามาก แต่บางอย่างแว้บเดียวรู้เลย อย่างนัยน์ตานี่ มอง ที่เห็นนี่ คือจักขุวิญญาณที่เห็นน่ะ ไม่ใช่เห็นคนหรือเห็น
อะไรนะ เห็นเพียงสีเท่านั้นน่ะ นัยน์ตาทำหน้าที่เท่านั้นน่ะ ทีนี้ว่าเห็นเป็นคนหรือสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของนี่ ตัวนี้นะเป็น
ตัวตัดสิน ตัดสินยังไง ตัดสินได้จากความรู้จากสัญญาเจตสิกที่มันจำได้ แล้วอธิโมกขเจตสิกนี่เป็นตัวตัดสิน ระบบของรูป
และนามถ้าเราได้ศึกษาค้นคว้าแล้วนี่ มันยิ่งกว่าการบริหารราชการแผ่นดินอีก มันมีความละเอียดละออ และมีความเที่ยง
ธรรม นี่มันเป็นเรื่องแปลก แต่อันนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีจิต ซึ่งถ้าเราไม่เหม็นเบื่อกันในการศึกษาเล่าเรียนละก็
ไว้พูดกันทีหลัง
แล้วก็มีการสันนิษฐานธรรม ใช้คำว่าสันนิษฐานธรรมนะ เป็นเหตุใกล้ เห็นไหมว่าอะไรมันเป็นยังไง รูปร่างอย่าง
นัยน์ตารายงานไปแล้ว ไม่รู้ นัยน์ตาไม่รู้ว่าเป็นอะไร อ้ายสัญญาก็บอกว่า อ้ายอย่างงี้เขาเรียกว่าคน อ้ายนี่ก็อธิโมกข์
เข้ามาอีก ใช่คนหรือไม่ใช่ ต้องพิจารณาอีกที อ้าวใช่สั่งตูมไปเลยว่าใช่ นี่มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าเราศึกษาในเรื่อง
ในตัวของเรานี่ สนุก ถ้าเราไม่เหม็นเบื่อ แล้วมันก็เป็นความรู้ประกอบขึ้นด้วย เรื่องเหล่านี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสรู้มาแล้ว ๔๕ ปี ไม่ได้สอนอะไรเลย สอนพวกนี้เท่านั้นแหละ ตั้งแต่ขั้นหยาบๆ ห้ามทำอกุศลกรรมบถ ๑0 ไม่ให้
ล่วงไป ขั้นสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนถึงหลุดพ้นหมดจากกิเลสทั้งหลาย นี่
นอกจากอธิโมกขเจตสิกแล้ว ก็มีอีกตัวหนึ่งเรียกว่า วิริยเจตสิก วิริยเจตสิกตัวนี้หมายถึง ความเพียรเพื่อให้ได้
อารมณ์
ฟังดูอย่างนี้เราอย่าอยู่ในวงแคบ การเพียรให้ได้อารมณ์นั้น เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าอารมณ์นั้นมัน
เกิดได้กี่ทาง ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอารมณ์ แล้วทำไมวิริยเจตสิกมันเกิดขึ้นยังไง
เราก็ลองตาเราแลเห็นรูปสวยซิ เขาเดินผ่านไปนี่ อ้ายที่เราเหลียวไปน่ะ เหลียวตามเขาไป อะไร ตัววิริยะนี่แหละ
ตัวอะไร เพราะมันเพียรที่ให้เกิดอารมณ์อันนั้นไว้ อารมณ์จากรูปนั้น ตัวนี้ มีความอุตสาหะเป็นลักษณะ มีการอุดหนุน
ค้ำชูสหชาตธรรมเป็นกิจหรือหน้าที่ มีการไม่ย่อท้อถอยเป็นผล และมีความสลดเป็นเหตุใกล้
วิริยะตัวนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านำมาแนะนำเป็นองค์แห่งความสำเร็จตัวหนึ่ง เป็นตัวที่ ๒ ขององค์แห่ง
ความสำเร็จ คืออิทธิบาท ๔ คือวิริยะ หมายถึงความเพียร ถ้าในแง่ธรรมะก็คือสัมมัปปธาน ๔ แต่วิริยะตัวนี้เป็นความ
หมายถึงเพียรทั่วๆ ไป ดังนั้นมันจึงเข้ากันได้ทั้งกุศลและอกุศล คำว่าอธิโมกขเจตสิกก็ดี วิริยเจตสิกก็ดีเหล่านี้ พวกเรา
ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันมากนัก จึงไม่รู้ลักษณะที่มันเกิดขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นเราไม่รู้เท่าทันมัน เพราะเราไม่ได้ศึกษา
นอกจากวิริยเจตสิกแล้ว ก็มีอีกตัวหนึ่งซึ่งพวกเราเข้าใจว่ารู้จักกันดี นั่นคือ ปีติเจตสิก ซึ่งหมายถึง ความปลาบ
ปลื้มหรือความอิ่มใจในอารมณ์
ในเรื่องนี้พวกเราที่ทำฌานจิตได้แล้ว ผมว่าทุกคนในพวกเราน่าจะได้รู้จักกับตัวนี้
เป็นอย่างดี โดยที่มันมีความอิ่มใจเป็นลักษณะ ของปีติเจตสิกตัวนี้ มีการทำให้กายและใจมีความรู้สึกอิ่มเอิบเป็นกิจ
หรือหน้าที่ มีกายและใจเฟื่องฟูเป็นผล มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ อันได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์
เป็นเหตุใกล้ ทั้งนี้เพราะว่าปีติเจตสิกนั้นมันเป็นสังขารขันธ์ คือถ้าเราจะจำง่ายๆ ในเรื่องของเจตสิก ๕๒ ตัวนี้ เราจำ
มันเพียงว่าอะไรเป็นสัญญา ก็คือสัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เหลืออีก ๕0 ตัวจะดีหรือ
จะชั่ว เป็นตัวกลางยังไงก็ช่างมันเถอะ เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมดเท่านี้ ไม่ต้องไปจำอะไรมันมาก ทีนี้พอมาพูดถึงเรื่องปีติ
หรือความปลาบปลื้มใจหรือความอิ่มใจนี่แล้ว ขอให้พวกเราได้รู้จักว่าเจตสิกตัวนี้มันมีหลายลักษณะด้วยกัน โดยเฉพาะ
เจตสิกที่เราทำสมถกัมมัฏฐานถึงขั้นฌานจิตนี้ มันเป็นเจตสิกที่มีความปลื้มใจ อิ่มเอิบ ซาบซ่านไปทั่วทั้งกายและใจ
นี่เป็นคุณสมบัติของเจตสิกประเภท ผรณาปีติ ซึ่งเป็นเจตสิกที่ประกอบขึ้นเป็นองค์ธรรมในการทำสมถกัมมัฏฐาน
จำไว้ให้ดีนะ เพราะว่าปีตินี่ในการทำสมาธิซึ่งไม่ใช่สัมมาสมาธิมันอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ตัวนี้ ตัวนี้ไม่เกิด ส่วน
ปีติที่เหลืออีก ๔ ตัวนั้นผมจะพูดให้ฟังคือ
ขุททกาปีติ เป็น ปีติที่มีลักษณะปลื้มใจเล็กน้อย พอรู้สึกขนลุกขนชั้นเท่านั้น ตัวนี้น่ะ ไม่เข้า ไม่เข้าเป็นองค์ฌาน
ตามสมถกัมมัฏฐาน ไม่เข้า
ตัวที่ ๒ เรียกว่า ขณิกาปีติ เป็นการปลื้มใจเหมือนกัน แต่เป็นปลื้มใจชั่วขณะและเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่คงที่นะ พวกเรา
ที่ได้ตติยฌาน ฌาน ๓ น่ะ ปีติสม่ำเสมอนะ อ้ายนี่ไม่ใช่ ขณิกาปีตินี่ไม่ใช่
ตัวที่ ๓ โอกกันติกาปีติ อ้ายปีติตัวนี้ถ้าพวกเราไปตามสำนักต่างๆ ที่เห็นเขามีการตัวโคลงตัวหมุนไปรอบๆ นี่เป็น
ปีติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ปีติประกอบขึ้นเป็นองค์ฌานในสมถกัมมัฏฐาน อาจจะเป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ อะไรก็ได้ เกิดขึ้นได้
เพราะปีติตัวนี้มันเป็นตัวกลางนี่
อีกตัวหนึ่ง เรียกว่า อุพเพงคาปีติ อ้ายตัวนี้ ปลาบปลื้มจนตัวลอย นี่แหละ คนที่ทำกัมมัฏฐานนอกจากสมถ
กัมมัฏฐานตามพระพุทธศาสนา ๔0 ทำไปแล้วเกิดปีติตัวนี้ เข้าใจว่ากลายเป็นผู้วิเศษไปแล้ว บางคนตัวลอยขึ้นจากพื้น
นี่เป็นเรื่องลักษณะของปีติตัวนี้
ในปีติทั้ง ๕ ตัวนี้ มีตัวเดียวเท่านั้นที่เป็นองค์ฌานคือ ผรณาปีติ ตัวนี้เท่านั้น นอกกระนั้นไม่เป็น ทำไมถึงได้เป็น
อย่างนั้น เพราะปีติที่กล่าวทีหลังนี้เป็นปีติที่หยาบ ทำไมผมถึงได้ว่าหยาบ ถ้าพวกเราสังเกตจะเห็นว่าบางแห่งนี่พอ
ปีติเกิดขึ้น เขาทำสมาธิปีติเกิดขึ้น เขาหมุนตัวเคว้งคว้างเหมือนอ้ายลูกข่างน่ะ กลิ้งไปน่ะ หมุนไปไกลๆ แค่นี้ยัง
แค่โน้น นี่ปีติตัวนี้ทั้งหมดนี่เป็นสังขารขันธ์ ขอให้เราแยกกันให้ออกนะ เพราะว่ามันเป็นการใกล้กันเหลือเกินปีติกับสุขนี่
คือมันมีความอิ่มใจ มีความสบายใจ ปีติกับสุขนี่ มันใกล้กันเหลือเกิน แต่ปีตินี่เป็นสังขารขันธ์ ส่วนสุขนั้นเป็นเวทนาขันธ์
เราจำไว้ให้ดีด้วย ในหลักการของการทำสมาธินั้น เมื่อมีปีติบังเกิดจะต้องมีสุขประกอบด้วยเสมอ เมื่อมีปีติจะต้อง
มีสุขประกอบด้วยเสมอ นี่เป็นสัมมาสมาธิ แต่เมื่อมีสุขแล้วอาจจะมีปีติประกอบด้วยหรือไม่ก็ได้ ทำไมผมถึงได้พูดอย่างนี้
เพราะปีตินั้นเป็นองค์ธรรมที่ประกอบด้วยในขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน พอล่วงขึ้นไปถึงจตุตถฌานแล้ว
ปีตินั้นก็ถูกละไป ฉะนั้นมันก็คงเหลือแต่สุข ไม่มีปีติ แต่ถ้าต่ำกว่านั้นแล้ว สุขมันเข้าร่วมอยู่ด้วยนี่ สุขมันเข้าไปตั้งแต่
ปฐมฌานถึงจตุตถฌานเท่านั้น ฉะนั้นผมถึงได้บอกว่าปีติแล้วสุขต้องมีอยู่ด้วย แต่ถ้ามีสุข อาจจะมีปีติก็ได้หรือไม่มีก็ได้
แล้วแต่ฌานในขั้นสูงหรือขั้นต่ำ
นอกจากปีติแล้วเราก็รู้กันต่อไปถึง ฉันทเจตสิก ฉันทะตัวนี้หมายถึง ความพอใจในอารมณ์ ความปลงใจที่จะทำ
เมื่อกี้ผมพูดมาแล้วเรื่องวิริยะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดึงเข้ามาไว้ในองค์แห่งความสำเร็จ แต่มันเป็นตัวที่ ๒
ฉันทเจตสิกตัวนี้มันเป็นตัวแรกแห่งอิทธิบาท ๔ หรือองค์แห่งความสำเร็จ นั่นคือความพอใจ เราจะสังเกตดู
ถ้าเรามีความพอใจอะไรแล้ว เราก็สามารถที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จขึ้นได้โดยง่าย ถ้าสิ่งใดที่เราไม่พอใจแล้ว เป็นการยาก
ที่จะทำให้สำเร็จลงไปได้ ดังนั้นการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมของพวกเรานี้ ปัญหาว่าฉันทะมีหรือไม่ ส่วนใหญ่พวก
เรานี่ฉันทะมี แต่พวกที่เข้ามาโดยไม่ได้อะไรไปเลยนั้น มีบางคนเพราะอะไร เพราะเขายังไม่มีฉันทะเกิดขึ้น
เขามาโดยความเป็นเพื่อนเป็นฝูงกัน ติดตามเพื่อนฝูงมาบ้างอะไรมาบ้าง อย่างนี้ ดังนั้นถ้าเราไม่มีฉันทะแล้ว
ไม่มีความพอใจแล้ว อ้ายเจตสิกอื่นๆ มันเกิดขึ้นไม่ได้ มันยากที่จะเกิด เพราะมันไม่มีเครื่องล่อใจ ความหมายของฉันทะ
นอกจากความพอใจในอารมณ์แล้ว ก็มีลักษณะของฉันทะว่า มีความปรารถนาเพื่อจะกระทำเป็นลักษณะ ของฉันทเจตสิก
มีการแสวงหาอารมณ์เป็นกิจหรือหน้าที่ มีความปรารถนาอารมณ์เป็นผล มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ เห็นไหม ในองค์แห่ง
ความสำเร็จ อิทธิบาท ๔ ฉันทะเป็นตัวที่ ๑ วิริยะเป็นตัวที่ ๒ ซึ่งเป็นเจตสิก แต่ผมยังไม่ก้าวล่วงเข้าไปถึงตัวอื่นเพราะเรา
ยังศึกษากันไม่ถึง
เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของ อัญญสมานาเจตสิก คือเจตสิกฝ่ายกลางๆ รวมทั้งหมด ๑๓ ดวง ( ได้แก่
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ ปกิณณกเจตสิก ๖
คือ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ ) เราจะเห็นได้ว่าตัวกลางๆ ที่เราเอามานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกัคคตานั้น
คือตัวให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวนี้นะเป็นตัวสำคัญ แต่มันเป็นตัวกลาง มันเข้าได้ทั้งกุศล มหากุศลจิต ๘ ดวง และอกุศลจิต
๑๒ ดวง มันเข้าได้ เหตุที่มันเข้าได้นี่แหละ ไสยศาสตร์มันจึงได้เกิดขึ้น และเราดูสิเมื่อไสยศาสตร์เกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว
เราแก้ไขกันได้อย่างไร เราก็แก้ไขขึ้นจากเอาเจตสิกนี่แหละมาแก้ไขมัน แต่เราไม่ได้เอาตัวกลางๆ บวกเข้ากับอกุศลจิต
เราไปเอาโสภณเจตสิกบวกเข้ากับเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งพลังมันเหนือกว่า
เมื่อเราได้รู้เจตสิกที่เป็นตัวกลางๆ แล้ว ต่อไปเราก็จะได้ทำความรู้จักกับเจตสิก ที่เรียกว่า อกุศลเจตสิก ซึ่งมี
๑๔ ดวงนั้น มันมีเป็นอย่างไร เราทำความรู้จักกับมันเสีย เมื่อมันเกิดขึ้นเราจะได้รู้เท่าทันมันหาทางแก้ไข ปรับปรุง
เปลี่ยนแปลงมันให้เป็นความดีในภายหลัง อกุศลเจตสิก นั้นก็หมายถึง เจตสิกที่ชั่ว ที่บาป ที่หยาบ ไม่งาม
ไม่ฉลาด มีแต่การยุยงส่งเสริมให้ทำบาป ทำกรรม ทำความชั่วเท่านั้น ความดีแล้วอกุศลเจตสิกไม่ส่งเสริม
และเมื่อเจตสิกประเภทนี้ประกอบเข้ากับจิตแล้ว ก็ทำให้จิตเศร้าหมองเร่าร้อน ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมหมด
เห็นไหม ในตัวเรามีเจตสิกถึง ๕๒ ดวง แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นทาสของอกุศลเจตสิกเพียง ๑๔ ดวงเท่านั้น
นี่เห็นไมว่าความรุนแรงของมันเท่าไหร่ แต่มันก็เป็นเรื่องแปลกมันจะมีความรุนแรงเท่าไหร่ก็ดี ทั้ง ๑๔ ดวงนี่ ถ้ามัน
ปรากฏว่ามีโสภณเจตสิก เช่นสติสักตัวหนึ่งนี่เข้ามาอยู่แล้ว อ้ายอกุศลเจตสิก ๑๔ เหล่านี้จะฟื้นขึ้นไม่ได้ ไม่เกิด มันเปรียบ
เหมือนแสงสว่างนี่มันทำลายความมืดให้หายไปหมด ฉะนั้นพวกเราทุกคนที่ฝึกสติ จึงเป็นคนที่ได้กำไรกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำ
การฝึก อกุศลเจตสิกนั้นมันประกอบเข้ากับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น ไม่ยอมประกอบเข้ากับจิตอื่นเลย อย่าลืมว่าจิต
มันมีถึง ๘๙ ดวง แต่อ้ายอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงนี่ประกอบเข้ากับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น ๑๒ ดวงนั่นมีอะไรบ้าง
คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิตอีก ๒ ดวง
ในอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงนี้ มันแบ่งกันเป็น ๕ พวก คือ
พวกที่ ๑ เรียกว่า โมจตุกเจตสิก เป็นเจตสิกจำพวกโมหะ มีด้วยกัน ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑
อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑
โมจตุกเจตสิกนี้ มันประกอบเข้ากับอกุศลจิตหมดทั้ง ๑๒ ดวง มันเข้ากันได้หมด
ดังนั้นความหลงของคน คำว่าหลงในที่นี้ ผมไม่ได้หมายความที่คนมีอายุมากๆ แล้วหลงๆ ใหลๆ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ
ผมว่าความหลงของคนหมายถึงความไม่รู้คือตัวโมหะนี่ มันจึงเกิดขึ้นได้กับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง ฉะนั้นเราจึงสามารถ
ทำความชั่วได้อย่างง่ายดายกว่าความดีหรือกุศล
พวกที่ ๒ เรียกว่า โลติกเจตสิก เป็นเจตสิกจำพวกโลภะ มีอยู่ ๓ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑
มานะเจตสิก ๑
อ้ายโลติกเจตสิกนี้ มันเข้าได้เฉพาะอกุศลที่เป็นโลภเจตสิก ๘ ดวงเท่านั้น อีก ๔ ดวง มันไม่เข้า
ไม่เหมือนโมหะ ฉะนั้นการที่จะฆ่ากันตายนี่ ฆ่ากันตายเพราะความโลภก็ได้ ความโกรธก็ได้ ความหลงก็ได้ เห็นไหม
อำนาจของโมหะ แต่โลติกเจตสิก นี่ ในเรื่องการคดโกงนี่ มันโกงได้เพราะความโลภเท่านั้นเอง
พวกที่ ๓ เรียกว่า โทจตุกเจตสิก เป็นเจตสิกจำพวกโทสะ มีอยู่ ๔ ดวง คือ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑
มัจฉริยเจตสิก ๑
และกุกกุจจเจตสิกอีก ๑
อ้ายโทจตุกเจตสิกนี่ มันเข้าเฉพาะโทสะเจตสิก ๒ ดวงเท่านั้น อื่นเข้าไม่ได้
พวกที่ ๔ เรียกว่า ถีทุกเจตสิก หมายถึงเจตสิกจำพวกถีนะ มีอยู่ ๒ ดวง คือ ถีนเจตสิก ๑ และมิทธเจตสิก ๑
มันเข้าได้กับอกุศลจิตซึ่งเป็นสสังขาริก ๕ ดวงเท่านั้น เวลาหมดแล้วจึงขอจบเรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๓
ไว้เพียงแค่นี้


เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๓ จบ