เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๑
--------------------------------------------------------------------

เมื่อวันอาทิตย์ก่อนเราได้พูดกันถึงการทำความรู้จักกับรูปธรรมทั้ง ๒๘ รูปมาแล้ว เมื่อวันก่อนนั้นคิดว่าเราจะได้
ทำการฝึกสติกัน ถึงเรื่องว่าจะทำความรู้จักกับรูปและนามอย่างไรนั้น บังเอิญนึกขึ้นได้ว่าเรื่องรูปธรรมนั้นเราได้ทำความ
รู้จักกันแล้ว แต่ตัวนามธรรมอีกตัวหนึ่งเรายังไม่ได้ทำความรู้จักกัน ฉะนั้นถ้าเราจะพูดกันเรื่องทำความฝึกสติให้รู้จัก
กับรูปและนามทันทีแล้ว ก็จะทำให้เกิดความบกพร่องสับสนขึ้น เพราะว่ารูปธรรมนั้นเราได้รู้จักกันแน่ชัดแล้วว่า มันมี
ลักษณะเป็นอย่างไร ประการใดบ้าง ทีนี้เมื่อรู้จักรูปธรรมแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักนามธรรม เราเพียงแต่บอกว่า อ้ายนี่เป็น
นามนะ อ้ายนั่นเป็นรูปนะ อ้ายความสมบูรณ์ในเรื่องของความรู้มันก็จะไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นผมจึงตัดสินใจมาว่ากันในเรื่อง
ทำความรู้จักกับนามธรรมในที่นี้ ผมก็จะเอาเจตสิกมาให้รู้จักกัน ผมอยากจะสรุปในเรื่องปรมัตถธรรมให้พวกเราทุก
คนได้เข้าใจเสียก่อนว่า การที่จะศึกษาถึงธรรมะในขั้นสูงให้ได้ผลจริงๆ นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้ในเรื่องของปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรมนั้นหลักใหญ่เรารู้กันแล้วว่ามันมีอยู่ ๔ ตัว คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑
เมื่ออาทิตย์ก่อนๆ นั้นเราได้พูดกันเพื่อให้พวกเราได้รู้จักกันถึงรูปธรรมทั้ง ๒๘ ตัวแล้ว ทีนี้ก็ยังเหลือแต่จิตกับเจตสิก
เจตสิกนั้นมันมี ๕๒ ตัว แต่มันจัดเป็นนามธรรมได้ ๓ ตัว ที่ว่าจัดเป็นนามธรรมได้ ๓ ตัวนี่ หมายความว่าเราพูด
กันในลักษณะของขันธ์ ๕ ที่ว่ามันเป็น ๓ ตัว ทั้ง ๓ ตัวยังไงผมก็จะชี้ให้เห็น ในขันธ์ ๕ คือในตัวของพวกเราทุกคนนั้น
ที่ว่าแบ่งเป็นขันธ์ ๕ นั้นน่ะ มันมีรูป ๑ รูปขันธ์ นี้หมายความถึงรูป ๒๘ นั่นเองน่ะ แต่ที่ส่วนใหญ่ที่เราทำการรู้จักกันน่ะ
ความจริงนี่คือตัวเรานี่ มันเห็นกันโดยชัดแจ้ง ก็คือพวกดินนี่ ที่มันรูปดินหรือปฐวีธาตุ นี่ ซึ่งมันเป็นการรู้ได้ชัด
รูป ๒๘ รูปนั่นแปลว่ารูปขันธ์ทั้งหมดที่ผสมรวมกัน นอกจากรูปขันธ์ในขันธ์ ๕ แล้ว นอกจากรูปขันธ์แล้วก็มี สัญญาขันธ์
สัญญาขันธ์นี้มันก็คือสัญญาเจตสิกตัวหนึ่ง ในเจตสิก ๕๒ ตัวนี่ มันเป็นสัญญาขันธ์เสียตัวหนึ่ง แล้วอีกตัวหนึ่งเวทนาเจตสิก
เราแยกมาเป็นเวทนาขันธ์ ทำไมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแยกเจตสิกนี่ออกไปเป็นสัญญาขันธ์ตัวหนึ่ง เวทนาขันธ์
อีกตัวหนึ่ง เพราะ ๒ ตัวนี่ มันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุญกับบาป ทั้งนี้เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเวทนานั้นมันแสดงผล
ของบุญหรือบาป คือวิบากกรรมนั่นเอง น่ะ ที่เราจะได้รับกันอยู่ทุกวันๆ นี้ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง นี่มันเป็นเรื่อง
ของเวทนา ไม่เกี่ยวกับบุญกับบาปเลย อ้ายคำว่าที่ผมว่าไม่ได้เกี่ยวกับบุญกับบาปนี่ อาจจะฟังยากสักหน่อย หมายถึงไม่
เกี่ยวกับการจะสร้างอกุศลหรือกุศลจากอ้ายสัญญาหรือเวทนาเกิดขึ้น มันเป็นผลที่แสดงออกซึ่งอารมณ์ให้เราได้รู้
ส่วนสัญญาขันธ์นั้นก็เหมือนกัน มันเป็นแต่เพียงความจดจำเท่านั้น มันไม่ใช่ตัวที่จะทำกรรม ส่วนที่เหลืออีก ๕0 ตัวนั้นแหละ
ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สังขารขันธ์ นั่นแหละ ตัวนี้แหละเป็นตัวสำคัญที่เราจะทำบุญหรือทำบาปให้
เกิดขึ้นนั้น ก็อ้าย ๕0 ตัวนี่ ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไป
นอกจาก รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ซึ่งหมายถึงความที่มัน อ้ายความเลวๆ บ้าง ดีบ้าง
อะไรต่างๆ พวกนี้ มันเหลืออีก ๕0 ตัว แล้วผมจะชี้ให้ดูว่า ประเดี๋ยวพวกเราจะตกใจ มันคล้ายๆ กับลักษณะของการ
คบเพื่อน แล้วทีนี้ขันธ์ตัวสุดท้ายเรียกว่าวิญญาณขันธ์ วิญญาณขันธ์ตัวนี้แหละคือจิตนั่นเอง ฉะนั้น เมื่อเราสรุปใน
เรื่องขันธ์ ๕ แล้วนี่ มันจะครบแล้วว่า หนึ่ง รูปขันธ์ ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘ เวทนาขันธ์ ได้แก่เวทนาเจตสิก
สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก เหลือเจตสิกอีก ๕0 ดวงนั้นรวมเรียกว่า สังขารขันธ์ทั้งสิ้น ส่วนวิญญาณขันธ์
นั้นก็คือจิต ๘๙ ดวงหรือ ๑๒๑ ดวงนั่นเอง ซึ่งเราเรียกว่าวิญญาณขันธ์
สำหรับจิตปรมัตถ์ ผมคิดว่าจะไม่พูดกันเรื่องรายละเอียด เพราะว่าพวกเรานี่ทุกคนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ เพียงแต่ว่า
เราจำไว้ก็แล้วกันว่าจิตทำหน้าที่อย่างไร ซึ่งเราจะได้พูดกันทีหลัง แต่สำหรับเจตสิกตัวนี้มันเป็นเรื่องยุ่ง ถ้าเราไม่ทำความ
ตกลงกันเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว เพลาเราฝึกสติให้เกิดขึ้นแล้วนี่ เราไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร เพราะการเจริญวิปัสสนา
กัมมัฏฐานนั้น มันเจริญกันได้มากมายหลายทาง ทางขันธ์ ๕ ก็ได้ ทางอายตนะ ๑๒ ก็ได้ ทางธาตุก็ได้ นี่ เหล่านี้เป็นต้น
ฉะนั้นที่ผมพูดมานี่ก็หมายต้องการให้พวกเรานี่ ทุกคนนี่ได้รู้จักรายละอียดแต่ละเรื่อง เมื่อเราได้รู้จักรายละเอียดแต่ละ
เรื่องแล้ว เราจึงค่อยมาทำการฝึกสติให้มันรู้เรื่องกันในภายหลัง ฉะนั้นในวันนี้ผมจึงได้นำเอาเรื่องเจตสิก ๕๒ มาพูดให้พวก
เราได้รู้จักว่านามธรรมซึ่งเป็นเจตสิกนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งที่เราจำเป็นที่เราจะต้องทำความรู้จักกับมัน ถ้าเราไม่ทำความรู้จักใน
เรื่องนี้แล้ว โอกาสที่เราจะไปหนอๆ แหนๆ อะไรกับเขาในทีหลังนี่ ไม่มีผลหรอก เพราะว่าวิปัสสนานั้นมันเป็นเรื่องของปัญญา
ปัญญานั้นเราต้องเอามาจากปรมัตถ์ก่อน ที่ผมพูดในวันนี้พูดกันถึงเรื่องปรมัตถ์ คือต้องเรียนกันเสียก่อน เราค่อยเอาไป
ปฏิบัติ ถ้าเราไม่เรียนกันเสียก่อน ปฏิบัติมันก็อย่างว่า คือวิปัสสนึกนั่นเองน่ะผลมันไม่เกิด เมื่อเราเรียนแล้วในหลักการเรื่องรูป
๒๘ เราเรียนมาแล้ว ทีนี้สำหรับเรื่องนาม ก็คือ สิ่งสำคัญก็คือ เจตสิก ๕๒ เรายังไม่รู้กัน ฉะนั้นเราก็หาความรู้ซะ คือจาก
การเรียน เมื่อเราเรียนเสร็จแล้ว เราก็นำไปปฏิบัติ ทีนี้เราก็คอยดูสิว่า ใครจะปฏิบัติถูกปฏิบัติไม่ถูก หลงสติ ลืมสติ มีสติ
อ้ายพวกนี้เราไว้ว่ากันทีหลัง
เมื่อเราทำเป็นขั้นเป็นตอนเช่นนี้แล้ว ผลมันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เช่นเดียวกันกับพวกเราทุกคนที่ทำสมาธิได้นั้น
ก็เพราะเราได้เข้าใจในเรื่องหลักการของสมาธิในเรื่องนั้นๆ มาแล้ว เราถึงได้มาประพฤติมาปฏิบัติกันได้ และแนะนำให้
ซักนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นการเตือนสติไม่ให้หลงลืมเข้า มันก็ปฏิบัติกันได้ แต่การปฏิบัติขั้นสูงในขั้นโลกุตตรกุศลธรรมนั้น
มันไม่ใช่อย่างนั้น มันลำบากยิ่งกว่านั้นอีก ถ้ามิฉะนั้นแล้วล่ะก็ ทุกๆ คนก็คงจะไม่ต้องเกิดกันมาอีกแล้ว มันลำบาก
ลำบากยังไง ถ้าเราไม่รู้เรื่องปรมัตถธรรมในหลักการใหญ่ๆ ทั้งหมดเสียก่อนแล้วนี่ อย่าไปนั่นเลย ป่วยการ อีกหน่อย
มันก็คงจะมีรูปนั่ง รูปนอน รูปเดิน รูปยืน อย่างที่เขาสอนกันออกวิทยุกันละ เสร็จแล้วมันก็น่าขำ ขำยังไงก็เพราะว่า
ไม่รู้แล้วก็ไปปฏิบัติเข้า แล้วผลมันจะเกิดยังไงล่ะ มันก็เหมือนอย่างพวกเราบางคนที่ทำสมาธิแต่ก่อนๆ มาทำตามๆ กัน
นี่ มันเกิดไหม มันก็ไม่เกิด เพราะเหตุไร เพราะเราไม่ได้ปริยัติกันมาเสียก่อน ฉะนั้นหลักธรรมในพระพุทธศาสนานี่ท่าน
ถึงได้แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน
ตอนที่หนึ่ง เรียกว่า ปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียน ให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน
เมื่อศึกษาเล่าเรียนแล้วมันก็ถึงขั้น ปฏิบัติ คือเอาผลของการศึกษานั่นแหละ ที่ตนรู้ตนทำความเข้าใจนั่นแหละมา
ปฏิบัติ
จากผลแห่งการปฏิบัติ ปฏิเวธ มันถึงได้เกิดขึ้น อย่างพวกเรานี่ที่ทำสมาธิได้นั่นน่ะ ผลแห่งสมาธิที่ออกมาคือความ
สงบนั้นน่ะ เราเรียกว่าปฏิเวธ เห็นไหม เพราะว่าเราก้าวมาแต่ละขั้นตอน แต่ถ้าเราจะก้าวพรวดออกไปเสร็จ บอกว่า
ฉันตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันต์แล้วก็ ไม่ต้องมาพูดกันเลิกกัน เพราะว่าผมทำไม่ได้
ในเรื่อง เจตสิก นี่ เราจะต้องรู้เสียก่อนว่ามันเป็น ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมันประกอบเข้ากับจิต ผมจะไม่พูด
ภาษาธรรมะละ ผมจะพูดเอาภาษาชาวบ้านแบบกุ๊ยๆ มาพูดกัน จิตไม่ใช่หัวใจนะ จิตนะ จิตหรือวิญญาณนี่ ที่เรามี
อำนาจ เราจะเคลื่อนไหว อยากโน่น อยากนี่อะไรมันเรื่องของจิต แต่อ้ายจิตตัวนี้นะ ถ้าเราพูดกันจริงๆ มันเป็นจิตที่
มันทำหน้าที่อย่างเดียวคือรับรู้ และเป็นประธานของขันธ์ทั้งหลาย ถ้าเราจะพูดดูให้เห็นว่าตำแหน่งหน้าที่ของจิตนี่
โอโฮ้ มโหฬารใหญ่โตเหลือเกิน ก็เมื่อมันเป็นมโหฬารใหญ่โตอย่างนี้แล้วนี่ ทำไมล่ะเราถึงได้เป็นทุกข์เป็นร้อนกันนักหนา
เหตุที่เป็นทุกข์เป็นร้อนนักหนานี่ เพราะว่ามันไม่เป็นตัวของมันเอง อ้ายจิตตัวนี้ นี่ มันชอบคบเพื่อน อยู่ตัวคนเดียวไม่ได้
จิตนี่คบกับใครล่ะ อ้ายเจตสิกตัวนี้แหละ นี่แหละ เพราะเหตุอะไร มันเป็นเพื่อนเป็นเพื่อนตายกันมาเลยทีเดียว ทำไมถึง
ได้เป็นอย่างนั้น เพราะลักษณะของจิตและเจตสิกนั้น มันเกิดมันก็เกิดมาพร้อมกัน มันดับก็ดับพร้อมกัน
มันจะมีอารมณ์มันก็มีอารมณ์อันเดียวกัน แล้วก็มันก็ต่างคนต่างอาศัยสิ่งที่อยู่อันเดียวกัน
เห็นไหมพูดกันทำไม
มีล่ะ โบราณเขาเรียกว่าอะไร สหชาติ มันเกิดพร้อมกัน มันดับพร้อมกัน มันเป็นเพื่อนกันเป็นฝูงกัน ความจริงอ้าย
เจตสิกน่ะมันไม่มีอำนาจอะไรเลย อำนาจที่สำคัญรุนแรงที่สุด คนจะขึ้นสวรรค์ได้หรือลงนรกได้มันเรื่องของจิต แต่ความ
จริงๆ เถอะ พูดด้วยความยุติธรรม ไม่ใช่อ้ายจิต มันไม่ได้ระยำอย่างนั้น มันเป็นเรื่องระยำเพราะเพื่อน ทำไมมันถึงจะเป็น
อย่างนั้น ก็มันจะไปไหน มันเกิดมันก็เกิดพร้อมกับอ้ายเจตสิก มันจะดับก็ดับพร้อมกับอ้ายเจตสิกนะ และอ้ายจิตมันทำ
หน้าที่อย่างเดียว รัยรู้กับเป็นประธาน แต่อ้ายเพื่อนซิ อ้ายเจตสิกตัวนี้ซิ คุณเอ๋ย แสนที่จะทารุณ ยังไง
ใน ๕๒ ตัวนี่นะ ใน ๕๒ ตัวนี่ อ้ายตัวเป็นกลางๆ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ เอาซิ เป็นประชาธิปไตยฉันก็เป็นได้ ราชาธิปไตย
ฉันก็เป็นได้ เป็นคอมมิวนิสต์ฉันก็เป็นได้ นี่ อ้ายตัวนี้ อ้ายเจตสิกตัวกลางๆ นี้มี ๑๓ ดวง หมายความว่าเป็นได้ทังนั้นน่ะ
ดีก็ได้ เลวก็ได้ เอ้า จะเอายังไงเอาได้ทั้งนั้นแล้วแต่ใครจะชวน นี่ ๑๓ ดวง แล้วก็อ้ายตัวอสุรกุ๊ยเรียกว่า อกุศลเจตสิก
อ้ายนี่ไม่มี ชักนำแต่ทางชั่วทั้งนั้นแหละ ชั่วอย่างเดียว ๑๔ ดวงนี่ชั่วอย่างเดียว ไม่มีดี แล้วก็อ้ายจิตของเรานี่แหละ
มันก็ชอบคบเพื่อนชั่วๆ นี่มากี่วัฏฏะแล้วก็ไม่รู้ เกิดๆ ตายๆ ก็คบกับอ้ายชั่ว ๑๔ ตัวนี่แหละ ไม่ได้ไปนึกถึงอ้ายตัวดีๆ เขาเลย
นี่ อ้าย ๑๔ ตัวนี่ ที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี่ แล้วก็ทำอย่างไร ทำให้เราสบายกันบ้าง นั่งร้องไห้กันมั่ง มีกินกันมั่ง
อดกันมั่ง ก็เพราะอ้ายเพื่อนอัปรีย์ ๑๔ ตัวนี่แหละครับ ฉะนั้นพวกเราจงรู้จักจำหน้ามันไว้ เราจะได้ไม่คบค้าสมาคมกับมัน
นี่ ๑๔ ตัว
แล้วก็ทีนี้ก็ยังมี โสภณเจตสิก อีก ๒๕ ตัว อ้ายโสณเจตสิกนี่แนะนำในทางที่ดีทั้งนั้น แนะนำจิตในทางที่ดีทั้งนั้น แต่
บอกเข้าเถอะ เจ้าประคุณเอ๋ย อ้ายจิตของเรานี่มันก็ไม้เลื้อยนั่นแหละ มันใกล้ที่ไหนมันก็เลื้อยไปพันเขาที่นั่น อ้ายจิต
ของเราก็เช่นเดียวกัน เหตุนี้แหละสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคล ๓๘ เกี่ยวกับมงคลชีวิต บอกนะใน
มงคลตัวต้นๆ บอกว่าอย่าคบนะกับคนพาล จงคบกับบัณฑิตเถอะ นี่มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้อ้ายเจตสิกที่เป็นโสภณะคือเป็น
ฝ่ายดีนี่ เป็นเพื่อนชักชวนในทางดี มีเท่าไหร่ มีถึง ๒๕ ดวง แต่มันช่างเลวทรามต่ำช้าบ้างไหมล่ะ อ้าย ๒๕ ดวงนี่
มันไม่อยากยุ่งด้วยกับอ้ายตัวยุ่งๆ พอเห็นอ้ายตัวยุ่งมาฉันหนีไปแล้ว ไม่เอา ไม่เอาด้วย นี่ มันเกิดมาเป็นเจตสิกเหมือนกัน
แต่มันไม่ยอมคบกับอ้ายพวกคนชั่ว ไม่เหมือนอ้ายตัวกลางๆ ๑๓ ดวง ถ้าฝ่ายชั่วมา อ้าฉันก็ อ้าชั่วดีนะจ๊ะ อ้ายฝ่ายดีมา
อ้าๆ ฝ่ายนี้ก็ดีนะจ๊ะ ดีเรื่อยคบกันได้ทั้งนั้น เพราะว่าอ้ายตัวกลาง ๑๓ ตัว นี่แหละ ที่มันคบได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วนี่แหละ
ที่เราเอามันมาทำเป็นสมาธิตัวนี้แหละ ตัวเอกัคคาตัวนี้แหละซึ่งคบกันได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วนั้น มันถึงได้เกิด สัมมาสมาธิ
มันก็เกิดขึ้นได้ มิจฉาสมาธิมันก็เกิดขึ้นได้ พวกเรานี่บางคนอาจจะเคยโดนมาแล้วในเรื่องคุณเรื่องไสย นั่นก็เกี่ยวกับ
มิจฉาสมาธิ ก็เป็นเรื่องเอกัคคตาเจตสิก อ้ายตัวกลางนั่นเองนั่นแหละ ฝ่ายชั่วมันชักนำไปเป็นเพื่อน มันก็ไปเป็น
กำลังให้เขา แต่อ้ายพวกเรานี่มันดี เราใช้สติซึ่งเป็นโสภณฝ่ายดีมาชักชวนมันมาเสีย เราจึงได้สงบกันด้วยความดี เราไม่ได้
ไปรังแกใครเขา ไม่ได้เบียดเบียนใครเขา นี่ เพราะว่าอ้ายความดีของอ้ายโสภณะมันมีอยู่
เท่าที่ผมพูดมานี้ นี่เราพูดกันถึงลักษณะของเจตสิก ให้เห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กับจิตใจยังไง และอีกประการหนึ่ง
ประการสำคัญที่สุด ระหว่างฝ่ายโสภณเจตสิกกับอกุศลนี่ จำไว้นะ มันจะไม่เกิดพร้อมกันเด็ดขาด มันไม่คบค้าสมาคมกันเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโสภณะนี่เล่นตัวบรรลัยเลย ถือว่าฉันเป็นพวกผู้ดีเก่า เอ้อ พวกอ้ายกุ๊ยอกุศลเจตสิกพอเข้ามา โผล่เข้า
มาสักตัว อ้ายนี่เปิดหมดเลย หนีหมด ไม่เอา ไม่เหมือนอ้ายพวกตัวกลางๆ ไม่รู้ใครมาฉันเข้าได้ทั้งนั้น นี่ ฉะนั้นขอให้
พวกเรานี่ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้จงดี เมื่อเราทำความเข้าใจกันเช่นนี้ได้แล้ว ผมก็อยากจะให้รู้ว่า สรุปเข้าเรื่องกัน
เสียทีว่า เรื่องของเจตสิกนั่นมันเป็นอย่างไร คือ
๑. มันเกิดพร้อมกับจิต
๒. ดับพร้อมกับจิต
๓. มีอารมณ์เดียวกันกับจิต
๔. อาศัยวัตถุอันเดียวกันกับจิต จิตอาศัยหทัยวัตถุเป็นตัวเกิด เจตสิกก็อาศัยหทัยวัตถุเป็นตัวเกิดเหมือนกัน
ฉะนั้น เจตสิกจึงอาศัยจิตเกิดขึ้นเป็นลักษณะ เห็นไหมล่ะ เกาะติดเลย เกาะติดเลย เกิดร่วมกับจิตเป็นกิจ ถือเป็นหน้าที่
เลย เอ้า เกิดก็เกิดพร้อมกัน ดับก็ดับพร้อมกัน ถือเป็นหน้าที่เลย รับอารมณ์เดียวกันกับจิตเป็นผล และมีการเกิดขึ้นแห่งจิต
เป็นเหตุใกล้ สรุปแล้วเจตสิกคือธรรมชาติสิ่งหนึ่งซึ่งประกอบเข้ากับจิต ปรุงแต่งจิตให้จิตประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น
ผมพูดมาเพียงเท่านี้ พวกเราคงจะนึกออกว่าทำไมบางคนเขาถึงได้อยู่ในศีลในธรรม บางคนทำไมฐานะก็มั่งคงแข็งแรง
แต่ทำไมจิตใจถึงได้ชั่วช้าอย่างนั้น แม้จะมีอาชีพก็เป็นมิจฉาอาชีวะ และบางคนทำไมใจหยาบช้า อย่างพวกเราอาจจะไม่ได้
เคยเข้าไปเยี่ยมคนในคุกบ้าง เพราะถ้าเราเข้าไปเยี่ยมคนในคุกบ้างแล้วนี่ เราจะเห็นว่าอ้ายคนในคุก พวกนักโทษนี่มัน
จิตใจหยาบ เราว่าเราหยาบเหรอ เอ้อ ไม่ได้เท่า ๑ ใน ๑00 ๑ ใน ๑,000 ของเขาเลย เขาไม่มี ไม่ได้มีความคิดนึกอย่าง
เราเช่นนี้ มีแต่สิ่งอะไรที่มันเป็นเรื่องเบียดเบียน เขาคิดอย่างนั้น เขาทำอย่างนั้น เขาทำกันเช่นนั้นจริงๆ นั่นเพราะอะไร
เพราะว่าเจตสิก เขาคบกับอ้าย ๑๔ ตัวเท่านั้น เขาไม่ยอมคบกับอ้าย ๒๕ ตัว นี่ ฉะนั้นที่ผมนำเอาเรื่องนี้มาพูดผมไม่
ต้องการให้พวกเรานี่ไปตกนรก หรือเกิดไปในชาติหน้า ไม่ต้องการให้ไปเกิดในภพภูมิที่ชั่วหรือต่ำต้อย อยากให้ทุกคนนี่
ได้ไปสู่สุคติจะตายก็ให้ตายด้วยความดี จะเกิดก็เกิดให้ความดี ให้พรั่งพร้อมหมดทุกอย่าง นี่ ทำไมเราจะทำเช่นนั้นได้
อาศัยที่เราจะต้องทำความรู้จักกับอ้ายตัวนี้แหละ อ้ายตัวดี ตัวชั่ว ตัวกลางๆ นี่แหละ ซึ่งเรียกว่าเจตสิกนี่แหละ เป็นเรื่อง
ที่สำคัญยิ่ง
ผมพูดมาแล้วว่าเจตสิกนั้นมันมี ตัวกลางอยู่ ๑๓ ตัวเลวอยู่ ๑๔ ตัวดีอยู่ ๒๕ แต่ในวัฏฏะของพวกเราทุกคน ผมยืนยัน
ได้ว่าพวกเราคบแต่เพื่อนชั่วๆ นั่นอะไร จิตของเราคบแต่อกุศลเจตสิกมาทั้งนั้นส่วนมาก เราถึงได้มาเกิดมาเป็นมนุษย์
เช่นนี้ ถ้าเราคบแต่โสภณเจตสิกเท่านั้น เราก็คงไม่ต้องมานั่งพูดกันอย่างเช่นนี้ คงจะหลุดออกจากวัฏฏะไปหมดแล้ว
นี่เพราะพวกเราคบเพื่อนชั่ว ฉะนั้นในฐานะที่เรามาพบกันในวันนี้ จงจำไว้ผมจะชึ้หน้าให้ดูว่าอ้ายเพื่อนตัวไหนของเรา
น่ะมันชั่วบ้าง เราอย่าไปคบมัน เราคบแต่เพื่อนดีๆ แล้วเราก็จะได้ไปสู่ความดีของเราได้สมความมุ่งหมาดปรารถนา
เมื่อพูดมาถึงแค่นี้แล้ว เรารู้แล้วว่าเจตสิก ๕๒ นั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑ เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ อัญญสมานาเจตสิกนี้หมายถึง เจตสิกที่ประกอบเข้ากับ
กุศลกรรมก็ได้ อกุศลกรรมก็ได้นะ หรือเป็นอพยา คือหมายความว่าเป็นกลางๆ ก็ได้ นี่ ได้ทุกชนิด
เมื่อประกอบเข้ากับชนิดใดแล้ว มันก็เป็นอย่างนั้น
หมายความว่าอ้าย ๑๓ ตัวนี่ ถ้ามีคนชั่วมาชวนมันก็กลายไป
เป็นมหาโจรไปด้วย ถ้ามันมีคนดีมาชวนมันก็กลายเป็นปราชญ์ไปด้วย นี่ นอกจากจิตแล้วนะ ยังมีอ้ายเจตสิก อ้ายตัว
ไม่เป็นตัวของตัวเองน่ะ ทำให้เขาล้างสมองได้ง่ายๆ อีกน่ะ มันมีอีก มันมีอย่างงี้ ฉะนั้นเรารู้แล้วนี่ว่าจิตของเรานั้นมัน
เป็นตัวรับรู้ คล้ายๆ ตัวสั่งงาน ผู้มีอำนาจบริหารนี่ ถ้าจะมาเปรียบเทียบในระบอบประชาธิปไตย ก็ตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเองน่ะ
ถ้าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย อ้ายตัวนี้ก็อ้ายตัวประธานาธิบดีน่ะ จิตน่ะ แต่มันอัปรีย์จริงๆ มันไม่ได้เป็นตัวชองมันเอง
เลย มันแล้วแต่เจตสิกคืออ้ายเพื่อนนั่นแหละ อ้ายเพื่อนทั้ง ๕๒ นั่นแหละ จะชี้นกก็เป็นนก ชี้ไม้ก็เป็นไม้ เอ้อ ชี้ดีก็เอ้า
ได้ทำบุญทำกุศล ได้พบในสิ่งที่ดี ชึ้ไม่ดีก็เข้าไปอยู๋ในตาราง นี่มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องจำมันไว้ และอัญญสมานาเจตสิก
๑๓ ดวงที่เป็นตัวกลางๆ นี่ มันยังแบ่งกันอีกเป็น ๒ พวก
พวกที่ ๑ เรียกว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก มีอยู่ ๗ ดวง อ้าย ๗ ดวงนี่เข้ากันได้กับจิตทั้งหมด คือหมายความว่า
จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นี่เข้าได้หมดทุกดวง ไม่ต้องกลัว อ้าย ๗ ดวงนี่เข้าได้ทั้งนั้น คือเข้าประกอบกับจิตทุกดวงไม่เว้น
เลย และสัพพจิตตสาธารณเจตสิกนี้เข้าประกอบจิตทุกดวงเป็นชุดทั้งหมดครบ ๗ ดวงเสมอ
พวกที่ ๒ ในอ้ายพวกกลางๆ ๑๓ นั่นน่ะ ประเภทที่ ๒ เรียกว่า ปกิณณกเจตสิก มีอีก ๖ ตัว อ้ายนี่ประกอบเข้า
เฉพาะกับจิตบางดวงเท่านั้น แต่บางดวงไม่เข้า ไม่เข้าด้วย ไม่เหมือนอ้าย ๗ ตัวแรก อ้าย ๗ ตัวแรกเข้าได้หมดทั้ง
๘๙ ดวง เข้าหมด
ประเภทที่ ๒ ทีนี้ก็มาถึงอ้ายพวกที่ ๒ เรา ๑๓ ตัวเรารู้กันไปแล้ว อ้ายพวกที่ ๒ เรียกว่า อกุศลเจตสิก มี ๑๔ ตัว
นี่แหละ ๑๔ ตัวนี่เป็นเจตสิกที่ชั่ว ที่ทำบาป ที่หยาบ ไม่งาม และมันจะประกอบเข้ากับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น
ไม่ประกอบกับจิตอื่นเลย จิตที่เป็นกุศลมันไม่ประกอบ เพราะว่าอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงนี่ มันประกอบเข้ากับอกุศลจิต ๑๒
ดวงเท่านั้น เราจะเห็นได้ว่าอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี่แหละ ที่มันทำให้เราต้องมาตกทุกข์ระกำลำบาก เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่
สมบูรณ์เหมือนเทวดา สังเกตดูซิพวกเรานี่ มันจะทีทุกข์บ้างสุขบ้างอยู่เสมอตลอดชีวิต มันไม่ได้มีความสุขตลอดเลย
แม้แต่ใครเขาไม่มารังแกเรา ไม่ได้มาทำความชอกช้ำใจให้แก่เรา ตัวของเราเองนั่นแหละทำความชอกช้ำระกำใจให้แก่เรา
เราอยากจะสวยมันก็ไม่สวย นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะอกุศลตัวนี้แหละที่เราทำให้เกิดขึ้นในอดีต ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น
เราอาจจะมีจิตใจที่ไปยิ้มเยาะ ไปดูถูกดูแคลนคนที่เขาไม่สวย มาชาตินี้ชนกกรรมมันก็ทำให้เราได้รับผลอย่างนี้ เพราะอะไร
เพราะอ้ายอกุศลเจตสิกมันเสี้ยมมันสอนเราใช่ไหม และจิตของเรานี่มันไม่เป็นตัวของตัวมันเองนี่ มันไปเชื่อเพื่อนนี่ ฉะนั้น
การทำกรรมทางมโนกรรมมันก็เกิดขึ้นเช่นนี้ ฉะนั้นเราจงตั้งตันกันใหม่ว่าต่อไปนี้นะอ้ายอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงนั้นน่ะ อย่า
ไปคบมันเลย เอ้า ที่อย่าไปคบมันเลย ผมจะบอกให้ว่าอ้าย ๑๔ ดวงนี่มันแบ่งเป็น ๕ พวก ๕ พวกยังไงผมจะบอกให้
พวกที่ ๑ เรียกว่า โมจตุกเจตสิก คือเจตสิกจำพวกโมหะ มีอยู่ ๔ ดวงนะ แล้วอ้าย ๔ ดวง นี่มีอะไรมั่งไว้ว่ากันทีหลัง
พวกที่ ๒ เรียกว่า โลติกเจตสิก คือจำพวกโลภะ มีอยู่ ๓ ดวง
พวกที่ ๓ โทจตุกเจตสิก จำพวกโทสะ มีอยู่ ๔ ดวง
พวกที่ ๔ เรียกว่า ถีทุกเจตสิก จำพวกถีนะ มีอยู่ ๒ ดวง
พวกที่ ๕ เรียกว่า วิจิกิจฉาเจตสิก คือ พวกที่มีความสงสัย มี ๑ ดวง
ทั้งหมดรวมเป็น ๑๔ ดวง นี่แหละที่ว่ามันทำความเจ็บช้ำระกำใจให้แก่พวกเราทุกๆ คน ฉะนั้นจำมันไว้ว่าอ้ายพวก
๑๔ ดวง นี่ พวกโมจตุกะก็ดี โลติกะก็ดี โทจตุกะก็ดี ถีนะก็ดี วิจิกิจฉาก็ดี อย่าไปคบไปค้ากับมันเลย มันเลวระยำมากนักหนา
อย่า เราคบแต่คนดีๆ พวกดีๆ เรามีอีกนี่ตั้ง ๒๕ ทำไมเราไม่คบ
ประเภทที่ ๓ พวกที่ ๒๕ ดวง นี่เขาเรียกว่า โสภณเจตสิก มีรวมทั้งหมด ๒๕ ดวงและพวก ๒๕ นี่แหละที่ทำให้
เราได้มีความสงบมีความสุขเกิดขึ้นที่เรียกว่าสมาธิ และตัวนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้กิเลสที่เราสะสมมาในวัฏฏะนับไม่ถ้วน
ได้ลดน้อยถอยลงก็เพราะอ้ายพวก ๒๕ นี่แหละ แต่ผมบอกซะก่อนนะ อ้ายพวก ๒๕ นี่มันเล่นตัวบรรลัยเลยคุณ
มันไม่เหมือนหน้ามันไม่ด้าน ไม่เหมือนอ้าย ๑๔ นั่น อ้ายอกุศลเจตสิกนี่มันหน้าด้านบรรลัยเลย ชอบกะลิ้มกะเหลี่ย ชอบชัก
ชอบชวน แต่อ้ายโสภณเจติสก ๒๕ ดวงนี่เหรอ เขาเล่นตัว เราต้องชัก คอยชักคอยชวนเขา ไปหาเขา มันไม่มาหาเรา
แต่เราต้องไปหามัน ไม่เหมือนอกุศลเจตสิก จำไว้ด้วย ทีนี้โสภณเจตสิก ๒๕ นี่หมายถึงอะไร หมายถึงเจตสิกที่ดี
ที่งาม ไม่มีความเศร้าหมอง มีความสดชื่น ไม่เร่าร้อน เมื่อประกอบกับจิต ก็ประกอบกับจิตที่ดีงาม
ปราศจากความเศร้าหมอง ทำให้จิตนั้นตั้งอยู่ในศีลในธรรม
มีแบ่งออกเป็น ๔ พวกด้วยกัน ใน ๒๕ ตัวนั้นมัน
แบ่งเป็น ๔ พวก ๔ พวกยังไง ๔ พวกอย่างนี้
พวกที่ ๑ เรียกว่า โสภณสาธารณเจตสิก มี ๑๙ ดวง ๑๙ ดวงนี่เป็นเจตสิกที่เป็นสาธารณะกับโสภณจิตทั้งหมด
หมายความว่า จิตที่ดีงามทั้งหมดมันเข้าได้ทุกตัว เข้ากับจิตที่ดีงามได้หมดทุกตัว ผมใช้คำว่าดีงามนะ ผมไม่ได้ใช้คำว่า
กุศลหรืออกุศลนะ คำว่าดีงามนะ ผมใช้คำว่าดีงามจำไว้ด้วย ฉะนั้นถึงได้บอกว่ามันเข้าได้กับโสภณจิตทั้งหมด คือจิต
ไม่เป็นอกุศลและอเหตุกจิตนั่นแหละเข้าได้หมด
พวกที่ ๒ เรียกว่า วิรตีเจตสิก มีอยู่ ๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เว้นจากบาปทั้งปวงอันเกิดจากกายทุจริตและวจีทุจริต
จะไม่เกิดเด็ดขาด ถ้ามีวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ไว้ใจได้ ศีลไม่ขาดแน่ๆ เพราะว่าศีลนั้นควบคุมเฉพาะกายกรรมกับวจีกรรม
เท่านั้น ไม่ได้ควบคุมถึงมโนกรรม
พวกที่ ๓ เรียกว่า อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ ดวง เป็นเจตสิกที่แผ่ไปไม่มีบริเวณจำกัด หรือเราเรียกกันว่า
พรหมวิหาร นั่นเอง
พวกที่ ๔ เรียกว่า ปัญญาเจตสิก ตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญยิ่งเพราะอะไร เพราะตัวนี้แหละจะเป็นตัวที่ทำให้พวกเรานี่
ได้หลุดออกจากวัฏฏะไปได้ แต่พวกคุณทั้งหลายจงเข้าใจว่าปัญญาเจตสิกนี้ที่ว่าเป็นตัวสำคัญตัวนี้ ตัวสุดท้ายของ
โสภณเจตสิกนี่ มันมีความเล่นตัวมากที่สุด มันไม่ง้อ กว่าเราจะคลำพบมันได้นะ ทำยังไง
หนึ่ง เราจะต้องฝึกสติให้มีการระลึกรู้
เมื่อฝึกสติให้มีการระลึกรู้แล้ว เราจะต้องพิจารณารูปและนามให้ทันเป็นปัจจุบันธรรม
เมื่อพิจารณารูปนาม ระลึกรู้รูปนามให้เป็นปัจจุบันธรรมแล้ว เราจะต้องพิจารณารูปนามให้เห็น ความเป็นอนิจจัง
ความเป็นทุกขัง ความเป็นอนัตตาของมัน จนมีความช่ำชองเกิดขึ้น
เมื่อได้พิจารณารูปและนามในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความช่ำชองแล้ว จนถึงสามารถที่จะแลเห็นการเกิด
การดับของรูปนามที่เกิดที่ดับนั้นเป็นปัจจุบันได้ นี่แหละปัญญามันถึงจะก้าว ย่างก้าวเข้ามาโผล่หน้าให้เรามารู้จัก
พอรู้จักขั้นแรก อะไรเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ดี เราไม่มีสติพอ เราก็จะกลายเป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษยังไง เราอยู่ในกลางคืนมืดๆ
ทำไมอ้ายความมืดนั้นกลายเป็นความสว่างไปหมด แลเห็นหมด แน่ะ ทิพยจักษุเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เอ้อ เสร็จแล้วธรรมะ
ซึ่งเราไม่เคยนึกไม่เคยฝันว่าเราจะได้รู้ นึกอะไรปุ๊บรู้หมด นั่น แหม เป็นปราชญ์ สำเร็จแล้ว เกิดขึ้นแล้ว พระอรหันต์
เกิดขึ้นในตัวของเราแล้วโดยไม่รู้สึกตัว นี่ หูก็เป็นทิพย์ ฟังอะไรร้อยแปด ฟังได้หมด ตาทิพย์ หูทิพย์ แน่ะ จิตของเราก็
รู้หมดว่าอะไรมันเป็นอะไร นี่ อะไรเกิดขึ้นเช่นนี้ เพราะว่าเพียงแต่ปัญญามันโผล่หน้ามาให้รู้จักเท่านั้น นี่ เราดีใจจนลืมตัว
สิ่งเหล่านี้แหละเขาเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส มันเกิดขึ้นเมื่อเราได้เจริญวิปัสสนาปัญญาถึงญาณะที่ ๔ แล้วมันจะเกิดขึ้น
อย่างนี้ ถ้าเราไปหลงมัน เราก็ติดเป็นผู้วิเศษอยู่แค่นั้นเถอะ อย่าก้าวต่อไปเลย ไม่มีทางล่ะ
เห็นไหมล่ะว่าปัญญานั้นน่ะมันมีความเล่นตัวแค่ไหน มากน้อยเพียงใด ฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคนอย่าประมาท
อย่าดูถูก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในเรื่องเหตุและปัจจัยในการเกิดวัฏฏะของเรานั้น ซึ่งเหตุประการ
แรกในการเกิดนั้น พระองค์ตรัสว่า อวิชชา นั่นแหละเป็นตัวทำให้เกิดสังขารเกิดขึ้น เห็นไหม อ้ายสังขารตัวนี้ก็คือ
เจตสิก ๕0 ดวงที่เรากำลังพูดกันอยู่นี่แหละมันเกิดขึ้น และสังขารตัวนี้แหละเป็นตัวทำให้วิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณตัวนี้
ทำให้ รูปและนาม ตัวตนของเรานี่เกิดขึ้น เห็นไหม ต้นเหตุแห่งการเกิด อวิชชาตัวเดียว สิ่งนี้แหละสมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าชี้ให้เห็นเหตุและปัจจัยตั้งแต่เกิดจนดับ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปในวันหลัง นี่เห็นไหม
ฉะนั้นในการดับ ออกจากวัฎฎะ ๓๑ ภพภูมินี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามทำทุกอย่าง ไม่ว่าสมาธิ ไม่ว่าโน่น
ไม่ว่านี่ ทำทุกอย่าง ไม่สำเร็จ พระองค์มาค้นพบที่จะทำได้สำเร็จออกจากวัฏฏะได้ตัวเดียว สิ่งนั้นคือปัญญาตัวนี้ ปัญญา
เจตสิกตัวนี้ อ้ายที่มันเล่นตัวก็ตัวนี้แหละ ที่มันจะทำให้เราเห็นแจ้ง รู้แจ้งแทงตลอดหมดในอริยสัจจ์ ๔ เมื่อนั้นแหละเราก็
จะไชโยกันได้ โดยที่เราไม่ต้องมานั่งจ้องหน้า มองหน้า มาพูดกัน มานั่งกินกัน มานั่งหน้าบูดหน้าเบี้ยวกันบ้าง นั่งหัวร่อ
กันบ้าง หมดแล้วทีนี้ ถ้าปัญญามันเกิด ฉะนั้นพวกเราไหนๆ มาพบกันแล้ว จงคบจงค้ามันไว้เถอะอ้ายความดี ๒๕ ตัวนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามปลุกมันเถอะ อ้ายสตินั้นมันเป็นโสภณเจตสิกตัวต้น เราต้องปลุกมันให้ตื่น เมื่อมันตื่นหนักๆ
เข้าแล้ว เราถึงจะไปสังคมกับปัญญาซึ่งเป็นตัวที่ ๒๕ ตัวสุดท้ายได้ ถ้าเราสังคมกับปัญญาตัวที่ ๒๕ ตัวสุดท้ายได้แล้ว
จนมันเออออห่อหมกกับเราแล้ว เราก็หวังได้ว่าเราจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมะ และจะทำให้วัฏฏะของเราลดน้อยถอยลง
นี่เป็นเรื่องปัญญา
ฉะนั้นเมื่อเราพูดกันมาถึงแค่นี้แล้ว เราก็จะได้พูดกันถึงต่อไปในเรื่อง อัญญสมานาเจตสิก โดยเฉพาะประเภทที่ ๑
ซึ่งได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง นั้นว่ามีอะไรกันบ้าง สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้เราได้พูดกันมา
แล้วว่า มันสามารถเข้ากับจิตได้ทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ถ้าเรานับโดยพิสดาร เราก็ทำความรู้จักกับมัน
ตัวแรกในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เรียกว่า ผัสสเจตสิก ผัสสเจตสิกนี่หมายถึง การกระทบอารมณ์ เริ่มละ เห็นไหม
ตัวนี้แหละที่จะชี้ให้เราเข้าไปในบุญหรือบาป เพราะถ้าเราไม่ได้รับการกระทบอารมณ์ดีหรืออารมณ์ชั่วแล้ว กรรมทั้งหลาย
ไม่ว่ากายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมมันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะผัสสเจตสิกนี่แหละ คือการกระทบอารมณ์นี่แหละมันเป็นตัว
ต้นเหตุ แล้วเราดูกันต่อไปว่ามันกระทบ มันกระทบทางไหน กระทบอ้ายสิ่งที่เราเรียกว่า เครื่องต่อ หรือ อายตนะ ๑๒
นั่นเอง นั่นหมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มันกระทบเข้าทางไหน ฉะนั้นปัญหาในเรื่องการกระทบอารมณ์นี่แหละ
ในศีลวิสุทธิซึ่งเราเรียกกันว่า ศีล ๔ นั้น มันจึงมีตัวอยู่ตัวหนึ่งในศีล ๔ นั้นเรียกว่า อินทรียสังวร อินทรียสังวรนี่ทำไม
ถึงได้เกิดขึ้น เพราะให้มีความระมัดระวังอ้ายผัสสเจตสิกนี่แหละ ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว ไม่ว่าเป็นกลางๆ อย่างไรสมเด็จพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าอินทรียสังวรนะ อินทรียสังวรนะ สังวรยังไง สังวรวางใจให้มันเป็นอุเบกขาเสีย อย่าไปตาม
อารมณ์มัน นัยน์ตาเห็นรูปที่ไม่ดีเกิดความไม่พอใจ อย่าเช่นนั้น มองมันเถอะ นัยน์ตาสำหรับมอง มองดูด้วยความวาง
เฉย เฉยๆ รักก็ไม่รัก ชังก็ไม่ชัง อยู่ด้วยอุเบกขา นี่ อินทรียสังวรตัวนี้แหละเพื่อควบคุมผัสสเจตสิก คือการกระทบอารมณ์
ไหนๆ เราพูดกันมาถึงผัสสเจตสิกนี้แล้ว เราควรจะได้รู้รายละเอียดต่อไปว่าอ้ายผัสสเจตสิกนี้มันมีรายละเอียดเป็น
อย่างไร คือ มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ มีการประสานอารมณ์ วัตถุ และ วิญญาณ เป็นกิจหรือหน้าที่ เห็นไหม
กระทบพับ ยังให้การประสานงานไปอีกถึงวิญญาณหรือจิตนี่แหละ ฮ่ะ นี่แหละคนเราจะเข้าคุกเข้าตารางหรือจะขึ้นสวรรค์
ลงนรก ผัสสเจตสิกนี่แหละ สัมพันธ์ กริ๊งมาก็กริ๊งไปเลย บอกเลย เอาเลย เห็นไหม มันถึงได้ประสานอารมณ์ วัตถุ และ
วิญญาณ เป็นกิจหรือหน้าที่ มีการประชุมพร้อมกันเป็นผล มีอารมณ์ปรากฏเป็นเหตุใกล้ เราสังเกตดูซิ เมื่อเราได้ฟังเสียง
สรรเสริญเยินยอหรือเห็นรูปที่สวยสดงดงาม นั่นหมายถึงผัสสเจตสิกในทางตาและทางหู เรารับข่าวมาแล้ว นั่นคืออารมณ์
เราเห็น ได้ยิน ดีๆ สวยๆ งามๆ เช่นนั้น ท่านถึงได้บอกว่ามีอารมณ์ปรากฏเป็นเหตุใกล้ นั่นอะไร ยิ้มออกมา เห็นนั่งๆ อยู่
ดีๆ ยิ้มออกมาได้ แปลกไหมคนเรานี่ เห็นไหม ยิ้มออกมา ซึ่งไม่เหมือนพระอรหันต์เจ้า เพราะถ้าท่านจะยิ้มท่านก็ต้อง
ยิ้มโดยมีเหตุ นี่ ไม่เหมือนเรา ไม่เหมือนเรานะ พวกเรานึกจะยิ้มมันก็ยิ้ม พอได้ฟังเสียงอะไรเพราะๆ ใครเขาสรรเสริญ
เยินยอเข้าหน่อย บอกอู๊ยสวยสดงดงามยังกับนางฟ้า เป็นเทวดาเลย ยิ้มชอบใจแท้ๆ เปล่า ไม่จริงหรอก นี่ มันเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอกว่า อารมณ์ที่ปรากฏนั้นน่ะมันเป็นเหตุใกล้ เห็นไหม ผัสสะเกิดขึ้นแล้ว
เรามองดูข้างนอกเราก็เห็นได้ นี่ นี่ เป็นตัวที่ ๑
ทีนี้ตัวที่ ๒ คือ เวทนาเจตสิก อ้ายเวทนานี่หมายถึง การเสวยอารมณ์ หรือกล่าวอย่างธรรมดาสามัญก็คือ
ความรู้สึกนั่นเองน่ะรู้สึกว่าสบาย ไม่สบาย
ถ้าแยกออกไปตามความรู้สึกแล้ว มันก็ได้ ๕ ประเภท เห็นไหม เราจะเห็นได้
เวทนานี่มันเป็นตัวที่ ๒ ถ้ามันไม่มีผัสสะแล้วเวทนาไม่เกิด ยกตัวอย่าง เราแลเห็นรูปสวยๆ เราเกิดความพอใจ ดีใจ การ
แลเห็นนั้นเป็นเรื่องของผัสสเจตสิก มีการกระทบ ส่วนความพอใจนั้นมันเป็นตัวเวทนา เห็นไหม เวทนามันเกิดทีหลังนะ
แต่ถ้าเราไม่มีสติอยู่แล้ว เราคิดว่ามันเกิดพร้อมกัน แต่ความจริงมันเกิดห่างกันตั้งเยอะแยะ ผัสสะมันเกิดขึ้นก่อน นี่เห็นไหม
ถ้าเราจะศึกษาเราต้องศึกษาให้ละเอียด ให้เข้าไปถึงแค่นี้ เราถึงจะรู้ เมื่อรู้แล้วเพลาเราฝึกสติ เพื่ออ้ายตัวต้น เพื่อให้มันไต่
ไปสาวไปถึงปัญญา เราก็จะได้รู้เล่ห์เหลี่ยม รู้เท่าทันกัน เราอย่าไปนั่งหลับหูหลับตา เขาบอกให้ปฏิบัติยังไง ก็ปฏิบัติอย่างนั้น
โอ๊ยไม่ไหว อย่างนี้ไปเทียมไถดีกว่า ให้เขาไถนาได้ข้าวมากินกว่า นี่ ทีนี้เวทนาเจตสิกที่ผมบอกว่ามันแบ่งเป็น ๔ ได้
อย่างไรนั้น
หนึ่ง ได้แก่ สุขเวทนาเจตสิก หมายถึง ความสุขความสบายทางกาย โดยมีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ดีเป็น
ลักษณะ มีการทำให้สัปยุตตธรรม ( ธรรมที่เกิดร่วมด้วย ) เจริญเป็นกิจหรือหน้าที่ มีความชื่นชมยินดีทางกายเป็น
ผล มีกายปสาทเป็นเหตุใกล้ ผมพูดมาแค่นี้ พวกเราบางคนอาจจะไม่เข้าใจ คำว่าสุขเวทนานี้ เราหมายถึงสุขทางกายนะ
อย่าเกี่ยวกับใจนะ อ้ายสุขทางกายนี่มันเกิดจากผัสสะทางกายปสาท พวกเราลองดูซิ ที่นั่ง นั่งฟังด้วยความสงบนี่แหละ
เพราะว่าอ้ายเก้าอี้ที่นั่งนี่มันไม่ร้อน ถ้ามันกลายร้อนเป็นอ้ายเหล็กแดงเผาไฟดูซิ กระโดดโหยงเลยเชียว แทนที่บอกเป็น
สุขเวทนา ทุกขเวทนาเกิดทันทีเลย นี่ เพราะเหตุไร เพราะว่ากายปสาทรูปที่เรามีอยู่นี่ มันแสดงว่าสิ่งที่เราสัมผัสนั้นมันมี
ความนุ่ม มีความอ่อนหรือความแข็ง ให้เราได้นั่งได้ด้วยความสบาย ไม่ใช่มีอะไรแหลมคมมาตำมาบาด หรือมีอะไรร้อน
มาผัสสะกับกายปสาทก็หาไม่ นี่ละที่ทำให้เราได้รับสุขเวทนา นี่เป็นการสุขทางกายนะ สุขเวทนาเจตสิก
ต่อไปก็คือ ทุกขเวทนาเจตสิก คือ ความทุกข์ยากลำบากกาย นั่นเอง อย่างเราเดินไป ตากแดด เมื่อยแสนที่จะ
เมื่อย อ้ายนี่เราเรียกว่าทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว โดยมีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นลักษณะ มีการกระทำให้
สัปยุตตธรรมเศร้าหมองเป็นกิจ มีความอาพาธทางกายเป็นผล มีกายปสาทเป็นเหตุใกล้ นี่เป็นความหมายของทุกขเวทนา
เจตสิก ซึ่งเวลาเราฝึกสติเจริญจริงๆ อะไรเกิดปุ๊บ เราจะได้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร
ตัวที่ ๓ คือ โสมนัสเวทนาเจตสิก คือ ความสุขความสบายทางใจ แยกออกจากกันนะ เมื่อกี้สุขทางกายนะ
อ้ายนี่สุขทางใจ โดยมีการเสวยอารมณ์ที่ดีเป็นลักษณะ มีการทำจิตให้อยู่ร่วมกับอารมณ์ที่ดีเป็นกิจ หรือหน้าที่ มีความ
ชื่นชมยินดีทางใจเป็นผล มีความสงบกายสงบใจเป็นเหตุใกล้
และตัวต่อไป คือ โทมนัสเวทนาเจตสิก คือ ความทุกข์ใจ มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นลักษณะ มีการทำจิตให้อยู่
ร่วมกับอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นกิจ มีความอาพาธทางใจเป็นผล มีหทัยวัตถุเป็นเหตุใกล้ นี่เป็นลักษณะของโทมนัสเวทนา
ที่นี้อีกตัวหนึ่งเป็นตัวเวทนาตัวสุดท้าย คือ อุเบกขาเวทนาเจตสิก คือ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ก็มีการ
เสวยอารมณ์ปานกลางเป็นลักษณะ มีการรักษาสัปยุตตธรรมไม่ให้เจริญ ไม่ให้เศร้าหมองเป็นกิจและหน้าที่ มีความเฉยๆ
เป็นผล มีจิตที่ไม่ยินดีเป็นเหตุใกล้
นี่เป็นลักษณะของเวทนา ฉะนั้นจากเจตสิกตัวที่ ๒ เราจะได้เห็นถึงลักษณะถึง ๕ ลักษณะ เราเพียงเข้ามาเพียง ๒ ตัว
เท่านั้นเวลาก็หมดจึงขอยุติเพียงแค่นี้


เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๑ จบ