เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๙
--------------------------------------------------------------------

อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม
ตนแล ฝึกได้ยาก

จากพุทธภาษิตดังกล่าวนี้จะแลเห็นได้ว่า แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับว่าตนของตนเองนั้น
ฝึกได้ยาก ทั้งนี้เพราะเหตุว่าการที่จะฝึกตนของตนเองให้เป็นอะไรหรือนำมาใช้ในเรื่องของธรรมะนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้
ยาก ทั้งนี้เพราะเหตุว่าบุคคลผู้นั้นส่วนใหญ่ขาดสติ ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าความสำคัญของสตินั้นมันมีไม่ใช่เล็กน้อย
ดังที่คนบางคนเข้าใจ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าสตินั้นมันป็นพื้นฐาน ไม่ว่าการที่เราจะเจริญงานทางใจประเภทเพื่อให้เกิด
ความสงบ หรือประเภทที่ทำให้เกิดปัญญาเพื่อทำลายกิเลสและวัฏฏะให้ลดน้อยลง ความสำคัญนั้นอยู่ที่สติตัวเดียว
เท่านั้น ดังนั้นเรื่องของสติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง แต่มันก็เป็นการที่แปลกที่คนบางคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าตนเองมีสติ
อยู่สมบูรณ์ ตนเองเป็นผู้ที่ฝึกได้ง่ายแต่คนอื่นฝึกได้ยากนั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการ
ที่จะฝึกนั้น ผู้ที่จะทำการฝึกย่อมจะต้องมีอำนาจอยู่เหนือผู้ถูกฝึก ฉะนั้นผู้ที่มีอำนาจอยู่เหนือผู้ถูกฝึกนั้น ก็สามารถที่
จะทำการฝึกผู้ที่อยู่ใต้อำนาจของตนได้โดยง่าย แต่ทำไมเล่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได่ตรัสว่าตนนั้นเป็นผู้
ที่ฝึกได้ยากนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าผู้ที่มีอำนาจก็ดีหรือไม่มีอำนาจก็ดี เราพูดได้บังคับได้แต่สำหรับคนอื่น แต่ตัว
ของเราเองนั้นไม่มีใครจะบังคับบัญชาเรา และตัวของเราเองส่วนใหญ่ก็เข้าข้างตัวของเราเอง คิดว่าเราทำดีทำชอบ
อยู่เสมอ เหตุนี้แหละสติมันจึงไม่เกิด และไม่ใช่เราเข้าใจว่า สติมันเป็นของเกิดได้ยากสำหรับรุ่นในปัจจุบันนี้เท่านั้น
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้แล้วเมื่อ ๒,๕00 กว่าปีมาแล้วว่า ตนของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่
ฝึกได้ยาก
ฉะนั้นใคร่จะเตือนพวกเราทุกๆ คนว่า ถ้าพวกเราหวังที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมบูรณ์และถูกต้องแล้ว มีสิ่ง
เดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเดินทางที่ถูกที่ชอบได้คือสติ ปัญหาเรื่องสตินี้ได้มีการพูดกันหลายคนบอกว่าพูดอย่างไหน
ก็ได้ทำการฝึกแล้ว สติเกิดขึ้นแล้ว แต่ผมมองดูแล้วกับการประพฤติการปฏิบัติของเขาเช่นนั้น ความจริงสติเขาไม่ได้
เกิดขึ้นเลย เพราะว่าสตินั้นมันจะเป็นพื้นฐานของปัญญานั้น เขาไม่รู้ว่าปัญญานั้นน่ะหมายความว่าอะไร ถ้าพวกเรา
ทุกคนใช้ความพิจารณาไตร่ตรองดูให้ดีแล้ว ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าปัญญานั้นมันมีการแบ่งขั้นหยาบๆ มันก็มีถึง ๓
ขั้น ๓ ขั้นเป็นอย่างไรหรือ คือปัญญาในขั้นต้นเรียกว่าสุตมัยปัญญา หรือปัญญาที่เกิดจากการฟัง นี่ อย่างนี้ก็เรียกว่า
ปัญญาได้ แต่มันเพียงปัญญาในขั้นต้นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติธรรมแต่ประการใดได้ไม่
และปัญญาขั้นสูงต่อไปคือ จินตมัยปัญญา ปัญญานั้นน่ะเมื่อได้รับการฟังแล้ว ปัญญาตัวนั้นก็ต้องนำมาพิจารณา ซึ่ง
เรียกว่า จินตมัยปัญญานั้น มันเป็นปัญญาขั้นที่สอง ยังไม่เข้าถึงธรรมะ ปัญญาที่จะเข้าถึงธรรมะนั้นคือ ภาวนามัยปัญญา
ปัญญาตัวนี้ถ้าเราสามารถสร้างขึ้นได้แล้ว มันจะออกมาโดยเราไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไร มันจะออกของมันมาเองพร้อม
กับสติที่จะเตือนให้เรารู้ว่าสิ่งใดเป็นความถูกต้อง สิ่งใดที่ผิด เหล่านี้ผมยังไม่เห็นว่าพวกเราคนใดมี แต่บางคนก็กลับ
พูดว่าเขาเกิดขึ้นแล้ว สติเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว อ้ายอย่างนี้ไม่ใช่ สตินั้นหมายความถึงการระลึกรู้ พอระลึกรู้
แล้วมันก็ดับไป การระลึกรู้กับความจำนั้นมันคนละตัว ความจำนั้นมันเป็นสัญญาเจตสิก แต่การระลึกรู้นั้นเป็นสติเจตสิก
มันเป็นคนละตัว สัญญาเจตสิกนั้นมันเป็นตัวกลางๆ คือเป็นเจตสิกตัวกลางๆ เรียกว่าสาธารณเจตสิก ซึ่งอาจจะจำได้
ในทางเลวก็ได้ ในทางดีก็ได้ สัญญาความจำนั้น แต่ส่วนสติเจตสิกนั้นมันจะระลึกรู้เฉพาะกับจิตฝ่ายดีเท่านั้น เพราะอะไร
เพราะสตินั้นเป็นโสภณเจตสิก ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ในฐานะที่เราได้เวียนว่ายตายเกิดมาในวัฏฏะนี้นับ
ไม่ถ้วน เราไม่ได้ฝึกหัด ไม่ได้อบรมไว้ มันจะเกิดขึ้นอย่างไร พวกเราต่างคนก็มีกิเลส มีตัณหา มีราคะด้วยกันหมดทุกคน
เราเวียนว่ายตายเกิดมาในอดีตชาตินั้นนับครั้งไม่ถ้วนนะ สิ่งเหล่านี้แหละ อกุศลเจตสิกเหล่านี้แหละ มันก็วนเวียน
ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดมาอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ฝึกฝนสติเอาไว้ ฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคนจงทำความ
เข้าใจให้ดีในเมื่อสติมันเกิดนั้น แต่ผมเข้าใจว่าพวกเราบางคนอาจจะมีสติเกิดเป็นบางขณะ เช่นตัวอย่างว่าเราอยาก
จะกระทำอะไรในสิ่งที่ผิดๆ คือมันอาจจะเป็นการผิดศีลธรรม อาจจะเป็นการผิดขนบธรรมเนียมประเพณี อาจจะเป็น
การผิดกฏหมาย มันจะมีความรู้สึกอันหนึ่งดึงเหนี่ยวเราเอาไว้ไม่ให้เรากระทำลงไปเช่นนั้น สิ่งนี้แหละเรียกว่าสติ แต่ทุกๆ
คนมันเกิดแล้วหรือ ถ้ามันเกิดจริงๆ พวกเราคงไม่ต้องมาเกิดๆ ตายๆ กันอยู่อย่างนี้ ถ้าสติมันเกิดมาทุกภพทุกชาติแล้ว
เราคงจะไม่มาพบปะเจอะเจอกันเป็นแน่ อย่างน้อยเราก็คงจะสะสมโลกุตตรกุศลให้มากยิ่งๆ ขึ้นแล้ว เราก็คงจะทำลาย
กิเลสทั้งหลายให้ลดน้อยถอยลงไป แต่การที่พวกเราแต่ละคนที่มาพบกันอยู่อย่างนี้ ก็แสดงว่าเรายังไม่มีการทำลายกิเลส
อะไรกันเลย ฉะนั้น เราควรจะได้เริ่มต้นกันเสียตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งในเรื่องนี้ผมก็พยายามที่จะช่วยให้พวกเราทุกๆ คนให้มี
สติเกิดขึ้น แต่อาจจะเป็นบางคนที่ไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของสตินั้นว่ามีประการใดบ้าง ความจริงในเรื่องของสตินั้น เรานำ
มาใช้ตั้งแต่เราเริ่มฝึกอบรมที่จะทำจิตให้สงบตั้งแต่ต้นแล้ว นั่น ถ้าเราไม่นำสติมาใช้ประกอบการฝึกอบรมให้เกิดความสงบ
เราก็ไม่สามารถที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้ แต่การที่ฝึกอบรมในการสร้างความสงบในขั้นต้นนั้น มันเป็นสติเพียง
เล็กน้อยขณะเรานั่งทำสมาธิอยู่เท่านั้น เมื่อเราออกจากสมาธิแล้ว สติมันก็หายไป แต่ในกุศลขั้นสูงนั้นเราทำเช่นนั้นไม่ได้
เราจะต้องนำสตินั้นมาเป็นสมบัติติดตัวเราตลอดเวลาที่เรามีความรู้สึกตัวอยู่ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ผลแห่งการประพฤติ
ปฏิบัติไม่สามารถที่ก้าวหน้าต่อไปได้
ปัญหาเรื่องสตินี่แหละที่เราจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ในหลักการที่เขาปฏิบัติโลกุตตรกุศลนั้น ความจริงมันไปอยู่ในขั้น
สุตมัยปัญญาหรือจินตมัยปัญญาเท่านั้น ภาวนามัยปัญญามันไม่เกิดขึ้น ดังนั้นที่เราล้อกันอยู่เสมอว่าวิปัสสนึกนั่นน่ะ
นี่แหละ ตัวนี้แหละ เพราะเหตุไร เพราะเขากินข้าวต้มกระโจนกลาง ปุบปับก็ประพฤติปฏิบัติไปตัดกิเลสอย่างโน้น
อย่างนี้ กิเลสไปตัดมันได้เมื่อไหร่ มันตัดกันไม่ได้ เพราะเหตุไร ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นแล้วมันค่อยหายไปเอง ไม่ใช่ว่าเรา
ไปตั้งหน้าคอยจะจับตัวกิเลส ไม่ใช่เช่นนั้น ไม่ใช่ ดังนั้น ในพวกเราที่ทำสมาธิได้ ขณะที่อยู่ในสมาธินั้นเราจะมีความสงบ
ปราศจากกิเลสทั้งหลายที่มารบกวน อันนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามันระงับชั่วขณะเหมือนเรานั่งอยู่กันใต้
ต้นมะม่วงเมื่อกี้นี้ เราเอาเสื่อปู เราเอาเสื่อปูแล้วมานั่ง อ้ายต้นหญ้ามันก็ไม่มี ถ้าเราเก็บเสื่อแล้ว อ้ายต้นหญ้ามันก็มี
อยู่ตามเดิมของมัน นี่เป็นลักษณะของสมาธิ ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าสมาธินั้นไปทำลายตัวกิเลสได้ ไม่ใช่มันเป็นการระงับ
ชั่วขณะเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าในทางวิปัสสนาปัญญานั้น กิเลสมันจะต้องค่อยๆ ลดน้อยถอยลง ทำลายลงไป
โดยเราไม่รู้สึกตัว อย่างที่พวกเราทั้งหลายได้เข้ามานั่งอยู่ในที่นี้ โดยเราไม่มีอะไรปูรองนั่งกันเลย แต่พวกเรารู้หรือเปล่า
กว่าที่เราจะมีพื้นที่เรียบราบมานั่งกันอย่างสบายนี้น่ะ แต่ก่อนนี้มันเป็นพื้นดินมีต้นหญ้า มีอิฐ มีกรวด มีทราย มีน้ำ
สาดเขลอะขละไปทั้งนั้น แต่กว่าเราจะทำมันมาได้ เราจะต้องมาทำการถม ทำการเกลี่ย ทำการทุบดินให้มันแน่น
เราก็มาเทคอนกรีต เทคอนกรีตแล้วเราถึงจะมาปูกระเบื้อง อย่างนี้ นี่ ลักษณะอย่างนี้มันเรียบ มันเรียบสม่ำเสมอโดย
ไม่มีหญ้าเหมือนเราเอาเสื่อปูอยู่ ที่เรานั่งเล่นกันอยู่ใต้ต้นมะม่วงเมื่อกี้นี้ ปัญญามันคนละตัว ความสงบมันคนละอย่าง
กิเลสมันคนละอย่าง อย่างนี้ เปรียบเหมือนว่ามันเป็นการระงับด้วยปัญญา แต่ในขณะที่เราปูเสื่อนั่งกันอยู่เมื่อกี้นี้ หญ้า
มันระงับไปไม่มีใบ นั่นเปรียบเหมือนเราระงับด้วยสมาธิ ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่หวังจะก้าวเข้าไปถึงในขั้นปัญญา ให้
ภาวนามัยปัญญาเกิดขึ้นนั้น ก็จงพร้อมเถิดว่าเราได้เริ่มฝึกสติกันหรือยัง ถ้าเราไม่ยอมที่จะทำการฝึกสติแล้วจนป่านนี้
ซึ่งเราผ่านกันมาหลายวันแล้ว เราอย่าลืมว่ามันไม่ใช่ของเกิดขึ้นง่ายๆ อย่าทำอย่างบางคนเขา เขาบอกว่าสติเขาเกิด
ขึ้นแล้ว โดยอยากจะได้นั่นอยากได้นี่ นั้นแหละสติมันเกิดขึ้นแล้ว เขาพูดเช่นนี้ เขาไม่รู้หรอกว่าสตินั้นมันอยู่แผนกไหน
แผนกโสภณะหรืออกุศลเจตสิกกันแน่ นี่ คนบางคนในระหว่างพวกเรานี้ซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนโลภะมันเข้าครอบงำ
จิตใจอยู่ ก็บอกว่าสติมันเกิด มันเกิดเราถึงได้เงินได้ทองเช่นนั้น พอพูดแล้วผมก็ยิ้ม เพราะว่าเขาไม่ได้บอกเรานี่
เขาไม่ได้ถามเรานี่ เขาบอกว่ามันเกิดมันก็เกิด เกิดอะไร เกิดอกุศลเจตสิกมันเกิดขึ้น ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่สติเจตสิก
สติเจตสิกจะไม่เกิดขึ้นอย่างนั้นเป็นอันขาด ถ้าสติเจตสิกมันจะเกิดมันจะบอกเลย บอกว่าอ้ายนี่มันผิด ไม่ใช่ถูก ตามที่
ความเข้าใจสติมันเกิดอย่างนี้ ฉะนั้นพวกเราที่มากันสม่ำเสมอ ขอให้เอาอ้ายข้างฝาเรือนน่ะ ที่ติดเอาไว้น่ะ เริ่มประพฤติ
ปฏิบัติ ไม่ต้องไปบอกใคร ข้อบกพร่องทั้งหลายมันอยู่ในตัวของเราเอง เราไม่ต้องไปโอ้อวดใคร ผลสุดท้ายถ้าทุกๆ ท่าน
ก้าวเป็น step by step เช่นนั้นแล้ว บางท่านก็ได้เริ่มรู้คุณค่าของสติขึ้นมาแล้ว บางท่านวานนี้บอกว่า แต่ก่อนนี้
ฝึกแล้วฝึกอีกมันก็ไม่ค่อยเกิด และพอมันเกิดขึ้นแล้ว แหมมันช้าเหลือเกิน มันไม่ปัจจุบัน แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่ามันเป็น
ปัจจุบันขึ้นแล้ว อันนี้เพราะอะไร เพราะความเพียรตัวเดียวเท่านั้นที่เรามีความเพียรว่าเราจะสร้างให้มันเกิดขึ้น แล้ว
มันก็เกิด ฉะนั้นขอให้พวกเราจงเพียรพยายามต่อไป แต่ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าฉันมีความสงบแต่นี้พอแล้ว อ้ายนี่แล้ว
แต่ความพอใจความสมัครใจ แต่จะไปหวังที่จะไปเป็นผู้วิเศษ ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ที่นี่หาไม่ได้ ทุกๆ คนเป็นสามัญชน
เป็นปุถุชนเหมือนกันหมด ไม่มีใครเป็นผู้วิเศษเหนือกว่าใคร ทุกคนเท่ากันหมด
เมื่อผมพูดถึงสติเจตสิกเป็นการเตือนพวกเราเช่นนี้แล้ว ต่อไปผมก็จะได้นำให้พวกเรารู้จักเจตสิกตัวต่อไป ที่เรา
ได้พูดกันค้างไว้เมื่อวันอาทิตย์ก่อนคือ กายมุทุตาเจตสิกตัวหนึ่ง กับ จิตมุทุตาเจตสิกอีกตัวหนึ่ง
กายมุทุตาเจตสิก นี้ หมายถึง สภาวะที่ทำให้จิตมีความอ่อนโยน ความอ่อนโยนของเจตสิกนั้น คือจะทำให้
เป็นการง่ายดายต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล
อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เราจะเห็นได้คนบางคน ถ้าพูดถึงในเรื่องบุญเรื่อง
กุศลแล้ว ผมเข้าใจว่าพวกเราทุกคนคงจะได้ตระหนักมาแล้วว่าญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงเรา ในขณะที่เราได้เห็นประโยชน์
ของกุศลผลบุญเช่นนี้ แต่ถ้าเราไปพูดให้ใครเขาฟังเถอะ บางคนเขาจะไม่สนใจ ที่ไม่สนใจเพราะเหตุไร เพราะว่าเขาขาด
กายมุทุตาเจตสิก คือสภาวะที่จะทำให้เจตสิกนั้นอ่อนโยน มีความอ่อนโยนของเจตสิกที่ทำให้ง่ายดายในอารมณ์
ที่เป็นกุศลนั้น มันเป็นเรื่องยาก แม้แต่พวกเราบางคนขณะที่เข้ามานี่ แทนที่เราจะพูดเรื่องบุญกุศลกัน เรากลับไปพูด
เรื่องความยิ่งใหญ่ เรากลับไปพูดถึงการเกิดลาภ เกิดนมัสการ เกิดเพราะความโลภ เกิดเพราะการทำผิดๆ เช่นนั้น
โดยไม่รู้ตัว เข้าใจว่าตัวนั้นแหละมันเป็นสติ อย่างนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าน่าสงสารอย่างยิ่ง ซึ่งเราทำการฝึกอบรมที่จะ
สร้างบุญสร้างกุศลด้วยสติ เพื่อก้าวต่อไปเพื่อจะให้ถึงภาวนามัยปัญญานั้น เรากลับมาเข้าใจสิ่งผิดๆ เช่นนี้ มันเป็น
เรื่องที่ใช้ไม่ได้ และถ้ายังประพฤติปฏิบัติกันต่อไปเช่นนั้น เราก็ดูเขาก็แล้วกันว่าอนาคตของเขาจะเป็นอย่างไรในเรื่อง
ของธรรมะ ถ้าสำหรับในเรื่องโลก อาจจะดีได้ เพราะว่าเรื่องโลกกับเรื่องของธรรมะ ถ้ามัน different กันมากนักมัน
ก็ไม่รู้ว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่นนี้ บอกแล้วนี่ว่า เมื่อวันก่อนนี้ บอกแล้วว่าศีลนั้นเป็นบาทของสมาธิ
สมาธิเป็นบาทของปัญญา เมื่อเราหมดแล้วซึ่งศีล สมาธิจะอยู่ได้หรือ เมื่อสมาธิไม่มี ปัญญามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เหมือนเราสร้างตึก รากไม่มี เสาไม่ได้เทก่อสร้างขึ้นมา มันจะเป็นตัวตึกได้อย่างไร เว้นแต่การสร้างวิมานในอากาศของ
บุคคลเหล่านั้นเท่านั้น
นอกจากความหมายของกายมุทุตาเจตสิกดังกล่าวแล้ว ผมก็จะใคร่จะชี้ให้เห็นว่า จิตตมุทุตาเจตสิก นั้นมีความ
หมายว่าอย่างไรอีกตัวหนึ่งมันคือสภาวะที่ทำให้จิตอ่อนโยน เจตสิกที่ทำให้จิตอ่อนโยน เป็นไปได้ง่ายดายในอารมณ์
ที่เป็นกุศล
พอพูดมาเท่านี้ พวกเราบางคนอาจจะข้องใจสงสัยว่ามันเหมือนกันนี่ ความจริงมันไม่เหมือนกัน มันคนละตัว
กายมุทุตาเจตสิกมันเป็นสภาวะของเจตสิกที่มีความอ่อนโยนตัวหนึ่งนะ แต่จิตตมุทุตาเจตสิกมันเป็นสภาวะที่ทำให้จิต
อ่อนโยน คนละตัว คนละตัว ตัวแรกมันเป็นเรื่องของเจตสิก ตัวหลังมันเป็นเรื่องจิต แต่กายมุทุตาเจตสิกก็ดี หรือจิตต
มุทุตาเจตสิกก็ดี มันเป็นเจตสิกด้วยกันทั้งคู่ แต่มันทำหน้าที่ต่างกัน กายมุทุตาเจตสิกทำหน้าที่เกี่ยวกับเจตสิกให้อ่อนโยน
แต่จิตตมุทุตาเจตสิกเป็นเจตสิกที่ทำหน้าที่ให้จิตอ่อนโยน คนละตัว ฟังให้ดี มันคนละตัว ลักษณะที่มันแตกต่างกันมัน
แตกต่างระหว่างจิตกับเจตสิกเท่านั้น แต่คุณสมบัติต่างๆ เหมือนกันทั้งสิ้น
เมื่อเราได้ทราบกันมาเช่นนี้แล้ว เราก็รู้ต่อไปถึงลักษณะของกายมุทุตาเจตสิกนั้น มีเจตสิกเป็นลักษณะ มีเจตสิก
เป็นลักษณะปราศจากความแข็งกระด้าง เจตสิกที่ปราศจากความแข็งกระด้างนั้นก็คือความอ่อนโยนนั่นเอง ส่วนจิตต
มุทุตาเจตสิกนั้นมีการทำให้จิตสงบจากความแข็งกระด้าง เห็นไหม นี่เป็นลักษณะ ส่วนกิจนั้นหรือหน้าที่นั้น ตัวแรกนะ
กายมุทุตาเจตสิกนั้นนะ มีหน้าที่ทำลายความแข็งกระด้างของเจตสิก เป็นหน้าที่หรือกิจ ส่วนจิตตมุทุตาเจตสิกนั้น มี
การทำลายความแข็งกระด้างของจิตเป็นกิจหรือหน้าที่ มันทำลายกันคนละตัว ฉะนั้นคนที่มีจิตใจแข็งกระด้าง มีเจตสิก
ที่แข็งกระด้าง ไม่มีจิตเป็นบุญเป็นกุศลนั้น แสดงว่าเขาได้ขาดกายมุทุตาเจตสิกและจิตตมุทุตาเจตสิก ในลักษณะเช่นนี้
เขาจะไม่สามารถที่จะทำสมาธิในขั้นสูง ผมใช้คำว่าสมาธิในขั้นสูง ไม่ใช่ในเรื่องของความสงบเท่านั้นนะ การที่จะนำเอา
สมาธิไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย ถ้าเราขาดกายมุทุตาก็ดี จิตตมุทุตาก็ดี แล้วก็เป็นการยากที่เราจะทำให้นำไปใช้ได้
เราก็คงได้แต่ความสงบเบื้องต้นที่เราได้รับเท่านั้น นอกจากหน้าที่หรือกิจของเจตสิกทั้ง ๒ ตัวนี้แล้ว ทีนี้เราก็หันไปดู
ผลกันบ้าง ว่ามันมีผลเป็นประการใด กายมุทุตาเจตสิกก็ดีหรือจิตตมุทุตาเจตสิกก็ดี มันมีความไม่โกรธไม่อาฆาตเป็นผล
ฉะนั้นพวกเราทุกคนเมื่อเราได้รับวิบาก สิ่งที่ไม่พอใจเบียดเบียนเราอย่างไรก็ดี ขอให้เรามีเจตสิกทั้ง ๒ ตัวนี้ไว้เถอะ
ผลอย่างไร เราจะไม่มีการไปใช้กรรมในชาติหน้าอีกต่อไป เพราะเหตุใด เพราะเราไม่มีการพยาบาท หรืออาฆาต
คือความไม่ผูกโกรธนั่นเองน่ะ ซึ่งเราจะเห็นพวกเราที่ได้รับผลอยู่บ่อยๆ ขณะนี้ นั่นเพราะอะไร เพราะว่าเขาขาด ๒
ตัวนี้ เขาถึงได้มีการผูกโกรธเป็นผล ฉะนั้นเมื่อเราได้ศึกษากันมาแล้ว เรารู้แล้ว เราอย่าไปเก็บมันไว้ เมื่อเราได้ทราบ
ถึงผลแห่งกายมุทุตาเจตสิกและจิตตมุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ มาแล้ว ต่อไปเราก็จะได้ทราบถึงเหตุใกล้ สำหรับกายมุทุตาเจตสิก
นั้น มันมีเจตสิกเป็นเหตุใกล้ ส่วนจิตตมุทุตาเจตสิกนั้นมันมีจิตเป็นเหตุใกล้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะว่ากายมุทุตา
นั้นมีหน้าที่ขจัดเจตสิกที่แข็งกระด้าง แต่จิตตมุทุตาเจตสิกนั้นมีหน้าที่ขจัดจิตที่แข็งกระด้าง มันเป็นคนละตัว
เมื่อเราได้ทราบถึงกายมุทุตาเจตสิกและจิตตมุทุตาเจตสิกแล้วต่อไปเราจะได้ทำความรู้จักกันถึง กายกัมมัญญตา
เจตสิก
ตัวหนึ่ง กับ จิตตกัมมัญญตาเจตสิก ตัวหนึ่ง เจตสิกทั้ง ๒ ตัวนี้ กายกัมมัญญตาเจตสิก นั้น หมายถึง
เจตสิกที่ควรแก่การงานอันเป็นกุศล ความควรแก่การงานของเจตสิก นี่เป็นความหมายของกายกัมมัญญตาเจตสิก
ส่วนจิตตกัมมัญญตาเจตสิกนั้นหมายถึง เจตสิกที่ทำให้จิตควรแก่การงานอันเป็นกุศล การทำให้จิตควรแก่การงาน
นอกจาก กายกัมมัญญตาเจตสิกและจิตตกัมมัญญตาเจตสิกที่มีหน้าที่ทำเจตสิกและจิตให้ควรแก่การงานอันเป็น
กุศลแล้ว ต่อไปเราก็ควรจะได้ทำความรู้จักถึงลักษณะของเจตสิกทั้งสองต่อไป เจตสิกตัวแรกคือกายกัมมัญญตาเจตสิก
ลักษณะของมันก็มีการทำให้เจตสิกสงบจากความไม่ควรแก่การงาน สงบจากความไม่ควรแก่การงาน
ส่วนจิตตกัมมัญญตาเจตสิกมันก็มีหน้าที่ มีการทำจิตให้สงบจากความไม่ควรแก่การงาน กายทำหน้าที่เกี่ยวกับเจตสิก
จิตนั้นทำหน้าที่เกี่ยวกับจิต ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้เห็นตัวอย่างพวกเรานี่แหละ บางคนเรื่องต่างๆ รู้ได้ร้อยแปด
นั่นเพราะว่ามันยังไม่มีความสัมพันธ์เข้ากับตัวของตัวเอง ถ้ามันถึงเรื่องของตัวเองหรือเกี่ยวกับครอบครัวของตัวเอง
แล้ว ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่มี ๒ ตัวนี้ มันจึงทำให้จิตควรแก่การงานไม่ได้ มันย่อมมีการซัดส่าย นี่
เป็นเรื่องพิสูจน์ได้ในเรื่องนี้ ฉะนั้นการที่เราจะทำการศึกษากันในเรื่องนามธรรมหรือเจตสิกนี่ เราจะต้องพิจารณาอ้าย
ตัวไหนจะนำไปใช้อะไรได้บ้าง ถ้าตัวเรารู้ว่าตัวไหนที่จะนำไปใช้อะไรบ้างแล้ว เราก็ทำการศึกษาค้นคว้าให้มันรู้จริงๆ ในเรื่อง
ของตัวนั้น แล้วเราก็คงรักษาไว้หรือทำให้มันเกิดขึ้น ถ้าเราสามารถทำได้เช่นนี้แล้ว การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมของเรา
ก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นี่ โดยเราไม่ต้องไปนั่งอวดอภินิหารกับใครหรอก ตัวของเราเองพอแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว
นี่ว่าการสั่งสอนตัวเราเอง อบรมตัวเราเองนี้ มันเป็นเรื่องยาก เราทำในสิ่งที่ยากเถอะ แล้วก็อ้ายสิ่งง่ายๆ น่ะมันก็ไม่มี
ปัญหาอะไรแก่เราเลย
นอกจากเราจะได้รู้ถึงเรื่องลักษณะแล้ว ต่อไปเราก็ควรจะได้รู้ถึงหน้าที่หรือกิจของมันด้วยทั้งสองตัวนี้คือ ตัวกาย
กัมมัญญตาเจตสิกนั้น มันมีการทำลายความไม่ควรแก่การงานของเจตสิกเป็นกิจ เห็นไหม ถ้าอ้ายเจตสิกนั่นประพฤติ
ไม่ดีกับการงานอันนั้น ทำลายเลย ตัวนี้ทำลายเลย จิตตกัมมัญญตาเจตสิกนั้น มีการทำลายความไม่ควรแก่การงาน
ของจิตเป็นกิจ เห็นไหม อ้ายตัวหนึ่งทำลายความไม่สมควรแก่การงานของเจตสิก อีกตัวหนึ่งทำลายความไม่สมควร
แก่การงานของจิต เห็นไหม นี่
เมื่อเราได้รู้กิจหรือหน้าที่ของเจตสิกทั้งสองตัวแล้ว ต่อไปเราก็ควรจะได้รู้ผลเกิดขึ้นอีก คือกายกัมมัญญตาเจตสิกนั้น
มันเป็นผลทำให้เจตสิกมีอารมณ์สมควรแก่การงาน เห็นไหม เป็นผล ส่วนจิตตกัมมัญญตาเจตสิกนั้น ทำให้จิตมีอารมณ์
สมควรแก่การงานเป็นผล เห็นไหม สิ่งที่ยากลำบากเหลือเกินในการที่เราจะสร้างนิมิต นำนิมิตมาใช้ต่างๆ นั้น จำเป็น
เหลือเกินที่เราจะต้องมีเจตสิกทั้งสองนี้มาประกอบคอยควมคุมอยู่เสมอ ส่วนเหตุใกล้ของเจตสิกทั้ง ๒ ตัวนั้น ก็มี
เจตสิกและจิตนั้นเป็นเหตุใกล้ของทั้ง ๒ ตัว
นอกจากกายกัมมัญตาเจตสิกแล้วและจิตตกัมมัญตาเจตสิกแล้ว ผมก็ขอแนะนำให้พวกเราได้รู้จักกับ กายปาคุญญตา
เจตสิก
กับ จิตตปาคุญญตาเจตสิก อีกตัวหนึ่ง เจตสิกทั้ง ๒ ตัวนี้มีความหมายอย่างนี้ กายปาคุญญตาเจตสิก
นั้นหมายถึง เจตสิกที่ทำให้เจตสิกแคล่วคล่องต่อกุศล แคล่วคล่องต่อในเจตสิกของกุศลนั้นๆ จำไว้นะ คำว่า
คล่องแคล่ว เราจะสังเกตเห็นว่าความคล่องแคล่วอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการนักหนา แต่ทำไมบางคนไม่สามารถที่จะ
ทำความคล่องแคล่วให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะเรายังไม่สามารถที่จะปลุกเจตสิกทั้งสอง ตัวนี้ให้ลุกขึ้นทันท่วงทีได้ ส่วน
จิตตปาคุญญตาเจตสิกนั้น หมายถึงเจตสิกที่ทำให้จิตคล่องแคล่วต่อกุศล การทำจิตให้คล่องแคล่วในกุศล ถ้าเรามี
ทั้งสองตัวนี้แล้ว ในการเข้าสมาธิ พริบตาเดียวเราสามารถที่จะเข้าได้ตามขั้นตอนที่เราต้องการ นี่ การที่เราฝึกทำ
วสีนี่ก็เพื่อจะปลุกอ้าย ๒ ตัวนี้ให้มันลุกขึ้นมา เห็นไหม ถ้าเราไม่ทำ เราถือว่า อ้า แหมฉันเก่งนะ ฉันสามารถทำสมาธิ
ได้ถึงสงบอย่างนี้แล้ว เมินเสียเถิด ที่เราจะสามารถทำให้มันเกิดตามความต้องการได้ เราไม่สามารถเช่นนั้น เพราะเรา
ไม่ฝึกวสี
ทีนี้มันมีลักษณะของเจตสิกทั้งสองนั้นเป็นอย่างไร ตัวแรกสำหรับกายปาคุญญตาเจตสิกนั้น มันมีความไม่อาพาธ
ของเจตสิกเป็นลักษณะ ส่วนจิตตปาคุญญตาเจตสิกนั้น มันมีจิตไม่อาพาธเป็นลักษณะ เห็นไหม สมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้ายังได้พูดไว้ถึงว่า การอาพาธหมายถึงความเจ็บป่วย สิ่งที่เรามีอยู่เมื่อมันเจ็บป่วย มันไม่เป็นไปตามปกติ
เราก็ใช้มันไม่ได้
ทีนี้เมื่อเรารู้ถึงลักษณะแล้ว เราก็รู้หน้าที่ของมันต่อไปว่ามันมีเป็นอย่างไร ทั้งสองตัวนี่มันมีการทำลายความอาพาธ
ของเจตสิกหรือของจิตนั้นเป็นหน้าที่ ถ้าเจตสิกทั้งสองตัวนี้มีแล้ว มันทำลายหมด ความอาพาธของจิตและเจตสิกนั้น
หมด ฉะนั้นกระพริบตาเพล็บเดียวเข้าได้แล้วตามที่ต้องการ คือเพียงแต่นึกเท่านั้นเองเข้าได้แล้ว อยู่ในขั้นนั้นได้แล้ว
เห็นไหม ทุกอย่าง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วในเรื่องอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ นั้นสำคัญยิ่งคือความเพียร
ในหน้าที่ของเราในด้านสมถะ เพียรยังไง เพียรทำวสีให้มีความช่ำชองพอชำนาญยิ่งๆ ขึ้น สำหรับในด้านที่เราเกี่ยว
กับโลกุตตรกุศล เพียรยังไง เพียรสร้างสติให้มันมีมากๆ ยิ่งขึ้น ให้มันเป็นปัจจุบันธรรม เท่านี้เราก็กำไรชีวิตอย่างมหาศาล
แล้ว เพราะอะไร ในชาตินี้เรามีชีวิตอยู่ เราก็มีสติเป็นเครื่องเตือนไม่ให้เราทำอกุศลกรรมทั้งหลาย และเมื่อเราจะตาย
สติของเรามีอยู่ ไม่ให้เราทำอาสัญญกรรมที่เป็นอกุศลกรรม เมื่อมันไม่มีอกุศลอาสัญญกรรมเกิดขึ้น มันก็มีกุศลอาสัญญ
กรรมเกิดขึ้น ซึ่งเราได้ทำกันมาทุกวันนี้ ผลนั่นอะไร เราก็ไม่ต้องตกไปอยู่ในภพภูมิที่ต่ำ เราขึ้น เราก็มีความสุขสบาย
นี่เห็นไหม ประโยชน์ของสติตัวเดียวเท่านั้น
นอกจากกิจแล้วเราก็มาดูผล เจตสิกทั้งสองตัวนั้น มีความปราศจากโทษเป็นผล เห็นไหม คบค้ามันไว้เถอะ อย่า
ไปคบค้าเลยอ้ายโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อย่างที่บางคนเขาบอกนั่นแหละ เขาบอกเขามีสติ แต่ไปคบค้า
อ้ายเพื่อนชั่วๆ อกุศลเจตสิก แล้วอะไรจะเป็นอะไรเราก็ดูกันไป อย่างนี้ แต่สำหรับเจตสิกทั้งสองตัวนี้ สมเด็จพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้ารับรองไว้แล้วว่ามีความปราศจากโทษเป็นผล ก็เมื่อเราไม่คบเพื่อนที่ดี เราจะไปเลือกคบหาเพื่อน
ที่เราไม่รู้หัวนอนปลายตีนนั้นๆ เราจะได้ชื่อว่าเป็นความโง่หรือความฉลาด คิดเอาเอง และนอกจากนั้นแล้วเรื่องของ
เหตุใกล้ มันก็มีเจตสิกและจิตเป็นเหตุใกล้ทั้ง ๒ ดวง
นอกจากนั้นแล้ว ผมก็อยากจะนำมาให้พวกเราได้รู้จักเจตสิกต่อไปอีก ๒ ดวง กายุชุกตาเจตสิก ดวงหนึ่ง
จิตตุชุกตาเจตสิก อีกดวงหนึ่ง กายุชุกตาเจตสิก นั้น หมายถึง เจตสิกที่ทำให้เจตสิกมุ่งตรงต่อกุศล ความ
มุ่งตรงของเจตสิกต่อกุศล
นี่เป็นความหมายของเจตสิกตัวนี้คือ กายุชุกตาเจตสิก ตัวนี้ ตัวที่ ๒ จิตตุชุกตา
เจตสิก คือเจตสิกที่ทำให้จิตมุ่งตรงต่อกุศล การทำให้จิตมุ่งตรงต่อกุศล เห็นไหม ถ้าเรามีเจตสิก ๒ ดวงนี้แล้ว
รับรองได้ว่าเราจะไม่เดินทางผิดอย่างเด็ดขาด
เมื่อเรารู้ความหมายของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงแล้ว เราก็รู้ถึงลักษณะของมันต่อไป อย่าลืมนะว่าโลกุตตรกุศลนั้น
ที่เราจะนำมาพิจารณานั้น ลักษณะของรูปแต่ละตัวหรือนามแต่ละตัวนั้นเป็นของสำคัญยิ่ง ทั้งนี้จะทำให้เราได้รู้ธรรมะ
นั้นๆ แจ่มแจ้ง ไม่มีใครจะสามารถมาโกหกตอแหลเราได้ และเราก็เชื่อกันด้วยเหตุด้วยผล สามารถพิสูจน์กันได้
ดังนั้นเมื่อเราจะรู้ลักษณะ สำหรับกายุชุกตาเจตสิกนั้น มันก็มีความซื่อตรงต่อเจตสิกเป็นลักษณะ ส่วนจิตตุชุกตาเจตสิกนั้น
มันก็มีความซื่อตรงของจิตเป็นลักษณะ เห็นไหม เมื่อเรายังไม่ได้เริ่มฝึกจิตกัน อ้ายจิตของเรานี้มันซัดส่าย หรือ
พูดอย่างภาษาชาวบ้าน มันก็คดในข้องอในกระดูก พอเราจับให้มันตั้งเป็นคนดี มันก็ทำให้ความสงบเกิดขึ้นกับพวกเราได้
แต่ถ้าเรามีเจตสิกสองตัวนี้เกิดขึ้นแล้ว อ้ายความซื่อสัตย์นั้นมันก็เป็นสันดานของจิตใจเรา แทนที่ว่ามันจะเป็นชั่วคราว
อย่างนี้ ประโยชน์ที่เราจะได้รับ เมื่อเราได้รู้ลักษณะแล้ว เราก็ไปรู้ถึงหน้าที่ของมันอีกว่ามันมีความหมายเป็นอย่างไร
กายุชุกตาเจตสิกนั้น มีการทำลายความไม่ซื่อตรงของเจตสิกเป็นหน้าที่ มันมีหน้าที่ทำลายเลย ถ้าคิดไม่ดีคิดไม่ซื่อ
ตรงแล้วทำลายเลย ส่วนจิตตุชุกตาเจตสิก มีการทำลายความไม่ซื่อตรงของจิตเป็นหน้าที่ เห็นไหม ใครล่ะจะมาช่วยเรา
ได้ แม้แต่ตัวเราเอง เราก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิตใจของเรา เมื่อมันมีความซื่อตรงประกอบกับเจตสิกตัวอื่นๆ
ที่มุ่งอยู่ต่อกุศลอย่างนี้แล้ว เราคิดหรือว่าเราจะไม่ได้กำไรชีวิตที่เราเกิดมาในชาตินี้ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนี้
แล้วเราก็มาดูผลอีกตัวหนึ่งว่ามันมีเป็นประการใด ผลของเจตสิกทั้งสองตัวนี้ก็มีความซื่อตรงของเจตสิก และมีความ
ซื่อตรงของจิตเป็นผลแต่ละตัว ส่วนเหตุใกล้นั้นก็มีเจตสิกและจิตเป็นเหตุใกล้
ตามที่ผมได้นำนามธรรมเกี่ยวกับเจตสิกต่างๆ มากล่าวนี้ ผมไม่ทราบว่าท่านผู้ใดสงสัยประการใดก็ไต่ถามเสีย
สิ่งใดที่ผมรู้ก็ยินดีจะบอกให้ท่านฟัง ถ้าไม่รู้ก็จนใจด้วย

เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๙ จบ