เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๖
--------------------------------------------------------------------

ตุฏฺฐี สุขา ยา อิตรีตเรน
ความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำความสุขมาให้

พุทธภาษิตดังกล่าวจะทำให้เราได้แลเห็นว่า ความสันโดษนั้น นำมาซึ่งความสุข คำว่าความสันโดษในที่นี้ หมายถึง
ความพอใจหรือความยินดีในสิ่งที่เรามีอยู่ การสันโดษยังมีคนอีกหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรื่องไม่ต้องมีความ
ขวนขวายใดๆ ให้เกิดขึ้น แต่ความจริงนั้นความสันโดษที่เราพอใจนั้น เราต้องประกอบด้วยอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ
วิริยะ จิตตะ และวิมังสา
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนนั้น เราได้พูดกันถึงเจตสิกเป็นตัวอกุศลไปหมดแล้ว วันนี้เราจะได้กล่าวกันถึงโสภณเจตสิก หรือ
เจตสิกซึ่งเป็นตัวที่ดีงาม ซึ่งจะต้องนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประพฤติปฏิบัติในเรื่องความรู้เกี่ยว
กับปรมัตถธรรมนั้น เราเรียกกันว่าการฝึกสติ การฝึกสติในที่นี้ หลักการทุกๆ คนเรารู้กัน แต่มีปัญหาว่าทำอย่างไรเรา
ถึงจะทำให้สติมันเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้เราได้เคยพูดกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสติจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะ
ในขั้นปฏิบัติการจริงๆ นั้น ปรากฏว่าพวกเราส่วนใหญ่ขาดสติ ผมจึงจำเป็นต้องทำกล่องใส่สมบัติของผู้ที่ขาดสติติดเอา
ไว้ ถ้ายังไม่รู้จักฝึกสติกันต่อไปก็คงจะต้องประกาศรายชื่อกันให้เป็นเกียรติยศขึ้น นี่เป็นการเตือนสติของผม ใครจะพอ
ใจหรือไม่พอใจก็แล้วแต่ นอกจากนี้อยากจะนำเอาพฤติการณ์บางเรื่องของพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่พวกสาวๆ
นี่ สาวๆ ที่มาตั้งแต่เก่าๆ น่ะ มีม้าหินนอนไม่สบายแบกเอาไป เสร็จแล้วกลับบ้าน ขาดสติทิ้งเอาไว้ ปล่อยให้คนแก่ๆ
นั่นแหละไปแบกกลับมานี่สติตัวที่ ๑ ตัวที่ ๒ สติตัวที่ ๒ เราอยู่ในห้องกัน ลมมันไม่พัด มันก็ร้อน ก็พวกเราหลายคนก็
อุตส่าห์หาพัดลงพัดลมมาให้ ท่านมีสติ เวลาท่านร้อน ท่านมีสติ ท่านก็เปิดได้ เวลาท่านเสียสติ ท่าน ไปแล้ว ท่านก็
เปิดทิ้งไว้ ต้องเขียนประกาศติดเอาไว้ว่า พัดลมเมื่อเลิก ใช้แล้วปิดเสียด้วย อย่าทำเป็นคนขาดสติ ดีขึ้น นอกจากนั้น
แล้วมีเรื่อง ขำอีก โดยเฉพาะแม่สาวๆ ฝากล่องใส่ช้อนส้อม ใช้กันยังไงไม่รู้ หายไป ๒-๓ วัน หาไปหามากลับไปอยู่ในตู้เย็น
รองไอศกรีมเอาไว้ นี่ ผู้มีสตินะ อย่างนี้ นอกจากนี้ แหมมีสมุดบันทึก ทุกคนมีสมุดบันทึกมา อะไรมา เสร็จแล้วก็ทิ้งเอาไว้
หาตัวยังไม่ได้จนป่านนี้ ไม่รู้ของใคร เตาปิ้งหมูสะเต๊ะในครัว มีเราได้ปิ้งกัน เราก็ไปปิ้งใต้ต้นมะม่วง ปิ้งแล้วก็ทิ้งเอาไว้
ท่านมีสติที่สมบูรณ์ นอกจากอ้ายเตาหมูสะเต๊ะแล้ว อ้ายม้าที่เอาไปรองนั่ง ทิ้งไว้อีก แล้วอย่างนี้ เป็นสาวๆ อย่างนี้ มันจะ
เป็นแม่บ้านแม่เรือนได้ยังไง อ้ายแม่บ้านแม่เรือนมันเป็นทางโลก ยังเป็นไม่ได้ แล้วจะไปฝึกสติทางธรรมะได้อย่างไร ทีนี้มี
พิสดารอีก นั่นแน่ ฉันศรัทธาแก่กล้า อุตส่าห์ไปซื้อไอศกรีมชนิดดีที่สุด ดีอย่างไง ไอศกรีมธรรมฉันไม่ซื้อ ต้องซื้อชนิด
ใส่เหล้ามาให้กิน แหมมันอร่อยจริงๆ อะไรกัน นี่ อย่างนี้หรือเรียกว่าคนมีสติ เอาละ ใครจะว่าผมปากชั่วร้ายยังไง ผมก็
ว่ายังงั้นแหละ ถ้าไม่ว่าไม่พูด สติไม่มี และต่อไปนี้ บอกให้รู้ด้วย ใครทำการขาดสติ ผมจะประกาศให้ลั่นเลย ทุกคนน่ะ
เพราะว่าถ้าอย่างงั้นจะหาว่า เอ๊ะ เราฝึกสติแล้วไม่ได้ผล สู้สมถะไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้ เพราะสติไม่มีใครเตือน เราต้อง
เตือนกันอย่างนี้ พอให้ปลูกต้นหมากรากไม้เสียให้ดีเถอะ สนุกละ ถ้าใครจะฝึกสติก็ ถ้าไม่ฝึกก็แล้วไป
วันนี้เราจะได้พูดกันในเรื่องของ โสภณเจตสิก โสภณเจตสิกนี้ หมายถึงเจตสิกที่ดี งาม ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่า
ร้อน
เราอย่าลืมนะว่าเจตสิกนี้มันเป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอกับจิต เรารู้สันดานจิตนั้นมันไม่อยู่กับที่ มันมีความยุ่งยาก
สับสนยุ่งยาก วุ่นวายต่างๆ แต่มันดีอย่างหนึ่ง ว่ามันมีเจตสิกเป็นเพื่อนคู่หู ไม่รู้ว่าเจ้าเจตสิกนี่ไปไหนๆ เจ้าจิตก็ตาม
ไปด้วย แต่ทีนี้ในวัฏฏะที่เราได้เวียนว่ายตายเกิดกันมานั้น อ้ายจิตของเรานี่มันไม่ดี เพราะมันทำผิดมงคลในหลักของ
พุทธศาสนา นั่นคือมันไปคบคนพาลเข้า พาลในที่นี้ก็คืออกุศลเจตสิก ๑๔ นั่นเอง เราถึงได้วุ่นวายกัน ต้องเวียนว่ายตาย
เกิดกัน ไม่รู้จักสิ้นภพสิ้นชาติกันแต่ประการใด นี่เจตสิกตัวนี้ เพราะว่าอะไร อกุศลเจตสิกที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่ละพวกเรา
ได้ทราบกันมาแล้วว่ามันชั่วช้าเลวทรามประการใด เราก็คบกันมานับวัฏฏะไม่ถ้วน และตอนหลังนี่เรามาพบพระธรรมะเข้า
เราก็ปลุกโสภณเจตสิกหรือเพื่อนที่ดี อยากจะคบเพื่อนที่ดีมันด้วย อ้ายตอนนี้เพื่อนที่ดี ผมว่ามันเกิดเล่นตัวละ เพราะ
พวกเราทุกคนไปคบกับคนชั่วๆ มันพาให้เราไปเสียผู้เสียคน บางคนถึงกับสูบยาเสพติด สำมะเลเทเมา ติดคุกติดตาราง
นี่เพราะว่า เราไปคบเพื่อนชั่วซึ่งเรียกว่าอกุศลเจตสิก อาจจะมีพวกเราบางคนมีความสงสัยว่า เอ๊ะถ้ายังงั้นแล้วเราทำ
สมาธิกันได้อย่างไร เพราะว่ามันไม่ใช่คนดีนี่ สมาธิที่เราทำกันนั้นเรียกว่าเอกัคคตาเจตสิกหรืออ้ายเพื่อนกลางๆ อ้ายเพื่อน
ตัวนี้อย่าไว้ใจมันนะ ผมจะบอกให้ มันเป็นนกมีหูหนูมีปีก อ้ายประเภทค้างคาวน่ะ ถ้ามีอ้ายพวกคนชั่วมาคบด้วยร่วม
ด้วย มันก็เป็นฝ่ายชั่ว ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่โดนกันเข้าแล้ว นั่นคือเรื่องของไสยศาสตร์ต่างๆ นั่นเอง ทีนี้พวกเราบางคน
อาจจะสงสัยว่า เช่นนั้นที่เราทำนั้นมันเป็นกลางๆ หรือมันดี ไม่ใช่กลางๆ มันดี มันดียังไง เพราะเราดึงเอาสติซึ่งเป็น
โสภณเจตสิกเข้ามาร่วมกับจิตใจของเราจนมันเป็นเอกัคคตา เพราะว่าสตินั้นมันเป็นตัวที่ชักนำเราไปสู่ความดี การที่
พวกเราทุกคนได้มีความสุขความสงบ ไม่เป็นที่เดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่นนั้น ก็ด้วยอำนาจของสติตัวนี้แหละ แต่เมื่อ
พูดถึงสติแล้วผมเองยังไม่พอใจ เพราะพวกเราควรจะได้ฝึกกันให้ได้มากกว่านี้ เอาละ อย่างขณะเมื่อกี้นี้ผ่านมาไม่ถึงครึ่ง
ชั่วโมงว่าเรากินอะไรเข้าไปมั่ง รู้หรือเปล่าว่ามันมีรสชาติเป็นยังไง เห็นแต่ว่ากินกัน เอ้ายกมา กินกัน กินกัน กินกัน
เข้าไป อย่างนี้ก็เรียกว่าได้เหมือนกันว่าเป็นผู้ขาดสติ ไหนๆ เราจะหันเข้ามาพบคบเพื่อนดีแล้ว เราก็ควรจะได้รู้ถึงลักษณะ
ของเพื่อนที่ดีคือ โสภณเจตสิก ๒๕ ดวงนั้น ดีรวมๆ มันดีอย่างไร ดีรวมๆ ว่ามันไม่ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง
เมื่อประกอบกับจิตแล้วทำให้จิตของเราดีงาม ปราศจากความเร่าร้อน ให้จิตของเราตั้งอยู่ในศีลในธรรม
ฉะนั้น
เราจะเห็นได้ว่าคนที่ทำผิดศีลผิดธรรมนั้น เป็นคนที่ขาดสติอย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย เพราะถ้ามีสติแล้ว สตินั้นมันจะ
กระตุกให้เรารู้ เพราะว่ามันเป็นโสภณเจตสิก มีการเว้นจากบาป เว้นจากทุจริตต่างๆ ฉะนั้นเจตสิกพวกนี้ทั้ง ๒๕ ดวง
เราจึงเรียกมันว่าโสภณเจตสิก และโสภณเจตสิกนี้มันแบ่งออกไปเป็นกลุ่มเป็นพวกดังต่อไปนี้คือ
กลุ่มที่ ๑ เรียกว่า โสภณสาธารณเจตสิก จำนวน ๑๙ ดวง โสภณสาธารณเจตสิกนี้ หมายถึงเจตสิกที่เข้ากับ
โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงได้ทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นดวงไหน จิตที่เป็นโสภณะ ๕๙ หรือ ๙๑ นั้นจะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก
ประกอบพร้อมด้วยกันทั้ง ๑๙ ดวง เข้าประกอบเป็นชุดทั้ง ๑๙ ดวง ไม่มีเว้นเลย นี่ ประเภทที่ ๑ เข้าได้หมด
กลุ่มที่ ๒ เรียกว่า วิรตีเจตสิก มีอยู่ ๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เว้นจากบาปธรรมทั้งปวง อันเกิดจากกายทุจริตและวจี
ทุจริต
กลุ่มที่ ๓ เรียกว่า อัปปมัญญาเจตสิก นี่ มีอยู่ ๒ ดวง เป็นเจตสิกที่มีความรู้แผ่ไปไม่ประมาณ ซึ่งเราเรียกกันทั่วๆ
ไปว่าพรหมวิหาร ที่เรียกว่า อัปปมัญญานั้นก็เพราะว่าแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายจนประมาณมิได้ ฉะนั้นคำว่า อัปปมัญญา
นั้นไม่ใช่แผ่กันเฉพาะเพื่อนฝูง หรือแผ่เฉพาะของแฟน ไม่ว่าศัตรู หมู่ร้ายทั้งหลาย เราแผ่ให้หมด ตัวนี้ถึงจะเรียกว่าเป็น
พรหมวิหาร ไม่ใช่อ้ายนี่ไม่ใช่พวกฉัน ฉันไม่รัก ไม่เมตตา อ้ายนี่เป็นศัตรูของฉัน ฉันไม่รัก ไม่เมตตา อ้ายนี่เป็นแฟน
ของฉัน ฉันจะรักฉันเมตตา อย่างนี้ไม่เรียกว่าอัปปมัญญาเจตสิก
อีกตัวหนึ่ง ตัวสุดท้ายคือ ปัญญาเจตสิก ปัญญาเจตสิกนี่มีดวงเดียว ไม่มีพรรคพวก เป็นเจตสิกที่มีความรู้เป็นใหญ่
เป็นประธาน ปกครองซึ่งสหชาตธรรมทั้งปวง ซึ่งเรียกว่า ปัญญินทรีย์เจตสิก เราก็เรียกว่า ปัญญาเจตสิกนี้ สามารถ
เข้ากับโสภณจิตได้บางดวงเท่านั้น โสภณจิตบางดวงไม่มีปัญญาเจตสิกประกอบก็มี แต่อย่าลืม ไม่ว่าปัญญาก็ดี
อัปปมัญญาก็ดี วิรตีก็ดี โสภณะก็ดี มันจะไม่ไปยุ่งไปเกี่ยวด้วยกับอกุศลแต่ประการใด ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายเราจง
พิจารณาให้ดีว่า ทำไมในบางขณะอกุศลเกิดขึ้นในจิตใจของเรา แต่บางขณะจิตใจของเรากลายเป็นกุศล มีบางคนอาจจะ
สงสัย เพราะว่าการเกิดดับของอกุศลกับโสภณเจตสิกนั้น มันรวดเร็วและใกล้เคียงกันเหลือเกิน โดยปกติถ้าเราไม่ได้ฝึกสติแล้ว
เป็นการยากเหลือเกินที่เราจะรู้ได้ว่าอะไรมันเป็นอกุศล อะไรมันเป็นโสภณะ ในฐานะที่เราได้ทำสมาธิกันมาแล้ว ทุกคนสังเกต
บ้างหรือเปล่าว่า ทำไมบางขณะเราทำไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มาถึงนี่ ทำไมเราทำได้ หาคำตอบได้มั่งไหม หรือกลายเป็น
ว่าที่นี่มันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าคิดว่าที่นี่เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็โปรดออกไปได้ อย่าเข้ามาในบ้านนี้ ใช้ปัญญาของท่านพิจารณา
ดูเพราะอะไร เพราะที่บ้านของแต่ละคนนั้น พวกเราแต่ละคนมีความเป็นเสรีภาพ ไม่มีความเกรงอกเกรงใจ ไม่มีความ
เกรงกลัวใคร แล้วอย่างนี้อ้ายจิตซึ่งมันมีสันดานชั่วมาตลอดหลายวัฏฏะนั้น มันจะดีจะเรียบร้อยได้อย่างไร เพราะเราไม่
หัดเอาชนะตัวของตัวเอง เราตัดเสรีภาพแห่งจิตใจของเราเสียเหมือนมาที่นี่ พอมาที่นี่เห็นหน้าผมเข้า ก็ไม่กล้าจะไปจุ้นจ้าน
แล้วก็ลงนั่ง ก็เพียงแต่ว่าให้จิตของเราไม่ได้ไปคบค้ากับอ้ายความชั่วคืออกุศลเจตสิก มันก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องของความ
ศักดิ์สิทธิ์หรืออะไร ฉะนั้นขอฝากให้พวกเราทุกคนที่จะฝึกสตินั้นจงนำไปพิจารณาว่า สิ่งที่ผมพูดนั้นน่ะจริงไหม หรือไม่จริง
ประการใด เราพูดกันได้ด้วยเหตุด้วยผล เราอย่ามาเชื่อกันด้วยความงมงายแต่ประการใด
เมื่อเรารู้หลักการของโสภณเจตสิกมาเพียงพอแล้ว ต่อไปเราก็จะได้หยิบยก โสภณเจตสิกซึ่งเป็นโสภณสาธารณ
เจตสิก ๑๙ ดวง
ตัวแรกนี่มาพิจารณากัน สิ่งนั้นคือสัทธาเจตสิก คำว่าสัทธาตัวนี้ หมายถึงความเชื่อถือในเหตุผล
ตามความเป็นจริง ความเลื่อมใสในกุศลธรรม ความเชื่อในฝ่ายดี เช่นเชื่อพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นต้น คำว่า ศรัทธาในที่นี้ ผมว่าพวกเราบางคนอาจจะมีความไม่เข้าใจกัน เพราะว่าผม
สังเกตพวกเราที่มาพูดกับผม บอกว่ามีศรัทธาเต็มเปี่ยม อยากจะประพฤติปฏิบัติ จะได้มีความสุขความสบายกับเขาบ้าง
พูดยังไม่ทันจบเลย ผมอยากจะหัวร่อพ่นใส่หน้าเสียเลย อะไรล่ะ มันเป็นเรื่องศรัทธาซึ่งเป็นโสภณเจตสิก หรือโลภะซึ่ง
เป็นอกุศลเจตสิกกันแน่ เข้ามาก็บอกว่าต้องการแล้วซึ่งความสุขความสงบ จะได้สบายกะเขาบ้าง พระพุทธเจ้าไม่ได้ขาย
สินค้าหรืออะไรให้ใครกิน ใครพอใจเชื่อ ศรัทธานี่เป็นความเชื่อ เชื่อแล้วก็ปฏิบัติ เมื่อเราทำเหตุดีแล้ว ผลมันก็ต้องออก
มาดีเป็นของปกติ เป็นของธรรมดา ดังนั้นขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ศรัทธากับความต้องการนั้นมันคนละตัว
มันขาวกับดำ ส่วนมากพวกเราแยกกันไม่ออก เมื่อแยกกันไม่ออกแล้วมันก็ เดี๋ยวก็บอกแหมหนูทำมาอย่างเท่านี้ ไม่เห็น
มันแก่กล้า ไม่เห็นมันได้ผล ทีนี้ถ้าจะพูดมาพูดกันใกล้ๆ กับผม อย่าไปพูดกับคนอื่น ผมจะได้มีศรัทธาเปรี้ยงปร้างออก
ไปมั่ง นี่ มันอย่างนี้ ศรัทธาตัวนี้ มันมีความเชื่อถือในอารณ์ที่ดี ผมใช้คำว่าอารมณ์ที่ดีนะ ถ้าอารมณ์ไม่ดีไม่เรียกว่า
ศรัทธา จำไว้ มันมีความเชื่อถือในอารณ์ที่ดีเป็นลักษณะ มีความเลื่อมใสเป็นกิจ มีความไม่ขุ่นมัวเป็นผล และมีปูชนีย
วัตถุเป็นเหตุใกล้ เราจะสังเกตดู ศรัทธานี่มันจะเกิดขึ้นนั้น ถ้าเราได้เดินผ่านปูชนียวัตถุแล้ว มันจะทำให้เราสะดุดใจ
เกิดจากนัยน์ตาก่อนที่ได้พบรูปเช่นนั้นเข้า มีความหมายเช่นนั้น เมื่อพบรูปเช่นนั้นแล้ว มีความหมายเช่นนั้นแล้ว
จากตาของเรานี่ มันก็จะรายงานเข้าไปยังมโนวิญญาณให้เรารู้ ศรัทธานั้นแม้อย่างน้อย ผมพูดว่าอย่างน้อยนะ
ไม่ใช่ศรัทธาของพวกเราที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปนี่ เชื่อว่าสัตว์นั้นมีกรรมเป็นของตน เอาแค่นี้ ฉะนั้นบุคคลบางคนที่ถือ
ว่ากรรมไม่เป็นของมีจริง วิบากกรรมเป็นของไม่มีจริง ชาติหน้าเป็นของไม่มีจริง อดีตชาติเป็นของไม่มีจริง เช่นนั้น
ไม่ใช่เรียกว่าศรัทธา หรือบางคนเราจะเห็นว่าเชื่อเจ้าพ่อเจ้าแม่ เชื่อพระโพธิสัตว์นั่นมาตรัสอย่างนี้ อ้ายนี่ไม่ใช่ศรัทธา
ในพระพุทธศาสนา ผมเองพยายามอย่างยิ่ง ไม่ต้องการให้พวกเราคนใดคนหนึ่งมาศรัทธาในตัวผม ต้องการให้ทุกคน
ศรัทธาในพระธรรมคำสอน ถ้าเราข้องใจพระธรรมคำสอนข้อไหนแล้ว พิสูจน์หาความจริงออกมา ซึ่งเวลานี้พวกเราหลายๆ
คนก็ได้ทำกันเช่นนี้ ผมรู้สึกพอใจมาก เพราะว่าเขาค้นหาความจริงได้ด้วยตัวของเขาเอง ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติอะไร
พวกเราจึงไม่หนักใจอะไรกันนัก เพราะเหตุใดที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่างน้อยนี่ ให้สัตว์ทั้งหลายนี่ก็เชื่อว่า
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนนั้น เพราะสรุปคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว สอนให้ทุกคนๆ นี่ เชื่อกรรม หมายถึงว่า ทำดี
เราก็ได้ดี ทำชั่วเราก็ได้ชั่ว เพียงเท่านี้ก็เป็นคุณยิ่งแล้ว อย่าไปเชื่อเลยว่าหลวงพ่อองค์นั้น หลวงแม่องค์นี้ศักดิ์สิทธิ์
ทำให้ฉันมีความสุขความสบาย ถ้าเราเชื่อคนเช่นนั้น สักวันหนึ่งเราก็คงจะต้องเสียใจในภายหลัง แต่ถ้าเรามีความเชื่อกรรม
เช่นนี้แล้ว เราก็จะต้องมีความประหยัดในบาปกรรมทั้งหลาย เราจะกระทำอะไร เราก็จะต้องคิดเสียก่อนว่าทำเช่นนั้นมัน
เป็นผลดีหรือผลเสีย ไม่เช่นนั้นมันจะทำความผิดให้เกิดขึ้นได้ เพราะว่าถ้ามีศรัทธาในการที่เชื่อว่ากรรมนี้มีผลแล้ว
เราก็จะตั้งตนไว้ชอบ ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ศรัทธาตัวนี้เป็นเบื้องต้นที่จะทำให้ประกอบคุณงามความดีในพระ
พุทธศาสนา เป็นบุญเป็นกุศลได้ นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะทำสมาธินั้นถ้าขาดศรัทธาแล้ว อย่าทำเลย ไม่มีทางที่จะทำได้
ฉะนั้นศรัทธาในหลักของพระพุทธศาสนาจึงเปรียบได้เหมือนพืช ซึ่งจะงอกงามใหญ่โตไปในทางธรรมในภายหลัง ถ้าเรามี
ศรัทธาแล้ว มันก็จะเกิดขึ้น สาเหตุที่พวกเราส่วนใหญ่ซึ่งเป็นปุถุชน เหตุแห่งการเกิดศรัทธานั้นไม่ใช่ว่าเกิดจากการสะสม
ส่วนใหญ่เกิดจากความเลื่อมใสในการเห็นรูปสมบัติพวกหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในการเห็นความประพฤติการปฏิบัติ
ของบุคคลนั้นๆ อีกพวกหนึ่ง เลื่อมใสศรัทธาเกิดจากการเชื่อ การฟัง การประพฤติการปฏิบัติและชื่อเสียงของผู้นั้นอีก
พวกหนึ่ง และเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้นได้จากการสดับพระธรรมของผู้นั้นอีกประการหนึ่ง
เมื่อเราได้รู้กันถึงลักษณะของศรัทธาเช่นนี้แล้ว ต่อไปเราจะได้พิจารณากันถึงโสภณเจตสิกตัวที่ ๒ คือ สติ สตินี่
หมายถึงความระลึกรู้อารมณ์และยังยั้งมิให้จิตตกไปในอกุศล ความระลึกรู้อารมณ์ที่เป็นกุศลหรือความระลึก
รู้ได้ที่รู้ทันอารมณ์
พวกเราถ้าได้รับการฝึกสติดีแล้ว เราจะรู้สึกแปลกใจตัวของเราเองว่า ทำไมเมื่อเรามีความคิดชั่วๆ
หรือจะกระทำการชั่วๆ มันก็เกิดการยับยั้งชั่งใจเกิดขึ้นโดยพลัน นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่า สติมันเกิดขึ้น
เราอย่าลืมว่าสตินั้นมันอยู่ในประเภทโสภณเจตสิก มันไม่ปะปนกับสิ่งที่ชั่วด้วย ฉะนั้นถ้าเราจะมีความคิดชั่ว กระทำ
ความชั่ว สติของเรานั้นมันก็จะห้ามเอาไว้ไม่ให้เราทำ ในเรื่องนี้พวกเราคนใดถ้ามีข้อสงสัยประการใดแล้ว อาจจะสนทนา
วิสาสะกับพวกเราบางคนที่ได้ประพฤติได้ปฏิบัติในเรื่องสติจนเกิดแล้วนั้น มันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด คล้ายๆ เรามี
เพื่อนที่ดีคอยติดตาม คอยควมคุมจิตใจของเราอยู่ มิให้มีการกระทำชั่ว มิให้มีการประพฤติชั่ว นี่เป็นคุณค่าของสติ
และสติตัวนี้เองแหละที่จะนำเราไปสู่ธรรมะทุกขั้นทุกตอน ไม่ว่ากามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศลหรือโลกุตตรกุศล
ต้องอาศัยสติตัวนี้ตัวเดียวเท่านั้น ไม่มีอื่นที่จะให้ประโยชน์มากเท่าสติ ดังนั้นในการปฏิบัติธรรมในขั้นโลกุตตรธรรม เราจะ
เห็นมากมายหลายประการในพระสูตรต่างๆ ว่าไว้ด้วยเรื่องสติทั้งนั้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า จากสติปัฏฐาน ๔ นั้น เราก็
พูดกันในเรื่องของสติ สติยังไง สติระลึกรู้กาย สติระลึกรู้เวทนา สติระลึกรู้จิต สติระลึกรู้ธรรม นี่เป็นธรรมขั้นสูง จนสามารถ
ที่จะขัดเกลากิเลส หรือความโสโครกสกปรกที่เราได้สะสมไว้ในวัฏฏะให้ละลายสูญหายไปได้ในที่สุด
เมื่อเราได้รู้ลักษณะหรือความหมายของสติเช่นนี้แล้ว เราก็ควรจะได้รู้รายละเอียดของมันต่อไปว่า มันมีความระลึก
รู้ในอารมณ์เนืองๆ คือความไม่ประมาทเป็นลักษณะ คนเราสังเกตดู เราทำอะไรผิดพลาด ไม่ว่าระเบียบ แบบแผน
ขนบ ประเพณี ศีลและธรรมทั้งปวงสาเหตุมาจากการขาดสติทั้งสิ้น บางคนเข้าไปอยู่ในคุกในตารางแล้ว ก็จะเพิ่งรู้ว่าตัว
นั้นขาดสติ มันจึงทำไปเช่นนั้น เพราะว่าถ้าเรามีสติแล้ว เราจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เรารู้แล้วนี่ว่าสตินั้นเป็นโสภณเจตสิก
ผู้ที่ฝึกสติให้เกิดขึ้นแล้วมันจะไม่ยอมเป็นขี้ข้าของอกุศลแต่ประการใด ไม่ยอมอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องอะไรหรอก เพียงแต่
ยุงกัดเรานี่ เงื้อมือจะตบพับ ไม่ถึงยุงแล้ว นี่ อะไร นั่นหมายความว่าเราได้ฝึกสติของเราดีแล้ว นี่ มันเป็นอย่างนั้น
พวกเราบางคนจะเห็น สังเกตดูเถอะ เขาจะไม่ทำความชั่วอะไรเลย เพราะเหตุไร เพราะมันมีสติ ทีนี้อาจจะมีพวกเรา
บางคน งั้นก็ปล่อยให้ยุงกัดหรือ ไม่ใช่อีกล่ะ ก็ทำไมล่ะ เราจะไล่มันไปไม่ได้หรือ เราจะต้องไปฆ่ามัน ไปรังแกมันเช่นนั้น
นี่ นอกจากมีความระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ คือความไม่ประมาทเป็นลักษณะแล้ว ผมใช้คำว่าเนืองๆ นะ ไม่ใช่ปีสองปี
เกิดสติโผล่ขึ้นที ไม่ใช่อย่างนั้นนะ เราฝึกแล้วต้องเกิดขึ้นเนืองๆ นะ อย่างแบบโบราณที่เขาว่านี่จะพูดอะไรให้นับ ๑0 เสียก่อน
นั่นเขาต้องการให้สติเกิดขึ้น
และมีการไม่หลงลืมเป็นกิจหรือหน้าที่ ของสติที่จะต้องทำงานอันนั้น มีการรักษาอารมณ์เป็นผล คำว่ารักษา
อารมณ์เป็นผลนี่ พวกเราทำสมาธิกันได้ทุกคน ทำไมบางคนถึงได้สามารถอยู่ในสมาธิได้ด้วยดี แต่บางคนเข้าไปแล้ว
ประเดี๋ยวก็ออก นั่นเพราะอะไร เพราะมันขาดสติ มันไม่ได้รักษาอารมณ์อันนั้นไว้ มีการจำได้อย่างแม่นยำเป็นเหตุใกล้
เห็นไหม คุณสมบัติอันนี้ของสติ อย่าเข้าใจว่าเอาไปใช้ในเรื่องธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
เราเอามาใช้ในทางโลกก็ได้ ถ้าเราสามารถนำมาใช้ในทางโลกได้แล้ว ความวุ่นวาย ความผันผวนปั่นป่วนทั้งหลายมันก็ไม่
เกิดขึ้น สติจึงเป็นเครื่องชักนำใจให้ยึดถือในกุศลเป็นอุดมคติ ผมใช้คำว่ากุศลเป็นอุดมคตินะ ไม่เกี่ยวกับเจ้าพ่อเจ้าแม่เครื่อง
ลางของขลัง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนเช่นนั้น กุศลธรรมในที่นี้ก็คือกรรมดี ๔ ประเภท ซึ่งได้แก่ กามาวจรกุศล
รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศล อย่างเลวทีเดียว เราก็ไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ ๑0 แล้ว อะไรล่ะเป็นผลกำไร
ของเรา คือเราจะไม่ไปสู่อบายภูมิแน่ หรือทุคติภูมิทั้งหลาย ฉะนั้นพวกเราทุกคนไหนๆ หันกันมาแล้ว ขอตัวเถอะ ขอสัก
ตัวเถอะ สติตัวนี้ หมั่นปลุกให้มันตื่น อย่าให้มันนอนหลับได้ง่ายๆ เพราะสติของพวกเราแต่ละคนนั้น มันนอนหลับมาหลาย
วัฏฏะแล้ว มันไม่ตื่นขึ้น มันจึงมีความยุ่งยากทั้งหลายให้เกิดขึ้น เพราะว่าจิตใจของเรานั้น ถ้าขาดสติเป็นประธานเสียแล้ว
ความสงบหรือสมาธิก็ไม่สามารถที่จะบังเกิดขึ้นได้ และเมื่อไม่มีความสงบคือสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญามันก็ไม่เกิดขึ้น
ที่ผมใช้คำว่าสมาธินี้ ผมหมายถึงตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จนถึงขั้นรูปฌานและอรูปฌาน
แล้วแต่เราจะทำปัญญาในขั้นไหน ถ้าเราสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นไม่ได้ อย่าไปหวัง คนส่วนใหญ่ซึ่งเราจะแลเห็นกันโดยมาก
แม้แต่พวกเราบางคน บางคนก็ไปทำกันมาแล้วเป็นเวลานับ ๑0 ปี ผลก็ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุไร เพราะเขาขาดอุปกรณ์ที่
สำคัญ นั่นคือสตินั่นเอง
เมื่อพูดมาถึงสตินี่ ผมก็อยากจะบอกข่าวให้พวกเราได้ทราบเสียก่อนว่า เวลานี้ผมกำลังอุตริที่จะทำอย่างไรที่จะสร้าง
หาวิธีการสร้างอย่างไรให้พวกเราไม่เผลอสติ ประการแรกผมก็โจมตีพวกคุณไปเมื่อกี้นี้ เพราะพวกเรายังมีหน้าบาง
กันอยู่ เอ้าถากหน้าออกไปเสียก่อน ความละเอียดนั่น เราไว้ว่ากันทีหลัง หาหนทางกันทีหลัง เพราะว่าถ้าผมจะนำเอา
พระธรรมคำสอนในเรื่องของการฝึกสติมาใช้แล้ว มันทำไม่ได้กับพวกเรา ทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะว่าพวกเรานี่มันไม่ได้รับ
การฝึกหัดอบรมกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ฉะนั้นถ้าเรามาทำกันเช่นนั้นป่วยการ มันไม่ได้ผล แต่อย่างไรๆ ก็ดี ผมเชื่อ
ว่าพวกเราทุกคนคงจะได้เชื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างว่า อะไรมันเป็นจริง อะไรมันไม่เป็นจริง เพราะผมได้หยิบ
ยื่นความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คุณแล้ว แต่คุณอาจจะไม่รู้สึกตัว นั่นคือความสงบ ซึ่งเรียกว่าสมาธิ
ก็เป็นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรื่องของสตินั้นมันเป็นการฝึกกันยาก มันไม่ปรากฏผล ถ้าผมจะมาบอกให้
พวกคุณฝึกสติเสียก่อน แล้วไปทำสมาธิทีหลัง พวกคุณคงก็คงจะด่าผม หาว่าผมหลอก ฉะนั้นผมเอาสมาธิ หรือความ
สงบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นพยานว่ามันมีจริงนะ แต่ตัวนั้นใช้สติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่สำหรับ
ในขั้นปัญญานั้นมันต้องใช้เป็นหาบเป็นกระจาดต้องกอบโกยมันมามากๆ ประเดี๋ยวคุณจะขี้เกียจทำไร่สติเสีย มันก็ไม่
เกิดผลในการประพฤติในการปฏิบัติ ฉะนั้นต่อไปผมเองนี่ พยายามที่จะสร้างสติให้มันเกิดขึ้น แต่ถ้าพวกเราเห็นว่าไร้
สาระก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าผมจะไม่เอาแล้ว ไม่คือ ถ้าธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ยอมถอยหลังเข้าคลอง
เราเดินหน้ากันเดินมันให้ตลอด ใครจะวิ่งตามทันหรือไม่ทันก็ช่วยไม่ได้ละ ฉะนั้นผมว่าระยะเวลาอีกไม่เท่าไหร่หรอก
เราคงจะได้มี practice หรือการปฏิบัติภาคปฏิบัติกันเกิดขึ้น แต่มันจะเป็นผลประการใด แค่ไหนผมไม่รู้เหมือนกัน
เพราะว่าไม่ปัญหาเรื่องสติที่จะทำให้เกิดจากสมาธินั้น พวกเราทำกันได้หมดแล้วทุกคน แต่ผมต้องการให้มันเกิด
ขึ้นจากทวาร ๖ เป็นปกติ ปกตินี่ก็จะอาศัยพวกเรานี่จัดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พูดกันบ้าง คุยกันบ้าง ไม่ใช่ว่าไม่พูดไม่
คุยเสียเลย ถ้าเราหลับหูหลับตาประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่รู้ว่าเราไปถูกหรือไปผิด เพราะการฝึกสตินันไม่ใช่ไปนั่งอยู่เฉยๆ
คนเดียว ทำไม่ได้ สติเกิดไม่ได้ นอกจากว่าอยู่ในสมาธิ แต่พวกเราหัวดำๆ กันทุกคน ต้องทำมาหากินกันทุกคน เรา
ไม่มีเวลาเช่นนั้น ฉะนั้นเราจึงต้องหาวิธีการ พวกคุณจะหาว่า ผมออกนอกคอกไงก็ตามใจเถอะ ผมคิดว่ายังไม่มีใคร
อุตริเหมือนอย่างผมหรอก ผมเวลานี้พยายามจะจัดสร้างอ้ายเรื่องนี้ให้มันเกิดขึ้น ก็พวกเราบางคนอุทิศตัวให้เป็นหนู
ตะเภาในการทดลองเรื่องนี้ ผมก็ขออนุโทนาท่านผู้นั้นด้วย เพราะว่าธรรมทั้งหลายนี่ ไม่ใช่อยู่ๆ เราก็ประพฤติปฏิบัติได้
กว่าเรื่องความสงบ กว่าผมจะเอามาให้พวกคุณ มาแจกจ่ายพวกเราได้นั้น เราก็ต้องทดลองหาความจริงกันมาแล้ว เรา
ถึงได้นำมาแจกกันได้ แล้วทีนี้แจกกันได้นี้ พวกเราบางคนอาจจะเข้าใจไข้วเขวไปก็ได้ บอกว่าอ้ายที่นี้มันเป็นสถานที่ศักดิ์
สิทธิ์ มาแพล้บเดียวก็ได้ ที่อื่นทำไม่ได้ ผมเองก็นึกขำ เพราะสติแต่ละคนมีอยู่แล้วทำไมจะต้องมาหาบอกว่า เอ๊ะ
สติอย่าเผลอนะ มีสติอยู่นะ มันก็ขำ นี่ มันเป็นอย่างนี้ทุกคนมีคุณสมบัติอยู่แล้ว
นอกจากศรัทธาและสติแล้ว ผมก็ใคร่จะแนะนำให้พวกเรารู้อีกตัวหนึ่ง ตัวนั้นเป็นโสภณเจตสิกที่ ๓ เรียกว่า หิริเจตสิก
หิริเจตสิกนี่ในสังคมปัจจุบันผมว่าหาลำบากสักหน่อย เพราะเหตุไร หมายถึงความละอายต่อการทำบาปหรือทำชั่ว
เพราะสังคมปัจจุบันนี้เขาทำแต่ความชั่วและทำแต่บาป เขาไม่นึกอะไรทั้งหมด เพียงแต่ทำลงไปแล้วผลประโยชน์ให้มัน
เกิดขึ้น เราจะเห็นในเรื่องคอรัปชั่นทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ดี การทำลายป่าตัดโค่นก็ดี การจราจรที่ยัดเยียดแออัดกันก็ดี
เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะว่าขาดหิริเจตสิก คือความละอายบาปและทำชั่ว เพราะต่างคนก็ต่างเห็นแก่ตัว เอา
ประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่ ประโยชน์ของคนอื่นช่างมัน อย่างนี้มันไปกันไหวหรือ ฉะนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสรู้มา ๒,๕00 กว่าปีแล้ว พระองค์ยังเห็นความสำคัญข้อนี้ จึงได้กล่าวเอาไว้ว่า ตัวนี้มันเป็นโสภณเจตสิกตัวหนึ่ง
ถ้ามันมีแล้วมันจะทำให้เราเป็นคนที่มีความละอาย เมื่อเรามีความละอายเราก็ไม่กล้าทำชั่ว ไม่กล้ากระทำความผิด
หิริเจตสิกนี่ มีความเกลียดต่อบาปเป็นลักษณะ มีการไม่ทำบาปเป็นกิจหรือหน้าที่ มีความละอายต่อบาปเป็นผล
มีความเคารพในตนเองเป็นเหตุใกล้ นี่ มันเป็นรายละเอียดของหิริเจตสิก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ความยุ่งยากในสังคม
ทุกวันนี้เพราะเราขาดคุณธรรมข้อนี้
และอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นของคู่กันเรียกว่า โอตตัปปเจตสิก ซึ่งหมายถึง ความสะดุ้งกลัวต่อการทำบาป ฉะนั้นถ้า
เราไม่สังเกตเราจะเห็นว่า เอ๊ะ มันก็เหมือนๆ กัน ความจริงมันไม่เหมือนกัน หิรินั่นเป็นเรื่องของความละอาย แต่
โอตตัปปะนั่นเป็นเรื่องของความกลัว คนละเรื่อง ความกลัวกับความละอายคนละเรื่อง ฉะนั้นถ้าพูดถึงคุณค่าละก็ หิริ
นี่มันมีค่ามากกว่าโอตตัปปะ เพราะว่าหิรินี้มันเป็นคุณธรรม ถ้าเรามีคุณธรรมอันนี้แล้วมันละอาย มันก็ไม่ทำ แต่โอตตัปปะ
นี่พอคิดว่าจะทำไปแล้วกลัวติดคุกกลัวติดตาราง กลัวจะตกนรก มันคนละอย่าง นอกจากนั้นแล้วโอตตัปปะนี่ มีความ
สะดุ้งกลัวต่อบาปเป็นลักษณะ มีการไม่ทำบาปเป็นกิจ เช่นเดียวกันกับหิริ มีความละอายต่อบาปเป็นผล มีความเคารพ
ต่อผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ เห็นไหม ต่างกันเห็นไหม หิริเราละอายใจตัวของเราเอง แต่โอตตัปปะนั้นละอายต่อผู้อื่นเขา
ฉะนั้นหิริและโอตตัปปะนั้นจะเกิดขึ้นต้องอาศัย เหตุภายนอก ๔ และเหตุภายใน ๘ ดังนี้คือ
เหตุภายนอก ๔ ประการได้แก่อะไร ได้แก่
๑. กลัวต่อการถูกติเตียนด้วยตนเอง
๒. กลัวต่อการถูกติเตียนจากผู้อื่น
๓. กลัวต่อราชทัณฑ์หรือกฏหมายบ้านเมือง
๔. กลัวต่อภัยในอบายภูมิ
เห็นไหม นี่เป็นเหตุภายนอก ส่วนใหญ่คนเราทุกวันนี้ ในสังคมทุกวันนี้ที่ไม่ได้กระทำความชั่ว ส่วนใหญ่ไปนึกถึง
เหตุภายนอก แต่ไม่ได้มีเหตุภายในประกอบ
ทีนี้เหตุภายใน ๘ ประการ ที่มันจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ
ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงตระกูลของตน หนึ่งละ
ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงวัยของตน อีกประการหนึ่ง
ตัวแรก เรียกว่า กุละ ตัวที่ ๒ เรียกว่า วยะ
๓. เรียกว่า พาหุสัจจะ คือ ความละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงการศึกษาของตน ซึ่งเราจะเห็นคนบางคนมีการ
ศึกษาดี อะไรดี แต่ทำไมถึงได้ทำการทุจริต คิดไม่ซื่อ เพราะว่าเขาไม่มีอ้ายความละอายพวกนี้มันบังเกิดขึ้น
๔. เรียกว่า ชาติมหัตตะ ได้แก่การละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงชาติอันประเสริฐของตน ซึ่งในเรื่องนี้เราจะเห็น
ได้จากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไม่กล้ากระทำความชั่ว ไม่เหมือนคนชั้นต่ำๆ
๕. สัตถุมหัตตะ คือความละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง คำนึงถึงบิดาบ้าง มารดา
บ้าง ครูบาอาจารย์บ้างนี่
๖. เรียกว่า ทายัชชมหัตตะ คือมีความละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงการผู้เป็นมรดกของพระพุทธเจ้า หรือของ
บิดามารดาซึ่งตนได้รับ ในเรื่องนี้ขอให้พวกเราพิจารณาดูให้ดี ผู้ที่ดำรงตนเป็นหลวงพ่อหลวงแม่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
นำเดียจรัจฉานวิชาเอามาเผยแพร่นั้น ถือว่าไม่มีหิริโอตตัปปะแต่ประการใด เพราะเขาไม่ได่นึกว่าเขาเป็นทายาทของ
พุทธศาสนา
๗. เรียกว่า สหพรหมจารีมหัตตะ คือมีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงเพื่อนที่ดีที่เคยคบหาสมาคมกันมา
คือละอายต่อเพื่อนฝูงที่เขาประพฤติดีประพฤติชอบนั่นเอง อันนี้มันก็เข้ามาในมงคล ๓๘ ประการ ที่ว่าไม่คบคนพาล
ให้คบแต่บัณฑิตนั้น
๘. คือเรียกว่า สูรภาวะ หมายความว่า ละอายต่อบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงความกล้าหาญและความสงบเสงี่ยม
ของตนเอง
นี่ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่เป็นเหตุภายในที่เกิดขึ้นในจิตใจของเราเองที่ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ แต่บังเอิญพวกเรา
ส่วนใหญ่ทุกคนมีหิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิกกันอยู่ ซึ่งไม่เหมือนคนบางหมู่บางเหล่าเขาไม่มี แต่อย่างไรก็ดี เราจะดี
อย่างไร เราอย่าลืมตัวของเรา อย่าทะนงตัวของเราว่าเราจะดี ซึ่งมันอาจจะดีไปไม่ตลอดก็ได้ ฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคน
จงตั้งอยู่ด้วยความมีสติ อย่าอยู่ด้วยความประมาท
ตามที่ผมได้กล่าวมานี่ก็เป็นเรื่องของโสภณเจตสิก ๔ ตัว เวลาก็จะหมด จึงขอจบเพียงแค่นี้

เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๖ จบ