สรุปโอวาทปาฏิโมกข์

หัวใจของธรรมในพระพุทธศาสนาก็คือ "โอวาทปาฏิโมกข์" ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องของกรรม (การกระทำด้วยเจตนาทาง กาย วาจา ใจ) อันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันทั้งสิ้น สรุปหลักการใหญ่ที่สำคัญได้ ๓ ประการ

๑ ประการที่ ๑ สพฺพปาปสฺส อกรณํ (ไม่ทำชั่วทั้งปวง) หมายถึงทรงห้ามมิให้ทำเหตุชั่วหรือ หรืออกุศลกรรมทั้งปวง ไม่ว่ากระทำทางกาย วาจา และใจ เนื่องจากกรรมหรือเหตุทั้งหลาย เมื่อทำแล้ว ย่อมมี ผลสนองตอบ เมื่อทุกคนยังเวียนว่ายตายเกิดและยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่ควรจะทำเหตุ หรือกรรมชั่ว เหตุแห่งกรรมชั่วหรืออกุศลกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.๑ ครุอกุศลกรรม หมายถึง กรรมชั่วหรือเหตุชั่วที่จะให้ผลอันหนัก ๕ ประการ คือ (๑) ฆ่าแม่ (๒) ฆ่าพ่อ (๓) ฆ่าพระอรหันต์ (๔) ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต (๕) ยังสงฆ์ให้แตกแยกกัน และ "นิยตมิจฉาทิฏฐิ" คือ ความเห็นผิดว่า "ทำอะไรก็ตาม กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี"

๑.๒ อกุศลกรรมปกติ หมายถึง กรรมชั่วโดยทั่วๆไปอันได้แก่ (๑) อาสันนกรรม - กรรมที่ทำเมื่อ ใกล้ตาย (๒) อาจิณณกรรม - กรรมที่ทำเสมอเป็นปกติวิสัย (๓) กฏัตตากรรม - กรรมเล็กน้อย อันเกิดจาก การล่วงอกุศลกรรมบถ ๑0 คือ (๑) ปาณาติบาต - ฆ่าสัตว์,เบียดเบียนสัตว์ (๒) อทินนาทาน - ลักทรัพย์ (๓) กาเมสุมิฉาจาร - ประพฤติผิดในกาม การเสพสุราเมรัย ก็ถูกสงเคราะห์เข้าข้อนี้ด้วย (๔) มุสาวาท - พูดเท็จ (๕) ผรุสวาจา - พูดคำหยาบ (๖) ปิสุณาวาจา - พูดส่อเสียด (๗) สัมผัปปลาปะ - พูดเพ้อเจ้อ (๘) อภิชฌา - โลภอยากได้ของเขา (๙) พยาปาท - ปองร้ายเขา (๑0) มิจฉาทิฏฐิ - เห็นผิดจากคลองธรรม

๒ ประการที่ ๒ กุสลสฺสูปสมฺปทา (ทำแต่ความดี) หมายถึง ทรงแนะนำให้ทำกุศลกรรมหรือเหตุดี เพราะยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ จึงควรทำกรรมดีเพื่อให้ผลดีตอบสนอง คือ

๒.๑ การละเสียซึ่งอกุศลกรรมบถ ๑0 อันได้แก่ การระมัดระวังมิให้กรรมชั่วเกิดขึ้น ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๒.๒ การสร้างบุญกิริยาวัตถุ ๑0 อันได้แก่ (๑) ทานมัย - บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน (๒) สีลมัย - บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล (๓) ภาวนามัย - บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา (๔) อปจายนมัย - บุญ สำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน หรือเคารพบุคคลที่ควรเคารพ (๕) เวยยาวัจจมัย - บุญสำเร็จด้วยการขวนขวาย ในกิจที่ชอบ (๖) ปัตติทานมัย - บุญสำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น (๗) ปัตตานุโมทนามัย - บุญสำเร็จ ด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น (๘) ธัมมัสสวนมัย - บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม (๙) - ธัมมเทสนามัย - บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง (๑0) ทิฏฐุชุกัมม - การทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

๓ ประการที่ ๓ สจิตตฺปรโยทปนํ (ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์) หมายถึงทรงแนะนำให้ทำคุรุ กุศลกรรมหรือเหตุอันดียิ่ง เพื่อให้จิตมีความสุขความสงบจากกิเลสตัณหา เป็นการชั่วคราว และให้จิตมีความสุข ความสงบตลอดกาล ด้วยการทำจิตให้บริสุทธิ์ คือ

๓.๑ จิตมีความบริสุทธิ์ชั่วขณะ หมายถึง การสร้าง " รูปาวจรกุศล ๕" หรือ " อรูปาวจรกุศล ๔" ให้เกิดขึ้น เพราะจิตที่ดำรงอยู่ในรูปฌานหรืออรูปฌานแล้วย่อมจะมีความบริสุทธิ์ และเมื่อออกจากฌานจิต นั้นแล้วจิตของผู้นั้นก็คงมัวหมองไม่บริสุทธิ์ต่อไป

๓.๒ จิตมีความบริสุทธิ์ตลอดกาล หมายถึง การสร้าง "โลกุตตรกุศลให้เกิดขึ้นจนเป็นอริยบุคคล" ด้วยอำนาจของ "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" อันได้แก่ (๑) สติปัฏฐาน ๔ (๒) สัมมัปปธาน ๔ (๓) อิทธิบาท ๔ (๔) อินทรีย์ ๕ (๕) พละ ๕ (๖) โพชฌงค์ ๗ (๗) อริยมรรค ๘