เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๔
--------------------------------------------------------------------

อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา น นํ ปาเปน สํยุเช.
ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ไม่ควรประกอบตนนั้นด้วยความชั่ว

พุทธภาษิตดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้ว่าคนเรานั้นถ้าไม่รักตัวแล้วจะรักใครยิ่งกว่า เพราะว่าคนเรานั้นเกิดมาด้วย
กรรมด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อเรายังไม่รักตัวของเรา เราไม่สร้างกรรมดีในระหว่างปวัตติกาลแล้ว ใครเล่าที่เขาจะมาช่วยเราได้
เราก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดทนทุกข์ทนทรมานอยู่ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้แหละสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์จึงได้ตรัสพุทธภาษิตดังกล่าว เพื่อเป็นการเตือนสติเตือนใจพุทธสาวกทั้งหลาย ซึ่งในฐานะที่พวกเราทุกคนก็เป็น
ผู้ที่นับถือพุทธศาสนา เราก็ควรจะได้มีความเคารพรักด้วยศรัทธาในคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะก่อนพระองค์จะนิพพาน
นั้น พระองค์ได้ตรัสไว้แล้วว่า ผู้ที่จักแทนพระองค์นั้นก็คือพระธรรมคำสอนของพระองค์นั่นเอง ดังนั้นพวกเราทุกคนควร
จะได้มีการระลึกรู้ด้วยสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนเราได้พูดกันมาแล้วเรื่องการทำความรู้จักกับนามธรรม วันนี้เราจะได้พูดกันต่อไป เมื่อวันอาทิตย์
ก่อนนั้นเราได้พิจารณากันถึงอกุศลเจตสิกประเภทที่ ๔ คือ ถีทุกเจตสิก ซึ่งหมายถึงเจตสิกจำพวกถีนะ มี ๒ ดวงด้วย
กันคือ ถีนเจตสิกดวงหนึ่ง กับมิทธเจตสิกอีกดวงหนึ่ง เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนั้นประกอบได้เฉพาะอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก
๕ ดวง ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไปในภายหลัง ในขั้นต้นนี้เราควรได้รู้จักอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวงนั้น มัน
แบ่งเป็น ๕ พวก พวกละอย่างไร เราได้กล่าวมาแล้ว ๔ พวก และ
พวกที่ ๕ คือพวกสุดท้าย เรียกว่า วิจิกิจฉาเจตสิก เจตสิกตัวนี้มันอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีพวกประกอบ เป็นตัวเดียว
และจะประกอบเข้ากับ ก็ได้แต่เฉพาะโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาดวงเดียวเท่านั้น
เมื่อเราได้รู้ถึงประเภทอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวง แต่ละพวกแต่ละพ้องมันแล้ว ต่อไปเราก็ควรจะได้รู้จักเจตสิกประเภท
นี้แต่ละดวงว่ามันมีลักษณะเป็นประการใด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ที่พวกเราจะได้รู้ เมื่อเราได้ฝึกสติให้เกิดขึ้น
ตัวแรกของอกุศลเจตสิกนั้นก็ได้แก่ โมหเจตสิก ซึ่งหมายถึง ความหลง ความไม่รู้ตามความเป็นจริงของ
สภาวธรรม ของอารมณ์นั้นๆ
ในเรื่องของโมหะนี่เป็นเรื่องที่ปกตินั้นเป็นเรื่องรู้กันได้ยาก เพราะว่าทุกคนต่างก็บอก
ว่าไม่หลง แต่ความจริงนั้นตัวโมหะหรือความหลงนี่ มันบังเกิดขึ้นบ่อยที่สุด ทำไมผมถึงได้บอกว่าบ่อยที่สุด เพราะว่า
สภาพของจิตเรานั้นมันต้องมีเครื่องปรุงแต่ง ถ้าเราขาดสติซึ่งเป็นโสภณเจตสิกเสียเมื่อใด โมหะก็เข้ามาเป็นเจ้าเรือน
นี่แหละผมถึงได้บอกว่ามันอยู่ในจิตใจของเราเป็นปกติ เว้นเสียแต่ว่าเราจะได้มีการฝึกสติให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบัน
ธรรมแล้ว อกุศลเจตสิกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นโมหะหรือตัวอื่นตัวใดก็ยากที่จะเข้ามากล้ำกรายแก่ตัวเราได้
เหตุนี้แหละประโยชน์ในการฝึกสติจึงมีอยู่มิใช่น้อย ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะว่าปัญญานั้นเราจะสร้างได้จากการเจริญ
วิปัสสนา ถ้าเราไม่มีสติระลึกรู้แล้ว อย่าไปสร้างเลยปัญญานั้น ถึงมันเกิดมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสติไม่ระลึกรู้
ตามทันสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เรามีแต่ความทุกข์ความทรมานในเรื่องนั้นๆ เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติเราฝึกจน
ปัญญาเกิด แต่สติไม่ยอมรับรู้แล้วทุกขเวทนาก็จะเกิดขึ้น ทุกขเวทนาที่เกิดนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์จะได้ให้มีสติ
ระลึกรู้ตามทันที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจำเป็นที่สุดที่จะต้องฝึกสติเสียก่อน เราจึงจะสามารถประพฤติปฏิบัติในเรื่องนี้ได้ โดย
เฉพาะในเรื่องโมหเจตสิกนี้ นอกจากความหมายดังกล่าวแล้ว เราควรจะได้พิจารณาถึงรายละเอียดต่อไปว่ามันมีอะไรบ้าง
ประการแรกคือ มีการไม่รู้เป็นลักษณะ ประการที่สอง มีการปกปิดไว้ซึ่งสภาวะแห่งอารมณ์เป็นกิจหรือหน้าที่
และมีความมืดมนเป็นผล มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้นเป็นเหตุใกล้ ที่ว่าไม่รู้ตามลักษณะของโมหเจตสิกนั้น
หมายถึงความไม่รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ แต่ไปรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ สิ่งที่รู้ สิ่งที่ควรจะรู้ในสิ่งที่ควรรู้นั้น ก็คือการรู้ในธรรม ๘
ประการ คำว่า ธรรม ๘ ประการนี้ ผมอยากจะแนะนำให้พวกเราได้รู้ดังต่อไปนี้คือ
ประการที่ ๑ ไม่แจ้งในทุกข์ เราจะสังเกตดู เรานั่ง เราเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ การเปลี่ยนอิริยาบถเช่นนั้น
เราเพื่อหาความสบาย แต่การเปลี่ยนอิริยาบถเช่นนั้นเราไม่รู้ทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว นี่ เมื่อโมหะบังเกิดขึ้นแล้วเขาจะ
ไม่รู้แจ้งในทุกข์นั่นเลย เหตุนี้เราจึงต้องมีการฝึกสติ
ประการที่ ๒ ไม่แจ้งในเหตุ ไม่แจ้งในเหตุที่ให้เกิดทุกข์นั้น เมื่อโมหะเกิดขึ้น ไม่รู้ ก็ในสภาพของการนั่งนั่น
อีกแหละ เขาพลิกกลับไปเปลี่ยนอิริยาบถไป หนึ่งไม่รู้ทุกข์ และก็ไม่แจ้งเหตุที่ให้เกิดทุกข์นั้นก็ไม่รู้อีก สังเกตดูว่า
การเจริญวิปัสสนานั้นไม่ใช่เป็นของง่ายๆ เราจะต้องมีความละเอียดละออ มีความสังเกต มีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ
ประการที่ ๓ ไม่แจ้งถึงการดับทุกข์ นี่ เรานั่งนั่นอีกแหละเราพลิกไป ไม่รู้ว่าการพลิกนั้นทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว เหตุ
แห่งทุกข์นั่นเพราะว่าเรานั่งอยู่ในลักษณะเช่นนั้น และก็ไม่รู้อีกว่าเราเปลี่ยนอิริยาบถเช่นนั้นนี่ เพื่อจะให้ดับทุกข์ที่มันเกิด
ขึ้นได้
ประการที่ ๔ นอกจากนี้ยัง ไม่แจ้งหนทางที่จะดับทุกข์ ที่ผมยกตัวอย่างมาเปรียบเหมือนการนั่งนั้น มันเรื่องของ
การเปรียบให้เราเห็นได้ง่ายๆ ยังไม่เข้าถึงความเข้าใจในทางธรรมะ
ประการที่ ๕ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกตัวหนึ่ง ตัวที่ ๕ คือ ปุพฺพนฺเต อญาณํ คือ ไม่แจ้งในขันธ์ หนึ่ง ขันธ์ ๕
ตัวเรามีขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป สัญญา เวทนา สังขาร และวิญญาณ เราก็ไม่รู้ นอกจากไม่แจ้งในขันธ์แล้ว ไม่แจ้งในอายตนะ
ซึ่งเรามีอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ไม่แจ้งในธาตุ ซึ่งเรามี ธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรู้ อย่างละ ๖ เป็น ๑๘
ไม่แจ้งในอินทรีย์ ๒๒ ไม่แจ้งในสัจจะ หรือความจริง ไม่แจ้งในปฏิจจสมุปบาท หรือเหตุและปัจจัยในการที่
จะเกิดผลนั้นๆ ขึ้น ที่เป็นส่วนอดีต
ประการที่ ๖ ไม่แจ้งในข้อที่ ๖ นั้น ไม่แจ้งในลักษณะดังกล่าว คือไม่แจ้งในขันธ์ ไม่แจ้งในอายตนะ ไม่แจ้งในธาตุ
ไม่แจ้งในอินทรีย์ ไม่แจ้งในสัจจะ ไม่แจ้งในปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นส่วนอนาคต
เมื่อกี้นี้พูดถึงอดีตซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในเหตุ ถ้าเราจะแปลงกันมาเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ ไม่เชื่อในกรรม
ซึ่งกระทำนั่นเองในข้อที่ ๕ และข้อที่ ๖ ซึ่งเป็นส่วนของอนาคตก็ไม่เชื่อในผล คือไม่เชื่อในผลของกรรมหรือไม่เชื่อ
ในวิบาก
นั่นเอง
ประการที่ ๗ ข้อที่ ๗ เป็นผู้ที่ไม่แจ้งดังกล่าวเมื่อกี้นี้ ทั้งในส่วนที่เป็นอดีต ทั้งในส่วนที่เป็นอนาคต คือไม่เชื่อในเหตุ
และไม่เชื่อในผล
ซึ่งหมายถึงการไม่เชื่อนั้น ไม่เชื่อกรรมที่ตนกระทำลงไปและไม่เชื่อวิบากที่ตนจะได้รับ นี่เป็น
การที่ไม่รู้ประการที่ ๗
ประการที่ ๘ ไม่รู้ประการที่ ๘ ก็คือไม่แจ้งในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลอันต่อเนื่องกัน นั่นหมายถึงว่า การเชื่อ
ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตานั่นเอง
นี่เป็นความหมายของโมหะ คือไม่รู้ ไม่รู้ในเรื่องของ ๘ ประการนี้
ทีนี้อกุศลเจตสิกตัวที่ ๒ เรียกว่า อหิริกะ หมายถึง อหิริกเจตสิก คือความไม่ละอายต่อการทำบาป ไม่ละอาย
ต่อการทำอกุศล
อหิริกเจตสิกนี้มันเป็นอกุศลเจตสิกซึ่ง มีการไม่เกลียดต่อกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ พวกเราอย่า
ลืมเสียว่าทุจริตนั้นเป็น ๓ คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ถ้าอหิริกเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว เราก็ย่อมไม่เกลียดต่อ
การทุจริตทั้ง ๓ นั้น และมีการทำบาปเป็นกิจหรือหน้าที่ มีความไม่เกลียดต่ออกุศลเป็นผล มีการไม่เคารพตนเป็น
เหตุใกล้ เราจะเห็นได้ว่า คำว่าเหตุใกล้ มีการไม่เคารพตนเป็นเหตุใกล้นั้น ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าเหตุที่การ
ไม่เคารพตนนั้น เพราะหนึ่งไม่ละอายต่อวัยหรืออายุ ไม่ละอายต่อเพศ ไม่ละอายต่อตระกูล และไม่ละอายต่ออกุศลทั้งหลาย
นั่นเอง
นอกจากอหิริกเจตสิกแล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นคู่กันเรียกว่า อโนตตัปปเจตสิก อโนตตัปปเจตสิกนี้คือ ความไม่
สะดุ้งกลัวต่อการทำบาป ไม่สะดุ้งกลัวต่อการทำอกุศล
มีการไม่สะดุ้งกลัวต่อบาปเป็นลักษณะ มีการทำบาปเป็นกิจ
มีความไม่เกลียดต่อบาปธรรมเป็นผล ไม่มีการเคารพผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ นี่ เป็นลักษณะของอโนตตัปปเจตสิก คือ
อกุศลเจตสิกตัวที่ ๓
อกุศลเจตสิกตัวที่ ๔ ในประเภทโมหะนั้นอีกตัวหนึ่งเรียกว่า อุทธัจจะ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบ ความ
คิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ
โดยมีความไม่สงบเป็นลักษณะ คำว่าอุทธัจจะเจตสิกหรือความไม่สงบนี้ ผมว่าพวกเรา
ทุกคนก่อนที่จะทำกัมมัฏฐานคือสมาธิ ทุกคนจะได้รู้จักความหมายของคำว่า ไม่สงบนั้นมีเป็นประการใด และมีการ
ไม่มั่นในอารมณ์เดียวเป็นกิจ มีความหวั่นไวเป็นผล มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่อารมณ์เป็นเหตุใกล้ ฉะนั้นพวกเรา
ทุกคนคงจะได้ประสบมาแล้ว เมื่ออุทธัจจะเจตสิกเกิดขึ้นนั้น เราไม่สามารถจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ จนกว่า
เจตสิกตัวนี้จะบรรเทาเบาบางหายไป ด้วยการตัด ด้วยศรัทธา ด้วยสิ่งแวดล้อม ด้วยการเสวนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม
เมื่ออุทธัจจเจตสิกเสื่อมลงไปแล้ว เราจึงจะสามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ และอย่าลืมว่าอุทธัจจเจตสิกตัวนี้มันเป็น
นิวรณธรรมตัวหนึ่งในนิวรณธรรม ๕
เมื่อเราได้รู้ถึงโมจตุกเจตสิกทั้ง ๔ ตัว ( โมหะ , อหิริกะ , อโนตตัปปะ , อุทธัจจะ ) แล้วต่อไปเราจะได้ทำความ
รู้จักกับโลติกเจตสิก ซึ่งมีอยู่อีก ๓ ตัว ได้แก่ โลภะ ๑ ทิฏฐิ ๑ มานะ ๑
โลภเจตสิก นี้ได้แก่ ความรัก ความอยากได้ ความติดใจในอารมณ์ทั้ง ๖ ซึ่งหมายถึง มีการถือมั่นซึ่ง
อารมณ์เป็นลักษณะ มีการติดในอารมณ์เป็นกิจ มีการไม่บริจาคเป็นผล มีการดูด้วยความยินดีในสังโยชน์เป็นเหตุใกล้
นี่เป็นคุณสมบัติของโลภเจตสิก แต่ถ้าเราจะศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไปแล้ว ความหมายของโลภะนี่หมายจำแนกได้เป็น
๑0 ประการ ดังนี้ คือ
๑. ตัณหา คือความต้องการ นี่อยู่ในอำนาจของโลภะ
๒. ราคะ คือความกำหนัด อยู่ในอำนาจของโลภะ
๓. กามะ คือความใคร่ ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๔. นันทิ คือความเพลิดเพลิน ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๕. อภิชฌา คือความเพ่งเล็ง ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๖. ชเนตติ คือความก่อให้เกิดกิเลส ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๗. โปโนพภวิกะ คือความนำให้เกิดในภพใหม่ ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๘. อิจฉา หมายถึงความปรารถนา ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๙. อาสา หรือความหวัง ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
๑0. สังโยชน์ คือความเกี่ยวข้อง ผูกพัน ผูกมัด รัดไว้ ล่ามไว้ ก็อยู่ในอำนาจของโลภะ
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในเรื่องของโลภะนี้ มันมีความหมายกว้างขวางมากมาย เพราะว่าความกำหนัดซึ่งอยากได้ซึ่ง
กามคุณเราเรียกว่ากามตัณหา ตัณหาที่พร้อมด้วย สัสสตทิฏฐิ เราเรียก ภวตัณหา และตัณหาที่เกิดพร้อมด้วย
อุจเฉททิฏฐิ เราเรียกว่า วิภวตัณหา
สังเกตดูพวกเราทุกคน ที่เราจะสร้างคุณธรรมในทางสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ผลต่อไปนั้น มันเป็นเรื่องที่ทำกัน
ไม่ได้ง่ายๆ ถ้าหากเราไม่รู้เล่ห์ไม่รู้เหลี่ยมของโลภเจตสิกตัวนี้ เพราะอะไร เพราะเพียงแต่ความหวังในผลสำเร็จเกิดขึ้น
มันก็เป็นโลภะเจตสิกไปแล้ว ฉะนั้นการทำความแก่กล้ามันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าสมถะที่จะทำให้แก่กล้านั้น เราจะต้อง
มีจิตเป็นอุเบกขา คือจิตพ้นจากฐานะ ๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลภเจตสิกตัวนี้แหละ ที่เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากเหลือหลาย
ที่เราไม่รู้เท่าทันมัน เราจึงลำบากตรากตรำ ดังนั้นการที่เราเข้าใจว่าเราทำสมาธิได้ขั้นความสงบแล้วนั้นโลภะจะหมดไป
ไม่ใช่ มันระงับไปได้ชั่วขณะเท่านั้น แต่ทีนี้ในการสร้างสรรค์เพื่อจะก้าวหน้าต่อไปนั้น ถ้าเรามีเจตนาด้วยโลภะเข้าครอบ
คลุมอยู่แล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ในเรื่องนั้นๆ ให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นในการสร้างผลในทางสมถะนั้น ถ้าเราจะ
ทำลายตัวโลภะนี้ได้แล้ว ผลก็ย่อมบังเกิดขึ้น แต่ในฐานะที่ทุกๆ คนพวกเรานั้นก็ยังมีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นการ
ทำลายโลภะด้วยความตั้งใจของเรานั้นจึงไม่มีผล แต่ผลแห่งการทดลองประพฤติปฏิบัติด้วยสร้างขึ้นด้วยเจตนาของ
ไตรลักษณตัวใดตัวหนึ่ง เอามาประกอบขึ้นแล้ว ผลแห่งการทำลายโลภะในขณะปฏิบัติสมถะนั้น ผลบังเกิดขึ้นดีกว่า
เราปล่อยจิตใจของเราให้อยู่เป็นปกติ โดยไม่นำเอารากฐานในทางปัญญามาใช้
นอกจากโลภเจตสิกแล้ว เราควรจะได้ทำความรู้จักตัวต่อไปอีกตัวหนึ่งนั่นคือ ทิฏฐิเจตสิก ทิฏฐิเจตสิกในที่นี้
หมายถึง ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริงในสภาวธรรม มีการถือมั่นด้วยหาปัญญามิได้เป็นลักษณะ เราจะ
สังเกตในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเป็นมงคล เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้
ทิฏฐิเจตสิกมาเป็นเครื่องประกอบ ดังนั้นในหลักของธรรมะจึงถือว่ามีการเชื่อ มีการถือมั่นด้วยหาปัญญาไม่ได้ ฉะนั้น
การถือมั่นด้วยทิฏฐิกับการเชื่อด้วยศรัทธานั้นคนละตัว เราจะเห็นคนบางคนบอกหลวงพ่อหลวงแม่นั้น โอ้โฮศักดิ์สิทธิ์จริงๆ
อันนี้ ความเชื่ออันนี้เป็นเรื่องของทิฏฐิ ไม่ใช่เรื่องของศรัทธา ศรัทธาในพระพุทธศาสนา นั้นต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่เชื่อ
กันอย่างงมงาย ฉะนั้นศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงมีปัญญาเข้ามาแทรกแซงอยู่ด้วย แต่ความเชื่อในสิ่งต่างๆ ดังกล่าว
คือ เชื่อด้วยทิฏฐินั้น ก็ทิฏฐิเจตสิกตัวนี้ เราบอกกันแล้วว่ามันเป็นอกุศลเจตสิก แล้วความสว่าง นั่นคือปัญญามันจะเข้า
มาประกอบได้อย่างไร เราจะป้องกันทิฏฐิเจตสิกหรือความเชื่อด้วยความงมงายนั้นได้เพียงประการเดียว สิ่งนั้นคือสติ
ผมพูดไปเช่นนี้พวกเราอาจจะหาว่าผมเป็นพ่อค้าขายสติก็ได้ ไม่ต้องไปซื้อมาจากผมหรอก พวกเราทุกคนมีอยู่ด้วยกันแล้ว
ปลุกให้มันตื่น อย่าให้มันนอนหลับเสีย เราหมั่นสนทนาวิสาสะกับมัน สังคมกับมัน อย่าลืมว่าสตินั้นมันเป็นแสงสว่าง
เมื่อเราคบหาสมาคมกับแสงสว่างเช่นนี้แล้ว ความมืดมันก็ไม่สามารถจะเข้ามาปกคลุมรุมล้อมเราได้แต่ประการใด
ทิฏฐิเจตสิกนั้น นอกจากมีการถือมั่นด้วยหาปัญญามิได้เป็นลักษณะแล้ว ก็มีการถือผิดจากสภาวะเป็นกิจ มีการยึด
ถือความเห็นผิดเป็นผล ไม่ต้องการเห็นพระอริยหรือเห็นธรรมะเป็นเหตุใกล้ ทิฏฐิเจตสิกนั้นเป็นความเห็นผิดเสมอไป
ซึ่งผมเสียดาย ในพวกเรานี่ไม่ค่อยจะมีกัน
ทิฏฐิสามัญนั้น ก็ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือ เห็นความเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา คือเห็นผิดหมดว่า ขันธ์ ๕
ซึ่งได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เป็นอัตตา ตัวตน เราเขา รวมทั้งพวกที่เห็น
ว่าพระนิพพานเป็นอัตตาด้วย ก็สักกายทิฏฐิเช่นกัน ซึ่งมีบางแห่ง สอนมิจฉาทิฏฐิตัวนี้ว่าเป็นพระธรรมคำสอน มันก็เป็น
การกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ผลพวกเขาจะเป็นอย่างไรก็คิดดูเอาเอง นี่จัดเป็นทิฏฐิสามัญปกติ ส่วนใหญ่มี แต่ถ้าใครละเว้นเสีย
ได้มันก็เป็นกำไรของชีวิต
ทีนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งที่เรากลัวกันนักหนาก็คือ ทิฏฐิพิเศษ คือได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ มีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่
ตัวที่ ๑ อเหตุกทิฏฐิ คือ ความไม่เชื่อในเหตุ หมายถึงความไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อว่าอดีตมีจริง นี่ ไม่เชื่อกรรม
ที่กระทำลงไป คนประเภทนี้เขาจะไม่รู้จักว่า กุศลเป็นยังไง อกุศลเป็นยังไง เขาถือว่ามันไม่มี และที่เขาเกิดมาในชาตินี้
เขาถือว่ามันเป็น by product ของพ่อแม่เขาที่หาความสนุก เขาไม่นึกถึงว่าการเกิดมาในชาตินี้นั้นมันเกิดเพราะกรรม
ชนกกรรมซึ่งเป็นตัวทำให้เกิด นี่เรียกว่าอเหตุกทิฏฐิ คือความไม่เชื่อในเหตุ
ตัวที่ ๒ ก็ได้แก่ นัตถิกทิฏฐิ ความไม่เชื่อในผล หมายถึง เขาไม่เชื่อวิบากกรรมจะตามมาสนองเขา หรือไม่เชื่อ
ว่าชาติหน้ามีจริง เขาคงยึดแต่ในปัจจุบันเท่านั้น
ตัวที่ ๓ อกริยทิฏฐิ คือ ไม่เชื่อทั้งเหตุและไม่เชื่อทั้งผล นั่นหมายถึง บุญก็ไม่เชื่อ บาปก็ไม่เชื่อ ชาติหน้ามีจริง
ก็ไม่เชื่อ อดีตชาติมีจริงก็ไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อหมด
ทิฏฐิพิเศษอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ตัวตน เราเขา เที่ยงแท้
แน่นอน
ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามกับพระธรรมคำสอนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
มันเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง แต่เขาบอกว่ามันเที่ยง
ทิฏฐิพิเศษอีกตัวหนึ่งเรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ ซึ่งเขามีความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เราเขา แล้วเมื่อตายแล้วอัตตาสูญ ไม่ต้องเกิดอีก อย่างนี้
เราจะได้ยินได้ฟังเยาวชนในปัจจุบันในสังคมปัจจุบัน คนไทยเรานับถือพุทธศาสนาแต่ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนี้
ทำไม ไปลงทะเบียนไว้ว่าเป็นพุทธศาสนาทำไม ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะทิฏฐิตัวนี้ โดยเฉพาะทิฏฐิซึ่ง
เรียกว่ามิจฉาทิฏฐินี่แหละ มันเป็นมโนกรรมตัวหนึ่ง มโนกรรมซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิตัวนี้ ผลนั่นคือเป็นครุกรรม
มีความเคียงบ่าเคียงไหล่กันกับอนันตริยกรรม นั่นเอง
เมื่อเราได้รู้จักทิฏฐิแล้ว ต่อไปเราก็มาถึงโลติกเจตสิกตัวที่ ๓ ได้แก่ มานเจตสิก มานเจตสิกนี้ขอให้พวกเราดู หันดู
สังคมในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าสูงหรือต่ำ ต่างก็เต็มไปด้วยมานเจตสิกทั้งสิ้น มานเจตสิกในที่นี้หมายถึง ความถือตน ความ
ทะนงตน
ซึ่งมีการทะนงตนเป็นลักษณะ ของมานเจตสิก มีการยกย่องสัมปยุตตธรรมเป็นกิจ เมื่อมีความทะนงตนแล้ว
มันก็ต้องมีการแสดงออก สังเกตเถอะ และมีความปรารถนาสูงเป็นผล โลกเราที่ปั่นป่วนกันอยู่ทุกวันนี้ มานเจตสิกนี้
แหละเป็นตัวที่ยังความปั่นป่วนในโลกให้เกิดขึ้น ทั้งนี้มานเจตสิกนี่มีโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิวิปปยุตตนี่ เป็นเหตุใกล้
ถ้าเราจะ analyse กันให้มีความละเอียดละออซักหน่อยแล้ว คำว่า มานเจตสิก นี้ หมายถึงถือตัวเรานี้เป็นผู้
เลิศกว่าเขา ใครจะเลิศกว่าเราไม่ได้หรือถือตัวว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเราเสมอเขา หมายความว่าเห็น
ใครเขาวิเศษ เราจะเห็นในอดีตในเรื่องของการเมืองเราจะเห็นว่า เมื่อมีคดีขึ้นศาลในเรื่องเกี่ยวกับหมิ่นพระบรมเดชา
นุภาพนั้น ก็ด้วยมานเจตสิกตัวนี้แหละมันเป็นตัวที่ทำให้เกิดขึ้น และอีกตัวหนึ่งสำคัญตัวว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขา แต่สำคัญ
ตัวว่าเราเลวกว่าเขา พวกนี้ไม่ยอมคบค้ากับใครๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะคบค้าก็คบค้ากันแต่พวกที่มีจิตต่ำทราม พวที่มีจิตสูง
ไม่ยอมคบค้าด้วย นี่ มันแปลก
ทีนี้อีกประเภทหนึ่ง ประเภทที่เป็นผู้เสมอเขานี่ คำว่าเป็นผู้เสมอเขานี่ยังมานเจตสิกเข้าไปครอบคลุมในลักษณะ ๓
ประการคือ สำคัญว่าเลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง นี่ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีฐานะการศึกษา ระดับ
หน้าที่การงานอันเดียวกัน แต่ก็ยังมีการถือตนว่าเลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง สำหรับประการแรก
นั้นหมายถึงผู้ที่เลิศกว่าเขา
ทีนี้ประการสำคัญประการที่ ๓ ก็คือในระดับผู้ที่เลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา หรือสำคัญตัวว่าเสมอเขา
หรือสำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา อย่างนี้เรียกว่ามานะทั้งสิ้น
ความสำคัญตัวอย่างนี้แหละ ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน มานะนั้นถ้าเราจะสรุปให้
เหมาะสมแล้วก็คงจะได้แก่
๑. อติมานะ ได้แก่ การดูหมิ่นท่าน
๒. สารัมภะ ได้แก่ การแข่งดี
๓. ถัมภะ ได้แก่ การเป็นผู้มีหัวดื้อ
๔. สาเถยยะ ได้แก่ ความเป็นผู้โอ้อวด มีอะไรนิดหน่อยฟุ้งอะไรก็ไม่รู้
ซึ่งถ้าเราจะเปรียบเทียบกันแล้ว เราจะรู้ได้ว่าเรามีมานะเกิดขึ้นหรือไม่ เราจะรู้ได้ว่าเมื่อเรามีการเปรียบเทียบ
เรากับผู้อื่น มีความสูง ความต่ำ ความดี ความเลวกว่ากันอย่างไร ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกันว่าด้วยเรื่องชาติ เรื่องโคตร
เรื่องตระกูล รูป สมบัติ ทรัพย์ ศิลปะวิทยา การงาน หรือความเฉลียวฉลาด ถ้ามีการเปรียบเทียบกันเมื่อใดแล้ว
ถือว่ามานะจะเกิดขึ้นทั้งสิ้น ฉะนั้นพวกเราทุกคนที่ได้รู้ความหมายของมานะแล้วเราพยายามลดมันเสียบ้าง ใครเขาจะหา
ว่าเราเป็นคนบ้า ไม่สามารถจะอยู่ในสังคมได้ก็ช่างมันเถอะ เรายอมลำบากเสียในชาตินี้ ให้คนเขากล่าวร้ายป้ายสีเรา
เออบอกกว่าอ้ายนี่โง่ มันเป็นคนบ้า อย่าไปถือสาอะไรมันเลย แค่นี้ ใจเราสบายกว่า ถ้าเราจะเอามานะเข้ามาเป็นสมบัติ
ของตัวซึ่งเป็นคุณสมบัติของสังคมในปัจจุบันนี้
นอกจากโลติกเจตสิก ๓ ตัว ( โลภะ ทิฏฐิ มานะ ) ที่ผมกล่าวมาแล้วนี้ มันก็ยังมีอีกตัวหนึ่งในประเภท โทจตุกเจตสิก
ซึ่งมี ๔ ตัว ได้แก่ โทสะ ตัวหนึ่ง อิสสา ตัวหนึ่ง มัจฉริยะ ตัวหนึ่ง กุกกุจจะ อีกตัวหนึ่ง ทั้ง ๔ ตัวนี้ อยู่ในหมวด
ของโทจตุกเจตสิกทั้งสิ้น เมื่อเรารู้ความหมายแห่งหมวดนี้แล้ว เราควรจะได้มาพิจารณาแต่ละตัวของโทจตุกเจตสิกว่า
มีอะไรบ้าง
ตัวแรกที่เราจะนำมาพิจารณากันก็คือ โทสเจตสิก ได้แก่ ความโกรธ ความไม่ชอบใจในอารมณ์ ๖ คือ ตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ
นั่นเอง มีความหยาบกระด้างเป็นลักษณะ มีการทำให้จิตตนและผู้อื่นหม่นไหม้เป็นกิจ มีการ
ประทุษร้าย การทำลายเป็นผล มีอาฆาตวัตถุเป็นเหตุใกล้ ความไม่ชอบใจ ความเสียใจ ความกลุ้มใจ ความรำคาญใจ
ความหงุดหงิด ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว การประทุษร้าย การทำลาย เหล่านี้เป็นคุณสมบัติของโทสะทั้งสิ้น
อาฆาตวัตถุ อันเป็นเหตุให้เกิดโทสะนั้นมีอยู่ ๑0 ประการตาม พระอภิธรรม คือ
๑. อาฆาตเขาเพราะคิดว่าเขาได้ทำความเสื่อมให้แก่เรา
๒. อาฆาตเขาเพราะคิดว่าเขากำลังทำความเสื่อมให้แก่เรา
๓. อาฆาตเขาคิดว่าเขาจะกระทำความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้นแก่เรา หมายถึง อดีต ปัจจุบัน อนาคต นั่นเอง
๔. อาฆาตเขาเพราะคิดว่าเขาได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารักเราชอบ นี่เป็นอดีต
๕. อาฆาตเขาเพราะคิดว่าเขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารักเราชอบ นี่เป็นปัจจุบัน และ
๖. อาฆาตเพราะคิดว่าเขาจะทำความเสื่อมความเสียให้แก่ผู้ที่เรารักเราชอบ นี่เป็นอนาคต
๗. ได้แก่ อาฆาตเขาเพราะคิดว่าเขาได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียดเราชัง นี่เป็นอดีต
๘. อาฆาตเขาเพราะคิดว่าเขากำลังทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียดเราชัง เป็นปัจจุบัน และ
๙. อาฆาตเขาที่คิดว่าเขาจะกระทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียดเราชัง นี่เป็นอนาคต
๑0. คือ อาฆาตที่เกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นตัวเรานี่เดินเหม่อสะดุดตอไม้ เหยียบก้อนอิฐ
เหยียบหนามแล้วโกรธ ทำไมเราไม่พิจารณาตัวเราเอง ว่าเรา มีความละเอียด มีความรอบคอบ มีสติสัมปชัญญะแค่ไหน
อ้ายนั่นมันเป็นธรรมชาติของมัน มันกลิ้งอยู่อย่างนั้น มันตกอยู่อย่างนั้น ก็ทำไมเราเป็นผู้ที่มีชีวิตจิตใจ เราจะเดินทำไม
เราไม่หลีกให้มันพ้น ว่าอะไรมันควรจะเป็นอะไร เหล่านี้เป็นเรื่องของโทสเจตสิก
ทีนี้มาถึงตัวที่ ๒ คือ อิสสาเจตสิก อิสสาตัวนี้พวกเราอาจจะไม่ค่อยเคยได้ยิน คงเข้าใจว่าอิจฉา อิจฉากับอิสสา
นี่คนละตัว อิสสาเจตสิกนี่ได้แก่ ความไม่ยินดี ความริษยาในการได้ลาภได้ยศของผู้อื่น มีการริษยาในสมบัติของผู้อื่น
เป็นลักษณะ มีการไม่ชอบใจในความมั่งมีของผู้อื่นเป็นกิจ มีการเบือนหน้าหนีจากสมบัติของผู้อื่นเป็นผล มีสมบัติของ
ผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ นี่ เป็นลักษณะของคำว่าอิสสา
อีกตัวหนึ่งคือ มัจฉริยะ หมายถึงความตระหนี่ เหนียวแน่น ไม่ยอมสละ มีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะ
คำว่าสมบัติในที่นี้ อาจจะเป็นสมบัติที่เป็นวัตถุก็ได้ สติปัญญาก็ได้ อะไรพวกนี้เป็นต้น มีแล้วไม่ให้ใครน่ะ มีการไม่ชอบ
สมบัติของตนเป็นสาธารณะแก่ผู้อื่นเป็นกิจ มีความหดหู่ หวงแหนไม่เผื่อแผ่เป็นผล มีสมบัติของตนเป็นเหตุใกล้ นี่
เรียกว่ามัจฉริยะ ซึ่งได้แก่
อาวาสมัจฉริยะ คือ ตระหนี่ที่อยู่
ลาภมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ในลาภ
ธัมมมัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่ในธรรม
กุลมัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่ตระกูล
วัณณมัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่ในวรรณะ
ตามที่ผมได้พูดมานี้ เป็นการแนะนำให้เราได้รู้จักกับอกุศลเจตสิกมีเป็นประการใด แต่ก็ยังไม่จบ แต่เทปมันจะหมด
อยู่แล้ว จึงขอยุติ เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรม ตอนที่ ๔


เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๔ จบ