เทคโนโลยี GPRS

"เทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพในด้านการใช้อินเตอร์เน็ต ส่งรูปภาพและรูปถ่าย รวมถึงการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง ผ่านโทรศัพท์มือถือ"


  • ย้อนอดีตวงการสื่อสารไร้สาย
  • GPRS คืออะไร
  • มาตรฐานของระบบ GPRS
  • การรับส่งข้อมูลในระบบ
  • ประโยชน์ของ GPRS
  • Data Communication System
    อินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง
    WLAN
    สื่อสารข้ามโลกด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม
    เราติ้งเทเบิ้ล
    เทคโนโลยีเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต
    Fiber optic
    ย้อนอดีตวงการสื่อสารไร้สาย
    ถ้าจะพูดถึงในอดีตที่ผ่านมา โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคแรก ๆ ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักมาก ในระหว่างการสื่อการก็มักจะมีเคลื่อนรบกวน หรือสัญญาณไม่ชัดเจน และที่สำคัญ ก็คือราคาที่แพงลิบลิ่ว ด้วยราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่นแก่ๆ ฟังก์ชั่นหรือความสามารถในการใช้งาน ก็มีจำกัด คือสามารถใช้สำหรับการสื่อสารด้วยกันด้วยเสียงพูดคุยกันเท่านั้น
    แต่ก็มีเทคโนโลยีอีกชิ้นหนึ่งที่พูดได้ว่าใช้กันน้อยมาก หรือหายเข้ากลีบเมฆไปเลยสำหรับการใช้งานในเมืองไทย นั่นก็คือ เพจเจอร์ นั่นเอง แต่เจ้าตัวนี้ก็สามารถรับข้อความเพื่ออ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถโต้ตอบ ส่งข้อความกลับไปได้ เจ้าตัวเพจเจอร์นี้ เป็นที่นิยมกันมากในช่วง 4 - 5 ปีก่อน พูดได้ว่าถ้าใครมีเพจเจอร์ ล่ะก็ เทห์ไม่เบา..ก็เพราะที่ราคาถูกกว่าโทรศัพท์มือถือ และก็มีขนาดเล็ก ทำให้พกพาสะดวก แต่ทำไมเพจเจอร์ จึงได้ตายหรือหายไปจากวงการการสื่อการไร้สาย..!? เดี๋ยวถ้าใครยังพกเพจเจอร์ อาจจะถูกล้อว่าล้าหลังก็ได้..
    หลังจากเทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงยุคที่ 2 หรือยุคปัจจุบันที่เริ่ม จะก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 หรือ UMTS (Universal Mobile Telephony Service) อีกแล้ว (สำหรับโทรศัพท์มือถือระบบ UMTS เป็นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ GPRS เท่านั้น)
    ในช่วงยุคที่ 2 นี้ มีการพัฒนาให้โทรศัพท์มีขนาดที่เล็กลงมากเกือบจะเท่ากล่องไม้ขีด ถ้าถือไว้ไม่ดีก็ระวังจะหล่นได้เหมือน และยังมีเรื่องการสื่อสารข้อมูลเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ หรือการดาวน์โหลดรูปภาพดิจิตอลจากอินเตอร์เน็ตที่มีบริการอย่างเกลื่อนกลาด และเหตุสำคัญของความนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นจำนวนมาก ก็คือ การแข่งขันทางธุรกิจของบรรดาเจ้าพ่อ มือถือ ซึ่งมีทั้งลดแลก แจกแถม กล่าวคือการแข่งขันทางการตลาดเพื่อดึงให้ลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น ต่างคนก็ต่าง ลดราคาของตัวโทรศัพท์เอง และก็ยังแถมให้โทรฟรีได้อีก แต่ก็ในระยะเวลาที่กำหนด หรือเรียกติดปาก ว่า "โปรโมชั่น" (Promotion) เจ้าตัวโปรโมชั่นนี่แหละเป็นอีกตัวหนึ่งที่ทำใคร ๆ หันมาสนใจที่จะใช้โทรศัพท์มือถือ ต่างก็โฆษณาสรรพคุณ และความสามารถ และการ บริการทางด้านเครือข่ายสัญญาณ ที่ทำให้การสื่อสารสะดวกและชัดเจน ไม่ต้องขึ้นไปโทร.บนต้นไม้เหมือนในโฆษณา.. โม้มาตั้งนาน..ก็พอจะทราบกันรึยังครับว่า ทำไมเพจเจอร์หายไป..ก็ไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ แต่มันเข้ามาแทรกเป็นฟังก์ส่วนหนึ่ง ในโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ก็คือ ฟังก์ชั่นการรับข้อความ และการส่งข้อความได้ด้วย เห็นมั๊ยครับ ดีกว่าเพจเจอร์เยอะเลย ด้านราคาของโทรศัพท์มือถือก็เริ่มต้นเพียงหลักพันเท่านั้น ถ้าเป็นมือสองด้วยแล้ว ราคาก็ประมาณ พันกว่าบาทก็ใช้ได้แล้ว(ราคานี้คงไม่แถมซิมการ์ดนะครับ) ถ้าจะเอาดีหน่อยก็คงขึ้นหลักหมื่นล่ะครับ..
    ไหน ๆ ก็เอ่ยเรื่องซิมการ์ดแล้ว ก็ขอพูดถึงมันบ้างสักนิด เจ้าตัวซิมการ์ดนี้ให้ความสะดวกในเรื่องของหมายเลขโทรศัพท์ ที่ไม่ต้องไปลงทะเบียนซื้อเหมือนยุคก่อน ซื้อการ์ดตัวนี้แล้วก็ใช้ได้เลย เพียงแต่นำการ์ดตัวนี้ไปเสียบในช่องเสียบซิมการ์ดในโทรศัพท์มือถือ เพราะมีการบันทึกหมายเลข และจำนวนเงินที่ใช้ และก็สมุดโทรศัพท์ รวมทั้งเกม หรืออะไรจิปาฐะในนั้นด้วย
    เจ้าซิมการ์ดตัวนี้สามารถถอดเปลี่ยนไปใช้กับโทรศัพท์ได้หลายรุ่นหลายยี่ห้อ เพราะมีมาตรฐานการผลิตเดียวกัน แต่ก็มีบางตัวอีกเหมือนกันที่ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ เมื่อซื้อซิมการ์ดก็จะมีจำนวนเงินให้โทรฟรีได้ด้วย ก็แล้วแต่ราคาที่ซื้อ มีตั้งแต่ราคา 300 บาทขึ้นไป ซื้อมากก็ได้โทร.ฟรีมาก.. ..สำหรับใครที่ชอบสับรางเขาก็มีกันตั้งแต่ 2 เบอร์ขึ้นไปจ้า..!! เพียงแต่อยากใช้เบอร์ไหนก็เสียบซิมการ์ดเข้าไป ก็สิ้นเรื่อง..

    ร่ายยาวซะนาน..กลับเข้ามาถึงเทคโนโลยี GPRS กันต่อ   สำหรับผู้อ่านที่ไปเทียวๆ ดูโทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้ ก็จะมักจะพบกับการแนะนำโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ กล่าวได้ว่าในแต่ละเดือน ก็จะมีโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ออกมาให้ได้ยลโฉมกันอยู่เรื่อย ๆ (เหมือนกับคุณยายแม่ค้าในตลาดกำลัง บรรยายสรรพคุณเหมือนในโฆษณะนั่นแหละ) และที่สำคัญทางพนักงานขายก็จะบอกอีกว่า เป็นระบบ GPRS ใช้ WAP ได้ และเล่นอินเตอร์เน็ตได้ด้วย แต่ก็บอกเพียงแค่นี้ ไม่ได้บอกประโยชน์อะไรมากมายของเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้น เราจะมาดูกันว่า GPRS คืออะไร มีประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวันบ้าง
    Back to top

    GPRS คืออะไร

    GPRS (General Packet Radio System) เปรียบเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ที่ผู้ใช้สามารถ connect เข้าสู่โลกของอินเตอร์เน็ตได้ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เช่น ความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ หรือตรวจตอบตารางการบินของสายการบินต่าง ๆ หรือ ดูข้อมูลการจราจร
    GPRS มีความสามารถพิเศษหลายอย่าง เช่น ความสามารถในการส่งข้อมูลใน Packet Mode ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 171 กิโลไบต์/วินาที ระหว่างโทรศัพท์มือถือกับโหนดที่ Support ระบบ GPRS โดยใช้หลักการส่งข้อมูลเช่นเดียวกันกับระบบ Internet ด้วยเหตุที่ความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงนี้ทำให้ รูปแบบการคิดค่าบริการเปลี่ยนแปลงไป จากการคิดค่าบริการตามเวลาใช้งาน(เหมือนคิดค่าชั่วโมงตามร้าน) ก็เปลี่ยนมาเป็นการคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่รับส่ง นอกจากนี้ GPRS ยังทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ บน Internet ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่าน WAP gate way เมื่อเทียบกับมือถือยุคแรกที่สื่อการกันได้ เพียงแค่ข้อมูลเสียงและโทรศัพท์เท่านั้น
    ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบ GPRS จะช่วยให้คุณสามารถเข้าสู่ข้อมูลที่หลากหลายได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่าระบบเดิมถึง 10 เท่า และลักษณะที่สำคัญนอกจากนี้ก็คือ การ "Always On" หมายความว่าคุณ สามารถที่จะ On line สู่โลกอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีการ Log on หรือ ใช้ User Name และ Password เหมือนการ Connect เข้าสู่อินเตอร์แบบทั่วไปแต่อย่างใด และยังสามารถที่จะเปลี่ยนมาเป็น Mode มาเป็นแบบโทรออก หรือรับเข้า โดยยังคง On line ในระบบ GPRS อยู่ตลอดเวลา
    Back to top

    มาตรฐานของระบบ GPRS

    GPRS ได้กำหนดมาตรฐานการรับส่งข้อมูลใน Packet Mode บนเครือข่ายระบบ GSM       ระบบ GPRS สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง จากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทรัพยากรของระบบย่อยที่รับสัญญาน และระบบย่อยของเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน
    แอพพลิเคชั่นกลุ่มแรก ๆ ที่ทำงานบนระบ GPRS จะเป็นแบบ Point - to - Point   TCP/IP เช่น การเยี่ยมชมเว็บไซต์ การรับส่งข้อมูล ต่อเชื่อมสู่ระบบ Intranet ในขั้นถัดมาจะเป็นแบบ Point - to - Mutipoint เช่น ข้อมูลการจราจร ข้อมูลต่าง ๆ การบริการต่าง ๆ การขนส่ง การประชุมทางไกล ระบบ GPRS ยังสามารถใช้ในการส่งข้อความ SMS ผ่านช่องสัญญาณของระบบ GPRS ได้ด้วย

    GPRS เป็นระบบที่เหมาะแก่การส่งข้อมูลทั้งแบบที่เป็นช่วง ๆ เป็นครั้งคราวหรือแบบต่อเนื่อง (เช่น การส่งไฟล์) อีกทั้งยังสามารถแบ่งคุณภาพของการบริการตามการใช้งานได้อีกด้วย เช่น แบบตามสภาพของเครือข่าย แบบธรรมดา หรือแบบเร็วพิเศษ ระบบค่าบริการสามารถแจ้งปริมาณข้อมูลที่รับส่งได้ นอกเหนือไปจากข้อมูลใน Circuit Mode เช่น เวลาในการใช้ติดต่อ เวลาในการใช้งาน ฯลฯ ความเร็วในการรับข้อมูลในทางทฤษฎีจะอยู่ในระหว่าง 9 ถึง 170 กิโลบิต/วินาที แต่ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการเข้ารหัสที่ใช้ และจำนวนช่องสัญญานที่ใช้ (1 - 8 ช่องสัญญาณ)

    โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GPRS แบ่งเป็น 3 ระดับ(Class) ดังนี้

  • Class A สามารถใช้บริการได้พร้อมกันทั้งบนเครือข่าย GPRS และ GSM แบบ Circuit Mode อย่างต่อเนื่อง
  • Class B สามารถใช้บริการทั้งบนเครือข่าย GPRS แบบ Packet Mode และ GSM แบบ Circuit Mode ได้ทีละระบบ กล่าวคือไม่สามารถใช้ระบบได้พร้อมกัน
  • Class C สามารถใช้บริการได้เพียงเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถใช้งานทั้งสองระบบได้พร้อมกัน
    Back to top

    การรับส่งข้อมูลในระบบ GPRS

    ระบบ GPRS จะช่วยให้การเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เรียกกันว่า แบบ โน๊ตบุคส์(Notebook) เข้าสู่ระบบ Internet หรือ Intranet ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นไปด้วย ความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าระบบในปัจจุบัน การส่งข้อมูลในระบบ WAP ในปัจจุบันมีความเร็วเพียง 9 กิโลบิต/วินาทีเท่านั้น ในขณะที่ระบบ GPRS มีอัตราการรับส่งข้อมูลในระยะแรก ของการใช้งานเชิงธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์โดยเฉลี่ย 20 - 40 กิโลไบต์/วินาทีเลยทีเดียว
    นอกจากนี้การเชื่อมต่อแบบต่อเนื่องของระบบ GPRS ทำให้สามารถลดเวลาในการเชื่อมต่อได้อีกด้วย และในระบบ GPRS นี้ ผู้ใช้สามารถใช้งาน Internet อยู่ และสามารถรับสายเข้าได้พร้อมๆ กัน โดยที่ยังสามารถกลับไปที่หน้าจอเดิมของระบบ Internet ได้ทันทีภายหลังจากการวางสาย

    คุณลักษณะของการรับส่งข้อมูล ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GPRS

  • เพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลเป็นอันมาก ความเร็วในระยะแรกจะอยู่ที่ 30 - 40 กิโลบิต/วินาที และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 กิโลบิต/วินาทีในระยะต่อมา และจะสูงถึง 171.2 กิโลบิตในที่สุด
  • มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายตลอดเวลา โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GPRS ใช้เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลเป็น Packet โดยที่ผู้ใช้ติดต่อกับระบบตลอดเวลา โดยที่เครือข่ายจะถูกเรียกใช้เฉพาะยามที่มีการรับส่งข้อมูล
  • ระบบ GPRS เป็นระบบที่ใช้ IP (Internet Protocal) ในการรับส่งข้อมูล ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับการรับส่งข้อมูลในระบบ Internet และระบบ Intranet
    รูปแบบค่าบริการอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ ซึ่งอาจคิดค่าบริการตามจำนวนหน้าที่เปิด แทนที่จะคิดตามเวลาใช้งาน และสามารถมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน
    พัฒนาการเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นตลาด Internet ในแบบเคลื่อนที่ และบริการเสริมต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการสื่อสารข้อมูลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะบริการเสริมประเภทเกมส์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ สำหรับผู้ใช้ที่กำลังเครียด หรือ เล่นสำหรับฆ่าเวลาเพื่อรอทำสิ่งอื่นอยู่
    การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 UMTS จะทำให้รูปแบบการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ดังที่ มาธิเยอ บัคกีอัส ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดของบริษัทอัลคาเทล ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า "เปรียบเสมือนการเปลี่ยนโมเด็มจาก 56k เป็น ADSL "
    ระบบ GPRS เป็นระบบที่ช่วยให้การคิดค่าบริการเป็นแบบประหยัด เพราะเป็นการคิดค่าบริการตามปริมาณการรับส่งข้อมูล ทำให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น เพียงจ่ายค่าบริการตามจำนวนข้อมูลที่คุณใช้ โดยไม่ต้องจ่าย ตามระยะเวลา เหมือนในร้านอินเตอร์เน็ต ที่คิดค่าชั่วโมง ละ 15 -20 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณใช้ระบบ WAP คุณจะต้องเสียค่าบริการตามเวลาที่คุณ On line อยู่ ไม่ว่าจะส่งเมล์ เขียนเมล์ แต่ถ้าคุณใช้ ระบบ GPRS ก็ไม่ต้องเสียค่าบริการ ในช่วงเวลาที่กำลังอ่านเมล์หรือเขียนตอบ เพราะไม่ได้มีการรับส่งข้อมูลใดๆ จนกว่าจะเปิดกล่องจดหมาย (Inbox) หรือการส่งเมล์(Send) ก็จะเสียค่าบริการซึ่งคิดตามจำนวนข้อมูลที่ส่งไป ซึ่งทั้ง DTAC และ AIS จะคิดค่าบริการอยู่ที่ 10 สตางค์/กิโลไบต์ (1 ไบต์= 1 ตัวอักษร) และยังแบ่งออกเป็น Packet ที่มีอัตราค่าบริการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ Packet นั้น
    ขณะนี้ ผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GPRS ได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3G แล้ว ซึ่งก็มิได้หมายความว่าความเร็วของการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่เท่านั้น แต่รวมไปถึงบริการอื่น ๆ อาทิ เช่น สมุดนัดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สมุดโทรศัพท์ เครื่องเล่น MP3 เครื่องเล่นเกม กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ บริการเชื่อมต่อธนาคาร การชำระเงินแบบเข้ารหัส รีโมทคอลโทรลสำหรับเครื่องเสียภายในบ้าน เป็นต้น ยุคที่ 4 ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่าจะเกิดขึ้นในราว ปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2553 ในทวีปยุโรป

    สำหรับเครือข่าย GPRS ในประเทศไทย ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเมืองไทยสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงเป็นครั้งแรก โดยบริษัทซีพีออเรนจ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ออเรนจ์ เอสเอ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับสัมปทานแบบครบวงจรในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM 1800 ในประเทศไทย เครือข่ายซีพีออเรนจ์จะเป็นเครือข่าย GPRS แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
    Back to top

    ประโยชน์ของ GPRS
    GPRS ทำให้การเชื่อมต่อมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการ On line อยู่ตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลข่าวสารมาถึงผู้ใช้ได้ทันที ทั้งการรับและการส่ง และการตัดความยุ่งยากในเรื่องการตั้งค่าต่าง ๆ ของโมเด็ม สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อความต้องการของผู้ใช้
    GPRS ยังให้การบริการรูปแบบใหม่ ที่ไม่สามารถใช้ใด้ระบบ GSM แบบเดิม เพราะข้อจำกัดด้านความเร็วในการรับส่งข้อมูลแบบ CSD (9.6 kbps) และข้อจำกัดของขนาดของข้อมูล ที่สามารถรับได้ในแบบ SMS (160 ตัวอักษร) GPRS ทำให้สามารถให้บริการแก่ลูกค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิเช่น การเข้าถึง WWW อย่างแท้จริง การรับส่งแฟ้มข้อมูล รวมไปถึงการควบคุมและตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน
    GPRS นอกจากจะใช้ในระบบ GSM แล้ว ยังสามารถใช้ได้กับเครือข่ายมาตรฐาน IS - 136 TDMA ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทวีปอเมริกา และเป็นไปตามข้อกำหนดการวิวัฒนาการ สู่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 หรือ 3G ซึ่งถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการเครือข่ายทั้งสองประเภท
    เห็นมั๊ยครับว่าเทคโนโลยีสมัยนี้ ทำอะไร ๆ ให้อยู่ใกล้ตัวไปหมด อยากรู้อะไรก็รู้ได้เพียงชั่วพริบตา คนที่อยู่ไกล ก็เหมือนอยู่ใกล้ สำหรับประโยชน์ของเจ้ามือถือนี้ ผู้ที่ใช้ทำงานประเภทธุรกิจหรือการพาณิชย์ เพราะจะใช้งานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดต่อธุรกิจ การเงินการบัญชี ที่ต้องไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับธนาคาร และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์มากที่สุด
    สำหรับผู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อย่างเช่น เด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ หรือว่านักเรียนที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ก็พิจารณาให้ดีก่อนที่ จะซื้อโทรศัพท์มือถือ เพราะจะกลายเป็นความสิ้นเปลืองที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย...หรือว่าคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่จะซื้อไว้ให้ติดต่อกับบุตรหลาน ของท่านก็ไม่ว่ากัน ถ้าไม่เป็นการส่งเสริมให้เด็กใช้ในทางที่ผิด ก็พิจารณาเอาราคาที่เหมาะสม และก็ฟังก์ชั่นที่ได้ใช้จริง ๆ จะคุ้มค่ากว่าครับ....
    Back to top

    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HOBBY ELECTRONICS ฉบับที่ 120 พฤษภาคม 2545