เรื่อง ที่มาของธรรมะที่นำมาพูด ๑

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่เรานับถือพุทธศาสนานั่น พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่าไปเชื่ออะไรก่อน เรารับฟังแล้วเรารับมาพิจารณา พิจารณาไตร่ตรองเห็นว่าถูกต้องแล้ว เราถึงจะนำมาประพฤติปฏิบัติ การที่พวกเรามาพบกันนี่ ไม่ใช่มาพบกันในฐานะ
ศิษย์กับครู หรือครูบาอาจารย์อย่างไร เรามาพบในฐานะที่ทุกคนมีอุดมคติร่วมกันว่า เมื่อเราเกิดมาในชาติหนึ่งแล้วนี่ เราจะต้องทำตัวอย่างไรจึงจะเรียกว่าไม่เสียชาติเกิด ทั้งนี้หมายความว่าคนเรานี่เกิดมาแล้วมันก็ตายฉะนั้นก่อนตาย
เราจะทำอะไรล่ะที่จะให้เป็นสมบัติติดตัวเราไปในภายภาคหน้า เราก็มาค้นคว้ามาหาทางประพฤติปฏิบัติกัน ผู้ที่มานี่ก็มี
หลายระดับ การศึกษาตั้งแต่ระดับขั้นมหาวิทยาลัย ชั้นปริญญา จนถึงชั้นประถม หรือบางคนก็ไม่ได้มีการศึกษามาเลย
เราก็แบ่งภาระหน้าที่ซึ่งกันและกัน ผู้ที่ได้มีการศึกษาดีพอสมควร เมื่อได้ฟังความคิดความเห็นที่เราได้เล่ามาสู่กันฟังนี้ เรามีความข้องใจสงสัยประการใด เราก็ค้นคว้าหาความรู้ได้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ซึ่งเรามีอยู่พร้อมแล้วใน
ห้องรับแขกนี่ ใครสนใจอย่างไรก็ค้นคว้าหาอ่าน ทำความเข้าใจ แล้วก็นำมาเผยแพร่ มาพิจารณาซึ่งกันและกัน
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็พยายามตั้งใจทำความเข้าใจเพื่อประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดผลขึ้นขึ้นทั้งนี้เหตุเพราะ
ว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อมีการนำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว มันย่อมจะบังเกิดผลซึ่ง
เราเรียกว่าปฏิเวธ

สำหรับในวันนี้เราก็จะมาทำความเข้าในกัน ว่าธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้มันมาจากไหน ฝันเอาเอง
หรือจดจำใครเขามา หรืออะไรเหล่านี้ เป็นต้น ธรรมะที่พวกเรามาประพฤติปฏิบัติกันนี่ รู้สึกว่าเป็นการพร้อมกันทั้ง ๓
ประเภท คือมีทั้งกามาวจรกุศล อยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือในที่มานั่งหลับตาให้จิตมันสงบเกิดขึ้น ก็อยู่ในขั้นรูปาวจรกุศล
และอรูปาวจรกุศล หรือบางคนที่จะทำให้มันเกิดความรู้ขึ้นจากสติคอยพิจารณานั้น ก็เป็นธรรมะในขั้นโลกุตตรกุศล
แต่เราจะไม่หลับหูหลับตามาปฏิบัติกัน แต่ละสิ่งแต่ละอย่างมาจากไหน เราก็มาบอกเล่าเก้าสิบกัน หลักการของพวกเรามี
อยู่ว่า การปฏิบัติธรรมนั้น เราเอาธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ค้นพบนั้นมาประพฤติปฏิบัติ ธรรมะที่ของ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นปรากฏขึ้นเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่ทีนี้เรามามองหน้าของพวกเราทุก ๆ คน
แล้วนี่ อายุก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี สักคน จึงยังขาดอีก ๒๔๐๐ กว่าปี ฉะนั้น เราก็ต้องหาหลักฐานจากอื่น เพราะว่าเราจะเอา
จากปากคำของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงน่ะคงไม่ได้แน่ ทีนี้หลักธรรมะที่เราเอามานั้น เป็นหลักธรรมะของ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรากฏหลักฐานในเมืองไทยนั้น เขาเรียกว่า พระไตรปิฎก

หลักฐานในทางศาสนาที่เรายึดถืออันหนึ่งคือพระไตรปิฎก

อันที่ ๒ เรียกว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ

นอกจากนั้นก็มี อรรถกถา หรือ วรรณนา คือคำอธิบายพระไตรปิฎก

ต่อไปก็คือ ฎีกา คือคำอธิบายของอรรถกถา

ต่อไปก็คือ อนุฎีกา คือคำอธิบายของฎีกา

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานในทางพระพุทธศาสนา ฉะนั้นพวกเราทั้งหลาย การที่เรามายึดหลักฐานเหล่านี้เป็นสิ่งปฏิบัติ
ประพฤติปฏิบัตินั้น ถือว่าเป็นการสมควร ปัญหามันอยู่ที่สำคัญยิ่งก็คือว่า ทำอย่างไรเราถึงจะอ่านออก อ่านออกแล้วทำ
อย่างไรเราถึงจะเข้าใจ และเมื่อเราเข้าใจสิ่งใดแล้วเราก็นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อดูผลว่ามันเป็นไปตามความเป็นจริง
ซึ่งสมควรที่เราจะได้นำมาประพฤติปฏิบัติกัน

พระไตรปิฏกนั้นหมายถึงตำราของพระพุทธศาสนา แบ่งแยกออกเป็น ๓ ประเภท

ประเภทที่ ๑ เรียกว่า พระวินัยปิฏก หมายถึง ตำราว่าด้วยวินัยหรือศีลที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุหรือภิกษุณีจะถือประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าพระวินัยปิฏก

ประเภทที่ ๒ เรียกว่า พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศนาเป็นการ
ทั่ว ๆ ไป ก็เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็พระอานนท์ท่านจดจำได้ ท่านก็มาบันทึกเอาไว้ในตอนหลัง

ประเภทที่ ๓ เรียกว่า พระอภิธรรมปิฏก ว่าด้วยธรรมล้วน ๆ หรือทุกมุมในทางธรรมโดยเฉพาะเลย โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งที่เราเรียกตามภาษาชาวบ้านเราทั่วไปเรียกกันว่า พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นี่แหละ ตัวนี้แหละคือพระอภิธรรมปิฏก
แต่เป็นเรื่องที่อ่านได้ยากเย็น เข้าใจยาก เพราะเหตุไร เพราะว่าสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสนั้น ท่านตรัสเป็น
ภาษาบาลีและตรัสสั้น ๆ แต่คนสมัยนั้นเขามีปัญญามากกว่าเราเหลือหลาย เขาก็สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติเข้าใจได้
มาสมัยเราเพียงคำคำเดียวมาขยายใจความเข้าตั้งมากมายก่ายกอง และเพราะความยากของพระอภิธรรมปิฏกนี่เอง
ท่านอนุรุทธเถระจึงได้มารวบรวมกันเข้าเรียกว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ สรุปพระอภิธรรมปิฏก สรุปอย่างไร สรุปรวบรวม
ให้เป็นหมวดเป็นหมู่เพราะว่าสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนนั้นน่ะ คือท่านสั่งสอนตามนิสัยสันดานของ
สัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีปัญหาอะไรก็ยกเอาแต่ธรรมอันนั้นขึ้นมาเฉพาะมาสั่งสอน เพราะเหตุนี้แหละมันถึงไม่เรียงกัน นี่
ท่านพระอนุรุทธเถระนี่เป็นอรหันต์

เมื่อเราได้รู้ความหมายของพระไตรปิฏกแล้ว รู้ความหมายของพระอภิธัมมัตถสังคหะแล้ว รู้ความหมายของอรรถกถา
คำว่า อรรถกถา นี่ หมายถึงเป็นคำอธิบายคำบาลีในพระไตรปิฏก คำบาลี ในที่นี้ หมายถึงพจน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ
เจ้านั่นเอง อรรถกถาพวกนี้ก็พระอรหันต์ทั้งหลายที่สมัยนั้นก็ได้จดจำมาประพฤติมาปฏิบัติความหมายว่าอย่างไร อันนี้
เรียกว่าอรรถกถา มีอรรถกถาแล้ว พวกเราแหม มีปัญญาช่างไวเหลือเกิน ยังไม่เข้าใจอีกในอรรถกถานั้น จึงต้องมีฎีกา
อธิบายอรรถกถาเข้าไปอีก เราเรียกว่า ฎีกา เป็นคำอธิบายอรรถกถา มีอนุฏีกาเป็นคำอธิบายของฎีกาเข้าไปอีก เมื่อเรา
ได้รู้มาอย่างนี้แล้ว เราก็น่าเห็นใจเกจิอาจารย์ทั้งหลายที่เขาสั่งสอนผิด ๆ ถูก ๆ เพราะอะไร เพราะเขาไม่รู้ว่าจะอ่านอย่างไร
ให้เข้าใจได้ เพราะการที่จะอ่านให้เข้าใจนั้น มันเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกินนี่

เมื่อเราได้รู้หลักการใหญ่ๆ แล้ว เราก็จะมาพิจารณากันถึงพระวินัยปิฎกนั้น มีประการใด พระวินัยปิฎกนั้น
ได้กล่าวไว้แล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัย ท่านแบ่งออกไปเป็น ๕ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ

๑. เรียกว่า มหาวิภังค์ มหาวิภังค์นี่เป็นพระวินัย ศีลข้อห้ามที่จะให้ภิกษุสงฆ์ต้องประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้นเมื่อเรา
ได้ยินเขาอ้างชื่อว่ามหาวิภังค์นี้ เราต้องเข้าใจนะว่ามีความหมายว่าอย่างไร

๒. เรียกว่า ภิกษุณีวิภังค์ อันนี้เป็นข้อห้ามหรือวินัยของภิกษุณีในสมัยนั้น ที่ว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร

๓. เรียกว่า มหาวัคค์ อันนี้เป็นประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในตอนแรก และ พิธีกรรมในทางพระวินัย
คำว่าพิธีกรรมในที่นี้อย่าเข้าใจว่าเป็นการตั้งโต๊ะเอาหัวหมูบายศรีมาทำพิธี ไม่ใช่เช่นนั้น พิธีกรรมในทางพระวินัย ถ้าพระ
ผิดวินัย เช่นปาราชิกก็ถือว่าขาดจากการเป็นสงฆ์ หรือถ้าผิดประเภทอื่น ก็อาจจะมีการปลงอาบัติ มีการทัณฑกรรม
เหล่านี้เป็นต้น นี่เรียกว่าพิธีกรรมทางพระวินัย

๔. เรียกว่า จุลลวัคค์ เป็นพิธีกรรมทางพระวินัยของพวกภิกษุณี และประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกในระยะแรก

อันที่ ๕. เรียกว่า บริวาร หมายถึง ข้อความเบ็ดเตล็ดในทางพระวินัย นี่ พระวินัยปิฎกได้แยกแยะประเภทออกมา
เป็น ๕ ประเภทดังนี้ คือ มหาวิภังค์ ภิกขุณีวิภังค์ มหาวัคค์ จุลลวัคค์ และบริวาร นี่เป็นความรู้ในทางพระวินัย

พระไตรปิฏกประเภทที่ ๒ เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก แบ่งออกเป็น ๕ ตอน เหมือนกัน

ตอนที่ ๑ เรียกว่า ทีฆนิกาย หมายถึงพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดยาว

ตอนที่ ๒ เรียกว่า มัชฌิมนิกาย คือ พระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่เป็นขนาด
กลาง คือ ไม่สั้นนักไม่ยาวนัก

ตอนที่ ๓ เรียกว่า อังคุตตรนิกาย หมายถึง พระธรรมเทศนาที่เป็นข้อ ๆ ตามลำดับจำนวนของธรรมะ เช่น ธรรมะ
หมวด ๑ ธรรมะ หมวด ๒ ธรรมะหมวด ๓ เป็นต้น

ตอนที่ ๔ เรียกว่า สังยุตตนิกาย เป็นพระธรรมเทศนาที่ประมวลธรรมะไว้เป็นพวก ๆ

ตอนที่ ๕ เรียกว่า ขุททกนิกาย เป็นพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดรวมทั้งภาษิตของพระสาวกและประวัติของพระสาวก
และชาดกต่าง ๆ นี่เป็นเรื่องของพระสุตตันตปิฎก

พระไตรปิฎกประเภทที่ ๓ เรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎกนี้ เป็นตัวตำราหรือตัวทฤษฎีของพุทธ
ศาสนาโดยเฉพาะ เป็นประมวลธรรมไว้โดยเฉพาะ

แบ่งออกเป็น ๗ ประเภท ดังนี้คือ

๑. ธัมมสังคณี คือ เป็นธรรมรวม เป็นหมวด เป็นกลุ่ม เอาไว้เป็นหมวดเดียวกัน เป็นกลุ่มเดียวกัน

๒. วิภังค์ เป็นธรรมะประเภทที่แยกออกไปเป็นข้อ ๆ

๓. ธาตุกถา เป็นธรรมที่จัดเป็นระเบียบความสัมพันธ์ โดยถือเอาธาตุเป็นหลักในการจัดประเภทนั้น ๆ

๔. ปุคคลบัญญัติ หมายถึง บัญญัติ ๖ ชนิด คือ บัญญัติที่เกี่ยวกับบุคคล นี่ ท่านเทศนาเกี่ยวกับบุคคลเป็นประเภท
ของบุคคลในธรรมะทั้งหมด ทั้งคนดี คนเลว คนชั่ว อยู่ในนี้ทั้งหมด

๕. กถาวัตถุ อันนี้ เป็นคำถามคำตอบในหลักธรรม เพื่อจะตัดสินธรรมะที่มีปัญหาถกเถียงกันนั้นว่า เป็นธรรมะของ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่หรือไม่

๖. ยมก หรือเรียกว่าเป็นธรรมะรวมเป็นคู่ ๆ

๗. ปัฎฐาน ซึ่งกล่าวถึงธรรมที่เป็นปัจจัย หรือเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน ๒๔ อย่าง ซึ่งถ้าเราศึกษาให้ดีแล้ว
ต่อไปเราก็จะได้พบเห็นในภายหลัง

ตามที่ได้กล่าวมานี้เป็นเรื่องหลักฐานของธรรมะที่เรานำมาเข้ามาประพฤติมาปฎิบัติกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไตรปิฎก
ทั้งภาษาบาลี และแปลเป็นไทยแล้ว ฉบับหลวง มีรวมด้วยกันทั้งหมด ๔๕ เล่ม ซึ่งผู้สนใจทุกคนก็จะสามารถค้นคว้าได้
แต่เพื่อประโยชน์ของพวกเรา ถ้าเราจะมานั่งอ่านพระไตรปิฎกกันทั้งหมดทั้ง ๔๕ เล่มละก็ผมว่ามันก็คงจะถึงอวสานเสียก่อน
ที่จะอ่านจบ ดังนั้นผมจะย่อธรรมะทั้ง ๔๕ เล่มนี่มาให้พวกเราฟัง เหลือเพียงนิดเดียว นี่ไม่ใช่เป็นความสามารถของผมนะ
เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้านี่ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนมา ๔๕ ปีนั้น ท่านลงไว้ย่อไว้เพียงนิดเดียวเท่านั้น
ย่อไว้นิดเดียวอย่างไร

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อประมวลกันทั้ง ๔๕ ปี หรือประมวลพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕
เล่มแล้วก็ได้แก่

๑. ห้ามมิให้กระทำความชั่ว

ทำไมถึงได้ห้ามเช่นนั้น? ถ้าเราจะมาพิจารณาแล้วจะเห็นว่า คนนั้นมีมากมายหลายประเภท ทุกคนก็อยู่ในข่าย
พระมหากรุณาของพระองค์ทั้งหมด ไม่ว่าคนดีคนเลวอย่างไร การที่ห้ามไม่ให้กระทำความชั่วนั้นนะ พระองค์สงสารคน
เลวๆ ว่าเมื่อเขาเกิดมาแล้ว เขาตายไปแล้วก็อย่าให้เขาได้รับทุกข์เลย ก็บอกไว้ว่าอย่าทำนะ ที่เรียกว่าความชั่วนั้นน่ะ
เมื่อตายไปแล้วจะได้ไม่ตกนรก นี่ความหวังดีไม่ให้ต้องได้รับทุกข์

๒ . ให้ทำความดี

ทำไมพระองค์ถึงบอกให้ทำความดี? เพราะพระองค์เห็นแล้วว่าสัตว์ทั้งหลายนี่ อินทรีย์ย่อมไม่เท่ากัน แก่บ้าง
อ่อนบ้าง ผู้ที่ยังมีอินทรีย์อ่อนอยู่ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ก็ไหน ๆ เมื่อจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่แล้วนี่
ก็ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในความดีเสียซิ ให้มีความสุข ไม่ใช่อดมื้อกินมื้อ มีแขนก็ไม่ครบ มีขาก็ไม่ครบ อย่างนี้พระองค์ถึง
ได้สอนให้ทำกรรมดี กรรมดีในที่นี้ก็หมายถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งพวกเราทำกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ซึ่งได้แก่ ทาน แก่ศีล
ภาวนา นั่นเอง นี่เหล่านี้เพราะเหตุไร เพราะบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี่ เป็นบุญที่ทำไปแล้วมีผลตอบสนองในชาตินี้ หรือ
อนาคตชาติ นั่นแล้วแต่กรรมที่เขาจะทำมีความรุนแรงแค่ไหนเพียงใด นี่เป็นความปรารถนาดีของพระองค์

๓. ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์

การทำจิตให้บริสุทธิ์นี้สามารถแบ่งแยกออกเป็น ๒ ประเภท

จิตบริสุทธิ์ประเภทที่ ๑ (สมถกัมมัฏฐาน) นั้น เพื่อยังความสงบหรือความสุขให้เกิดขึ้นในปัจจุบันชาติหรืออนาคตชาติ
นี่ประเภทที่ ๑ ประเภทนี้ยังหมุนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ ซึ่งเราเรียกกันทั่ว ๆ ไป ว่า สมาธิ นั่นเอง

จิตบริสุทธิ์ประเภทที่ ๒ (วิปัสสนากัมมัฏฐาน) หมายถึง การทำจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อทำลายการเกิดของเราให้น้อย
ลงไปจนไม่ต้องเกิดหมุนเวียนอยู่ในวัฏฏะ อันนี้เราเรียกว่า โลกุตตรกุศล นั่นเอง นั่นคือไม่มีผลตอบแทน แต่มีผลในการ
ทำลายภพชาติให้หมดสิ้นไปในที่สุด

ทีนี้เมื่อเราได้รู้หลักการใหญ่ ๆ ต่อไปแล้ว ต่อไปนี้เราก็จะได้มาทำความเข้าใจกันว่า หน้าที่ของผู้จรรโลงพุทธศาสนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นผู้บริหารพุทธศาสนานั้นจะต้องทำกันอย่างไร เรื่องนี้ผมว่าพวกเราส่วนน้อยเหลือ
เกินที่จะรู้หน้าที่ของสงฆ์อันแท้จริงว่า จะต้องทำกันอย่างไร ส่วนมากพวกเรารู้แต่ว่าหลวงพ่อองค์นั้นปลุกพระเสกพระ
เครื่องลางของขลังดีจริง ๆ หลวงพ่อหลวงปู่องค์นี้รดน้ำมนต์แล้วแหมเฮงพิลึก หรือหลวงตาองค์นั้นนะแหมดูแม่นเหลือเกิน
ทั้งเลขท้าย เลขหน้า เลขหลัง ใต้ดินบนดินพร้อม ความจริงไม่ใช่

หน้าที่ของสงฆ์นั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้โดยแน่นอน มีหน้าที่ ๒ หน้าที่

๑. เรียกว่า คันถธุระ หมายถึง หน้าที่จะต้องทำการศึกษาทำความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
แล้วนำมาเผยแพร่ให้ถูกต้อง ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายหรือ พุทธบริษัท ได้ประพฤติปฏิบัติโดยชอบ เขาจะได้ไม่งมงาย
ไม่หลงอยู่ในความโง่ นี่เป็นหน้าที่อันที่ ๑ เรียกว่า คันถธุระ

๒. ถ้าสงฆ์องค์ใดไม่ทำหน้าที่คันถธุระ ต้องทำ วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระนั่นก็คือการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม
ในขั้นสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อความสงบและความหลุดพ้นของบุคคลคนนั้นในที่สุด

นี่พระสงฆ์ในพุทธศาสนามีหน้าที่เพียง ๒ หน้าที่เท่านี้ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้ หน้าที่อื่นใดนอก
จากนี้ พวกเปิดป้ายก็ดี เจิมป้ายก็ดี ทำพิธีมงคลอะไรต่าง ๆ ก็ดี รดน้ำมนต์น้ำพร เสกเครื่องลางของขลัง ไม่ใช่หน้าที่ใน
พุทธศาสนาตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้

เมื่อเราได้รู้มาถึงหลักการและหน้าที่ของพุทธศาสนาแล้ว ต่อไปเราก็ควรจะได้รู้หลักการในคำสอนของพระพุทธศาสนา
นั้น มีอะไรเป็นบทสรุป ?

คำสอนในพระพุทธศานสนาที่เป็นบทสรุปนั้นมีอยู่ประการเดียว ไม่ว่าเราจะไปค้นคว้าไปศึกษาอะไร ที่ไหน ตั้งแต่ขั้น
ต่ำที่สุดถึงขั้นสูงที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อสรุปลงแล้วก็จะเห็นได้ว่าพระองค์สอนให้ทุก ๆ คน เชื่อในกรรม ไม่ใช่เชื่อบุคคล
ไม่ใช่เชื่อพิธีรีตรอง ไม่ใช่เชื่อผีสางเทวดา อย่างที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ แต่เป็นที่น่าเสียใจ พุทธศาสนาเจาะลง
ไปแล้วว่าให้ทุกคนเชื่อกรรม แต่ตามความเป็นจริงนั้น ทุกคนไม่ได้สนใจในเรื่องของกรรม ทุกคนต้องการแต่วิบากกรรมที่ดี
เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะเหตุใด เพราะกรรมนั้นถือได้ว่าเป็นเหตุ วิบากกรรมนั้น เป็นผลที่เกิดขึ้น ก็ทำไมล่ะ
เราต้องการผลที่เกิดขึ้นแต่เราไม่สนใจเหตุ อย่างนี้ก็เป็นการขัดกัน เพราะโดยหลักการและเหตุผลแล้ว ผู้ใดทำเหตุดีก็ย่อมจะ
ได้รับผลดี เมื่อเราหว่านกล้าหว่านข้าวลงไปในนาแล้ว กล้าที่แตกขึ้นมาก็ต้องเป็นต้นข้าว จะเป็นต้นหญ้าไปอย่างไร
แต่เวลาเราหว่านเราไม่ได้สนใจ เราเอาเม็ดหญ้าไปหว่านหรืออะไรไปหว่าน แต่เมื่อมันผุดขึ้นมาแล้ว เราบอกว่าเราต้องการ
ต้นข้าว อย่างนี้เป็นธรรมหรือ เป็นการถูกหรือ

ทีนี้เมื่อหลักของพระพุทธศาสนาสอนให้คนเชื่อกรรมอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรจะได้หาความรู้ในเรื่องกรรมต่อไปว่า
หลักของกรรมมีอย่างไร? หลักของกรรมก็มีอยู่ว่า

๑. กรรมนั้นต้องก่อขึ้นด้วยเจตนา คำที่ว่า ผมใช้ว่า กรรม ในที่นี้ กรรมดีก็ได้ กรรมชั่วก็ได้ กรรมเล็กก็ได้
แต่ต้องประกอบด้วยเจตนา ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตนาแล้วมันไม่เป็นกรรม

๒. กรรมนั้น เมื่อก่อขึ้นแล้ว ย่อมมีผล ไม่สูญหายไปไหน ไม่ต้องกลัวว่าเราก่อกรรมมาแล้วเมื่อ ๓๐ ๔๐ ปี ๕๐ ปี
ที่แล้วมา นานๆ ไปกรรมนั้นจะลืมหาย ไม่ตาม ไม่ต้องกลัว ต่อให้เกิดอีกกี่สิบชาติมันก็ตามเราจนถึง ไม่ต้องกลัว มันไม่สูญ
หายไปไหน

๓. กรรมนั้น เมื่อก่อขึ้นแล้วนี่ มันจะหมดไปเมื่อไหร่ กรรมนั้นมันจะหมดไปด้วยอย่างนี้เท่านั้น คือ

๑) เมื่อผู้ทำกรรมนั้นได้รับผลวิบากจนครบถ้วนแล้ว ถ้ารับผลวิบากยังไม่ครบ เขาก็เรียกว่ามีเศษกรรมติดมา
เราจะเห็นว่าเขาได้ทำกรรมเพราะเบียดเบียนสัตว์ และเขารับกรรมยังไม่ครบ เขาเกิดมา ผลหรือเศษกรรมอันนั้นมันก็ติด
มาทนทุกข์ทรมานเขา เท่ากับเขามาตกนรกทั้งเป็นอย่างนี้นี่ เมื่อเขาได้สิ้นภพภูมิไปแล้ว กรรมอันนั้นมันก็เกมกัน เฉพาะ
กรรมนั้นนะ ไม่ใช่ทั้งหมดนะที่ก่อไว้ในวัฏฏะ

๒) กรรมนั้นจะหมดไปได้ เมื่อผู้ทำกรรมนั้นไม่มีตัวตนที่จะได้รับกรรมอีกต่อไปแล้ว หมายความว่า เขาได้พ้นจาก
วัฏฏะไปแล้ว คือ นิพพานนั่นเอง ฉะนั้นใครกลัวกรรมก็รีบแสวงหานิพพาน รีบไปเสียไว ๆ จะได้พ้นกรรมไปได้

๓) เมื่อกรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม กรรมนั้นย่อมไม่ส่งผลวิบากมาสนอง

ตามที่ได้กล่าวมานี้เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ในกรรม ทีนี้ต่อไปเราก็จะได้พูดกันถึงว่า อะไรล่ะที่มันเรียกว่ากรรม?
เขาทำกันอย่างไร? ในที่นี้ก็อยากจะแนะนำ กรรมชั่วเสียก่อน ซึ่งเรียกกันทั่วๆ ไปว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐

อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประกอบด้วย

ทางกาย ๓ คือ

๑. ปาณาติบาต

๒. อทินนาทาน

๓. กาเมสุมิจฉาจาร

กรรมทางวาจา ๔ คือ

๑. พูดโกหก

๒. พูดส่อเสียด

๓. พูดคำหยาบ

๔. พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ

มโนกรรม คือ กรรมทางใจ ๓ คือ

๑. โลภ อยากได้ของเขา

๒. พยาบาท หรือปองร้ายเขา

๓. ประการที่ ๓ สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด อันนี้เป็นเรื่องที่รุนแรงอย่างยิ่ง

ทีนี้เมื่อเราได้รู้มาถึงเรื่องอกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้วว่ามีประการใดบ้างแล้ว ก็อยากจะแนะนำกรรมให้มันสมบูรณ์สัก
หน่อยหนึ่ง แต่ละอย่างว่าทำแล้ว ทำอย่างไรถึงจะสมบูรณ์ เมื่อทำแล้วผลจะได้รับอย่างไร ดังนี้

๑. กรรมที่ทำทางกาย ๓ นั้น

ตัวที่ ๑ เรียกว่า ปาณาติบาต ปาณาติบาตนี่ ทำอย่างไรถึงจะครบองค์ อันที่ ๑ สัตว์นั้นมีชีวิต

อันที่ ๒ รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต

อันที่ ๓ มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น

อันที่ ๔ ทำความเพียรเพื่อจะฆ่า

อันที่ ๕ สัตว์นั้นก็ตายเพราะความเพียรในการฆ่าอันนั้น

คำว่า ความเพียร หรือความพยายาม ในการทำบาปนั้น แบ่งออกเป็น ๖ ประเภทดังนี้คือ

๑. สังหารด้วยตัวของตัวเอง

๒. ใช้ผู้อื่นหรือใช้วาจาสังหาร

๓. ใช้อาวุธสังหาร

๔. สังหารด้วยหลุมพราง ออกไปชายแดน กับระเบิดนั่นแหละหลุมพรางละ หลุมพรางสมัยก่อนคงไม่รุนแรงเหมือน
สมัยนี้

๕. สังหารด้วยวิชาคุณ พวกเสกหนังเข้าท้อง พวกเสน่ห์ยาแฝด อะไรพวกนี้

๖. สังหารด้วยฤทธิ์

ทีนี้ เมื่อเราทำสมบูรณ์แล้ว เราก็มาดูต่อไปว่ารางวัลในการทำกรรมนั้นนี่เราจะได้รับอย่างไรนะ อันนี้เราเรียกว่า
ผลที่อกุศลกรรมส่งให้ในปวัตติกาล ในการเกิดของเรานี่รับอย่างไร

สำหรับ ปาณาติบาต ที่เราทำลงไปแล้ว ผลออกมาอย่างไร

อันที่ ๑ ทำให้ทุพพลภาพ

อันที่ ๒ มีรูปไม่งาม

อันที่ ๓ มีกำลังกายอ่อนแอ

อันที่ ๔ มีกำลังกายเฉื่อยชา มีกำลังปัญญาไม่ว่องไว เขาเรียกพวกสมองทึบน่ะ ยังไม่ถึงปัญญาอ่อน นะ ไม่ใช่

อันที่ ๕ เป็นคนขลาด

อันที่ ๖ ฆ่าตัวเองหรือถูกคนอื่นฆ่า พวกที่ถูกเขาฆ่าตายนั่นแหละ ปาณาติบาตละ

อันที่ ๗ โรคภัยเบียดเบียน อันที่ ๘ อายุสั้น

นี่เป็นตัวที่ ๑

ทีนี้ ตัวที่ ๒ เรื่อง อทินนาทาน คือ การลักทรัพย์ หรือการหยิบทรัพย์ของคนอื่นนี่ มีองค์ประกอบในกรรมนี่
ประกอบอย่างไรบ้าง

๑. ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น

๒. รู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น

๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์อันนั้น

๔. มีความเพียรที่จะลัก

๕. ได้ทรัพย์นั้นมาสำเร็จเพราะความเพียรนั้น

ทั้งนี้ความเพียรในการที่จะลักนี่ ประกอบขึ้นอย่างไรบ้าง ก็ประกอบด้วยอย่างนี้

๑. ลักด้วยตัวของตัวเอง

๒. ใช้ให้ผู้อื่นลัก

๓. ลักโดยอาวุธ

๔. ลักโดยเครื่องใช้ไม่ให้จำหน้าได้

อันที่ ๕ ลักโดยใช้วิชาคุณ

อันที่ ๖ ลักด้วยฤทธิ์ด้วยเดช

เมื่อเราทำการลักทรัพย์หรืออทินนาทานมาได้สมบูรณ์เช่นนี้แล้ว ผล เราจะได้รับอะไร ผลที่เราได้รับจากการลักทรัพย์
ก็มีดังนี้คือ

๑. ด้อยทรัพย์ หรือพวกที่ว่าไม่มีเงินติดกระเป๋าน่ะ

๒. ยากจน

๓. อดยาก

๔. ไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา

๕. พินาศในการค้า คำว่าพินาศในการค้า พวกเรานักบัญชีคงจะรู้ว่า พวกล้มละลายน่ะ

๖. ทรัพย์พินาศเพราะอัคคีภัย อุทกภัย หรือราชภัย หรือโจรภัย มันมีอยู่ไม่ได้ มีพอทำพอกินมีได้ ถ้ามีถึงเป็น
กอบเป็นกำต้องฉิบหาย ต้องมีทางฉิบหายจนได้ไม่ต้องกลัว

ทีนี้เราก็มาทำความรู้จักในข้อที่ ๓ ของกายกรรม ต่อไป ก็คือ กาเมสุมิจฉาจาร

กาเมสุมิจฉาจารนั่นเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบคือ

๑. วัตถุที่ไม่ควรไป

๒. มีจิตคิดจะเสพ

๓. เพียรจะเสพ

๔. พอใจทำมัคค์ให้ล่วงมัคค์

นี่เป็นองค์ประกอบของกาเมสุมิจฉาจาร

ส่วนผลรางวัลของกาเมสุมิจฉาจารนั้นมีอย่างไรนั้น ก็มี ๑๑ ประเภท ดังนี้คือ

๑. มีผู้เกลียดชังมาก

๒. มีผู้ปองร้ายมาก

๓. ขัดสนทรัพย์

๔. ยากจนอดอยาก

๕. เป็นผู้ชายแล้วต้องเกิดมาเป็นผู้หญิง

๖. เป็นกะเทย

๗. เป็นชายในตระกูลต่ำ

๘. ได้รับความอับอายเป็นอาจิณ

๙. ร่างกายไม่สมประกอบ

๑๐. มากไปด้วยความวิตกห่วงใย

๑๑. พลัดพรากจากผู้ที่ตนรัก

นี่เป็นผลรางวัลในการที่เราทำกายกรรม ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และ กาเมสุมิจฉาจาร

ตามที่พูดมานี้เป็นหลัก แต่ยังไม่จบ เพราะว่าพูดมากไปก็คงจะหันหลังให้กันทุกคนเพราะว่ามันเป็นเรื่องยาก
แต่ถ้าเราไม่รู้ เราก็ถูกเขาหลอกเล่นง่าย ๆ อันนี้เป็นคาถาป้องกันคนหลอกเราได้ จึงขอจบวันนี้เพียงแค่นี้