เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๕
--------------------------------------------------------------------

เต ฑีฆรตฺตํ โสจนฺต เย ปมชฺชนฺติ มาณวา
คนประมาท ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน

พุทธภาษิตดังกล่าวจะแลเห็นได้ว่า ผู้ที่มีความประมาทหรือเรียกว่าผู้ที่ขาดสตินั้น ย่อมจะได้รับความเศร้าโศกสิ้น
กาลนาน คำว่าความเศร้าโศกในที่นี้ ผู้ที่ขาดสตินั้นพึงจะได้รับทั้งปัจจุบันกาลและอนาคตกาล ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ผู้ที่
ขาดสตินั้น อกุศลจิตย่อมเข้ามาครอบครองและเขาจะไม่มีโอกาสที่จะสร้างกุศลให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสติเขาได้หายไปไม่
เกิดขึ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า คนประมาทย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนานฉะนี้ เพราะว่ากุศลก็ไม่สามารถ
จะสร้างขึ้นได้ และสร้างได้อย่างเดียวเพียงแต่อกุศล ความประมาทนั้นพวกเราทุกคนได้ตักเตือนกันแล้วว่า พึงมีสติอยู่
เสมอ อย่ามีความประมาท แม้กระนั้นพวกเราก็ไม่สนใจในคำสั่งคำสอน สิ่งใดรู้แล้วว่ามันไม่ดี แม้แต่เราจะทำทาน คือ
การกินการอยู่ทุกวันนี้ ได้เคยสั่งสอนกันมาแล้วว่าทานนั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ ๓
องค์ที่ ๑ คือ ปฏิคาหก หมายถึง ผู้กินจะต้องมีความบริสุทธิ์
องค์ที่ ๒ นั่นคือ ผู้บริจาค หรือเรียกว่า มัคคทายก จะต้องมีจิตอันเป็นมหากุศล พร้อมด้วยเจตนา ๔
องค์ที่ ๓ คือ ตัวทาน นั้น จะยังเกิดประโยชน์แก่ปฏิคาหก
เรื่องนี้เราได้เคยพูดกันมา นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่มีผู้ใดสนใจในเรื่องนี้ ทำอะไรคิดว่ามีเงิน ทำอะไรก็ทำได้ ไม่ได้คิดว่า
สิ่งใดมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ มีแต่เอาทางโลกสังคมปัจจุบันเข้ามาพัวพันกัน เช่นนี้ ประโยชน์หรือกุศล
มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราบอกแล้วว่าเรามาพบปะเจอะเจอกันนั้นเพื่อยังกุศลความถูกต้องให้บังเกิดขึ้น แต่พวกเรา
บางคนก็อยากทดลองเอาสังคมเข้ามาปะปนในพุทธศาสนา
เมื่อวันอาทิตย์ก่อน เราได้พูดกันมาแล้วถึงเรื่อง มัจฉริยเจตสิก มัจฉริยเจตสิก คือความตระหนี่เหนียวแน่นไม่
ยอมเสียสละ
ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้คือ มีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะ มีการไม่ชอบให้สมบัติของตนเป็น
สาธารณะแก่ผู้อื่นเป็นกิจ มีความหดหู่ หวงแหนไม่เผื่อแผ่ เป็นผล มีสมบัติของตนเป็นเหตุใกล้ มัจฉริยะตัวนี้เป็น
อกุศลเจตสิกตัวหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว เป็นการยากที่ผู้นั้นจะทำให้เกิดศรัทธาในการทำทานให้เกิดขึ้นได้ มัจฉริยะ
นั้นแบ่งออกเป็น ๕ ประการด้วยกัน คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ ได้แก่ การตระหนี่ที่อยู่
๒. กุลมัจฉริยะ ได้แก่ การตระหนี่ตระกูล
๓. ลาภมัจฉริยะ ได้แก่ การตระหนี่ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะ ได้แก่ การตระหนึ่วรรณะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ ได้แก่ การตระหนี่ธรรม
เมื่อเรามาพูดกันถึงความตระหนี่อย่างนี้ สำหรับอาวาสมัจฉริยะนี้อย่างหนึ่งกับลาภมัจฉริยะ คือการตระหนี่ที่อยู่กับ
การตระหนี่ลาภนั้น สังคมปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่ามีการแพร่หลายกันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเกี่ยวกับการ
การค้าการขาย พวกนายทุนต่างๆ นั้นได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนผันผวนในด้านเศรษฐกิจ พวกเราบางคนอาจจะสงสัยว่า
ทำไมความตระหนี่หรือเหนียวแน่นเช่นนั้น จะผันผวนในปัญหาเรื่องเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น เราจงพิจารณามัจฉริยะนี้ให้กว้าง
ออกไปประการแรก ความหมุนเวียนของเงิน กระแสเงินจะหยุดสะดุดลงและความต้องการมันเกิดขึ้น เพราะมัจฉริยะ
นี่เรามาพิจารณากันในด้านของการจ่ายออก เมื่อบุคคลมีมัจฉริยะตระหนี่ในด้านการจ่ายออกแล้ว การหาเข้ามันก็ต้อง
มีเรื่องมากมายก่ายกองเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานายทุนและพวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย ถ้าเกิดมีมัจฉริยะขึ้นแล้ว
มันจะทำให้สังคมหยุด บางแห่งหมุนไป ไม่มีความสม่ำเสมอในการเคลื่อนไหว มันก็ต้องล้มลุกคลุกคลานกันอยู่เสมอ
อย่างเช่นนในปัจจุบันสังคมของคนไทยเรานี้ เพราะว่าความตระหนี่ในสิ่งที่ไม่สมควรตระหนี่และความสุรุ่ยสุร่ายในสิ่งที่
ไม่สมควรจะสุรุ่ยสุร่าย ปัญหาความผันผวนในทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น เราจงสังเกตดูงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
เป็นเรื่องของส่วนรวม เงินทุกบาททุกสตางค์ส่วนรวมเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในการกำหนดการจ่ายนั้น เราจะเห็นได้ว่า
รายการจ่ายบางรายการเป็นการไม่สมควร ที่ไม่สมควร ไม่สมควรอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายที่มีข้อผูกพัน
เกี่ยวกับอัตรา ตำแหน่ง เงินเดือนต้องขยายขอบเขตไปโดยไม่มีขอบเขตอันจำกัด แต่ผลของงานนั้นไม่เป็นไปตามขอบ
เขตการขยายของงบประมาณแต่ประการใดไม่ ทั้งนี้เพราะว่าความตระหนี่มันมีอยู่ ตระหนี่อะไร คือตระหนี่ตระกูล
ตระหนี่วรรณะ ตัวเป็นข้าราชการมีตระกูลไหม มีวรรณะเช่นนั้น งานทำไม่ได้ แต่เงินเดือนรับเอา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็
ต้องตั้งอัตราเพิ่มขึ้น คือสรุปแล้วแทนที่ว่าปริมาณคนจะได้ proportion กับปริมาณงาน มันไม่ใช่อย่างงั้น ในปัจจุบัน
ผมกล้ายืนยันได้ว่าปริมาณคน over ปริมาณของงาน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรื่องวรรณะและตระกูลนี่แหละ เมื่อมันมี
การตระหนี่ มันก็มีการเล่นพวกเล่นพ้อง มีการแตกแยก มีการทำลายหมู่คณะ เช่นนี้จึงเห็นได้ว่าโทษแห่งความตระหนี่
นั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กำหนดให้อยู่ในอกุศลเจตสิก เพราะว่าตระหนี่หรือมัจฉริยะตัวนี้เกิดขึ้นต่อผู้ใดแล้ว
บุญกุศลเขาจะไม่สามารถจะทำได้ เว้นแต่บุญตามประเพณีหรือทำบุญเพื่อหาเสียงในสังคม แต่ไม่สามารถที่จะทำบุญ
ด้วยมหากุศลลจิตแต่ประการใดไม่
นอกจากมัจฉริยะแล้ว เรายังมีอีกตัวหนึ่งเรียกว่า กุกกุจจเจตสิก กุกกุจจเจตสิกนี้อยู่ในจำพวกโทจตุกเจตสิก ๔
ซึ่งหมายถึงความรำคาญใจในสิ่งชั่วที่ได้กระทำไปแล้ว ในความดีที่มิได้กระทำ พูดถึงในเรื่องนี้เจตสิกตัวนี้พวก
เราอาจจะมีความเข้าใจไขว้เขวไปก็ได้ เพราะว่าความรำคาญใจในสิ่งที่มีชั่วที่ได้กระทำไป ในความดีที่ไม่ได้กระทำนั้น
ฉะนั้นกุกกุจจเจตสิกนี้มันจะเกิดขึ้นเมื่อโอกาสที่เราจะได้กระทำความดี แต่เราไม่ได้กระทำ เรากลับไปกระทำความชั่วเสีย
เหตุนี้แหละมันจะทำให้ใจเราฟุ้งซ่านรำคาญใจ โดยมีความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ ในภายหลังเป็นลักษณะ หรือเราเรียกว่า
อย่างภาษาโบราณนี่เขาบอกว่า ทำอะไรให้นับ ๑0 เสียก่อน อ้ายนี่ทำลงไปเสียก่อนแล้วจึงได้นับ ๑0 ในภายหลังนี่เพราะ
อะไร เพราะเขาขาดสติ เขามีความประมาทในเรื่องเช่นนั้น ความผิดพลาด ความบกพร่องเช่นนี้มันจึงเกิดขึ้น
กุกกุจจเจตสิกนี้มีการตามเดือดร้อนอยู่เนืองๆ ถึงบาปที่ได้กระทำแล้วและบุญไม่ได้กระทำเป็นกิจหรือเป็นหน้าที่ คือ
เขาจะมีความเดือดเนื้อร้อนใจ นึกถึงบาปที่ได้กระทำลงไปแล้ว ในโอกาสที่เขาจะทำบุญนั้น เขาไม่ได้กระทำ แต่เขาได้
กระทำบาปลงไปแทนบุญ จึงมีความเดือดเนื้อร้อนใจอยู่เสมอ ส่วนผลของกุกกุจจเจตสิกนั้นก็ได้แก่ มีความกินแหนงใจ
เป็นผล เพราะว่าโอกาสที่เราจะได้กระทำความดีนั้น เราไม่ได้กระทำ แต่เราไปทำความชั่วแทนเอาไว้ มันจึงเป็นหนาม
เสียดแทงหัวใจเราอยู่เสมอมิได้ขาด มีการทำบาปมิได้ทำบุญเป็นเหตุใกล้ เพราะบุคคลผู้นั้นขาดสติ อยู่ในความประมาท
แทนที่จะได้ประโยชน์กลับทำในสิ่งที่เสียประโยชน์ นั่นคือการกระทำบาปที่มิได้กระทำบุญนั่นเอง
นอกจากโทจตุกเจตสิกแล้ว เราได้ทราบมาแล้วโทจตุกเจตสิกนั้น มีอยู่ ๔ ดวง คือ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑
มัจฉริยเจตสิก ๑ และ กุกกุจจเจตสิก ๑ เป็นโทจตุกเจตสิก ๔ เมื่อเราได้รู้ลักษณะของโทจตุกเจตสิกแล้ว ต่อไปเราก็จะ
ได้รู้กันถึง ถีทุกเจตสิก ซึ่งมีอยู่ ๒ ตัว ตัวแรกได้แก่ ถีนเจตสิก เจตสิกตัวนี้เป็นเจตสิกที่ทำให้ใจท้อถอย หดหู่ เป็น
ความหมาย มีการไม่อุตสาหะเป็นลักษณะ มีการทำลายความเพียรเป็นกิจ มีความท้อถอยเป็นผล มีการไม่เอาใจใส่
เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้นเป็นเหตุใกล้
จากถีนเจตสิกตัวนี้ ผู้ที่เคยปฏิบัติทางสมถกัมมัฏฐานหรือสมาธิมาแล้วก็คงจะได้รู้จักมันเป็นอย่างดีว่า มันมีลักษณะ
รูปร่างหน้าตาเป็นประการใด เพราะว่าสมาธิที่แต่ละคนทำไม่ได้นั้น มันขึ้นอยู่กับตัวนี้ อีกตัวหนึ่ง เพราะว่าเขาจะมีความ
ท้อถอย ไม่มีความเพียรพยายามในการที่ทำความสงบให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นั้น ได้บอกไว้แล้วว่าการที่จะเข้าถึงธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วยความเพียรพยายามจึงจะมีผล ไม่ใช่จะเข้ากันได้ง่ายๆ
ตามความเข้าใจของคนบางคนซึ่งเข้าธรรมะเพื่อสังคม ไม่ใช่เข้าถึงธรรมะด้วยศรัทธา ดังนั้นผลแห่งการประพฤติปฏิบัติ
ซึ่งขาดองค์ธรรมในการที่จะเข้าถึงธรรมแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงธรรมได้แต่ประการใด นอกจากนี้แล้ว
มีการทำลายความเพียรเป็นกิจ มีความท้อถอยเป็นผล มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้นเป็นเหตุใกล้ คำว่า
มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่อารมณ์นั้นเป็นเหตุใกล้ ก็ได้แก่ อโยนิโสมนสิการปทัฏฐานัง เราได้รู้กันมาแล้วว่าการเข้า
ธรรมนั้นจะต้องมีเครื่องมือคือ อาตาปี หมายถึงความเพียร ๔ สติมา คือสติเจตสิก สัมปชาโน คือความรู้สึกตัว
อยู่ทุกขณะ เมื่อมีถีนมิทธเจตสิกเข้ามาแล้ว แทนที่จะมีโยนิโสมนสิการมันก็กลายเป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ไม่เอาใจใส่ใน
อารมณ์ เรารู้ได้รู้กันมาแล้วว่าการทำจิตให้สงบนั้น เราทำได้มากมายหลายวิธี นั่นคือลักษณะของอารมณ์นั่นเอง
อย่างเช่นเราทำความสงบให้เกิดขึ้นด้วยลมหายใจเข้าและออกนั้น อารมณ์ก็คือลมหายใจเข้าและออก หรือเราเปลี่ยนมา
ทำกสิณ เช่นกสิณแสงสว่างหรือกสิณอื่นๆ นั้น แสงสว่างนั้นก็คืออารมณ์ในการทำสมาธิ ถ้ามีตัวถีนเจตสิกเข้ามาครอบงำแล้ว
ผลแห่งการทำสมาธิก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่จะทำลายถีนเจตสิกจึงมีอยู่ตัวเดียวเท่านั้น นั่นคือสติเจตสิกนั่นเอง
ในถีทุกเจตสิก ๒ นี้ นอกจากถีนเจตสิกแล้วยังมีอีกตัวหนึ่งเรียกว่า มิทธเจตสิก ซึ่งหมายถึง เจตสิกที่ทำให้เจตสิก
ที่เกิดร่วมด้วยให้ท้อถอย จับอารมณ์ไม่ติด
ขอให้พวกเราสังเกตดูให้ดี ถีนเจตสิกนั้นเป็นตัวทำให้จิตท้อถอย แต่ส่วน
มิทธเจตสิกนั้นเป็นตัวทำให้เจตสิกท้อถอย เห็นไหม ถีนะ มิทธะ ๒ ตัวนี้เราอนุโลมเข้าไปอยู่ในนิวรณธรรม ๕ คือ เครื่อง
กีดขวางมิให้ธรรมนั้นบรรลุสู่เป้าหมายได้ ดังนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม นิวรณธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ถ้าเราไม่
สามารถบรรเทานิวรณ์หรือลดนิวรณ์ลงไปได้แล้ว โอกาสที่จะทำให้เกิดสมาธินั้น ไม่มีโอกาสที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ๒
ตัวนี้ ความแตกต่างระหว่างถีนะและมิทธะนี้ จำไว้ง่ายๆ ว่า ถีนะเป็นเรื่องของจิตมิทธะเป็นเรื่องของเจตสิก โดยมีความ
ไม่ควรแก่การงานเป็นลักษณะ มีการกั้นกำบังกุศลเป็นกิจ มีความท้อถอยเป็นผล มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้น
เป็นเหตุใกล้
ในเรื่องของนิวรณธรรม ๕ ซึ่งเป็นตัวกีดขวางมิให้สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้นั้น ได้แก่นิวรณธรรม ๕ คือ
กามฉันทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และพยาปาทนิวรณ์ เมื่อสรุปนิวรณธรรม ๕ ซึ่งเป็น
ตัวขัดขวางในการเจริญธรรมแล้วก็คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑
และ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ อีก ๑
เมื่อเราได้ศึกษากันในเรื่องถีนมิทนิวรณ์แล้ว ต่อไปเราก็จะทำการศึกษาหาความรู้กันอีกตัวหนึ่งคือ วิจิกิจฉาเจตสิก
ซึ่งมีอยู่ตัวเดียวในกรุ๊ปนี้ วิจิกิจฉาเจตสิกนี้หมายถึง ความสงสัย ความลังเล ความไม่แน่ใจในอารมณ์ต่างๆสงสัย
และตัดสินอารมณ์ไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราที่ทำการพิจารณาองค์ฌานก็ดี การเลื่อนขั้นฌานแต่ละขั้นแต่
ละตอนก็ดี วิจิกิจฉาเจตสิกนี่เป็นตัวสำคัญยิ่งที่จะทำให้เราต้องสะดุดหยุดลง ไม่สามารถที่จะก้าวต่อไปในความสงบของ
จิตเบื้องสูงๆ ได้ และในเรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่ในทางสมถกัมมัฏฐานเท่านั้น แม้แต่ในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตัวนี้ก็เป็น
ตัวที่สำคัญ ถ้าเราไม่ได้ศึกษาพื้นของปรมัตถธรรมมาแต่ต้นแล้ว นั่นหมายถึง รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ จิต ๘๙ ถ้าเราไม่
ศึกษาทำความเข้าใจแต่ต้นแล้ว เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เมื่อรูปนามเกิดขึ้น เราจะไม่สามารถวินิจฉัยได้เลยว่ามัน
เป็นรูปหรือมันเป็นนาม หรือรู้ว่ามันเป็นรูปหรือมันเป็นนามแล้ว ไม่รู้ว่ามันเป็นรูปอะไร หรือนามอะไร เพราะว่ารูปแต่ละ
ตัวนั้นหรือนามแต่ละตัวนั้น มันมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เช่นรูปดินหรือปฐวีธาตุ เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่ามันมีลักษณะ
อ่อนและแข็งเป็นคุณสมบัติ รูปน้ำหรืออาโปธาตุมีลักษณะคือการซึมซาบ รูปลมหรือวาโยธาตุนั้นมีลักษณะเคร่ง ตึง
ไหว และรูปไฟหรือเตโชธาตุมีลักษณะร้อนและเย็น เป็นต้น ถ้าเราไม่รู้เราจำลักษณะไม่ได้เช่นนี้แล้ว อย่างหวังเลย
ที่เราจะเจริญวิปัสสนาให้ถูกต้องและก้าวขึ้นไปสู่ญาณะระดับสูงได้ เพราะอะไร เพราะมันจะเกิดวิจิกิจฉาขึ้นเมื่อวิจิกิจฉา
เกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำให้ธรรมะที่เราประพฤติเราปฏิบัตินั้นมีการสะดุดหยุดลง นี่เป็นความเสียหายของวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้น
วิจิกิจฉานี้นอกจากความหมายดังกล่าวก็ มีความสงสัยเป็นลักษณะ มีการหวั่นไหวในอารมณ์เป็นกิจ มีการไม่สามารถ
ตัดสินใจได้เป็นผล มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้นเป็นเหตุใกล้ คำว่าความสงสัยในที่นี้ ผมได้บอกแล้วว่า
วิจิกิจฉาตัวนี้มันเป็นเรื่องการกีดกั้นความสำเร็จในทางธรรมะ ไม่ใช่เรื่องของทางโลก ฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจเสีย
ก่อนว่า ความสงสัยของวิจิกิจฉานั้นมันมี ความสงสัย ๘ ประการ คือ
๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า ได้แก่สงสัยในพระสรีลักษณ์ และเห็นว่ามีตัวจริงหรือสมมุติขึ้นกันแน่ เราอย่าลืมว่า
คนบางคนถือว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงสมมุติเท่านั้น ไม่มีตัวจริง เพราะเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าศาสนา
อื่นบางศาสนาไม่ใช่ศาสนาพุทธ เขาสมมุติพระเจ้าขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้านี้ได้อุบัติขึ้นในโลก
และได้บรรลุอรหัตตผลภายหลังที่ได้ทำความเพียรพยายาม ผู้ที่สงสัยในพระพุทธเจ้าว่ามีจริงหรือไม่จริง และสงสัย
ในพระคุณคือพุทธคุณ ๙ นั้น นี่เป็นความสงสัยแห่งวิจิกิจฉาตัวที่ ๑
นอกจากนั้นความสงสัยที่ ๒ ได้แก่ สงสัยในพระธรรม ว่ามรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มีจริงหรือไม่ และธรรม
นี้จะนำออกจากทุกข์ได้จริงหรือ คำว่ามรรค ๔ ผล ๔ ได้แก่ โสดา สกิทาคา อนาคา และอรหัตต์มรรคและผลอย่างละ
๔ เป็น ๘ รวมกับนิพพานอีก ๑ เป็น ๙ นี่เป็นการสงสัยในพระธรรม เข้าอยู่ในตัววิจิกิจฉาตัวนี้ ไม่ใช่สงสัยว่า เอ๊
คนนี้เคยเห็นหน้า ใช่คนนั้นหรือไม่ใช่ ตัวนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉา ไม่ใช่
ความสงสัยตัวที่ ๓ อันเป็นลักษณะของวิจิกิจฉานั้น ก็คือ สงสัยในพระสงฆ์ คำว่าพระสงฆ์ในที่นี้ขอให้พวกเราทำ
ความเข้าใจให้ดี พระสงฆ์กับพระภิกษุคนละอย่างนะ พระสงฆ์ในที่นี้หมายถึงสงฆ์หรือเรียกว่า อริยสงฆ์ ตั้งแต่โสดา
ปัตติมรรคถึงอรหัตมรรค ว่ามีจริงไหม และประการที่สองสงฆ์ที่ปฏิบัติดีจริง มีหรือไม่มี และผลแห่งทานที่ถวายสงฆ์
นั้นเกิดขึ้นหรือไม่ เห็นไหม คำว่าสงฆ์ในที่นี้หมายถึงอริยสงฆ์ เขาจึง refer ไปถึงผลแห่งทานด้วย เห็นไหมว่าปฏิคาหก
หรือผู้รับนั้น ในการทำทานนั้นไม่ใช่หากันได้ง่ายๆ เพราะว่าการแจกจ่ายให้ทานนั้นทำได้ง่าย แต่ปฏิคาหกจะสมบูรณ์
ด้วยองค์หรือไม่ ไม่มีใครที่จะหาได้ง่ายนัก นี่เป็นความสงสัยประการที่ ๓
ความสงสัยวิจิกิจฉาตัวที่ ๔ ก็ได้แก่ การสงสัยในสิกขา ๓ ว่ามีจริงหรือ มีพลานิสงส์แห่งการศึกษาการปฏิบัติ
ในสิกขา ๓ จริงหรือไม่ พอพูดมาถึงสิกขา ๓ นี้ พวกเราก็อาจจะสงสัยว่าได้แก่อะไรบ้าง สิกขา ๓ ว่าโดยสรุปก็ได้แก่
ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ศีลในที่นี้หมายถึงวิสุทธิศีล เพื่อเป็นพื้นฐานของสมาธิซึ่งเรียกว่าจิตวิสุทธิ และสมาธิ
หรือจิตวิสุทธินี้เป็นพื้นฐานของวิปัสสนานั่นเองว่ามีความจริงไหม
ความสงสัยประการที่ ๕ ก็คือ สงสัยในขันธ์ ในอายตนะ ในธาตุที่เป็นส่วนอดีต ว่ามีจริงหรือไม่จริง คือสงสัย
ในชาติก่อนนั้นมีจริงหรือเปล่า เพราะว่าคนเราในสมัยปัจจุบันนั้นถือว่ามีเฉพาะปัจจุบันชาติเท่านั้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
ความสงสัยการไม่มีอดีตเป็นความสงสัยของวิจิกิจฉาตัวหนึ่ง
สงสัยประการที่ ๖ ได้แก่ สงสัยในขันธ์ ในอายตนะ ในธาตุ ที่เป็นอนาคต ว่ามีจริงไหม อย่างเช่นคนไทยที่นับ
ถือพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ เขาไม่เชื่อว่าชาติหน้านั้นมีจริง เมื่อไม่เชื่อหรือมีความสงสัยในลักษณะเช่นนี้ มันก็เข้าไป
อยู่ในวิจิกิจฉาข้อหนึ่ง
และวิจิกิจฉาข้อที่ ๗ ก็คือ สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต นั่นเองว่าจะมีจริงหรือไม่
ความสงสัยในที่นี้เราจะเห็นได้ว่า ความสงสัยในขันธ์ ในอายตนะ ในธาตุนั้น ได้แบ่งออกเป็น ๓ step คือ step
หนึ่งหมายถึง อดีต อีก step หนึ่งหมายถึงอนาคต อีก step หนึ่งรวมทั้งอดีตและอนาคตด้วย
วิจิกิจฉาตัวที่ ๘ ซึ่งเป็นตัวสุดท้ายก็ได้แก่ ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทธรรม คือธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล
อาศัยกันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสายเลย
มีจริงหรือไม่ ในปฏิจจสมุปบาทผมยังไม่ได้เอามาพูดให้พวกเราฟัง
เพราะต้องการให้พวกเราทุกคนได้รู้ถึงรูปและนามให้ทั่วถึงกันเสียก่อน เราถึงจะเอารายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังในภายหลัง
ถ้าจะพูดอย่างย่อๆ ของปฏิจจสมุปบาทแล้ว มันก็ไม่มีอะไรหรอก นอกจากกรรมที่ทำไปแล้วมันเป็นตัวทำให้เกิด
เมื่อเกิดแล้วมันก็ทำกรรมต่อไป เมื่อกรรมที่สร้างขึ้นมันก็ทำให้เกิดต่อไป มันวัฏฏะอย่างนี้ แต่มันมีมันมีถึง ๑๑ หรือ
๑๒ ตัว มันมีรายละเอียดแยกตั้งแต่เริ่มอวิชชาทำให้เกิดสังขารหรือเจตสิก เจตสิกทำให้เกิดจิต จิตทำให้เกิดรูปและ
นามขึ้น ต่อๆ กันไปเช่นนี้ นี่ เราจะรู้กันเมื่อเราได้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมในเรื่องเกี่ยวกับสติระลึกรู้ เมื่อเราย่างเข้าสู่
ญาณะที่ ๒ เรียกว่าปัจจยญาณะตัวนั้น คือรู้เหตุรู้ปัจจัยในการที่ทำให้เกิดรูปและนามนั้น ซึ่งพวกเราทุกคนน่าจะรู้กัน
แล้วว่า รูปคือตัวของเรานี่มันเกิดมาจากอะไร นามมันเกิดมาจากอะไร นี่ เราได้รู้กันมาแล้ว
ตามที่ผมได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ซึ่งได้แก่
ผัสสเจตสิก
เวทนาเจตสิก
สัญญาเจตสิก
เจตนาเจตสิก
เอกัคคตาเจตสิก
ชีวิตินทรีย์เจตสิก
มนสิการเจตสิก
วิตกเจตสิก
วิจารเจตสิก
อธิโมกขเจตสิก
วิริยเจตสิก
ปีติเจตสิก
ฉันทเจตสิก
ซึ่งเป็นเจตสิกกลางๆ เข้าไปฝ่ายกุศลธรรมก็ได้ เข้าไปฝ่ายอกุศลก็ได้
และเท่าที่กล่าวมาในส่วนอกุศล ก็มีอยู่ ๑๔ ตัว คือ
โมหเจตสิก
อหิริกเจตสิก
อโนตตัปปเจตสิก
อุธัจจเจตสิก
โลภเจตสิก
ทิฏฐิเจตสิก
มานเจตสิก
โทสเจตสิก
อิสสาเจตสิก
มัจฉริยเจตสิก
กุกกุจจเจตสิก
ถีนเจตสิก
มิทธเจตสิก
วิจิกิจฉาเจตสิก
นี่ เหล่านี้เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งเข้ากับจิตที่เป็นอกุศล เพียง ๑๔ ดวงเท่านี้ที่มันทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดมา
นับภพนับชาติไม่ถ้วน
เท่าที่กล่าวมาในเรื่องของอกุศล ผู้ใดมีความข้องใจสงสัยประการใด ก็ควรจะได้ทำความเข้าใจไต่ถามกันเสีย ก่อน
ที่เราจะผ่านไปยังโสภณเจตสิก

เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๕ จบ